กุมภาพันธ์ 1692-มีนาคม 1693 ชาวเมืองซาเลม อาณานิคมแมสซาชูเส็ตต์จำนวน 20 คน ถูกไต่สวนข้อหาเป็นแม่มด ถูกประหารชีวิตหรือคุมขังจนตายในคุก ด้วยคำโกหกให้การเท็จต่อเนื่อง ที่ปะทุความบ้าคลั่งและหวาดระแวงของเมืองทั้งเมือง
เมืองซาเลม ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพชาวพิวริแตนอังกฤษ กลุ่มผู้เคร่งศาสนาอพยพหนีการกวาดล้างของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มายังอาณานิคมใหม่ที่แมสซาชูเส็ตต์ และตั้งรกรากบ้านเมืองขึ้น พวกเขาปกครองตนเองโดยมีศูนย์กลางที่โบสถ์ และดำเนินชีวิตด้วยความเกรงกลัวต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในแผ่นดินใหม่
20 มกราคม 1692 เด็กหญิงสองคนในหมู่บ้านซาเลม อบิเกล วิลเลียม (11) และอลิซาเบธ ‘เบ็ตตี้’ แพร์ริส (9) เริ่มแสดงอาการประหลาด คลานไปมา ส่งเสียงกรีดร้อง โวยวายว่าถูกเข็มแทงและเจ็บตามร่างกาย ต่อจากนั้น เด็กสาวอีกหลายคนก็แสดงอาการคล้ายกัน รวมถึง แอนน์ พัตแนม (12) ด้วย บาทหลวงหลายคนเข้ามาพิสูจน์และประกาศว่าเป็นการกระทำของแม่มด
จากนั้นเด็กหญิงที่มีอาการก็เริ่มกล่าวหาคนเป็นแม่มด เริ่มจาก ซาราห์ กู้ด ขอทานหญิงเร่ร่อน ซาราห์ ออสบอร์น หญิงแก่ที่ป่วยจนไม่ค่อยไปโบสถ์ และทิทูบา ทาสหญิงผิวดำถูกกล่าวหาว่าสอนวิชาแม่มดและใช้มนตร์ดำ ทั้งสามถูกสอบสวนแล้วจับขังคุก
แล้วเด็กๆ ก็เริ่มไล่ชื่อหญิงสาวในเมืองทีละคน ทุกคนเกิดความระวังสงสัยซึ่งกันและกันว่าจะเป็นแม่มด ใส่ความซึ่งกันและกันเพื่อปกป้องตัวเองไม่ให้ถูกกล่าวหา คนที่มีวัตรปฏิบัติต่างจากเพื่อน คนเร่ร่อน คนที่เกลียดชังกัน ใช้ความเป็นแม่มดมากล่าวหาเพื่อทำลาย จนสิ้นเดือนพฤษภาคม มีคนถูกจับข้อหาเป็นแม่มดและคุมขังไว้มากกว่า 62 คน
มิถุนายน การไต่สวนพิจารณาคดีในศาลเริ่มขึ้น โดยมีคอตตอน เมเทอร์ ศิษยาภิบาลที่กระตือรือร้นในการไต่สวนแม่มด และวิลเลียม สตัฟตัน ตุลาการหัวหน้าศาลและรักษาการข้าหลวงเป็นผู้นำ กฎหมายของอังกฤษที่บังคับใช้ในอาณานิคมนิวอิงแลนด์ บัญญัติให้การเป็นแม่มดเป็นความผิดร้ายแรงถึงประหารด้วยการแขวนคอ
บริดเจ็ท บิชอป หญิงม่ายชุดดำถูกนำขึ้นศาลและถูกพิพากษาว่าเป็นแม่มด เนื่องจาก “กระทำการที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นพิวริแตน” เธอถูกเปลื้องผ้าค้นตัว คณะลุกขุนสตรีอ้างว่าเธอมีหัวนมที่สามซึ่งเป็นหลักฐานของการเป็นแม่มด เธอถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกประหารด้วยการแขวนคอ แต่เมื่อพิสูจน์ภายหลังก็ไม่มีใครพบหัวนมที่สามของเธอ ไม่ว่าจะในรายงานการไต่สวน หรือบนศพ
การพิจารณาคดีและพิพากษาดำเนินไป ใครสารภาพและซัดทอดคนอื่นว่าเป็นแม่มดก็ได้รับโทษเล็กน้อยและถูกปล่อยตัว ใครยืนยันว่าตนบริสุทธิ์ ไม่ซัดทอดกล่าวหาใคร แต่ไม่สามารถหาหลักฐานหรือไม่มีความน่าเชื่อถือ ก็ถูกตัดสินว่าผิดและจับแขวนคอ แท่นแขวนคอไม่เคยว่างจากศพ และคุกก็มีคนผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปไม่หยุดหย่อนเป็นกว่าร้อยคน
