45 ปี ถือเป็นเวลาที่ยาวนานไม่น้อยสำหรับแฟรนไชส์หนังสักเรื่องหนึ่ง ตัวเลขที่ว่านั้นคือขวบปีที่นับจาก Alien (1979) หนังไซไฟสยองขวัญภาคแรก มาจนถึง Alien: Romulus (2024) เรื่องล่าสุด Alien จึงเป็นแฟรนไชส์ที่ยืนระยะมานานเป็นอันดับต้นๆ จนเกือบจะใกล้เคียงกับ Star Wars (1977-ปัจจุบัน) เลยด้วยซ้ำ
น่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับแฟรนไชส์อายุอานามระดับนี้ ที่ในภายหลังหนังจะเปลี่ยนมือจาก ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ผู้ให้กำเนิด Alien ไปสู่ผู้กำกับคนอื่นรวมถึงทิศทางใหม่ๆ โดยเห็นได้จากชะตากรรมของตัวละครหลักอย่าง ‘เอเลน ริปลีย์’ หญิงแกร่งจากภาคแรกที่ต้องกลับไปเผชิญหน้าฝูงเอเลี่ยนอีกครั้งใน Aliens (1986) หนังภาคสองภายใต้การกำกับของ เจมส์ แคเมอรอน (James Cameron) และต้องตายลงในตอนสุดท้ายของ Alien³ (1992) หนังภาคสามในฐานะผลงานโดย เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) แต่เธอก็ต้องกลับมาอีกครั้งในรูปมนุษย์โคลนในภาค Alien Resurrection (1997) ผลงานจาก ฌอง-ปีแยร์ เฌอเนต์ (Jean-Pierre Jeunet) คนทำหนังชาวฝรั่งเศส
ไหนจะตามมาด้วย Alien vs. Predator (2004) และ Aliens vs. Predator: Requiem (2007) สองหนังที่หลุดไปเป็นการครอสโอเวอร์ระหว่างสองจักรวาล ที่แฟนๆ ขอไม่นับให้อยู่ในไทม์ไลน์เนื้อเรื่องหลัก
หลังจากนั้น ริดลีย์ สก็อตต์ ก็กลับมารับไม้ต่อ และพาแฟรนไชส์ Alien หนีออกจากความสยองขวัญบนยานอวกาศแบบเดิม ด้วยการพาไปสำรวจต้นกำเนิดของเอเลี่ยน หรือถ้าจะเรียกให้ถูกคือ ‘ซีโนมอร์ฟ (Xenomorph)’ สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่คร่าผู้คนมาแล้วหลายภาค และแฝงด้วยคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า ความเป็นมนุษย์คืออะไร? ใครคือพระเจ้าผู้สร้างมนุษย์? ในหนัง Prometheus (2012) และ Alien: Covenant (2017)
ภาพรวมของแฟรนไชส์ Alien เลยนับว่าค่อนข้างอีรุงตุงนังพอสมควรตลอดเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การกลับมาอีกครั้งในปี 2024 จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับ เฟเด อัลวาเรซ (Fede Alvarez) ผู้กำกับหนังสยองขวัญหน้าใหม่ ที่เคยฝากผลงานชวนสยอง Evil Dead (2013) และ Don’t Breathe (2016) หนังระทึกขวัญที่ทำเอาคนดูแทบหยุดหายใจ เพราะการมารับหน้าที่ผู้กำกับในครั้งนี้ แฟนหนัง Alien ต่างก็รอดูว่าเขาจะพาแฟรนไชส์นี้ไปในทิศทางไหน
