ภาพของ ‘อนิเมะ’ ที่ใครหลายคนนึกถึง อาจจะเป็นการ์ตูนที่มีเด็กๆ มารวมกลุ่มกันสร้างพลังมิตรภาพ พิทักษ์ความดี โครงเรื่องเองก็คงไม่ได้ซับซ้อนล้ำลึกมากเท่าไหร่ เหมาะแก่การให้เด็กดูเสมอ แต่จริงๆ แล้ว ‘อนิเมะ’ นั้นมีหลายประเภทและมีความซับซ้อนทางเรื่องเล่าไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์ที่พวกเราดูกันเลยล่ะ
วันนี้ The MATTER เลยอยากจะพูดถึงอนิเมะกลุ่มหนึ่งที่เด็กอาจจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ รวมถึงเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนดู หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่นั่งดูไปด้วยอย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งที่จะเจอในอนิเมะที่เราเลือกมาแนะนำในวันนี้ มีทั้งอนิเมะที่พูดถึงประเด็นการมีตัวตน ประเด็นเรื่องเจตจำนงเสรี หรือแม้กระทั่งเรื่องศาสนา ที่หากคนดูไม่เตรียมตัวให้ดี อาจทำให้อนิเมะเรื่องนั้นหมดสนุกก็ได้
แต่ยังไงก็ตาม เรื่องที่หยิบมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของอนิเมะที่เราคิดว่าผู้ชมที่เป็นเด็กควรจะเตรียมใจก่อนดูกันเท่านั้นนะ
คำเตือน: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน
Neon Genesis Evangelion
เรื่องนี้พูดถึงเด็กวัยรุ่นอายุ 14 ปี ที่ต้องขับหุ่นยนต์ยักษ์ Evangelion เข้าต่อสู้กับเหล่าเทวทูต ซึ่งเป็นตัวแทนจากพระเจ้าที่เชื่อกันว่าจะมาทำลายล้างโลกใบนี้ เป็นพล็อตที่ดูเข้าใจง่าย คล้ายจะเป็นการ์ตูนปราบเหล่าร้ายธรรมดาๆ แถมยังมีชื่อเสียงระดับโลก แต่เราคิดว่าเด็กๆ อาจจะต้องทำใจสักนิดก่อนรับชม
เปล่าเลย ปัญหาไม่ได้มาจากด้านภาพเสียทีเดียว เพราะส่วนใหญ่ (ยกเว้นในส่วนของฉบับภาพยนตร์) ไม่ได้มีความรุนแรงในระดับที่เกินเลยมากนัก ประเด็นที่เราคิดว่าเด็กๆ และวัยรุ่นอาจจะต้องเตรียมใจก่อนรับชมมาจากการนำเสนอของเรื่องเสียมากกว่า
เริ่มตั้งแต่ประเด็นทางศาสนาที่หยิบเอาเรื่องราวในพระคัมภีร์มาใช้เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องก่อนจะผสมปนเปด้วยแนวคิดด้านปรัชญาเข้าไปนิดๆ ผนวกเข้าอีกชั้นกับตัวละครที่มีปมทางจิตวิทยาแบบชัดเจนทุกตัว และตั้งใจขุดเอาปัญหาเหล่านั้นมาเล่ามากกว่าเน้นเรื่องการต่อสู้ ในส่วนของเรื่องภาพนั้นก็มีส่วนที่อาจจะทำให้คนดูที่ไม่คุ้นเคยปวดหัวเล็กๆ น้อยๆ เพราะมีหลายฉากที่ทีมงานตั้งใจตัดต่อให้มองด้วยสายตามนุษย์ไม่ทัน เพื่อให้คนดูเข้าใจได้ในระดับจิตใต้สำนึกแทน
ทั้งนี้เคยมีหลายท่านได้กล่าวว่า ถ้าดูจนจบแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก นั่นหมายความว่า ท่านดูถูกเรื่องแล้วครับ
Akira
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สามได้ทำลายกรุงโตเกียวเก่า ในปี 2019 กรุงนีโอโตเกียวจึงกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง คาเนดะ กับ เท็ตสึโอะ เด็กวัยรุ่นสองคนที่กลายมาเป็นแก๊งมอเตอร์ไซค์ในเมืองที่บีบให้พวกเขาต้องโหดร้ายเพื่อเอาชีวิตรอด วันหนึ่งระหว่างที่ไล่ล่าแก๊งคู่ปรับ เท็ตสึโอะขับรถชนผู้มีพลังจิตที่มาจากการทดลองของกองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่น เหตุการณ์นี้ทำให้ เท็ตสึโอะกลายเป็นคนมีพลังจิต เขาจำเป็นต้องตามหา ‘อากิระ’ เด็กชายที่เป็นตัวการตัวจริงในการกวาดล้างเมืองโตเกียวเก่าจนราบ รวมถึง ‘คาเนดะ’ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา และจากความพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อน เท็ตซึโอะจำต้องอยู่ท่ามกลางศึกระหว่าง รัฐบาล ผู้มีพลังพิเศษ กับผู้คนอีกมากมาย
