ยุทธนาวีทสึชิมะ
ปลายสุดของคาบสมุทรเกาหลีจากชายฝั่งปูซาน เชื่อมต่อกับเหนือสุดของชายฝั่งซังอิน เขตอิสึโมะ-ชิมาเนะ เป็นจุดที่เกาหลีกับญี่ปุ่นอยู่ใกล้กันที่สุด และเป็นส่วนที่ทะเลญี่ปุ่นแคบที่สุด มีหมูเกาะทสึชิมะขวางกั้นตรงกลาง
กองเรือบอลติกของรัสเซียนั้น แม้จะมีกำลังทัพมากกว่า ชนิดของเรือดีกว่า แต่พลประจำเรือนั้นขาดประสบการณ์ และแม่ทัพเรือก็เป็นแม่ทัพระดับกลางเนื่องจากแม่ทัพเก่ามากประสบการณ์อย่างนายพลเรือมาคารอฟนั้นสิ้นชีพไปก่อนแล้วในการบุกพอร์ตอาเธอร์ อีกทั้งการขาดการบำรุงรักษาและพักผ่อน ทำให้เรือของรัสเซียมีสภาพโทรม ความเร็วของเรือลดลง เมื่อเทียบกับเรือญีปุ่นที่สดใหม่และฝึกฝนอย่างเข้มแข็ง ภายใต้การนำของแม่ทัพชำนาญศึกและแข็งแกร่งอย่าง นายพลเรือโตโก
กองเรือบอลติกพยายามผ่านช่องแคบทสึชิมะไปอย่างเงียบๆ ในเช้าวันที่ 27 พฤษภาคม 1905 แต่เรือลาดตระเวนชินาโนะมารูของญี่ปุ่นตรวจพบเข้าท่ามกลางสายหมอก ยุทธนาวีเปลี่ยนชะตาโลกจึงเริ่มขึ้น
ท่ามกลางสายหมอกหนาจัด นายพลเรือโตโกส่งโทรเลขแจ้งการพบกองเรือศัตรูในน่านน้ำต่อคณะรัฐมนตรีที่โตเกียว ก่อนจะสั่งออกเรือเพื่อสกัดและทำลายกองเรือบอลติกของรัสเซียที่จะมากู้สถานการณ์ของพอร์ตอาร์เธอร์ อันจะเป็นการทำให้แผนการรบทั้งหมดของญี่ปุ่นเสียหาย ก่อนที่จะสั่งชักธง Z เพื่อเข้าสู่สถานการณ์รบ
และนายพลเรือโตโกยังสั่งการไปยังเรือทุกลำของกองเรือว่า
“ชะตาของจักรวรรดิขึ้นอยู่กับผลการรบครั้งนี้
ขอทุกคนจงปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง!”
ก่อนจะขึ้นเรือมิคาสะ [HIMJS Mikasa] เป็นเรือธงออกสู่ทะเลญีปุ่น
ตัดขวางตัว T
ด้วยจำนวนเรือที่น้อยกว่า และเล็กกว่า กองเรือจักรวรรดินาวีญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องโจมตีด้วยความแม่นยำและได้ประสิทธิภาพมากที่สุด นายพลเรือโตโกสั่งการผ่านวิทยุคลื่นสั้นให้แล่นเรือแบบ ‘ตัดขวางตัว T’ เพื่อให้ปืนกราบเรือถล่มเข้าสู่เรือของรัสเซียได้เต็มที่และทำได้สำเร็จถึงสองหน โดยครั้งหนึ่งเรือมิคาสะได้ทำ U-turn กลับหัวเพื่อหมุนเรือกลับไปยิงถล่มซ้ำอีกรอบอย่างมหัศจรรย์แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง
การยิงอย่างแม่นยำและรุนแรงของกองเรือญี่ปุ่นในยามกลางวัน ได้จมเรือประจัญบานโอสิยาเบีย (Battleship Osiyabya) และ เรือประจัญบานโบโรดิโน (Battleship Borodino) ลงอย่างรวดเร็ว และถึงที่สุดแล้ว กองเรือบอลติกก็ได้เสียเรือรบขนาดใหญ่ชั้นเรือประจัญบานถึงสี่ลำ ในขณะที่กองเรือญี่ปุ่นได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย
