Merkel muss weg! แปลไทยบ้านๆ ได้ว่า แมร์เคิลออกไป! ป้ายประท้วงเต็มท้องถนนกลางกรุงเบอร์ลิน หลังจากที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ประกาศว่าจะยังคงเปิดนโยบายรับผู้อพยพ ก็มีเสียงทั้งสนับสนุนและต่อต้าน (ซึ่งเสียงหลังไม่น้อยทีเดียว) เมื่อวันที่ 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา มีการเดินขบวนประท้วงจากชาวเยอรมันนับหมื่นเพื่อเรียกร้องให้นางอังเกลาผู้ได้รับสมญานามว่าแม่ชีแห่งอียูลาออก จากข่าวน่าเศร้าสลดในช่วงตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาที่มือโจมตีเยอรมันนีอยู่ในกลุ่มผู้อพยพ
จากปี 2015 เยอรมนีมีผู้อพยพกว่า 1.1 ล้านคน แน่นอนว่าประเด็นผู้อพยพเป็นประเด็นร้อนแรง ในขณะเดียวกันก็ละเอียดอ่อน จึงมีศิลปินและนัก Activist ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนไม่น้อยจับประเด็นผู้อพยพมานำเสนอ เพื่อหวังว่าจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงให้สังคมได้ยินได้เห็น ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเสียงของศิลปินแต่ละคนก็ดังเบาไม่เท่ากัน เกิดคำถามกับการทำงานประเด็นสังคมหลายครั้ง ว่าเรื่องของมนุษย์เช่นนี้ สังคมได้จำหรือรำลึกถึงใครกันแน่ ระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้น หรือตัวศิลปินเอง
เรื่องของผู้อพยพได้รับการผลิตซ้ำมากมายนับไม่ถ้วน แต่ภาพที่ช็อกความรู้สึกโลกที่เราคงจำกันได้คือ ภาพเด็กชายซีเรียวัยสามขวบที่จมน้ำเสียชีวิตริมชายฝั่ง Bodrum ประเทศตุรกี หลังจากครอบครัวพยายามอพยพข้ามทะเลมายังประเทศกรีซ กลายเป็นปรากฏการณ์ผู้อพยพที่ทั่วโลกต่างพูดถึง เกิดการตื่นตัวและเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาถึงปัญหาผู้อพยพมากขึ้น
ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีนชื่อดัง Ai Weiwei ได้ ‘กระทำซ้ำ’ ภาพนั้น ด้วยการโพสต์รูปลงในอินสตาแกรมส่วนตัว ยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนในโลก social network เข้าไปใหญ่ ด้วยพลังของสื่อยุคใหม่ในการ ‘ถ่ายทอดเกือบสด’ บรรยากาศของชีวิตบนเรือ ชายฝั่ง ในค่ายอพยพ Ai Weiwei ได้ทำโปรเจกต์ในบริเวณที่เกิดเหตุผ่านรูป ‘เซลฟี่’ ของเขาเองกับชาวซีเรีย ชาวอัฟกานิสถาน รวมถึงผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ หลายภาพเปื้อนยิ้มและเสียงหัวเราะ ในลักษณะที่ไม่ใช่การรายงานข่าว
อีกงานที่ถูกพูดถึงกลางเมืองเบอร์ลินคืองานที่ Ai Weiwei ได้เอา เสื้อชูชีพสีส้มสดจำนวนกว่า 14,000 ตัวจากผู้อพยพที่ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากตุรกีมาถึงชายฝั่งของเกาะ Lesbon ประเทศกรีซได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีเสื้อชูชีพอีกหลายร้อยที่ยังคงถูกทิ้งไว้ที่ชายหาดหรือกระทั่งกลางทะเล เขาเอาเสื้อชูชีพมาพันรอบเสาของ Konzerthaus เพื่อหวังให้ผู้คนตื่นตัวและ ‘เห็น’ การเดินทางอันน่าเจ็บปวดนี้ ความน่าสนใจและคำถามอยู่ที่พลังของศิลปิน มีคอมเม้นต์มากมายที่ทั้งให้กำลังใจและตั้งคำถามกับ Ai Weiwei ในการทำโปรเจกต์เรื่องผู้อพยพ
