1. เวลาอยู่ในเกาหลีเหนือ เขาจะไม่เรียกตัวเอง และไม่ชอบให้เรียกว่าเกาหลีเหนือ เพราะเขาคิดว่า เขาคือ ‘เกาหลี’ ซึ่งมีอำนาจครอบครอง peninsula ทั้งหมด
2. ช่วงที่ไปเกาหลีเหนือ เป็นช่วงที่มีความตึงเครียดค่อนข้างสูงมาก เมื่อเข้าแอร์พอร์ต ตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง เขาจึงหยิบฮาร์ดดิสก์ มือถือ คอมพิวเตอร์ของเราไปตรวจทั้งหมด (ตรวจในที่นี้ คือ ตรวจไฟล์ ให้เราอันล็อคให้ แล้วเอาไปดูว่าเราเปิดไฟล์อะไร หรือถ่ายรูปอะไรไว้บ้าง)
3. จริงๆ เกาหลีเหนือนิยามตัวเองว่าเป็น Democratic People Republic of Korea (DPRK) คือมีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ และมีการเลือกตั้ง แต่จากข้อมูลในวิกิพีเดีย (ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกต้อง 100%) เขาบอกว่า เป็นการเลือกตั้งที่มีพรรคเดียว ใครจะเลือกคนอื่นขึ้นมาแทน จะต้องเดินฝ่าฝูงชนไปอีกบูธ แล้วขีดฆ่าชื่อท่านผู้นำทิ้ง ซึ่งนั่นเป็นการกระทำที่รุนแรงมาก
4. เกาหลีเหนือใช้เงินวอน ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนตามใจคนขายมาก เช่น เงินวอนที่ใช้ในโรงแรม จะไม่เท่ากับเงินวอนที่ใช้ข้างนอกเสียทีเดียว แต่เขาไม่ให้คนต่างชาติใช้เงินวอน (เท่าที่เจอ) แต่จะให้ใช้เงินหยวน หรือเงินดอลล่าร์เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้เราซื้อของข้างนอก ตามร้านรวงเองไม่ค่อยจะได้ นอกจากเขายินดีจะรับหยวน
5. ในเปียงยาง เขามีการแบ่งโซนที่อยู่อาศัยตามอาชีพ เช่น ถนนนี้ เป็นของนักวิทยาศาสตร์ล้วนๆ
6. ไม่ว่ามุมไหนในเปียงยาง ในช่วงที่ไป ก็จะมีการซ้อมเต้นโบกสะบัดธง เพื่อเฉลิมฉลองอยู่เสมอ ไม่แน่ใจว่าเป็นกิจกรรมปกติ หรือเป็นเพราะช่วงที่ไป เป็นช่วงวันชาติ (15 เมษายน)
7. เกาหลีเหนือใช้ปีที่เรียกว่า ปีจูเช่ (JUSHE; ซึ่งเป็นปรัชญาการปกครองรวมไปถึงปรัชญาการดำเนินชีวิต นั่นคือการพึ่งพิงตนเอง) ตอนนี้เป็นปีจูเช่ 105
8. คนเกาหลีเหนือไม่คุ้นเคยกับกล้องนัก แค่พกกล้องไปถ่ายตามท้องถนนก็จะถูกมองแล้ว และบางที่ ไม่อนุญาตให้ถ่ายเลย
9. การจะถ่ายรูปท่านผู้นำนั้น ถ้าจะถ่าย ต้องถ่ายให้เต็มร่าง เต็มรูป ห้ามมีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป
10. อาหารเกาหลีเหนือประกอบด้วยกิมจิในแทบทุกมื้อ อาหารอื่นๆ ก็มีความเป็นเกาหลีใต้บ้าง รัสเซียบ้าง นำเข้ามา เช่น สลัดไข่ แฮมเบิร์ก ลูกชิ้นไก่บด
11. ถึงเป็นประเทศสังคมนิยมก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเหลื่อมล้ำ เท่าที่เข้าใจ อาชีพต่างๆ ในเกาหลีเหนือจะได้เงินเดือนทัดเทียมกัน (จากรัฐ; กิจการเป็นของรัฐ) แต่สิ่งที่ต่างกันออกไปคือสวัสดิการ เช่น รถ หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งความไม่เท่าเทียมจะอยู่ในสิ่งของแบบนี้เอง
