หลังจาก ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ผู้กำกับหนังผลงานระดับโลกอย่าง ‘รักที่ขอนแก่น’, ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’, ‘แสงศตวรรษ’ ฯลฯ ได้ประกาศเอาไว้เมื่อปี 2558 ว่าจะไม่ทำหนังฉายในประเทศไทย และตัดสินใจพาตัวเองออกไปสำรวจอีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและพบเจอกับผู้คนภายนอก
The MATTER จึงชวน อภิชาติพงศ์ พูดคุยถึงการเปลี่ยนสายตาของตัวเองเพื่อมองกลับมายังประเทศไทย เขามองเห็นอะไรบ้าง รวมถึงทบทวนผลงานที่ผ่านมาอย่างการพาผู้ชมเข้าไปสำรวจในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชินอย่าง ‘ป่า’ การปรากฏตัวของ ‘ผี’ หรือแม้แต่การหลอกหลอนและการหลับใหล ไปจนผลงานใหม่ๆ อย่าง ‘SLEEPCINEMAHOTEL’ ที่เขาบอกว่า เป็นการสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อให้คนได้หลับใหลไปกับภาพยนตร์ ในเทศกาลหนังรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่วันที่ 25 – 30 มกราคม 2561
The MATTER : ทำไมงานที่ผ่านมาของคุณมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับป่า
อภิชาติพงศ์ : มันเปลี่ยนแปลงมาเยอะ ไม่ใช่ป่าจริงๆ แต่เป็นป่าในความทรงจำสมัยเด็กที่เราได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์หรือตัวอะไรแปลกๆ ในป่า เหมือนเป็นที่ที่เราหลบซ่อนได้ ฉะนั้นป่าเลยกลายเป็นสัญลักษณ์แทน
ขณะเดียวกันในวรรณกรรมหรือศิลปะชนิดอื่นๆ ‘ป่า’ ก็ถูกนำมาใช้เยอะ เป็นเหมือนพื้นที่สงวนที่มนุษย์ไม่ได้ถูกกดไว้ตามกฎเกณฑ์ของสังคม พอเข้าป่าก็สามารถถอดเสื้อผ้าหรือทำอะไรได้ตามสบาย ไม่มีกฎเกณฑ์ทางเพศ หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ นานาที่ต้องปฏิบัติ ทำให้เรารู้สึกหลงใหล และสนใจเข้าไปทำหนังในพื้นที่นั้น
การทำหนังในนั้นเหมือนการเต้นรำกับพระอาทิตย์ ในสตูดิโอเรายังควบคุมแสงได้ แต่ในป่า แสงอาทิตย์จะเปลี่ยน เราคุมอะไรไม่ได้เลย มันเลยเป็นพื้นที่ที่พูดถึงอิสระ และท้าทายในด้านการทำหนัง
การนอนหลับคือการนับถือภาพยนตร์ในแง่หนึ่ง หากหลับได้ในขณะที่หนังฉายอยู่ แสดงว่าคุณเชื่อว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยในระดับหนึ่ง
The MATTER : เมื่อหนังของคุณพาผู้ชมเข้าไปในป่า ก็มักทำให้หลายคนหลับ?
อภิชาติพงศ์ : เคยคุยกับหลายๆ คนที่เป็นผู้กำกับหนังว่า บางทีเขาก็หลับกัน หลับในหนังตัวเอง หรือหลับในหนังเรื่องอื่นๆ ถึงขนาดว่ากันว่าการนอนหลับคือการนับถือภาพยนตร์ในแง่หนึ่ง หากหลับได้ในขณะที่หนังฉายอยู่ แสดงว่าคุณเชื่อว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพราะเวลาหลับเหมือนเรายอมรับและค่อนข้างพร้อมที่จะถูกทำร้าย เราไม่สามารถป้องกันตัวได้เลยนะ ถ้าเป็นสัตว์ก็คงต้องไปหลับในถ้ำ หรือในที่ที่รู้สึกปลอดภัย
The MATTER : นั่นเป็นที่มาของโปรเจกต์ SLEEPCINEMAHOTEL หรือเปล่า
อภิชาติพงศ์ : มันมีสามคำนะ SLEEP CINEMA HOTEL การนอนหลับ ภาพยนตร์ แล้วก็โรงแรม คือการสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้คนได้หลับกับภาพยนตร์ เราจะเปิดเป็นโรงแรมขึ้นมาให้คนได้จองและเข้าพักจริงๆ นอนจริงๆ มีล็อคเกอร์ มีห้องน้ำ มีเตียง มีอุปกรณ์ พร้อมทั้งอาหารเช้า เหมือนเซ็ตภาพยนตร์ขึ้นมา