เมื่อถึงกลางคืน กองเรือรัสเซียยังได้รับความเสียหายต่อเนื่อง เรือประจัญบานนาวาร์ริน (Old Battleship Navarrin) ถูกทุ่นระเบิด เรือประจัญบานซิสซอย เวลิกี (Battleship Sissoi Velikyi) เสียหายหนักจากตอร์ปิโดจนจมลง และยังมีเรือครูสเซอร์หุ้มเกราะต้องเกยตื้นอีกสองลำ ในขณะที่ญี่ปุ่นเสียเรือเล็กเพียงสามลำ
ความพ่ายแพ้ของชาวตะวันตก
เวลา 9:30 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม นายพลเรือเนโบกาตอฟ ผู้บัญชาการกองเรือรัสเซียที่เหลืออยู่ตัดสินใจส่งสัญญาณของสงบศึกและยอมแพ้
“พวกเจ้ายังเยาว์นัก พวกเจ้าจะได้แบกรับเกียรติยศและความรุ่งโรจน์แห่งกองทัพเรือรัสเซียได้อีกครั้งในวันข้างหน้า ชีวิตของชายหนุ่มจำนวนสองพันชีวิตนั้นสำคัญกว่าชีวิตของข้าพเจ้า”
นายพลเรือโตโกตอบรับการยอมแพ้และสั่งสงบศึก กองเรือรัสเซียที่เหลืออยู่เพียงสามลำถูกปิดล้อมและนำไปส่งยังวลาดิวอสต็อก
ในการยุทธนาวีครั้งนี้ รัสเซียเสียเรือประจัญบานทั้งหมด และเรือรบเกือบทั้งหมดในกองเรือบอลติกที่ 2 ทหารเรือ 4,680 นายสิ้นชีพ 5,917 นายถูกจับเป็นเชลย ในนี้เป็นนายพลเรือ 2 นายกับนายทหารสัญญาบัตร 1,862 นาย ในขณะที่ญี่ปุ่นเสียเรือตอร์ปิโดเพียง 3 ลำ ทหารเสียชีวิต 117 นายและบาดเจ็บเพียง 500 นาย
เกียรติยศของชาวเอเชีย
การพ่ายแพ้ของรัสเซียครั้งนี้ส่งเสียงสะเทือนไปทั่วโลก เป็นครั้งแรกที่ฝรั่งตาน้ำข้าวพ่ายแพ้ต่อชาวเอเชียผิวเหลือง ในสงครามที่ขาวสะอาด ทหารต่อทหาร เรือต่อเรือ การรบต่อการรบ ภาพวาดยุทธนาวีในปี 1905 กลายเป็นสินค้าขายดีในหมู่ผู้ปกครองชาวเอเชียตั้งแต่จีนจรดเปอร์เซีย แม้แต่ในสยามก็ชื่นชมชัยชนะของญี่ปุ่นในครั้งนี้ด้วย ในพระที่นั่งวิมานเมฆยังมีจานเขียนภาพที่ระลึก Battle in the Sea of Japan 1905 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อมาประดับไว้ให้เห็นถึงวันนี้
การเอาชนะชาวตะวันตกของญี่ปุ่น ได้จุดประกายไฟให้กับการเรียกร้องเอกราชและการปกครองตนเองของเหล่าประเทศอาณานิคม และการลุกขึ้นสู้กับชาวตะวันตกเจ้าอาณานิคมทั้งในเอเชียและแอฟริกา อำนาจของรัสเซียที่ลดลงจากการพ่ายแพ้ ทำให้สมดุลอำนาจในยุโรปเปลี่ยนไป เยอรมันของพระเจ้าไกเซอร์ทวีอำนาจมากขึ้น ฝรั่งเศสหันมาผูกมิตรกับอังกฤษ และเชื้อไฟของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพเริ่มถูกบ่มเพาะในใจชาวรัสเซียที่ถูกเกณฑ์แรงงานและเหล่าทหารที่ไปรบในสงครามและพ่ายแพ้ต่อชนชาติที่เคยเย้ยหยันว่าด้อยกว่า ชาวเอเชียผิวเหลืองมีความเชื่อมั่นว่าหากฝึกฝนและเรียนรู้เพียงพอแล้วก็จะชนะชนผิวขาวได้ เหมือนที่ญี่ปุ่นทำ
เจ้าวารีและเทพสมุทร
