“ถ้า UFO น่ะไม่มีจริงหรอก แต่ถ้าพลังเหนือธรรมชาติมีจริงแน่”
หนึ่งในบทสนทนาระหว่าง ‘อายาเสะ เซย์โกะ’ และ ‘อายาเสะ โมโมะ’ ยายหลานที่เชื่อเรื่องผี แต่ไม่เชื่อเรื่องสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก จะว่าไปก็ชวนตั้งคำถามต่อไปไม่น้อยเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วสิ่งลี้ลับทั้งสองสิ่งนี้ต่างกันยังไงนะ อะไรคือกฎเกณฑ์ที่ทำให้เราเลือกจะเชื่อสิ่งหนึ่งและปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง
เมื่อพูดถึงอนิเมะที่เพิ่งเริ่มฉายและกำลังถูกพูดถึงในวงกว้างตอนนี้คงต้องยกให้เรื่อง Dandadan อนิเมะที่โดดเด่นสะดุดตาด้วยการผสมผสานเรื่องราวเหนือธรรมชาติ และไซไฟเข้าด้วยกัน ภายใต้กราฟิกและสีสันสุดป๊อป จากผลงานของยูกิโนบุ ทัตสึ (Yukinobu Tatsu) อดีตผู้ช่วยของผู้เขียนผลงานดัง อย่าง ทัตสึกิ ฟูจิโมะโตะ (Tatsuki Fujimoto) เจ้าของผลงาน Chainsaw Man
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Dadandan กลายเป็นอนิเมะที่ถูกพูดถึงในขณะนี้ นอกจากด้วยงานภาพที่สวยงาม เนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ต่างจากการ์ตูนผู้ชายแนวพลังเหนือธรรมชาติเรื่องอื่นๆ แล้ว ก็หนี้ไม่พ้นการนำเอาสองความเชื่อระหว่างคนที่เชื่อเรื่องผีและสิ่งมีชีวิตนอกโลกมาเจอกัน ในแนวแอ็กชั่น โรแมนติก-คอมเมดี้
ด้วยเรื่องราวของเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่แตกต่างกันสุดขั้ว ระหว่าง ‘อายาเสะ โมโมะ’ เด็กสาวเปรี้ยวซ่าที่เชื่อเรื่องผี แต่ไม่เชื่อเรื่องเอเลี่ยน หลังจากเพิ่งผิดหวังจากความรักเพราะเจอผู้ชายไม่ดี ก็ได้บังเอิญมาช่วย ‘ทาคาคุระ เคน’ หรือโอคารุน โอตาคุผู้คลั่งไคล้สิ่งมีชีวิตจากนอกโลก จากการรังแกของเด็กเกเร การเจอกันระหว่างคนที่เชื่อเรื่องผีและมนุษย์ต่างดาว ทำให้ทั้งคู่ถกเถียงกัน และท้าพิสูจน์ว่าสิ่งลี้ลับแบบไหนคือเรื่องจริง ทั้งสองตัดสินใจแยกกันเยี่ยมชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องลี้ลับและเหนือธรรมชาติ ต่อมาก็ทำให้พวกเขารู้ว่าทั้งเอเลี่ยนและผีก็มีอยู่จริง และเกิดเป็นเรื่องราววุ่นวายที่ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้กับสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติเหล่านี้
โดยในเรื่องมักบอกเล่าให้เราได้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างคนที่เชื่อเรื่องผี และเรื่องมนุษย์ต่างดาวอยู่ตลอด จนดูเหมือนว่า ฝั่งคนที่เชื่อเรื่องผีก็มองว่ามนุษย์ต่างดาวเป็นเรื่องไร้สาระ ในขณะที่คนที่เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาว ก็เชื่อว่าผีไม่มีอยู่จริงเช่นกัน แล้วเพราะเหตุผลกลใด ที่ทำให้บางคนเชื่อพลังเหนือธรรมชาติเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งกันนะ?