นอกจากภาพอันสวยงามที่แสดงถึงความตั้งใจของผู้สร้างแล้ว ความรุนแรงที่อยู่ในเรื่องก็อัดแน่นประสานกับฉากหลังที่เป็นโลกดิสโทเปียอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้เนื้อเรื่องช่วงที่เปิดเผยตัวจริงของ ‘อากิระ’ ก็มีการพูดคุยถึงประเด็น ‘การมีตัวตนในห้วงจักรวาล’ เพิ่มเติมเข้ามาอีก
ด้วยความที่เรื่องราวในอนิเมะนำเสนอข้อมูลและประเด็นต่างๆ อยู่ไม่น้อย นอกจากจะต้องตั้งใจดูแล้ว อาจจะต้องหาอะไรเสพเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ด้วย
Perfect Blue
คิริโกเอะ มิมะ ได้ตัดสินใจประกาศจบการศึกษาหลังจากร่วมทุกข์ร่วมสุขกับวงไอดอลมาสองปีครึ่ง เพื่อเดินบนเส้นทางนักแสดงที่เธอมองว่ามีทางไปมากกว่า แต่เมื่อบทบาทแรกของเธอคือการแสดงซีรีส์แนวอาชญากรรมที่นักแสดงบทสมทบอย่าง มิมะต้องเปลืองตัวอยู่ไม่น้อย จุดนั้นทำให้อดีตไอดอลรู้สึกลำบากใจ อีกทั้งต่อมายังเกิดข่าวลือเสียหาย จนทำให้ตัวของมิมะเริ่มรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน มิมะก็พบว่าเว็บไซต์ที่แฟนคลับสร้างให้ ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยได้รับกำลังใจจากมัน แต่ในเว็บนั้นกลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับเธออย่างละเอียดจนเจ้าตัวเองก็ตกใจ นอกจากนี้ยังเกิดเหตุฆาตกรรมคนที่เกี่ยวข้องกับละครที่เธอแสดงอยู่ มิมะจึงไม่แน่ใจว่าใครกันแน่ที่ก่อเหตุร้ายนี้ หรือจริงๆ อาจเป็นตัวเธอเองที่ออกไปทำร้ายใครแบบที่ไม่รู้ตัว
ถึงจะเป็นงานกำกับเรื่องแรกของ ซาโตชิ คอน แต่งานชิ้นนี้ก็อัดแน่นไปด้วยธีมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถเห็นได้ในเรื่องต่อๆ มาของเขา ทั้งเรื่องราวที่ทับซ้อนกันระหว่างภาพฝันกับความจริง ความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างร่างกายและจิตใจของตัวละคร ฉากวิ่งไล่ที่เหนือจริงแต่ก็รู้สึกได้ว่าไม่เกินฝันไป และบทสรุปที่ชวนตกใจ ซึ่งธีมต่างๆ ของ ซาโตชิ คอน นี้ ทำให้หนังของเขามีกลิ่นอายของคำว่า ‘ไม่เหมาะสำหรับเด็ก’ อยู่มากสักหน่อย ทั้งฉากความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ หรือฉากที่โป๊เปลือยแบบชัดเจน แต่งานเรื่องนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่อยากเห็นว่า ซาโตชิ คอน สร้างงานที่โดดเด่นได้อย่างไรเช่นกัน
Ghost in the Shell
ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฉบับฮอลลีวูด Ghost In The Shell สร้างชื่อจากฉบับอนิเมชั่นที่ลดทอนความเซ็กซี่ขี้เล่นในต้นฉบ้บมังงะลงไป แล้วหันมาเสวนาเรื่องไซไฟและฉากแอคชั่นที่จริงจังขึ้น
