หลังจากที่พยายามเขียนร่างย่อหน้าเกริ่นนำทริปดำน้ำ ‘อนิเลา’ แบบยิ่งใหญ่ แกรนด์เด เอลิแกนซ์ อยู่หลายวัน ผมก็ค้นพบว่าการเปิดตัวแบบนั้นช่างไม่เข้ากับบรรยากาศร่าเริง สดใส สีสัน สวยงาม แบบโลกใต้ทะเลของอนิเลาเอาเสียเลย – โอเค จบกัน ย่อหน้าเปิดเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ตัดทิ้งแล้วเข้าเรื่อง “ผมไปเที่ยวอนิเลามาครับ” เลยดูท่าจะดีกว่า
เริ่มต้นแนะนำพิกัดสถานที่ให้ได้คุ้นเคยก่อน อนิเลา ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ดำน้ำที่อุดมสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง ราคาไม่แพง เดินทางไม่ยาก บินต่อเดียวถึง เพียงแค่คุณ…
– คั่นเวลาก่อน –
อนิเลา ที่เราจะพูดถึงต่อจากนี้ ประกอบด้วย Anilao Proper และ Anilao East ซึ่งเป็น 2 บารังไกย์ อยู่ในเขตเทศบาล Mabini จังหวัด Batangas เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ // งงไหมครับ? // ถ้างง ให้แทนที่คำว่า บารังไกย์ด้วยคำว่าตำบล และ เขตเทศบาลด้วยคำว่าอำเภอ ( อันที่จริง เราใช้คำว่าตำบล แทนบารังไกย์ ไม่ได้ 100% ด้วยรายละเอียดในเรื่องการเมืองการปกครอง แต่เพื่อความเห็นภาพก็ขออนุโลมไว้ ณ ที่นี้) สาเหตุที่ต้องชี้แจงเพราะว่า ประเทศฟิลิปปินส์มี อำเภออนิเลา ที่มีชื่อซ้ำกับ ตำบลอนิเลาที่เราไปมาเป๊ะๆ แต่อำเภออนิเลาที่ว่านี้ตั้งอยู่คนละเกาะ คนละเกาะแบบเรียกได้ว่าไกลกันฉิบหาย และนั่นอาจทำให้คุณสับสนเวลาวางแผนการท่องเที่ยวด้วยการกูเกิ้ลคำว่า ‘Anilao’ ได้ – ดังนั้น ถ้าจะไปดำน้ำ ก็ต้องดูตำแหน่งในกูเกิลแมพให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็ต้องอยู่บนเกาะเดียวกันกับกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ครับ
– กลับสู่เนื้อเรื่องหลัก –
การเดินทางไปดำน้ำที่อนิเลานั้นง่ายมาก บินต่อเดียวจากไทยไปลงที่สนามบินนานาชาติ Ninoy Aquino (MNL) แล้วเหมารถตู้อีกไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็ถึงรีสอร์ท เช็กอิน เก็บของ เสร็จแล้วก็เริ่มดำน้ำได้เลย (สปอยล์ : แต่อย่าเพิ่งรีบกระวีกระวาดไปลงน้ำขนาดนั้น คุณจะอยากพักเหนื่อยก่อนแน่นอน อย่าลืมว่าคุณเพิ่งผ่านสมรภูมิการจราจรแห่งประเทศฟิลิปปินส์มาหมาดๆ ซึ่งบั่นทอนสุขภาพจิตคุณเทียบเท่าถนนลาดพร้าวตอนพีค)
แม้ว่าอาหารการกินที่นี่จะมีคล้ายประเทศไทย แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าถูกปากเราเหมือนอาหารบ้านเรา ทุกอย่างที่นี่จะมันๆ แฉะๆ ปะแล่มๆ ไม่ค่อยเจอรสเผ็ดถ้าอยู่หลายวันเอามาม่ามาด้วยก็ดี ค่ากินอยู่ที่นี่ไม่ต่างกับไทยมากนัก แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรแลกเงินเปโซมามากเกินความจำเป็น อันนี้เตือนไว้เลยว่าส่วนต่างตอนแลกกลับเป็นบาทจะทำให้คุณต้องร้อง “อู้ววววส์” แน่นอน
ฮูเร่! เข้าเรื่องดำน้ำได้เสียที เป็นที่รู้กันในหมู่นักดำน้ำว่า ไปอนิเลา ไปดูตัวเล็ก – ตัวเล็กเหรอ?
