“มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือมีแค่พวกเราที่โดดเดี่ยวอยู่ในจักรวาลนี้ กับอีกอย่างคือเราไม่ได้โดดเดี่ยว แต่ไม่ว่าจะอย่างไหนก็ชวนให้สยองทั้งนั้น”
คำพูดโดยนักเขียนนิยายไซไฟชื่อดัง อาเธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตและอารยธรรมอื่นๆ ที่ใดสักแห่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่ของเรา เป็นคำพูดที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ก็ยังคงนำมาใช้ได้เสมอเกี่ยวกับประเด็นการค้นหาเอเลี่ยนว่า เราอยากพบหรือไม่พบพวกเขากันแน่?
ตั้งแต่ข่าวการค้นพบวัตถุปริศนาที่รอสเวลล์ในปี 1947 จนก่อร่างภาพจำเอเลี่ยนและจานบิน (UFO) ให้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรายงานการพบเห็นจานบินนับไม่ถ้วน เอเลี่ยนเจลลดไข้ที่พบเจอในไทย ไปถึงข่าวการค้นพบร่างเอเลี่ยนแห้งกรังในเม็กซิโก เมื่อเดือนกันยายน ปี 2023 ตำนานและการค้นหาเอเลี่ยนไม่เคยหลุดออกจากสำนึกร่วมของเราเลย แม้จะถูกพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าหลักฐานต่างๆ ในห้วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเรื่องไม่จริงทั้งหมด
ทว่าความหมกมุ่นของมนุษย์ต่อเอเลี่ยนมาจากไหน? เบื้องหลังการตามหาเรื่องลี้ลับนอกโลกมีอะไรซ่อนอยู่? และมันบอกอะไรเกี่ยวกับมนุษย์เรา? สำหรับคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่มีหลักฐาน และสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์เพียงน้อยนิดเหล่านี้ เราอาจจำต้องหันไปหาวิธีการมองและคาดเดาต่อการมาถึงของเอเลี่ยน
เอเลี่ยนบุกโลก!
สื่อบันเทิงไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราดูเอาสนุกเท่านั้น แต่มันเป็นภาพสะท้อนเรื่องจริงบางอย่างในสังคม อาจจะเป็นตัวตนของผู้เขียน อาจจะสภาพแวดล้อมที่รายล้อมด้วยเรื่องราวเหล่านั้น หรืออาจเป็นห้วงเวลา เช่นนั้นแล้วสื่อบันเทิงสยองขวัญจะคืออะไร หากไม่ใช่ภาพสะท้อนของความกลัวและความวิตกกังวลของสังคมมนุษย์?
แวมไพร์ คือภาพสะท้อนของโครงสร้างสังคมที่ชนชั้นสูงเป็นอมตะ และดูดเลือดดูดเนื้อของชนชั้นล่าง แฟรงเกนสไตน์และสัตว์ประหลาดของเขา คือการตั้งคำถามต่อการเดินหน้าสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาการ โดยไม่สนใจผลกระทบของมัน หรือหนังซอมบี้ที่สามารถใส่การตีความเชิงสังคมไปได้ในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่การวิพากษ์ทุนนิยม ไปจนถึงความเปราะบางของศีลธรรมมนุษย์ เมื่อถึงคราวสิ้นอารยธรรมที่เรารู้จัก เช่นนั้นแล้วคำถามตอนนี้คือ สื่อเกี่ยวกับเอเลี่ยนนำเสนออะไร?