12. เกาหลีเหนือมีปรัชญาการปกครองหรือการดำเนินชีวิตที่สำคัญสองอย่าง อย่างแรกคือจูเช่ (JUSHE) ที่บอกไปแล้ว ว่าคือการพึ่งพาตนเอง (เพราะแทบจะปิดประเทศ) อย่างที่สองคือซงกุน (Songun) ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ทหารมาก่อน’ ก็คือเป็นรัฐทหารนั่นเอง
13. จากการดูล่ามและเจ้าหน้าที่ที่มาเฝ้าระหว่างการท่องเที่ยว, คนเกาหลีเหนือกินเหล้าหนักมาก
14. และเบียร์เกาหลีเหนือก็ค่อนข้างอร่อย (มีหลายยี่ห้อ) น้องผู้ชำนาญเบียร์ที่ไปด้วยกันชมเปาะว่าละเลียดมาก เบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่นุ่มนวลเป็นพิเศษชื่อยี่ห้อว่า แตดอง ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำในเกาหลีเหนือนั่นเอง
15. ในโรงแรม พอเปิดทีวี พบว่ามีทีวีเพียงช่องเดียว ซึ่งเป็นช่องปลุกใจ จะนำเสนอข่าวของท่านผู้นำในการปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ และความก้าวหน้าของรัฐในการพัฒนาวงการต่างๆ
16. หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็มี ชื่อ Pyongyang Times มีแปดหน้า 5 หน้าแรกจะเป็น ‘ข่าวดีของเกาหลีเหนือ’ เช่น ข่าวท่านผู้นำ ข่าวการพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่สำเร็จแล้ว 2 หน้าต่อมาจะเป็น ‘ข่าวร้ายของประเทศศัตรู’ เช่น ข่าวการระเบิดเกาหลีใต้ ข่าวความเหลื่อมล้ำในอเมริกา ส่วนหน้าสุดท้ายจะเป็นหน้าท่องเที่ยวและสันทนาการ
17. มีดอกไม้ประจำท่านผู้นำสองดอก ประจำท่านผู้นำดอกละคน คือ คิมอิลซุงเกีย เป็นดอกกล้วยไม้สีม่วง ได้รับเป็นของขวัญจากอินโดนีเซีย และได้รับความนิยมในเกาหลีเหนือจนถึงปัจจุบัน และคิมจองอิลเลีย เป็นดอกบิโกเนีย (Begonia) สีแดง ตอนที่ไป ได้ไปดูเทศกาลดอกไม้ (ที่ก็มีดอกไม้ส่วนมากคือสองชนิดนี้) จัดเป็นซุ้มต่างๆ ส่งมาจากทุกแคว้นในเกาหลีเหนือด้วย
18. ของฝากจากเกาหลีเหนือคือ โสมในลักษณาการต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง (เขาทำเครื่องสำอางเองด้วย) ลูกอม (ซึ่งไม่อร่อย) หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็จะมีพวกซีดีเพลงปลุกใจ ดีวีดีการแสดงร่วมใจชาติ หรือไม่ก็โปสเตอร์ propaganda ที่ปลุกใจต่างๆ
19. การบินเข้าออกจากเกาหลีเหนือ ในเที่ยวที่ไป ต้องไปต่อเครื่องบินที่ปักกิ่ง ค่อยบินเข้าเปียงยาง ซึ่งไม่ง่าย ตอนแรกเกือบมีปัญหาที่สุวรรณภูมิ
20. สนามบินของเปียงยางทันสมัยและสะอาดมาก อันที่จริง บ้านเมืองก็สะอาดทั้งหมดนั่นแหละ เพราะเขาแจกจ่ายงานให้ทุกคนมีงานทำ ดังนั้นก็จะมีชาวบ้านที่มาทำหน้าที่ ‘พัฒนาเมือง’ คือถอนหญ้าบ้าง กวาดพื้นบ้าง ฯลฯ
21. เด็กส่วนใหญ่ที่เห็นในเปียงยางจะผูกผ้าพันคอสีแดง สอบถามดูได้ความว่าเป็นสัญลักษณ์คล้ายๆ กับสมาคมยุวชน ล่ามบอกว่า เขาจะไปทำภารกิจพัฒนาเมืองต่างๆ
22. เราได้ไปเยี่ยมโรงเรียน 2-3 แห่ง เป็นโรงเรียนชานเมือง (นอกเปียงยาง) 2 แห่งและโรงเรียนพิเศษในเปียงยางหนึ่งแห่ง ชื่อว่า ‘วังเด็ก’ (Children Palace)