คืองี้ครับ เมื่อคุณดำน้ำมาได้สักพัก คุณจะเริ่มรู้ว่าลงน้ำแต่ละครั้งจะดำลงไปดูอะไร บางคนชอบ Landscape บางคนชอบปะการัง-กัลปังหา บางคนชอบสัตว์น้ำตัวใหญ่ๆ ฉลามงี้ กระเบนงี้ บางคนชอบเข้าถ้ำ บางคนชอบเรือจม และบางคนก็ชอบดูสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ทั้งหลายใต้น้ำ
ย้อนคำถามเดิม ตัวเล็กเหรอ? มันน่าดูตรงไหน? นั่นสิ กุ้งเล็ก ปูเล็ก ปลาเล็ก ฯลฯ มันจะต่างอะไรกับเวลาเราเดินไปซื้อกุ้งแห้งหรือปลาซิวแพ็คถุงที่ตลาดหนองมนวะ? – ตอนแรกก็ไม่คิดเลยนะว่าตัวเล็กมันจะประทับใจ – แต่พอหงายหลังลงน้ำที่อนิเลาปุ๊บ โอ้โห จบเลย สีสวย มีทั้น่ารัก มีทั้งประหลาด ไม่ต้องลุ้นมากด้วยว่าจะเจอหรือไม่เจอ มันมีเยอะ ดำลงไปไม่เจอตัวนี้ก็ต้องเจอตัวนั้นนั่นแหละ
เจอตัวอะไรบ้าง? เจอเยอะมาก!
นอกเหนือไปจากสิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาประหลาดที่ใส่มาเป็นรูปประกอบก่อนหน้านี้ ถัดจากนี้ไปก็เป็น ปู กุ้ง ปลา ที่อยากบันทึกไว้ว่า “เออ โชคดีจังที่ได้เจอตัวนี้” โดยจะพยายามแนบชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละตัวครบทุกรูป เผื่อว่าใครอยากจะค้นต่อ ก็จะนำไปค้นได้ครับ (ส่วนประหลาดทั้งหลาย… ถ้ามีโอกาสอยากจะเขียนถึงพวกนี้แยกไปเลยอีกบทความ เพราะรู้สึกว่าพวกมันไกลตัว และ ต้องเกริ่นยาวกว่า ปู กุ้ง ปลา ไปอีกระดับหนึ่ง)
เริ่มต้นด้วย ‘ปู’ ปูเต็มไปหมดเลย ปูมากมายหลายชนิด มาอนิเลาครั้งแรกเจอปูที่อยากเจอครบถ้วน อันนี้จัดเป็นเรื่องที่จะเล่าให้ลูกหลานฟังได้อยากภาคภูมิใจ แต่ตัวที่มอบเหรียญทองยกตำแหน่งน่ารักที่สุดให้ก็คือ ปูปอม-ปอม หรือ ปูเชียร์ลีดเดอร์ หรือ ปูต่อยมวย (Lybia tessellata) จุดเด่นคือปูตัวนี้จะนำดอกไม้ทะเลมาติดที่ก้ามของมันเพื่อใช้กวักอาหารกินและโบกต่อสู้ศัตรูที่เข้ามารังควาญ เห็นใจสู้แบบนี้แต่ตัวจริงโตเต็มที่ก็มีขนาดไม่เกิน 2.5 เซ็นติเมตร
นอกจากปูปอม-ปอม ก็มีปูม้าลาย Zebra Crab (Zebrida adamsii) หน้าตาแลดูดุดัน ตัวในรูปนี้ขนาด 2 – 3 เซ็นติเมตร อาศัยอยู่ในหอยเม่นไฟสีเจ็บ (Asthenosoma varium) ที่เห็นแหลมๆนั่นหนามหอยเม่นไฟทั้งนั้น
และปู Porcelain crab (Neopetrolisthes maculatus) ตัวนี้หาชื่อไทยไม่เจอ พบได้ทั่วไปตามดอกไม้ทะเลหน้าตาเหมือนพรมเช็ดเท้าหน้าห้องน้ำ