แม่แบบสำคัญของเรื่องราวเอเลี่ยนบุกโลกมนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นในปี 1896 ผ่านนิยายวิทยาศาสตร์ The War Of The Worlds โดยเอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์มนุษย์ดาวอังคารบุกยึดครองโลกเรา ด้วยเทคโนโลยีที่สูงส่งกว่ามนุษย์ ทั้งเครื่องจักรกลสงคราม 3 ขา ที่ตั้งตระหง่านเหนือพื้นผิวโลก ปืนยิงรังสีความร้อน และอาวุธเคมีปริศนาเหนือความเข้าใจมนุษย์ถล่มลง ณ กรุงลอนดอน เมืองหลวงจักรวรรดิบริติช ผู้ที่แม้จะครอบครองพื้นที่ราวๆ 1 ใน 4 ของโลกในตอนนั้น ก็ยังไร้หนทางสู้กลับ
เค้าโครงนิยายและลักษณะของเอเลี่ยนจากนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นแม่แบบกลายๆ ให้กับเรื่องราวเอเลี่ยนบุกโลกในยุคถัดๆ มา ตั้งแต่ Mars Attack! ไปจนถึง The Avengers เอเลี่ยนมักมีภาพจำว่า เป็นผู้รุกรานที่ต้องการหยิบฉวยอะไรสักอย่างจากโลกมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ การนำมนุษย์ไปเป็นแรงงานทาส นำไปเป็นหนูทดลอง หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งหากเราดูห้วงเวลาและสภาพแวดล้อมที่เวลส์เขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นแล้ว ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางทันที เพราะมันคืออังกฤษยุควิคตอเรียนตอนปลาย ยุคที่เริ่มมีการพูดถึงผลพวงของการล่าอาณานิคม
“ก่อนที่เราจะตัดสินพวกเขา (ชาวดาวอังคาร) เราต้องนึกถึงความโหดเหี้ยมและการทำลายล้าง ที่เผ่าพันธุ์ของเราทำไว้ทั้งกับสัตว์ เช่น ควายไบซัน หรือนกโดโด และกับเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ของเราอย่างชาวแทสมาเนียน ที่แม้จะมีหน้าตาฉันมนุษย์ แต่ชาวยุโรปก็ล้างเผ่าพันธุ์พวกเขาไปในเวลาเพียง 50 ปี ผ่านสงครามแห่งการกำจัดชาติพันธุ์ ดังนั้นแล้วพวกเราเป็นสาวกแห่งความเมตตามากพอจะต่อว่าชาวดาวอังคารที่ต่อสู้ด้วยวิธีนั้นๆ หรือ?” นี่คือบทพรรณนาบทหนึ่งจากหน้าแรกของ The War Of The Worlds
ห้วงเวลาที่เขียน ลักษณะและวิธีการของผู้บุกรุก เมืองที่ถูกโจมตีในเรื่อง ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะว่าเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้สะท้อนพฤติกรรมที่มนุษย์ใช้ยึดครองโลก จากสิ่งมีชีวิตที่พวกเขามองว่าแตกต่าง หรือต่ำต้อยกว่าพวกเขาอยู่เสมอ
ทั้งนี้ในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมีหนังสือที่วิพากษ์การล่าอาณานิคมกำเนิดขึ้นมาอีกมากมาย จนถือกำเนิดประเภทวรรณกรรมชื่อว่า วรรณกรรมบุกรุก (Invasion Literature) หนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเอเลี่ยนบุกยึดครองโลกมนุษย์รุ่นบุกเบิกของเวลส์ จึงตกอยู่ในหนังสือประเภทนี้ เช่นเดียวกับซอมบี้และแวมไพร์
เอเลี่ยนไม่ใช่เพียงสัตว์ประหลาดนอกโลก แต่ในแง่มุมหนึ่ง
พวกเขาคือภาพสะท้อนประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของมนุษย์
แม้เรื่องราวของเอเลี่ยนจะพูดถึงอนาคตและสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มันถูกเขียนขึ้นจากประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของเรา และจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีกลุ่มคนเจอเข้ากับคนอีกกลุ่มที่มีวิทยาการต่ำกว่า? คำตอบที่ประวัติศาสตร์ให้เราเสมอคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การลักพาตัว การค้าทาส และการเข้ายึดครอง ดังนั้นถ้าในวันหนึ่งมีสิ่งที่มาจากนอกโลกแล้วทำเช่นนั้นกับเราบ้างล่ะ จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากมนุษย์จะหมกมุ่นกับเอเลี่ยน เพราะตลอดประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราล้วนเกี่ยวกับการ “ค้นพบ” ที่ไม่ได้มีอะไรให้ผ่อนคลายนัก