โครงเรื่องหลักของฉบับอนิเมะจะติดตามชีวิตของ โมโตโกะ คุซานางิ ตำรวจประจำหน่วย 9 ที่มีร่างเป็นไซบอร์กล้ำสมัย สามารถเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เธอมีทักษะการต่อสู้ที่ไม่ธรรมดา และมีระบบพรางตัวล้ำสมัย แต่เธอก็มักข้องใจอยู่ว่า ‘วิญญาณ’ ของเธอจะเป็นของเทียมเหมือน ‘เปลือก’ ที่เป็นร่างกายของเธอหรือไม่ ในเรื่องนี้เธอมีหน้าที่ไล่ล่า ‘นักเชิดหุ่น’ ที่เป็นผู้ก่อการร้ายคนสำคัญที่คอยล้างสมองไซบอร์กตัวอื่นซึ่งอาจเปรียบผู้ร้ายนี้เป็นราวกับ ‘วิญญาณ’ อีกตน การตามล่าคนร้ายในครั้งนี้ เป็นเหมือนการปะทะกันระหว่างวิญญาณที่ไร้ตัวตนสองตนคน คือ โมโตโกะ คุซานางิ กับ นักเชิดหุ่น
เนื้อเรื่องในต้นฉบับดั้งเดิมนั้นสามารถดูได้แบบไม่ยากเย็น จนกระทั่งช่วงองก์สุดท้ายของเรื่องที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะพูดถึงประเด็นเรื่องเจตจำนงของโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นมาว่าสามารถมีตัวตนอย่างเอกเทศได้หรือไม่ แล้วถ้าตัวตนที่เป็นเหมือน ‘วิญญาณ’ มาหลอมรวมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจะเป็นเช่นไร
ซึ่งคำถามในองก์สุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้หนังที่เหมือนจะเป็นหนังแอคชั่น แปรสภาพเป็นหนังเชิงปรัชญาชวนขบคิด และถ้าขยับไปดูภาพยนตร์ภาคสอง (Ghost in the Shell 2: Innocence) ก็จะยิ่งขับเน้นเรื่องราวที่เหมือนจะน่าปวดหัวอยู่แล้วให้ลึกลงไปอีกขั้น ผลก็คืออนิเมะสองภาคแรกของเรื่องนี้ได้กลายเป็นผลงานที่คนดูหลายท่านมักจะหาโอกาสกลับไปดู หลังจากที่ไปประสบพบจุดเปลี่ยนของชีวิตมาสักรอบ เผื่อว่าจะเห็นอะไรมากขึ้นในช่วงอายุที่เปลี่ยนไป
Death Parade
ตรงกันข้ามกับหลายๆ เรื่องที่เรานำมาเสนอในวันนี้ Death Parade ไม่ใช่อนิเมะที่นำเสนอภาพรุนแรง ตรงกันข้ามเรื่องนี้ออกจะอุดมไปด้วยการพูดคุยกันมากกว่า แล้วก็เป็นเพราะต้องค่อยๆ นั่งเก็บข้อมูลนั่นล่ะที่เป็นเหตุผลหลักให้คนดูที่ประสบการณ์ชีวิตยังน้อยอาจจะต้องรออีกหน่อยถึงกลับมาชมเรื่องนี้
เรื่องราวหลักๆ ของอนิเมะเรื่องนี้เกี่ยวกับบาร์เหล้าที่ชื่อว่า Quindecim (หมายถึง เลขสิบห้า ในภาษาละติน) ซึ่งลูกค้าสองคนจะได้มานั่งสนทนาร่วมกัน ก่อนที่มาสเตอร์และผู้ช่วยของร้านจะแจ้งให้ทั้งสองคนนี้ต้องมาเล่นเกมร่วมกันหนึ่งเกม ก่อนที่เรื่องจะเฉลยว่า แท้จริงแล้ว ลูกค้าที่จะมาถึงบาร์แห่งนี้ได้คือวิญญาณผู้ตายที่ต้องมาร่วมเล่นเกม เพื่อให้บุคลากรในบาร์ตัดสินว่าวิญญาณของคนผู้นั้นจะได้กลับไปเกิดใหม่ หรือไปยังห้วงมิติอันว่างเปล่า
เดิมทีแล้วอนิเมะเรื่องนี้มาจากโครงการพัฒนาอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ แต่ด้วยเรื่องราวที่สะดุดตาสะดุดใจจึงถูกขยายเป็นซีรีส์เต็ม ซึ่งเล่าเรื่องความเป็นความตายอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ยังเล่าเรื่องของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบาร์เหล้าที่แทบไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่เลย ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขาก็อาจจะเป็นพระเจ้าที่พยายามทำความเข้าใจมนุษย์ให้มากขึ้นอยู่ก็เป็นได้