ท้ายที่สุดเฟเดก็เลือกให้ Alien: Romulus ถอยกลับไปยังจุดตั้งต้นเดิม พาผู้ชมกลับสู่ความกลัวในสถานที่ปิดกลางห้วงอวกาศ ไปเผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตต่างดาวนักล่า ที่สถานการณ์บีบบังคับให้การหนีไม่ใช่ทางเลือก และมีเพียงการสู้กลับเท่านั้นที่เป็นทางรอด กลับไปยังเสน่ห์ที่พาให้หนังภาคแรกเป็นที่จดจำมาจนถึงวันนี้
20 ปีหลังภาคแรก Alien: Romulus เปิดฉากให้เห็นชีวิตการเป็นคนเหมืองบนดาวอาณานิคมของสองพี่น้อง ‘เรน’ รับบทโดย ไคลีย์ สเปนี (Cailee Spaeny) และมนุษย์เทียมตกรุ่น ‘แอนดี้’ รับบทโดย เดวิด จอนส์สัน (David Jonsson) ด้วยสภาพแวดล้อมของดาวดวงที่มีเมฆหนาปกคลุม ความฝันของทั้งสองจึงคือการขยันทำงานเก็บชั่วโมงเพื่อจะหนีไปใช้ชีวิตและเห็นแสงอาทิตย์ครั้งแรกบนดาวดวงอื่น ทว่าความหวังนั้นได้ดับลงเมื่อบริษัท Weyland-Yutani ดันปรับนโยบายให้พวกเขาต้องทำงานเพิ่มจนมองไม่เห็นโอกาส
ในจังหวะสิ้นหวังนี้เองที่ ‘ไทเลอร์’ รับบทโดย อาร์ชี เรเนาซ์ (Archie Renaux) และเพื่อนชาวเหมืองได้รับสัญญาณจากยานอวกาศรุ่นเก่าของบริษัท Weyland-Yutani ที่หยุดปฏิบัติการไปแล้ว ทุกคนชักชวนให้เรนและแอนดี้เข้าร่วมภารกิจเดินทางออกนอกอวกาศ เพื่อไปขโมยตู้นอนไฮเปอร์สลีปบนยานก่อนหนีจากดาวเหมืองไปยังดาวดวงใหม่ ทั้งคู่ตกปากรับคำ และเมื่อไปถึง สิ่งที่รอพวกเขาอยู่กลับไม่ใช่ยานอวกาศ มันคือสถานีทดลองวิทยาศาสตร์ชื่อ Romulus – Remus ที่แน่นอนว่ามาพร้อมกับเหล่า ‘เฟซฮักเกอร์ (Facehugger)’ และซีโนมอร์ฟ
เมื่อเนื้อเรื่องเป็นแบบนี้ เชื่อว่าคอหนัง Alien น่าจะจับหลักโครงเรื่องที่เรียกว่าอาจจะเป็นสูตรสำเร็จที่มีร่วมกันของหนังแฟรนซ์ได้แล้ว เริ่มอันดับแรกคือการตรวจพบสัญญาณน่าสงสัย ต่อด้วยการตกลงปลงใจของกลุ่มตัวละครที่จะเดินทางไปหาที่มาของสัญญาณนั้น และในท้ายที่สุดก็พบกับหายนะซึ่งก็คือการถูกตามล่าโดยซีโนมอร์ฟ ถึงจะฟังดูเรียบง่าย แต่โครงเรื่องในทำนองนี้การันตีได้ว่าอย่างน้อยหนังจะยังคงสนุกและคงความสยองขวัญในระดับที่ไว้ใจ การเริ่มต้นให้เกิดความสงสัย สร้างความกลัวในระหว่างทาง และปิดจบด้วยฉากแอ็กชั่น ก็ยังเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่ได้ผล
กระนั้น จุดที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับหนังคือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นชื่อยาน ที่ในหนังไซไฟโดยเฉพาะ Alien มักจะอ้างอิงถึงชื่อสำคัญในวรรณกรรมหรือตำนานปกรณัม อย่างในภาค Prometheus ที่ยานอวกาศและชื่อเรื่องอ้างอิงถึง ‘โพรมีธีอัส’ ไททันผู้ขโมยไฟจากเทพเจ้าเพื่อมอบให้กับมนุษย์ และผลลัพธ์ที่ได้คือโพรมีธีอัสถูกซุสลงลงโทษให้ต้องโดนนกอินทรีย์จิกกินตับทุกวัน