นายพลเรือโตโก เฮฮาจิโร่ แม่ทัพใหญ่แห่งจักรวรรดินาวีในการรบครั้งนี้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นที่จอมพลเรือ และได้รับสมญานาม ‘เกนซุย – เจ้าวารี Master of Water’ (คำพ้องกับ เกนซุย-จอมพลเรือ 元帥 Admiral of the Fleet) และได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนทั่วโลกว่าเป็นเสมือน ‘เนลสันแห่งทิศตะวันออก – Nelson of the East’ ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นมาร์ควิส และได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแก่เจ้าชายฮิโรฮิโต ซึ่งจะเป็นจักรพรรดิโชวะในลำดับต่อมา แต่ท่านมิได้สนใจเข้าเล่นการเมือง ดำรงตนเป็นกลางอย่างเงียบๆ ท่ามกลางอิทธิพลกองทัพที่ครอบงำการเมืองญี่ปุ่นด้วยความรุนแรงอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงแก่อสัญกรรมในปี 1934 นานาชาติได้ส่งเรือรบมาเพื่อเป็นเกียรติในรัฐพิธีศพที่อ่าวโตเกียวเพื่อแสดงความอาลัยแก่ทหารเรือชั้นยอดที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และในปี 1940 รัฐบาลญี่ปุ่นได้สร้างศาลเจ้าโตโกขึ้นบูชาดวงวิญญาณในฐานะเทพเจ้าองค์หนึ่งที่เขตฮาราจูกุ
เรือรบมิคาสะถูกปลดประจำการในปี 1922 หลังลงนามในสนธิสัญญาลดกำลังการทะเลวอชิงตัน และกลายเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่เมืองโยโกสุกะ แต่ถูกละเลยจนทรุดโทรม จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกวางแผนจะนำไปทำลาย หากแต่เสียงเรียกร้องของชาวเมืองและทหารเรือ รวมถึงความสนับสนุนจากกองทัพเรืออเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเรือเอกนิมิตซ์ ผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิกสหรัฐอเมริกาผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งชื่นชมวิถีชีวิตและอัจฉริยภาพของจอมพลเรือโตโก
เรือรบมิคาสะจึงถูกบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่พร้อมกับสร้างสวนสาธารณะไว้ที่ริมทะเล ทำเป็นพิพิธภัณฑ์การรบที่น่าภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นและเอเชีย ในความห้าวหาญและปัญญาที่สามารถเอาชนะผู้รุกรานที่ใหญ่กว่าได้ รวมถึงเป็นเครื่องแทนกองทัพญี่ปุ่นที่ไม่ก้าวร้าว ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง สง่างาม สงบ และสมถะดุจชีวิตของจอมพลเรือโตโกและเรือรบมิคาสะ
การเที่ยวชม
จากสถานีโตเกียว นั่งรถไฟ JR สายโยโกสุกะประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที มาลงที่สถานีโยโกสุกะ จะเห็นฐานทัพเรือของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลอยู่ต่อหน้า เดินเลียบชายทะเลผ่านฐานทัพอเมริกามาประมาณ 15 นาที ก็ถึงสวนมิคาสะ และพบกับอนุสาวรีย์ของจอมพลเรือโตโกและเรือรบพิพิธภัณฑ์มิคาสะ ค่าเข้าชม 500 เยน