สิ่งลี้ลับมาจากไหนกันนะ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจถึง ‘เรื่องลี้ลับ’ กันก่อน หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวทำนองว่า ได้ยินเสียงแปลกๆ กลางดึก ฝันเห็นคนใกล้ชิดที่ล่วงลับไปมาเข้าฝันแล้วบอกอะไรบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนในโลกความจริง หรือเห็นวัตถุประหลาดบนฟากฟ้า หลายเหตุการณ์ที่ไม่หาเหตุผลทำให้เรื่องลี้ลับยังคงมีพลังอยู่ในทุกวันนี้
ริชาร์ด ไซโทวิค (Richard E. Cytowic) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน อธิบายถึงเหตุผลที่เราเชื่อว่าสิ่งลี้ลับ พลังเหนือธรรมชาติ หรือมนุษย์ต่างดาวมีจริง เป็นเพราะสมองเรามีพลังจินตนการมากกว่าที่เราคิด เมื่อความจริงแล้วสิ่งที่เรารับรู้ไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป บางครั้งสมองเราก็ตีผิดพลาดได้ จากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เรารับเข้ามา
ดวงตาเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่เราใช้รับรู้สิ่งต่างๆ แต่มันไม่ได้บันทึกภาพไว้ทั้งหมดได้เหมือนกล้อง ปกติแล้วดวงตาของเราจะมีจุดบอดอยู่ในแต่ละข้าง ทำให้บางครั้งสิ่งที่เรารับรู้อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ให้คำอธิบายว่าเมื่อมีบางส่วนที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ สมองเราจะพยายามใช้ข้อมูลแวดล้อมคอยคาดเดาว่าสิ่งที่หายไปคืออะไร แล้วเอาสิ่งนั้นมาเติมแทนข้อมูลที่หายไปแทน นั่นจึงทำให้บางครั้งบางคนก็อาจมองเห็นภาพหลอนขึ้นมาจากการเดาของสมอง
สอดคล้องกับงานวิจัยของ Fernando Blanco และคณะ นักวิจัยภาควิชาจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย Deusto ของสเปน สรุปว่าสิ่งที่ทำให้หลายคนเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เกิดจากความอคติทางความคิด (cognitive bias) ซึ่งเป็นทางลัดที่ช่วยให้เราแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งหนึ่งในอคติทางความคิดที่น่าสนใจ คือการเห็นภาพลวงตาที่เกิดจากการตีความผิดพลาด (causal illusion) หรือการที่เราสรุปว่าเหตุการณ์หนึ่งและเหตุการณ์สองเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น เราอาจคิดว่าการสวมเสื้อสีแดงจะทำให้เขาโชคดีในการสอบ เพียงเพราะเขาเคยได้คะแนนดีมาก่อนหลังจากที่เคยสวมเสื้อสีแดงเป็นครั้งแรก งานวิจัยระบุว่าผู้ที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะเต็มไปด้วยอคติเมื่อเลือกข้อมูล และข้อมูลที่ส่งเสริมให้เกิดภาพลวงตาขึ้นมา
เพราะการเห็นสิ่งลี้ลับเกิดขึ้นจากการตีความเฉพาะบุคคลนี่เอง ทำให้มีการแบ่งกลุ่มคนออกไปหลายฝั่ง ทั้งคนที่เชื่อเรื่องลี้ลับ คนที่ไม่เชื่อ หรือกระทั่งคนที่ไม่รู้ เพราะแม้การตีความแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบางคนจะเป็นเรื่องไม่จริงเสมอไป
เรื่องผี VS มนุษย์ต่างดาว
กลับมาที่ความเชื่อเรื่องผีและมนุษย์ต่างดาว แม้ทั้งสองเรื่องจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากพอๆ กัน แต่สองสิ่งนี้ก็ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว เพราะต่างยังมีความเชื่อบางอย่างที่แตกต่างกัน จึงทำให้หลายครั้งเราเห็นคนที่เชื่อเรื่องผีและเอเลี่ยนยืนอยู่คนละขั้ว ซึ่งความแตกต่างอย่างหนึ่งก็คือ ‘พื้นฐานความเชื่อ’ เมื่อคนที่มีความเชื่อว่าผีมีจริงจะให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณและความรู้สึก แต่คนที่เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงให้ความสำคัญกับการอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์
ความเชื่อเรื่องผีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน และปรากฎอยู่ในวรรณกรรมคลาสสิกหลายเรื่อง อย่างเช็กสเปียร์ที่พูดถึงผีของพ่อที่จากไป ในเรื่อง ‘แฮมเลต (Hamlet)’ ความใกล้ชิดของผีคนทำให้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผีมักมาพร้อมกับกับความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความชั่วร้าย ความสูญเสีย
ริชาร์ด ไวส์แมน (Richard Wiseman) ศาสตราจารย์ด้านความเข้าใจสาธารณะด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ บอกว่าหลายครั้งมนุษย์ก็ใช้ความเชื่อเรื่องผีจัดการกับความเจ็บปวดในใจ เช่น การจินตนาการถึงคนรักที่จากไปแล้วว่ายังอยู่กับเรา หรือการที่พวกเขายังคงวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ส่งสัญญาณบางอย่างให้รู้ว่ายังไม่ไปไหน สำหรับคนที่เชื่อในพลังงานที่อยู่รอบตัวและธรรมชาติแล้ว ความเชื่อเรื่องลี้ลับในดินแดนต่างโลกจึงดูคล้ายกับเรื่องเหลือเชื่อที่ไม่น่าเป็นไปได้