อย่างไรก็ตาม หากบอกว่าเรามีมุมมองต่อเอเลี่ยนเพียงแง่มุมเดียว ก็คงห่างไกลความเป็นจริง เพราะนอกจากเอเลี่ยนบุกโลกแล้ว เรายังเห็นมุมมองตรงกันข้ามเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกด้วย มุมที่ว่าอวกาศถือเป็นที่ทางถัดไปของมนุษย์ เช่น ซีรีส์เรื่อง Star Trek ที่ธีมใจกลางของมัน คือการร่วมมือร่วมใจกันของคนและเอเลี่ยนเพื่อความก้าวหน้า หรือวิดีโอเกม เช่น Mass Effect ที่บอกว่าแม้ความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์จะมีอยู่ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราและเอเลี่ยนจะอยู่ร่วมกันได้ รวมไปถึงลัทธิในโลกจริงอย่าง Heaven’s Gate ที่เชื่อว่าตัวเองสามารถวิวัฒนาการให้เหนือมนุษย์ แล้วเคลื่อนที่ไปพร้อมกับดาวหางผ่านการจบชีวิตตัวเองได้
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
“ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกา ความเชื่อเกี่ยวกับ UFO และ UAP อยู่ในขาขึ้น” คำกล่าวของไดแอนนา พาซัลกา (Diana Pasulka) นักเขียนและศาสตราจารย์วิชาศาสนวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ที่ให้สัมภาษณ์กับ BBC ในสารคดี Why are some people obsessed with UFOs? เป็นประโยคที่สนับสนุนสถิติในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยมีรายงานการพบเห็นวัตถุลึกลับทางอากาศบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ในมุมมองผู้เชี่ยวชาญ เมื่อโลกตกอยู่ในกลียุคหรือวิกฤต
อัตราการพบเห็น UFO จะสูงขึ้น”
นั่นคือคำอธิบายในสารคดีที่บอกเรา แต่นั่นเป็นเรื่องจริงหรือ? หากย้อนกลับไปยังการพบเห็น UFO ครั้งสำคัญที่สร้างภาพจำให้เรามากที่สุด เช่น ในรอสเวลล์ รัฐนิวเม็กซิโก เมื่อปี 1947 โดยชาวไร่คนหนึ่งพบเจอเศษซากยาง ฟอยล์ แท่งไม้ และกระดาษในไร่ของเขา ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นปีเดียวกันกับที่เคนเนธ อาร์โนลด์ (Kenneth Arnold) นักบินพลเรือนรายงานว่า เขาพบเห็น “จานบินได้” ก่อนที่จะมีรายงานแบบเดียวกันนับร้อยผุดขึ้นมา ทว่ากรณีที่รอสเวลล์แตกต่างออกไป คือพวกเขาพบหลักฐานที่จับต้องได้นั่นเอง ซึ่งหลักฐานบวกกับการประโคมข่าวประเด็นดังกล่าว ก่อให้เกิดภาพจำของจานบินและความเป็นไปได้ว่า โลกของเราตกอยู่ในสายตาของเอเลี่ยนแล้ว
ทว่าเราไม่ได้รู้จักปี 1947 ในฐานะปีที่เราได้ทำความรู้จักเอเลี่ยนเป็นครั้งแรก แต่มันคือปีที่ยังคงมีบรรยากาศตึงเครียดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลืออยู่ นำไปสู่การเกิดความกลัวใหม่ที่เข้าปกคลุมว่า โลกอาจจะกำลังก้าวเข้าสู่สงครามเย็นอีกด้วย ดังนั้นสงครามซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สาธารณชนไม่อาจรับรู้นี้ จึงทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดที่ทำให้ข่าวลือหรือเรื่องลี้ลับกำเนิดขึ้นได้ และรัฐบาลสหรัฐฯ ก็รู้ดีว่ากำลังเกิดบรรยากาศเช่นนั้น พวกเขาจึงใช้ประโยชน์จากมันด้วยการแถลงข่าวเกี่ยวกับที่มาของเศษซากเหล่านั้นว่า มาจากบอลลูนพยากรณ์อากาศ
อย่างไรก็ดี คนจำนวนมากในห้วงขณะนั้นเชื่อว่า รัฐบาลกำลังปกปิดข่าวการมาถึงของเอเลี่ยนอยู่ ซึ่งเป็นการคาดเดาที่ถูกเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะว่ารัฐบาลปิดข่าวจริงๆ เพียงแต่มันไม่มีเอเลี่ยนอย่างที่เข้าใจ หากมีแต่โปรเจ็กต์ลับสุดยอดชื่อ ‘Project Mogul’ ที่ปล่อยบอลลูนดักฟังคลื่นเสียงทดสอบระเบิดปรมาณูของโซเวียต และหนึ่งในบอลลูนดันไปตกอยู่ที่ไร่แห่งหนึ่งภายในรอสเวลล์ การปล่อยให้ข่าวเอเลี่ยนบุกโลกมนุษย์กลบโปรเจ็กต์ลับสุดยอดที่อาจรั่วไหลได้ จึงเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ ที่ส่งผลมาเป็นความหมกมุ่นในเอเลี่ยนของเราจนถึงทุกวันนี้
ที่เราพูดมาทั้งหมดก็เพื่อจะตั้งคำถามว่า ทำไมคนถึงเลือกเชื่อในสิ่งที่ห่างไกลการจับต้องของโลกได้มากขนาดนั้น? แม้จะมีสงครามปรมาณูจ่อประตูของเราอยู่ แต่ทำไมเราจึงไม่เลือกเชื่อว่ามันเป็นปฏิบัติการทางทหารก่อน? หรือทำไมเรายังเลือกเชื่อว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นเอเลี่ยนได้?