ถัดจากปู ต่อไปเป็น ‘กุ้ง’ ลืมภาพกุ้งแม่น้ำวางเรียงกันบนตะแกรงเตาถ่านไปก่อน และมองข้ามเรื่องการเลี้ยงกุ้งขายกันตัวละเป็นแสนไปเสีย กุ้งจัดได้ว่าเป็นไฮไลท์ที่น่าดูตลอดการดำน้ำดูตัวเล็กๆ ด้วยสีสันและรูปทรง สารภาพกันตรงๆ ว่า ก่อนที่จะมาดำน้ำ ผมเข้าใจว่ากุ้งก็มีอยู่แบบเดียว (คือแบบที่เราปิ้งกิ้นกัน) แต่หลังจากได้มาเห็นของจริงแล้วก็พบว่ากุ้งนี่มีโคตรอภิมหาหลายหลายสายพันธ์ เช่น กุ้งหางนกยูง แปลมาตรงตัวจากภาษาอังกฤษว่า Peacock-Tail Anemone Shrimp (Periclimenes brevicarpalis) บางคนก็เรียกว่า กุ้งป๊อปคอร์น ด้วยความที่ อืม… ก็มันดูเหมือนป๊อปคอร์น
กุ้งที่นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะเรียกมันว่าอะไรดีในภาษาไทย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Commensal shrimp (Allopontonia brockii) ซึ่งจากพจนานุกรมสวทช. คำว่า Commensalism แปลว่า ภาวะอิงอาศัย และแปลไทยเป็นไทยอีกทีได้ว่า ความสัมพันธ์แบบหนึ่งของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันโดยที่ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์จากการอยู่ร่วมกันนั้นและอีกฝ่ายหนึ่งไม่เสียประโยชน์แต่อย่างใด เช่น กล้วยไม้ที่เกาะบนต้นไม้ใหญ่ ส่วนในกรณีนี้ ก็คือกุ้งตัวนี้อาศัยอยู่บนอาศัยอยู่บนเม่นทะเลไฟ (Asthenosoma varium) สีปรี๊ดปร๊าดดด
และ ทีเด็ดของกุ้ง – กุ้งโครงกระดูก หรือ Skeleton Shrimp (Caprellidae) ความสนุกของการดูกุ้งตัวนี้คือการหามันให้เจอเนี่ยแหละ! เหตุผลคือ 1.ตัวใส 2.ตัวเป็นเส้นลีบๆ 3.ในวิกิฯบอกว่าตัวยาวประมาณ 1 นิ้ว แต่เจอจริงไม่เคยเกิน 1 เซ็นฯ 4.พรางตัวอยู่บน ‘ไฮดรอยด์’ หรือ ‘ขนนกทะเล’ ที่หน้าตาคล้ายๆตัวกุ้งมันเอง จากเหตุผลทั้งหมดเราจะเห็นนักดำน้ำหลายคนเอาหน้าปักพื้นทรายเสมือนว่าหาเหรียญหล่นอยู่ แต่จริงๆแล้วก็คือหากุ้งตัวนี้กันอย่างขะมักเขม้น
อย่างที่บอกไปแล้วว่ากุ้งเป็นทีเด็ดของพวกตัวเล็ก การไปดำน้ำที่อนิเลาครั้งนี้เจอกุ้งแปลกๆ เยอะแยะ ตัวสุดท้ายนี้ชื่อ bumblebee shrimp หรือ กุ้งบัมเบิ้ลบี (Gnathophyllum americanum) ชื่อเท่มากเหมือนเพิ่งออกมาจากโรงหนังเรื่อง Transformar ตัวนี้โดดเด่นตรงที่มีสีเหลือง สลับกับลายแนวขวางลำตัวที่ป้อมๆเหมือนผึ้ง