ดังนั้นเรื่องราวบางเรื่องจะถูกนำเสนอแบบสีเทาๆ เป็นแนวคิดที่บอกไม่ได้ว่าใครถูกหรือใครผิดเสียทีเดียว บางตอนในเรื่องยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ตัวบุคลากรของบาร์ที่ทำหน้าที่เหมือน ‘ผู้ตัดสินคดี’ ก็ยังผิดพลาดเพราะไม่เข้าใจ ‘จิตใจของมนุษย์’ อย่างถ่องแท้ แต่ถ้ามองอีกมุม เราสามารถดูอนิเมะเรื่องนี้ในช่วงวัยที่ต่างกัน และอาจจะได้อรรถรสที่แตกต่างกันได้ด้วย
Devilman Crybaby
ผลงานอนิเมะที่ออกฉายทั่วโลกผ่านทาง Netflix เรื่องนี้ เดิมทีเป็นผลงานของอาจารย์นางาอิ โก ซึ่งเคยสร้างเป็นอนิเมะมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง ในฉบับเก่านั้นอาจจะยังพอจัดให้อยู่ในการ์ตูนปราบเหล่าร้ายที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี แต่เมื่อมีการนำกลับมาสร้างอีกครั้งในโอกาสฉลองครบรอบการทำงาน 50 ปี ของอาจารย์นางาอิ โก ทำให้งานยังมีความสอดคล้องกับต้นฉบับอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำอะไรที่สดใหม่มากขึ้น ก็เลยเชิญผู้กำกับสไตล์ชัดเจนอย่าง ยูอาสะ มาอาซากิ มาคุมบังเหียนในการสร้างผลงานแบบ 10 ตอนจบนี้ขึ้นมา
Devilman Crybaby เล่าเรื่องของ ฟุโด อากิระ กับ อาสึกะ เรียว สองเพื่อนสนิทที่ไปข้องเกี่ยวกับปีศาจที่ออกอาละวาดในโลก ซึ่งต่อมาอากิระกลายร่างเป็นเดวิลแมน ที่ต้องต่อสู้กับปีศาจตนอื่นๆ และในที่สุดเรื่องราวก็เปิดเผยว่า เรียว นั้นเป็นซาตานกลับชาติมาเกิดและได้ดำเนินแผนการล้างโลกมาตั้งแต่จำความไม่ได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องปีศาจคืนชีพก็เข้าทำร้ายคนที่เกี่ยวข้องกับเดวิลแมนแทน และนั่นกลายเป็นบทนำสู่โศกนาฎกรรมที่แท้จริงของเรื่องนี้
สำหรับส่วนที่ชวนให้คนดูต้องเตรียมใจเสียหน่อย ก็คืองานภาพของผู้กำกับที่มีสไตล์จัดจ้านจนมีคนบอกว่าหลุดโลก แต่ว่าจริงๆ ก็ดูเข้ากับโลกที่ กฎ กติกา มารยาทผิดเพี้ยนไปเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้ดูจะเอาหลักเหตุผลของปีศาจเข้ามาแทนที่หลักการของมนุษย์ ดังนั้นถ้าผู้ชมยังต้องการอะไรที่เสพง่าย ย่อยไม่ยาก อาจจะต้องเลี่ยงอนิเมะดาร์กเข้มเต็มรสเหมือนกับกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลเรื่องนี้ไปเสียก่อน ในขณะเดียวกัน ท่านที่สนใจงานภาพของผู้กำกับท่านนี้ Devilman Crybaby ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะลองเริ่มต้นดูก่อนที่จะไปรับความล้ำของการกำกับภาพในผลงานเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่อง Ping Pong: The Animation หรือ The Tatami Galaxy เป็นการต่อไป
Psycho-Pass
ถ้าในอนาคต ญี่ปุ่นมีระบบเครือข่ายที่สามารถจำแนกประชาชนได้ว่าพวกเขาควรจะทำงานในสายงานใด ใช้ชีวิตประมาณไหน แถมยังมีระบบวัดค่าความเสี่ยงของมนุษย์แต่ละคนในการก่ออาชญากรรม ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถส่งคนไปควบคุมเหตุร้ายก่อนที่จะเกิดขึ้นจริงได้ ก็ดูเป็นเรื่องที่อาจจะทำให้สังคมสงบสุขดี แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าภายใต้โลกแสนสงบเช่นนั้น จะไม่มีการ ‘อยู่เหนือระบบ’ เกิดขึ้น รวมถึงอิสรภาพของมนุษย์มันควรจะถูกควบคุมหรือไม่ หรือมันควรเป็นแบบไหนกันแน่ ?
