วันนี้ยังคงเป็นอีกวันที่แฟนๆ จิบลิ (Ghibli) และแฟนของฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao) ตั้งตารอคอย กับการกลับมาของอนิเมชั่นเรื่องยาว ซึ่งคราวนี้มาพร้อมกับสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์หนึ่งประเภทคือ นกกระสานวล หรือ Grey Heron ตามชื่อเรื่องเด็กชายกับนกกระสา (The Boy and the Heron)
ความน่าสนใจของเรื่องราวในคราวนี้คือ ตัวละครเอกเป็นเด็กผู้ชาย ตัวเรื่องมีมิติที่น่าสนใจจากการพูดถึงสงคราม การสูญเสีย และการเติบโตขึ้นของเด็กที่ได้รับผลจากสงครามนั้น โดยเด็กชายกับนกกระสาอ้างอิงมาจากนวนิยายญี่ปุ่นในชื่อเดียวกันของเก็นซาบุโร่ โยชิโนะ (Genzaburo Yoshino) เล่าเรื่องราวของเด็กๆ ที่ต้องก้าวผ่านความสูญเสียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ตัวเรื่องฉบับจิบลิถูกเขียนเรื่องขึ้นใหม่ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับนวนิยายโดยตรง
ตัวเรื่องเด็กชายกับนกกระสาจึงมีธีมแบบญี่ปุ่นที่น่าสนใจคือ ผลกระทบของเด็กๆ ที่สูญเสียคนที่รัก โดยเฉพาะพ่อแม่จากสงคราม การก้าวเข้าสู่โลกมหัศจรรย์ของเด็กชายกับการได้พบหอคอยและนกกระสาสีเทาพูดได้ หอคอยและนกกระสาในฐานะเพื่อนร่วมทางใหม่นี้ ได้พาเด็กชายไปยังดินแดนเหนือจินตนาการ พร้อมกับความหวังว่าเขาเองจะได้พบกับแม่ที่อาจยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งอีกครั้งหนึ่ง
อ่านเรื่องย่อมาแค่นี้คงพอจะสัมผัสกลิ่นอายความเป็นจิบลิได้ เรื่องราวแฟนตาซีที่ซ่อนปมบางอย่างของเด็กๆ การเดินทางเพื่อค้นพบและเติบโตขึ้น โดยสำหรับผู้ที่รักเรื่องเล่าและตำนาน การที่อนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิเลือกเล่าโดยมีนกกระสาเป็นหนึ่งในตัวละครเอก พร้อมทั้งทำหน้าที่ส่งข่าว และนำพาตัวละครเอกของเราไปยังดินแดนเพื่อตามหาความหมายที่หายไป การกลับมาของนกกระสา จึงดูจะเป็นการกลับมาของตำนานเก่าแก่ที่เราคุ้นเคย จากนกที่เต็มไปด้วยความสง่างามและสงบนิ่ง กับตำนานที่เกี่ยวข้องกับการนำพาเด็กเกิดใหม่มาสู่โลก และตำนานว่าด้วยการเป็นสัตว์ส่งสาส์นผู้โบยบินผ่านดินแดนต่างๆ
นกกระยาง นกกระสา กับตำนานเด็กเกิดใหม่
เบื้องต้นเราอาจรู้สึกสับสนกับนกน้ำ 2 ประเภทที่มีลักษณะคล้ายกัน และอาจเรียกสลับกันไปมา โดยเฉพาะในเรื่องเล่าตำนานต่างๆ เพราะนกกระยางและนกกระสาเป็นนกน้ำทั้ง 2 ชนิด อาศัยและหากินอยู่ตามแหล่งน้ำ ทั้งยังบินได้ทั้งคู่ การแยกนกกระยางและนกกระสาจึงมีความน่าปวดหัวพอสมควร แต่ข้อมูลจากคอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัวก็อธิบายคำเรียกที่อาจดูสลับกันให้เข้าใจง่ายขึ้น