ปูแล้ว กุ้งแล้ว ถัดไปก็เป็นปลาบู่ อ่านไม่ผิดครับ ปลาบู่! – ท่านทราบหรือไม่ว่าปลาบู่เป็นวงศ์ปลาที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในโลก นั่นแปลว่าเราจะพบปลาบู่ได้อยู่ทั่วไปทุกแห่งหนตั้งแต่ทะเลสาบน้ำจืดบนยอดเขายันใต้ท้องทะเลลึก 50 เมตร ภาษาอังกฤษเรียกปลาบู่ว่า Goby ออกเสียงว่า โกบี้ น่ารักดี
มีโอกาสไปดำน้ำไกลถึงฟิลิปปินส์ทั้งที ปลาบู่ที่เจอก็ต้องมีเอกลักษณ์หน่อย นี่ภูมิใจนำเสนอ Coral Goby ปลาบู่ ที่อาศัยอยู่ในปะการังแข็ง มีความฮิปสเตอร์ไว้หนวดไว้เครา เก็กหน้าเหวอ เจออยู่สองแบบ แบบแรกคือตัวสีดำหัวสีแดง Redhead Coral Goby (Paragobiodon echinocephalus)
และ แบบสีเหลืองทั้งตัว / Yellow Coral Goby (Paragobiodon xanthosoma) ความน่ารักของปลาบู่พวกนี้คือหน้าตาพวกมันจะออกเหวอๆ ตลอดเวลาเนี่ยแหละ เห็นแบบนี้ ตัวนึงก็ยาวประมาณ 3 – 5 เซ็นฯ เท่านั้น
นอกจากพวกฮิปสเตอร์ เราก็สามารถพบเจอปลาบู่บูติก Pink Eye Goby (Bryaninops natans) ชื่ออ่านออกชัดเจนว่าเป็นปลาบู่ที่มีตาสีชมพู ตัวนี้ก็น่ารัก แม้ว่าจะไม่มีหนวดและหน้าตาไม่เหวอเท่า
ตัวสุดท้ายนี่ของแถม เนื่องจากตัวประมาณฝ่ามือ ไม่จัดว่าอยู่ในจำพวกตัวเล็กสักเท่าไหร่ ปลาหน้าตาประหลาดตัวนี้ชื่อ Rhinopias เป็นของโบราณหายากประจำท้องทะเล จัดเป็นวงศาคนาญาติของปลาสิงโต มาอนิเลาครั้งนี้โชคดีเจอสองตัว สองสี สวยงาม ประหนึ่งว่าใช้โชคลาภที่กำลังจะมาถึงในปี 2017 ไปแล้วเสียหมดสิ้น ตัวแรก Rhinopias frondosa สีส้ม กำลังหาว
ตัวที่สอง Rhinopias frondosa สีม่วง หน้าตรง รีบถ่าย-รีบไป ก่อนชุลมุน
แน่นอนว่าปลาหายากแบบนี้ย่อมเป็นที่หมายปองของนักดำน้ำแทบทุกคน – กลุ่มผมโชคดีที่บังเอิญเจอเป็นกลุ่มแรกๆ รีบถ่าย รีบกลับ ถัดจากนั้นเมื่อเริ่มมีการมาถึงของกลุ่มอื่นๆ บรรยากาศการเข้าไปชักภาพก็จะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ประมาณนี้
ผมโชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้ไปดำน้ำในที่ต่างๆ และโชคดีกว่าเดิมที่ได้รับพื้นที่เล็กๆตรงนี้เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆให้ผู้มีอุปการคุณทุกท่านได้อ่าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็รู้สึกเหมือนมีชนักปักหลังมาโดยตลอด ชนักอันนี้มาจากความกังวลที่ว่า “เอ… ไอ้เราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรมากมายทั้งในศาสตร์การท่องเที่ยวและการดำน้ำ แบบนี้คนอ่านเขาจะอยากอ่านแน่หรือ?”