อนิเมะเรื่องนี้เอาความเป็นไซไฟดิสโทเปียมาผสมกับแนวคิดทางปรัชญาหลายอย่าง รวมถึงการนำธีมหนังตำรวจสืบสวนในสไตล์ญี่ปุ่นมาใช้ นอกจากนี้ยังได้นักเขียนบทที่ถนัดทิ้งคำถามให้คนดูมาร่วมเขียนถึงสามท่าน เลยทำให้งานอนิเมะชิ้นนี้โดดเด่นในด้านการเล่าเรื่องอย่างชัดเจน ส่วนงานภาพนั้นก็มีฉากโหดๆ ให้เห็นเป็นช่วงๆ (เพราะตัวปืนในเรื่องนั้นทำได้ตั้งแต่ยิงคนให้สลบ ถึงระดับที่ยิงคนให้เป็นฝุ่น) อนิเมะเรื่องนี้จึงไม่ควรจะนำไปเปิดให้คนที่เข้าใจว่าการ์ตูนทุกเรื่องต้องปลอดความรุนแรงรับชมสักเท่าใดนัก
ยิ่งไปกว่านั้น อนิเมะเรื่องนี้ยังคุยถึงประเด็นเรื่อง ‘เจตจำนงเสรี’ เป็นหลัก (ปนเปกับการหยิบยกคำพูดจากหนังสือปรัชญา ไม่ก็นิยายไซไฟ มาใช้เป็นประโยคสนทนาเป็นระยะๆ) ซึ่งถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ก็อาจจะสนุกได้แค่ส่วนแอคชั่นกับส่วนสืบคดีเป็นหลัก และอาจจะต้องเว้นวรรคสักระยะ ก่อนที่จะวนมาเสพแล้วหาคนถกกันเรื่องเจตจำนงเสรีในอนาคต
Serial Experiments Lain
‘อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกสิ่ง’ คำพูดนี้หากพูดในยุค Internet Of Things แบบปี 2019 ก็อาจจะไม่แปลกอะไรนัก แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่อนิเมะแนวไซเบอร์พังค์ที่ออกฉายเมื่อปี 1998 พูดถึงอยู่ต่างหาก ซึ่งทีมงานสร้าง ณ ยุคนั้น พยายามทำความเข้าใจความเป็นไปได้ของ Internet Of Things ผ่านบทความวิชาการในยุคนั้น และได้ตีความมุมมองของพวกเขาลงในอนิเมะเรื่องนี้
Serial Experimental Lain เล่าเรื่องในอนาคตเกี่ยวกับเด็กสาวชื่อ อิวาคุระ เร็น หลังจากเธอได้รับอีเมล์จากเพื่อนที่น่าจะตายไปแล้ว เธอก็ได้รู้จักโลกของ Wired อุปกรณ์เชื่อมต่อที่ละม้ายคล้ายอินเตอร์เน็ตแต่มีการเชื่อมโยงแบบสมจริง (Virtual Reality) จนทำให้คนเล่นอาจจะแยกไม่ออกว่าสิ่งใดอยู่ในโลกจริง สิ่งใดอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อ หลังจากเข้าไปไม่นาน เร็นก็ได้ข้อความจากเพื่อนของเธอว่า ตัวเธอไม่ได้ตาย แค่สละร่างเนื้อไปเท่านั้น การพบเจอโลกอินเตอร์เน็ตนี้ทำให้เร็นเปลี่ยนแปลงตนเองไปทีละน้อย เธอเริ่มเสพติดมัน เริ่มสร้างชื่อเสียงตนเองในเน็ต เริ่มถูกเหล่า Anonymous โจมตี และด้วยฐานะคนดังในโลกเสมือน เธอยังได้เจอกลุ่มที่ตามหา ‘พระเจ้า’ จากโลกอินเทอร์เน็ตนี้ และสุดท้าย ตัวตนใหม่ของเร็นก็ดูจะกลายเป็นพระเจ้าในโลกเสมือนที่มีผลกระทบกับโลกจริงแบบถาวร