23. สำหรับโรงเรียนนอกเมือง ไปสองครั้ง ก็จะเข้าไปอยู่ในคาบดนตรีทั้งสองครั้ง มีเด็กๆ เต้นอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส สำหรับโรงเรียนแรก เมื่อเราเดินเข้าไป ก็พบเด็กๆ เต้นอยู่หน้าโรงเรียน เรียงแถวกันเรียบร้อย พอเห็นว่าพวกเราเดินเข้าไป เด็กๆ ก็เต้นถึงจังหวะที่ต้องเดินมาจับมือพวกเรา แล้วเต้นล้อมวงไปรอบๆ พอดี *คือได้ภาพที่น่าประทับใจมาก*
24. เมื่อเข้าไปในโรงเรียนครั้งที่สอง ก็ยังคงเป็นคาบดนตรีอยู่อย่างที่บอก เด็กๆ โอนหัว ซ้าย ขวา เข้าจังหวะบ้างไม่เข้าจังหวะบ้าง ตามเสียงเปียโนที่คุณครูหน้าบึ้งดีดอยู่
25. คิดว่าเป็นอย่างที่คุณคิดนั่นแหละ ว่าทั้งสองโรงเรียนนั้นจัดแสดงมาเพื่อให้พวกเราเห็น เพื่อให้เราได้ฉากประทับใจกลับบ้าน คงคล้ายกับในบ้านเรา เวลาที่มี ‘คนจากกระทรวง’ มาตรวจมาตรฐานการศึกษา แล้วครูในโรงเรียนต้องเตี๊ยมเด็กว่า เอ้า พอถึงเวลาให้ถามคำถาม เธอถามข้อนี้นะ ส่วนนายสุชัย เธอถามข้อโน้นนะ และอย่าหลับนะ คือทั้งหมดนี้เป็นละครเรื่องหนึ่งที่ใช้ความร่วมใจของคนทั้งชั้น
26. สำหรับวังเด็ก (Children Palace) ที่ตั้งอยู่ในเปียงยางนั้น คล้ายๆ กับโรงเรียนสอนพิเศษที่ควบรวมทั้งทางด้านศิลปะและการศึกษาเข้าไว้ด้วยกัน เป็นตึกโอ่โถง (ขนาดประมาณเซ็นทรัลเวิลด์) เปิดสอนทั้งดนตรีพื้นเมือง ดนตรีสมัยใหม่ การเขียนพู่กัน ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
27. จากการสอบถามล่ามพบว่า ‘เด็กที่จะเข้าวังเด็กได้คือเด็กที่เก่ง’ นั่นคือเด็กเหล่านี้ก็คล้ายๆ กับเป็นทัพหน้าในการประกาศศักดาของเกาหลีเหนือในวงการวิชาการโลก (ที่ต้องยอมรับหน่ึงเรื่องคือสำหรับคนที่เก่งด้านวิชาการมากๆ จัดๆ ทางรัฐก็มีอาชีพไว้รองรับจริงๆ เพราะ ‘ต้องการนักวิทยาศาสตร์มาก’)
28. ที่วังเด็กจะเปิด ‘การแสดง’ (อันนี้เป็นการแสดงจริงๆ) ให้แขกเหรื่อ (ทั้งชาวเกาหลีเหนือและช่าวต่างชาติ – มีทัวร์มาลง) ได้รับชม สัปดาห์ละสองครั้ง การแสดงกินเวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นการเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นละคร เต้น ต่างๆ ซึ่งว่ากันว่าคนที่จะมาแสดงบนเวทีนี้ได้จะต้องเก่งที่สุดเท่านั้น (เพราะแสดงให้แขกเหรื่อดู)
29. ได้สอบถามคนจากองค์รัฐที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กระทรวงศึกษาฯ ไปด้วยว่า “ไม่มีอินเทอร์เน็ตแล้วเด็กจะเรียนรู้ยังไง”เขาตอบว่า “อะไรที่เด็กต้องเรียนรู้เราก็ได้เอามาจากอินเทอร์เน็ตเก็บไว้หมดแล้ว (เอามา น่าจะหมายถึงว่าเซฟมาแล้วปล่อยเผยแพร่ภายใน)” หลังจากนั้นก็พูดถึงข้อเสียของอินเทอร์เน็ต (แบบที่หลายๆ คนชอบพูด) ว่า ถ้าใช้ตอนรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะแย่ฯลฯ ในเกาหลีเหนือ ไม่มีระบบอินเทอร์เน็ตก็จริง (คือใช้ได้ในแวดวงจำกัดมากๆ) แต่มีระบบอินทราเน็ต ที่อนุญาตให้เด็กต่างจังหวัดสามารถ ‘รีโมตเข้ามาสอบเข้า’ สถาบันในระดับที่สูงขึ้นได้