โดยทั่วไปนกกระสาจะแปลมาจากคำว่า Stork มีลักษณะเด่นคือ โคนปากหนา และมีจะงอยปากใหญ่ ในขณะที่นกกระยางแปลมาจากคำว่า Heron มีจะงอยปากเรียวเล็ก ซึ่งนกยางจะมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากกว่า ทีนี้ Heron จะใช้เรียกนกยางที่มีขนาดใหญ่และไม่มีลำตัวสีขาวว่านกกระสาด้วย เช่น นกกระสานวล (Grey Heron) หรือนกกระสาแดง (Purple Heron)
ด้วยหน้าตาของนกน้ำ รวมถึงการปะปนของการเรียกชื่อ นกน้ำจึงมักถูกเรียกสลับกันโดยเฉพาะในตำนานเรื่องเล่าต่างๆ เช่น ตำนานสำคัญที่เรามักนึกถึงคือ ตำนานนกกระสาคาบเด็กทารก สุดยอดตำนานที่พ่อแม่ใช้ตอบคำถามเราว่า เด็กๆ เกิดจากไหน แทนการอธิบายด้วยลักษณะทางชีววิทยาที่ยุ่งยากและเด็กอาจยังไม่เข้าใจ
นกจากตำนานการคาบทารกมาส่ง มาจากนิทานสำคัญของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) ชื่อเรื่องว่า The Storks แต่ตัวนิทานของฮันส์เรื่องนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไร เพราะมันสุดแสนจะดาร์กด้วยการเล่าเรื่องนางนกกระสาที่ถูกเด็กๆ รังแก ตอนจบของเรื่องจะพูดถึงบทบาทของนกกระสาที่ทำหน้าที่คาบทารกไปให้ครอบครัวต่างๆ ซึ่งตัวเรื่องในตอนแรก แม่นกจะให้ลูกนกจิกลูกตาของเด็กเกเร สรุปแล้วเรื่องก็อาจไม่โหดขนาดนั้น แต่แม่นกกระสากลับล้างแค้นด้วยการคาบศพทารกไปให้บ้านที่เด็กๆ ทำตัวไม่ดี และคาบทารกน่ารักๆ ไปให้บ้านที่เด็กทำตัวน่ารัก
จากตำนานของฮันส์ ถัดมาในบ้านเราเรียกกันว่านกกระสาคาบเด็ก และถ้าสืบย้อนกลับขึ้นไปก็ยังมีตำนานนกกระยางคาบทารก ซึ่งคาดกันว่าน่าจะมาจากตำนานกรีก เป็นเรื่องของราชินีที่ชื่อว่า การีน่า (Gerana) ถูกสาปให้กลายเป็นนกยาง โดยหลังจากถูกสาป ราชินีได้พยายามขโมยลูกของเธอคืนด้วยการคาบผ้าสีขาวมาหอบหิ้วทารก และบินขึ้นไปบนท้องฟ้า
นักวิชาการ เช่น ผู้เขียนหนังสือ Birds: Myth, Lore and Legend ชี้ให้เห็นว่าตำนานที่เกี่ยวกับนกและการเกิดใหม่ มีความปนเปกันระหว่างนก 3 ชนิดคือ นกกระสา นกกระยาง และนกกระเรียน เช่น ตำนานเทวีเฮราสืบย้อนไปพบว่าเป็นนกกระเรียน และตำนานนกที่เกี่ยวกับการเกิดใหม่ เช่น ตำนานอียิปต์ก็พบว่าเป็นนกกระสา (Heron)
นกกระสากับการบินข้ามภพ
ประเด็นเรื่องนกกระสาในฐานะนกที่สัมพันธ์กับความเชื่อปรัมปรา มีที่มาเก่าแก่มาก สำหรับการเชื่อมโยงกับความเป็นแม่และการดูแลเด็กทารก ก็อาจสัมพันธ์กับลักษณะของนกกระสาที่ทำรังไม่ไกลจากบ้านเรือนของมนุษย์ และเพราะร่างกายของมันมีสีขาวบริสุทธิ์เหมือนกับความรักของแม่