เดือนสิงหาคม คนถูกประหารอีกห้าคน รวมถึง จอห์น พร็อคเตอร์ ชาวไร่หนุ่มคริสเตียนผู้แสนดี ที่พยายามปกป้องภรรยาตนเองจากการถูกกล่าวหาและจับกุม และตั้งข้อสงสัยต่อการดำเนินคดีต่อศาล หลังเขาถูกประหาร ทรัพย์สินทั้งหลายถูกยึดและแบ่งสันปันส่วนในหมู่ลูกขุนและตุลาการของเมือง
เดือนกันยายน กิลส์ คอรีย์ เศรษฐีชาวไร่ ถูกตัดสินประหารโดยใช้หินทับจนตายหลังจากปฏิเสธที่จะรับสารภาพว่าใช้เวทมนตร์ร่วมกับภรรยา เขาทิ้งพินัยกรรมไว้ในคุกว่า “ความตายของเขาคือการปฏิเสธความอยุติธรรมของการไต่สวนนี้” ทรัพย์สินมหาศาลของคอรีย์ถูกยึดและแบ่งส่วนกันเช่นเดียวกับของจอห์น พร็อคเตอร์
จนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีผู้ถูกตัดสินประหารและแขวนคอไปอีก 8 คน และคอตตอน เมเทอร์ ก็เขียนจดหมายแจ้งไปยัง วิลเลียม ฟิปส์ ข้าหลวงผู้ว่าการอาณานิคมด้วยความยินดีที่ได้ประหารแม่มดลงสู่นรก เขาใช้เรื่องราวนี้เขียนหนังสือว่าด้วยจิตวิญญาณและการล่าแม่มดตีพิมพ์สู่ท้องตลาดในชื่อ Wonders of the Invisible World
แต่ข้าหลวงฟิปส์ไม่คิดเช่นเดียวกับเมเทอร์ เขาเร่งเดินทางกลับมายังซาเลมแล้วสั่งยุบศาลและคณะลูกขุนคดีแม่มด ก่อนจะสั่งจัดตั้งศาลและคณะลุกขุนใหญ่ใหม่จากเมืองและหมู่บ้านอื่น ในเดือนมกราคม 1693 สตัฟตันได้รับเลือกเป็นตุลาการหัวหน้าศาลอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ลูกขุนไม่เห็นพ้องกับเขา ผู้ถูกไต่สวนทุกคนได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิดและถูกปล่อยตัวไป จนสิ้นเดือนมีนาคม ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดก็ไม่มีใครถูกคุมขังแล้ว
การไต่สวนล่าแม่มดแห่งซาเลมจบลง แต่การรื้อฟื้นความบริสุทธิ์ของเหล่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดเพิ่งเริ่มต้น โรเบิร์ต คาเลฟ พ่อค้าและนักเขียนชาวบอสตัน เก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานคดีแม่มดแห่งซาเลม และตีพิมพ์หนังสือคัดค้านแนวคิดของคอตตอน เมเทอร์ ออกมาสู่สาธารณะ ในชื่อ More Wonders of the Invisible World
ปี 1700-1703 ด้วยความแพร่หลายของหนังสือจากผลงานของคาเลฟ ชาวบอสตันยื่นคำร้องมากมายสู่รัฐบาลอาณานิคมแมสซาชูเส็ตต์เพื่อรื้อฟื้นและแก้ต่างให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีแม่มดซาเลม จนกระทั่งปี 1706 แอนน์ พัตแนม เด็กสาวที่กล่าวหาคนมากมายว่าเป็นแม่มดต้องถูกประหาร สารภาพว่าตนเองโกหกและเป็นพยานเท็จ ต่อที่ประชุมของโบสถ์แห่งซาเลม และกล่าวว่าเป็นการล่อลวงจากซาตานให้ตนเองกระทำเช่นนั้น และผู้ที่รอดชีวิตมาจากการไต่สวนทรมาน ก็ได้ยื่นคำร้องขอค่าชดเชยและค่าเสียหาย