ส่วนความเชื่อเรื่องวัตถุประหลาดบนท้องฟ้ากับมนุษย์ต่างดาวเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ แบร์รี่ มาคอฟสกี (Barry Markovsky) ศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา ระบุว่า ความเชื่อของจานบิน หรืออวกาศมาจากความพยายามหาคำอธิบายว่าในจักรวาลอันกว้างใหญ่จะมีเพียงแค่เราจริงหรือ หลายคนจึงพยายามใช้หลักฐานแม้เพียงเล็กน้อยมายืนยันความคิดของตัวเอง และหลายครั้งข้อมูลเหล่านี้ก็มักมาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อย่างกองทัพ หน่วยงานรัฐ หรือสื่อมวลชน เช่น ภาพถ่ายจากกองทัพเรือเมื่อปี 2017 ที่ถ่ายติดวัตถุบนท้องฟ้าด้วย
ไม่แปลกหากคนที่เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวจะมีบางส่วนที่ปฏิเสธความเชื่อเรื่องผีไปด้วย เพราะเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวหรือ UFO มักมาพร้อมกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่หลายคนยอมรับและดูน่าเชื่อถือ ไม่เพียงเท่านั้นหลายครั้งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังใช้เพื่ออธิบายเรื่องผีให้กลายเป็นแค่อาการหรือความไม่ปกติของสมองหรือร่างกาย เช่น คนที่มองเห็นผีอาจมีอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น (ADHD) หรืออาการผีอำมาจากการนอนหลับไม่เพียงพอ
นี่จึงอาจเป็นพื้นฐานความเชื่อหนึ่งที่ต่างกันของกลุ่มคนที่เชื่อสิ่งลี้ลับ แต่ถึงอย่างนั้นไม่ได้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าคนที่เชื่อเรื่องผีจะไม่เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาว และคนเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวจะไม่เชื่อเรื่องผี หลายครั้งที่ทั้งสองสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งลี้ลับเช่นเดียวกัน คนที่เชื่อทั้งสองสิ่งนี้ก็มีเหมือนกัน จากผลสำรวจของ YouGov เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องลี้ลับ เมื่อปี 2018 พบว่ากว่าครึ่งหรือ 56% ของของคนที่เชื่อว่าผีมีจริง ก็จะเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวเคยมาที่โลกด้วย
ผีและมนุษย์ต่างดาว ความเป็นอื่นใน Dandadan
ทั้งผีและมนุษย์ต่างดาวต่างก็เป็นสิ่งลี้ลับยากจะหาคำอธิบาย ในเรื่อง Dandadan ก็ไม่ได้เลือกให้ฝั่งใดน่าเชื่อถือกว่ากัน แต่กลับทำให้ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งคู่
เมื่อไม่ว่าจะผีหรือมนุษย์ต่างดาวต่างก็มีความหมายถึงความเป็นอื่น ไม่ได้สามารถดำรงร่วมกับคนปกติทั่วไป เราจึงเห็นว่าทั้งผีและมนุษย์ต่างดาวในเรื่องมักมีความน่ากลัว มีพลังเหนือธรรมชาติ เหตุผลและแรงจูงใจที่อยู่นอกเหนือคนธรรมดาทั่วไป เช่น มนุษย์ดาวเซอร์โปที่จับโมโมะไว้เพื่อต้องการสืบพันธ์ หรือคุณยายเทอร์โบที่พยายามสาปแช่งและขโมยอวัยวะเพศของใครก็ตามที่เข้ามาในดินแดนของเธอ
ย้อนกลับมาในชีวิตประจำวัน แม้ภายนอกจะดูไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่ลึกลงไปบางครั้งเราก็รู้สึกรู้สึกแปลกแยกไม่เข้าพวกได้เหมือนกัน อย่างที่เราเห็นจากตัวละครในเรื่อง อย่างโมโมะ เด็กสาวที่แม้จะดูป็อปปูลาร์เป็นที่รู้จัก แต่ลึกลงไปเธอก็มีปมที่ทำให้รู้สึกแปลกแยกไปจากคนอื่นๆ เธอถูกเลี้ยงดูมาโดยคุณยายซึ่งเป็นหมอผี จึงทำให้เธอมักถูกเพื่อนล้อในตอนเด็ก ขณะที่ก็วาดหวังว่าเธอจะได้พบกับชายในฝันสักวันหนึ่ง
หรือโอคารุน เด็กเนิร์ดที่ชื่นชอบยูเอฟโอเข้าเส้น จนไม่มีเพื่อนที่เข้ากันได้ ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตนอกโลก และหวังว่าความชอบมนุษย์ต่างดาวจะนำพาให้คนที่ชอบสิ่งเดียวกันได้มาเป็นเพื่อนเขา รวมถึงตัวละครอื่นๆ ที่ต่างก็ต้องการการยอมรับจากใครสักคนอย่างแท้จริงแม้จะมีความเชื่อที่แปลกประหลาดแค่ไหนก็ตาม
การเจอกันของอายาเสะและโอคารุนจึงเป็นเหมือนการเติมเต็มซึ่งกันและกัน ที่ถึงแม้ทั้งคู่จะมีนิสัยและความเชื่อที่แตกต่างกันไปคนละทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะไม่สามารถเป็นเพื่อนกันได้ เพราะบนโลกนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเพียงด้านเดียว
อ้างอิงจาก