ในตำนานที่เก่าแก่กว่านั้นซึ่งสัมพันธ์กับชื่อวิทยาศาสตร์คือ การอยู่ในนกวงศ์ Ardeidae ชื่อวิทยาศาสตร์มาจากชื่อเมือง Ardea มีที่มาจากกวีโรมันอย่างโอวิด (Ovid) เขาเล่าถึงที่มาของนกกระสาไว้ในงานเขียน Metamorphoses ตำนานว่าด้วยการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ โดยโอวิดเล่าว่า นกกระสาเป็นนกที่โผบินขึ้นจากซากปรักหักพังของเมืองดังกล่าวจากสงคราม เป็นนกที่โผขึ้นจากกองเถ้าถ่าน
ตรงนี้เองที่นกกระสาเชื่อมโยงเข้ากับการเกิดใหม่คล้ายกับนกฟีนิกซ์ ลักษณะของนกกระสานี้จึงพ้องกับตำนานเทพเจ้า Bennu เทพที่มีร่างเป็นนกกระสา เป็นตัวแทนของการสร้างโลกและการให้กำเนิด ทั้งนี้นกกระสายังมีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าสำคัญหลายองค์ และเป็นตัวแทนของวัฏจักรการสร้างและกำเนิดใหม่ ซึ่งตำนานดังกล่าวเชื่อว่ามันส่งอิทธิพลสู่ตำนานนกฟีนิกซ์ในอารยธรรมกรีกโรมันด้วย
ตำนานนกกระสาที่ไปสัมพันธ์กับการสร้างโลกและการกำเนิดใหม่ ยังมีภาพที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ในตำนานอียิปต์กล่าวถึงเรื่องการโผบินเหนือผืนน้ำที่ว่างเปล่าก่อนการสร้างโลก ซึ่งการโผบินนี้ก็ไปคล้ายกับความเชื่อของนกกระสาในอารยธรรมตะวันออกอย่างความเชื่อแบบญี่ปุ่น และอาจจะเชื่อมโยงกับบทบาทนกกระสาในอนิเมชั่นด้วย
ในทำนองเดียวกัน ความเชื่อญี่ปุ่นเชื่อว่านกกระสาเป็นนกที่สามารถเคลื่อนผ่านธาตุทั้ง 3 อย่างดิน น้ำ และลม ทำให้นกกระสาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้นกกระสายังเกี่ยวข้องกับความงามของธรรมชาติ ความสง่างาม และการหยุดนิ่งที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความงดงามของฤดูหนาว ในขณะเดียวกันการเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ของธาตุทั้ง 3 และฤดูกาลที่เปลี่ยนผัน ยังทำให้นกกระสามีความเกี่ยวข้องกับมิติซับซ้อนสำคัญ คือห้วงความรู้สึกของความสูญเสีย ความเศร้าและความอาลัย ความรักที่สูญหายและการพบกันอีกครั้ง
ภาพของนกกระสาในศิลปะญี่ปุ่น ยังมักปรากฏในภาพวาดที่สัมพันธ์ทั้งกับความงามของธรรมชาติ และความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของการพานพบ จากลา และการค้นพบสัจธรรมของชีวิตและโลกใบนี้ ตำนานของนกกระสาเองก็สัมพันธ์กับพื้นที่ธรรมชาติ การเฝ้ามองการปรากฏตัวของพวกมันที่เราเชื่อมโยงลักษณะและพฤติกรรมเข้ากับวงจรของชีวิต ความรักอันบริสุทธิ์ของผู้เป็นแม่ ไปจนถึงการเรียนรู้เติบโตที่จะทะยานขึ้นใหม่จากความตายและการสูญเสีย
ทั้งหมดนี้ดูจะสอดคล้องกับเหตุผลบางอย่างของจิบลิ กับการเลือกนำนกกระสามาเป็นผู้นำทางสำคัญสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ของเด็กชาย ที่เริ่มต้นจากกองเถ้าถ่านและความตายของผู้เป็นแม่
อ้างอิงจาก