เป็นโปรเจกต์ที่กำลังทำกับเทศกาลหนังรอตเตอร์ดัม ซึ่งงานนี้เราร่วมกับหอภาพยนตร์ หอจดหมายเหตุหลายๆ แห่งในเนเธอแลนด์ เพื่อดูภาพเคลื่อนไหวในอดีต ร็อตเตอร์ดัมเป็นเมืองท่า ฉะนั้นการสัญจรทางน้ำนี่สำคัญมาก เลยเน้นภาพที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในทะเล และคนนอนหลับ
The MATTER : การหลับเป็นสุนทรียะ หรือมีแง่มุมมากกว่าการพักผ่อนยังไงบ้าง
อภิชาติพงศ์ : การที่เราไม่สามารถอยู่ได้ในพื้นที่แห่งความจริง การนอนจึงเป็นพื้นที่สำหรับการหลบหนี ตอนเราหลับ ไม่มีใครสามารถมาควบคุมได้แม้แต่ตัวเราเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมไทยหรือหลายๆ สังคม คนอาจใช้ยาหรือบางทีก็กินเหล้า ที่อีสานกับเหนือนี่ตอนเย็นต้องเมาแล้วนะ เป็นไปได้มั้ยว่า นี่คือความสุขอย่างหนึ่ง เป็นทางเลือกที่พยายามเลี่ยงไปอีกโลกหนึ่ง โลกที่เรากึ่งรู้ตัวกึ่งไม่รู้ตัว มันเลยเป็นพื้นที่ที่มีเสน่ห์สำหรับหลายๆ คน
The MATTER : คิดว่าสังคมไทยหลับหรือตื่นอยู่
อภิชาติพงศ์ : เราเป็นสังคมที่ค่อนข้างจะขาว-ดำ ต้องมีผิด ต้องมีถูกเป็นสูตรสำเร็จ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสีเทาทั้งหมด ทุกอย่างเป็นแค่ความคิดเห็น เป็นความเชื่อที่ต่างกัน พอสุดโต่งแล้วต้องเป็นทางนี้ทางเดียว ต้องคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีเสียง เพราะฉะนั้นมันเลยค่อนข้างจะเป็นสังคมที่รุนแรง ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน
แน่นอน มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนไทยหรืออะไร มันเป็นเรื่องของมนุษย์ธรรมดาที่ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ โดยไม่ขืนใจอีกคนหนึ่ง หรือสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ฉะนั้นข้ออ้างที่บอกว่า นี่คือความเป็นไทย ประเทศไทยพิเศษกว่าที่อื่น จึงเป็นแค่ความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดคนอื่นไว้เฉยๆ ซึ่งเราก็ยังไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้ว่า ทำไมถึงไม่สามารถเลือกตั้งกันได้ ทำไมถึงยอมเชื่อประวัติศาสตร์ที่มันซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เฉพาะในประเทศ แต่ในที่อื่นที่มาในแนวเดียวกัน ถูกกระทำเหมือนกันด้วย เราไม่ใช่เกาหลีเหนือและโลกนี้ก็มีข้อมูลเยอะมาก แต่เราก็ยังไม่สามารถมองเห็นมุมนั้นได้ เลยเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
The MATTER : นอกจากป่าแล้ว คุณยังนำเสนอเรื่องผีอยู่บ่อยๆ
อภิชาติพงศ์ : ผีคือรูปแบบหนึ่งของวิญญาณที่โผล่ขึ้นมาเน่าเฟะ หรือลอยไปลอยมา ตั้งแต่เด็กเราเชื่อในสิ่งที่เห็นแน่นอน ตั้งแต่สิ่งที่อยู่ในทีวี ละครวิทยุ ภาพยนตร์ หนังสือ เรื่องเล่าจากพ่อแม่ บวกกับการถูกตอกย้ำทางด้านศาสนา
ศาสนาพุทธดูเหมือนจะเมคเซนส์ เชื่อในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด แต่ทุกอย่างเป็นภาพรวมเท่านั้น มันเลยสร้างตรรกะขึ้นมาว่าโลกเราไม่ได้มีระนาบเดียว ฟังดูมีเสน่ห์นะ แต่จริงๆ มันมีการกดทับหลายๆ อย่างที่ทำให้คนไม่มองตรรกะอื่นๆ ไม่มองเปรียบเทียบกับสังคมและประวัติศาสตร์โลก กลายเป็นว่าศาสนาและการเมืองเหมือนสองขั้วอำนาจที่จับมือกัน สร้างเหตุผลให้กันและกัน มีความเป็นตัวตนถึงความไม่เป็นตัวตน บางทีก็มา บางทีก็หายไป