ถ้าคุณงงพล็อตโดยคร่าวๆ นี้ก็อย่าได้แปลกใจ เพราะทีมงานผู้สร้างเรื่องนี้คาดหวังว่าผู้ชมในฝั่งเอเชียกับฝั่งตะวันตกจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้แตกต่างกันไป แและยังเคยกล่าวอีกว่า ไม่มีการตีความส่วนตัวของคนดูคนไหนที่เป็นแนวทางที่ผิด
เมื่อผู้สร้างฟันธงว่าการตีความไม่มีข้อใดถูกหรือผิด ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ต้องการสมาธิจากผู้ชมเป็นอย่างมาก หลายคนจำเป็นต้องย้อนกลับไปรับชมตอนก่อนหน้า หรืออาจจะต้องดูซ้ำทั้งเรื่องเพื่อเก็บเอาปมที่ซ่อนอยู่ทั่วทั้งเรื่องมาตีความ สำหรับคนที่ชอบผลงานเรื่องนี้ ทีมงานยังได้สร้างผลงานเรื่องอื่นๆ ที่ต้องการคนดูที่มีประสบการณ์ในการรับชมอนิเมะสูงอย่างเรื่อง Haibane Renmei กับ Texhnolyze ให้ติดตามกันเป็นการต่อไปอีกด้วย
Mushishi
เรื่องสุดท้ายที่เราหยิบมาพูดถึงในวันนี้ ขอพูดถึงอนิเมะที่ไม่ได้นำเสนอเรื่องความรุนแรง แต่กลับเต็มไปด้วยความลุ่มลึก ซึ่งก็คือเรื่อง Mushishi ที่ตามติดชีวิตของ กิงโคะ ชายหนุ่มผมขาวที่เดินทางไปทั่วแผ่นดินญี่ปุ่น หากมองจากเครื่องแต่งกายของเขานั้นอาจจะผิดที่ผิดทางกับตัวละครอื่นๆ อาชีพของกิงโคะนั้นก็คือ กีฏจารย์ ผู้ชำนาญเรื่องแมลง แต่เขาไม่ได้เพียงศึกษาแมลงธรรมดาสามัญ แต่แมลงที่เขาศึกษาคือแมลงลึกลับที่ใกล้เคียงภูตผี หรือ วิญญาณ ที่อาจทำให้คนป่วยไข้ได้ กิงโคะจึงยื่นมือเข้ามาช่วยรักษาผู้คนที่ได้รับผลร้ายจากแมลงเหล่านั้น แต่ยังไงก็ตาม หน้าที่ของเขาก็ไม่ใช่การกำจัดแมลง แต่เป็นการทำความเข้าใจว่ามนุษย์จะอาศัยอยู่ร่วมกับแมลงเหล่านั้นได้อย่างไร
ความจริงเรื่องราวในแต่ละตอนของอนิเมะ (และมังงะ) เรื่องนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อนมากมาย มันออกจะเป็นเหมือนสารคดีสัตว์โลกเสียด้วยซ้ำ หลายครั้งคนดูอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่เรื่องอยากเล่าในครั้งแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากกลับมาดูตอนเดิมอีกครั้งก็อาจจะเข้าใจเรื่องราวของแมลงในเรื่องไปอีกแบบ และด้วยความที่อนิเมะเรื่องนี้ไม่ได้อธิบายแบบชัดเจนว่าแมลงเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิต หรือเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ คำตอบที่ได้ในใจผู้ชมแต่ละตอนจึงอาจจะแตกต่างกันไปอีก
และหากบางคนไม่อยากจะตีความใดๆ ก็อาจจะดูอนิเมะเรื่องนี้ในฐานะการ์ตูนที่มีภาพและเสียงที่ดูแล้วชวนสงบจิตสงบใจก็ได้เหมือนกัน