Alien: Romulus ก็เช่นกัน สถานีทดลองวิทยาศาสตร์ Romulus – Remus ในเรื่องถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ โรมูลัสและเรมัส ชื่อที่อ้างอิงมาจากสองบุรุษผู้เป็นตำนานการก่อตั้งกรุงโรม โดยท้องเรื่องมีอยู่ว่า โรมูลัสและเรมัสคือพี่น้องฝาแฝด เป็นลูกของเจ้าหญิง เรีย ซิลเวีย (Rhea Silvia) และเทพเจ้าแห่งสงคราม มาร์ส (Mars) คุณตาของพวกเขาคือ นูมิทอร์ (Numitor) กษัตริย์โดยชอบธรรมของ ‘อัลบา ลองกา (Alba Longa)’ ทว่านูมิทอร์กลับถูก อะมูลิอัส (Amulius) ผู้เป็นน้องชายฉุดลงจากบัลลังก์ อะมูลิอัสสั่งให้นำโรมูลัสและเรมัสไปปล่อยให้จมน้ำตายที่แม่น้ำไทเบอร์ด้วยกลัวจะเป็นภัยต่อตัวเองในอนาคต แต่ฝาแฝดกลับรอดและไปเจอกับหมาป่าตัวเมีย (Lupa) ที่เลี้ยงดูและให้นมกับทั้งสอง
ต่อมาคนเลี้ยงสัตว์ได้มาเจอกับโรมูลัสและเรมัสและเก็บไปเลี้ยงจนเติบใหญ่ สองฝาแฝดในวัยหนุ่มเมื่อได้รู้เรื่องราวในอดีตจึงตามไปฆ่าอะมูลิอัสและคืนบัลลังก์ให้กับนูมิทอร์ หลังจากนั้นทั้งสองได้เดินทางมาตั้งเมืองใกล้กับจุดที่เคยได้รับการช่วยเหลือไว้ในวัยเด็ก จุดเดียวกับที่ตั้งของกรุงโรมในปัจจุบัน แต่ในระหว่างการสร้างเมืองนั้นก็เกิดเหตุให้ทั้งคู่ทะเลาะกัน จนนำไปสู่การที่โรมูลัสฆ่าเรมัส แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงโรม
ใน Alien: Romulus เป้าหมายของสถานีทดลองวิทยาศาสตร์ Romulus – Remus คือการศึกษาซีโนมอร์ฟเพื่อดึงเอาความแข็งแกร่งของมันมาเพิ่มศักยภาพให้กับมนุษย์ แต่ก็หนีไม่พ้นต้องเกิดเรื่องผิดพลาดให้เหล่าซีโนมอร์ฟไล่ฆ่านักวิจัยและขยายพันธุ์ครอบครองพื้นที่ส่วน Romulus เวลาผ่านไปเรนและกลุ่มเพื่อนได้เดินทางมาถึงสถานีฝั่ง Remus ตรงนี้เองที่เราจะเห็นการวางตำแหน่งของคู่ตรงข้าม การปะทะกันระหว่างโรมูลัสและเรมัส หรือก็คือการเผชิญหน้ากันของซีโนมอร์ฟและมนุษย์ ซึ่งดูแล้วเรมัสหรือมนุษย์จะเป็นฝ่ายหนีตายเสียมากกว่า
ตามการศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณคดียุคโรมัน ตำนานของโรมูลัสและเรมัสมักมีความสำคัญในแง่สัญลักษณ์ของการแข่งขัน เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนถึงธรรมชาติของการต่อสู้ ไม่ว่าจะความเป็นคู่แข่งกันในความสัมพันธ์พี่น้อง หรือการชิงเอาชนะกันระหว่างสองฝั่งการเมือง การตีความเองก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและภูมิทัศน์ทางการเมือง เช่นในยุคหนึ่งการสู้กันของโรมูลัสและเรมัสอาจหมายถึงการต่อสู้ที่เท่าเทียมและส่งผลดีกับสังคม แต่ในอีกยุคหนึ่งการกระทำของโรมูลัสก็อาจได้รับการตีความในแง่ลบ บ่งบอกถึงความรุนแรงและการแย่งชิงอำนาจ