The MATTER : คิดว่าผลงานของตัวเอง เปรียบเหมือนผีอะไร
อภิชาติพงศ์ : ผีไทยมันค่อนข้างจะมีตัวตนมากๆ เลยนะ สำหรับเรามันอาจเป็นวิญญาณ ในแง่ที่ตัวตนจับต้องได้ยาก ไม่ใช่ผีจริงๆ เหมือนภาพที่โปรเจกต์ความต้องการหรือความทรงจำบางส่วนให้ปรากฏตัวขึ้นมาแล้วก็หายไป เป็นพิธีกรรมที่คนมานั่งดูในความมืด แล้วก็พยายามเอาตัวเองออกไป เหมือนนอนหลับ เหมือนความฝัน ครึ่งหลับครึ่งตื่น ยอมให้แสงมันได้สะกดเรา และตามมันไป
The MATTER : ผีหรือวิญญาณเป็นตัวแทนของอะไรได้บ้าง
อภิชาติพงศ์ : อาจจะเป็นประชาชนก็ได้ บางทีดูเหมือนไม่มีตัวตน ไม่มีเสียงด้วย แค่โผล่มาเฉยๆ มาหลอก มาทำความรำคาญให้กลุ่มคนบางกลุ่ม หรือผีอาจจะเป็นผู้มีอิทธิพล คนมีอำนาจ ทำให้บางทีเราต้องทำอะไรที่ขัดกับคอมมอนเซนส์ แต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นพิธีกรรมที่ทำมาเพื่อบูชาผี
The MATTER : ‘หลอกหลอน’ กับ ‘หลับใหล’ คำไหนใช้นิยามสังคมไทยได้ดีกว่ากัน
อภิชาติพงศ์ : แน่นอนมันไปด้วยกัน บางทีเราหลับใหลเพราะเราตั้งใจหลีกหนีโดยการชัตดาวน์ตัวเองจากสิ่งที่มันเป็นอยู่ ถ้าตื่นมาแล้วตั้งใจมองจริงๆ อาจเจอสิ่งที่ไม่อยากเจอ บางทีการตื่นรู้มันอาจเจ็บปวดเกินไปก็ได้ เหมือนคนกลัวผี ก็เลย อะ หลับดีกว่า
การหลอกหลอนก็เหมือนกัน เป็นเรื่องของข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทำให้มีบางอย่างเข้ามาหลอกหลอนเพื่อให้เราขยับไม่ได้ เหมือนผีอำ ทั้งสองอย่างเลยมีลักษณะที่ Symbiosis (ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน) อยู่ด้วยกัน
The MATTER : คุณเคยบอกว่าจะไม่ทำหนังยาวฉายในไทยแล้ว ตอนนี้ยังคิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่า
อภิชาติพงศ์ : ก็เสียใจอยู่นะที่พูดอย่างนั้น เพราะจริงๆ ชอบอยู่ในนี้ มันเป็นพื้นที่ที่กระตุ้นให้คนได้คิด ได้ทำหนัง ได้ค้นหาความจริง ซึ่งความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว มีสีเทา มีความจริงหลายด้าน ถ้าคนได้แชร์กัน ฟังกัน หลายๆ มุม มันจะเป็นสังคมที่ healthy มากๆ
มันยากมากที่จะมีหลายความจริงได้ เพราะฉะนั้นเลยเป็นแรงผลักดันให้เราไปอยู่ข้างนอกซักระยะหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าถาวรนะ เราไปเพื่อที่จะเรียนรู้และทำงานร่วมกับหลายๆ คนที่เราอยากทำงานด้วยมานานในพื้นที่อื่นๆ เพื่อที่จะได้ท้าทายตัวเอง แล้วก็มองด้วยเลนส์อื่นจากระยะไกล มองประเทศไทยว่าเป็นยังไง เพราะฉะนั้นการทำสิ่งที่เรารักจากข้างนอก มันก็เป็น process หนึ่ง
สังคมไทยมันขึ้นๆ ลงๆ การที่เรายึดติดกับประเทศนี้มากๆ เป็นอันตรายเหมือนกัน มันแทบจะกินเลือดกินเนื้อในแง่ที่ไม่ได้มองว่าตนเป็นประชากรโลก แต่เป็นประชากรประเทศนี้ เป็นคนไทยต้องให้อะไรกับสังคม เพราะฉะนั้นมันต้องไม่ใช่แค่จิตวิญญาณเท่านั้น ร่างกายก็ต้องเป็นของประเทศนี้ ต้องทำคุณเพื่อแผ่นดิน อันนี้เป็นสิ่งที่อันตราย
ถ้าเขาปิดตาเราไม่ให้ศึกษาหรือมองสิ่งภายนอก ไม่ได้มองว่าเราเป็นประชากร เราก็เป็นเพียงสัตว์ตัวหนึ่งในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งการถูกกล่อมไว้ในกรงมันส่งผลเสียมากกว่าการเปิดกว้างให้คิดด้วยความจริงที่เรียนรู้เอง
Content with assistance of Anittha Rintarasoontorn