เราอาจต้องลองเปลี่ยนมุมมอง เริ่มจากการนำภาพวิทยาศาสตร์มาจับเรื่องของเอเลี่ยน เพราะลักษณะความเชื่อที่มันให้กับเรานั้น มีความคล้ายศาสนาหรือลัทธิมากกว่าอะไรอย่างอื่น และการมีอยู่ของเอเลี่ยนในบางแง่มุม เป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในโลกที่เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้อาจจะฟังดูแปลก แต่ในขณะที่เรากลัวการมาถึงของเอเลี่ยน พวกเขาก็อาจแสดงถึงความหวังบางอย่างของเราได้ด้วย
“มันเป็นเรื่องเดียวที่ทำให้โลกสามัคคีกันได้ มันทำให้สงครามเย็นไม่ปะทุ” ทอม เดอลอง (Tom DeLonge) มือกีตาร์วง Blink-182 และผู้ก่อตั้งบริษัท To The Stars ที่แพร่กระจายทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดเกี่ยวกับเอเลี่ยนมากมาย พูดเกี่ยวกับประเด็น UFO ในรายการ Coast-to-coast AM ด้วยความเชื่อว่า โลกของเรายังอยู่ถึงทุกวันนี้ได้ เพราะผู้นำของโลกต่างรู้กันอย่างลับๆ ว่าเอเลี่ยนจะมาเยือนโลกในไม่ช้า พวกเขาจึงจับมือกันอย่างลับๆ และไม่ทำสงครามโลกครั้งที่ 3 กัน
หากเอเลี่ยนมารุกรานโลกมนุษย์ สิ่งที่ชาวโลกอย่างเราต้องทำ คือวางความขัดแย้งต่อกันและกัน เพื่อจะปกป้องเผ่าพันธุ์ของตัวเองใช่ไหม หรือบางทีถ้าข้างนอกนั้นมีสิ่งมีชีวิตอื่นมาเยี่ยมเยียนเราได้ ก็แปลว่าโลกเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเรา ยังมีอะไรมากมายเหลือเกินที่เราไม่รู้ แล้วเราจะสามารถหลีกหนีความเป็นจริง เพื่อเริ่มใหม่ที่ไหนสักแห่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ได้ใช่หรือเปล่า? ทั้งหมดนี้อาจเป็นอำนาจการยึดเหนี่ยวจิตใจของเรากับเรื่องราวของเอเลี่ยน
อย่างไรก็ดี หากเราลองย้อนกลับไปดูโลกที่ตกอยู่ในวิกฤตอันใหญ่หลวง มีเศษเสี้ยวของความสามัคคีเกิดขึ้นโดยไม่มีผลประโยชน์บ้างหรือเปล่า ทั้งโรคระบาด สงคราม และการเมือง เราเชื่อได้มากขนาดไหนว่ามนุษย์จะดีขึ้นได้ หากเอเลี่ยนมีอยู่จริง และจะปล่อยให้โลกของเรามอดไหม้ หรือละทิ้งสิ่งที่เรามีจริงๆ เพียงเพื่อรอการมาถึงของพวกเขาหรือ?
ความหวังและความกลัวของเราในพื้นโลกที่ยืนอยู่นี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามองไปยังดวงดาว
อ้างอิงจาก