ตลอดมาหนัง Alien มักย้ำถึงความแปลกปลอมของสิ่งมีชีวิตประหลาด มองซีโนมอร์ฟเป็นสัตว์ที่ต้องกำจัดออกจากสภาวะแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ของมนุษย์ เพราะนี่คือยุคที่อภิมหาบรรษัทอย่าง Weyland-Yutani ทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ครอบครองดาวเคราะห์ ไปจนถึงหวังจะตั้งอาณานิคมครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในจักรวาล ทุกหนแห่งในอวกาศคือเขตแดนของมนุษย์ หรือเหนือกว่านั้นก็เปรียบตัวเองเป็นดั่งพระเจ้าผู้สร้างชีวิต อย่างที่พวกเขาสามารถสร้างมนุษย์เทียมขึ้นมา ทว่ามันจะจริงหรือไม่ หากมนุษย์ได้เจอกับซีโนมอร์ฟ สิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์ที่ดูจะเหนือกว่าในแง่การเข่นฆ่าและเอาตัวรอด หากประจันหน้ากันจริงๆ อาจเป็นมนุษย์เสียมากกว่าที่ต้องสูญพันธุ์
แก่นหลักหนึ่งของหนังแฟรนไชส์ Alien จึงเป็นการชวนคิดว่า มีโอกาสที่ในจักรวาลอันกว้างใหญ่แห่งนี้ มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ล่า มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนจุดสูงของห่วงโซ่อาหาร ความทะเยอทะยานเพื่อครอบครองอวกาศสุดท้ายแล้วคือการรอคอยให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เหนือกว่ามาขย้ำเพียงเท่านั้น
สำหรับ Alien: Romulus จุดที่น่าชื่นชมอย่างถึงที่สุดคงเป็นงานโปรดักชั่นที่ทำออกมาได้อย่างหมดจด ทั้งฉากหลังของอวกาศที่ชวนตะลึงด้วยภาพวงแหวนของดวงดาว โมเดลยานที่สร้างขึ้นมาทั้งลำเพื่อถ่ายทำจริงๆ หรือเอฟเฟกต์สมจริงอย่างตัวหุ่นซีโนมอร์ฟและเฟซฮักเกอร์ก็ช่วยขับให้หนังทรงพลังและสร้างบรรยากาศที่พร้อมจะดึงคนดูเข้าสู่ความสยองขวัญบนสถานีอวกาศร้าง
สุดท้ายนี้ หากจะให้ผู้เขียนได้ลองจินตนาการตัวเองเป็นผู้ร่วมชะตากรรมแบบในหนังแล้วล่ะก็ คงไม่วายต้องเป็นเหยื่อรายแรกๆ ที่โดนเฟซฮักเกอร์วางไข่เอเลี่ยนในท้อง หรือไม่ก็โดนซีโนมอร์ฟเอาหางกะซวกทะลุตัวเป็นแน่
อ้างอิงจาก
Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2024, May 29). Romulus and Remus. Encyclopedia Britannica.
Mayhem Mendes. (2024, August 9). Alien: Romulus – Behind the Scenes [Video]. YouTube.
Neel, J. (2014). Legendary rivals: Collegiality and ambition in the tales of early Rome (Mnemosyne supplements, Monographs on Greek and Latin language and literature, Vol. 372). Brill.
Wikipedia contributors. (2024, August 18). Alien (franchise). In Wikipedia, The Free Encyclopedia.