นอกจากงานศิลปินใหญ่ที่พูดถึงโครงสร้างโดยรวม ยังมีงานของศิลปิน ช่างภาพหลายคนในเยอรมัน ที่ทำงานในเชิงส่วนตัวและปัจเจกขึ้น เราสนใจงานของช่างภาพหญิงอย่าง Stefa Zofia Schulz ที่ได้ถ่ายทอดชีวิตของผู้อพยพผ่านงานชื่อ ‘Duldung’ ที่แปลว่า ความอดทน (Toleration) โดยมีฉากหลังเป็นค่ายอพยพในเมือง Lebach-Jabach ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี เธอได้ทำโปรเจกต์นี้มาสักระยะ โดยการเข้าไปสังเกต คลุกคลี และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับครอบครัวในค่าย โฟกัสที่ชีวิตประจำวัน
แม้พลังทางรูปถ่ายของ Zofia อาจจะไม่ซัดเปรี้ยงเหมือน Ai wei wei แต่ Zofia ก็ขับให้เห็นความ ‘ธรรมดา’ ของชีวิตวัยรุ่นและเด็กที่เติบโตมาในค่ายแห่งนี้ ในความธรรมดานั้น เราอาจมองเห็นอะไรบางอย่างผ่านการเติบโตในพื้นที่จำกัด และการปรับตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสังคมเยอรมัน ระเบียบของการอยู่ Asylum หรือค่ายพักพิงนี้คือส่วนใหญ่คนจะอยู่ที่นี่เป็นเวลาปีเดียวเท่านั้น ก่อนจะหาที่อยู่ใหม่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่สุดท้ายเธอเองก็พบว่า ค่ายนี้กลายเป็น ‘บ้าน’ ให้กับเด็กหลายๆ คนมาตลอดทั้งขีวิต
ในขณะที่ Ai Weiwei ได้มีภาพตัวเองนอนบนริมฝั่ง Schulz เองก็มีภาพถ่ายที่นอนที่มีฉากหลังเป็นน้ำทะเล ภาพของเธอก็ได้ให้อีกความหมายหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ที่พักในค่าย
ประเด็นเชิงสังคมกับงานศิลปะในบางครั้งก็แทบยากจะแยกออกจากกัน ความรู้สึกอยากเล่า อยากช่วยเหลือ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ย่อมมาพร้อมกับความหวังดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ความหวังดีที่บางครั้งก็คิดไม่มากพอและไม่รู้จักประเด็น ก็อาจจะสร้างบาดแผลใหม่ให้อีกคนโดยไม่ทันรู้ตัว องค์กร RISE ซึ่งเป็นองค์กรของผู้อพยพที่ทำงานเชิงประเด็น รณรงค์ และช่วยเหลือผู้อพยพในออสเตรเลียจึงได้เขียนบทความที่น่าสนใจชื่อ 10 things you need to consider if you are an artist – not of the refugee and asylum seeker community- looking to work with our community. 10 สิ่งที่ควรคำนึงถึงหากคุณเป็นศิลปินที่ไม่ได้เป็นผู้อพยพแต่อยากจะทำงานเรื่องผู้อพยพ บทความนี้เขียนได้ครอบคลุมและชวนคิดถึงประเด็นอื่นๆ ได้ดีทีเดียวจึงอยากแบ่งปัน
โดยรวมๆ กฏเหล็กสำคัญน่าจะเป็นเรื่อง Process not product ผู้อพยพหรือประเด็นสังคมหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แหล่งวัตถุดิบชั้นเยี่ยมสำหรับงานศิลปะของเหล่าศิลปิน ชีวิตคนไม่ใช่ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เต็มไปด้วยความน่าสงสาร แต่มันคือกระบวนการของการทำความเข้าใจปัญหาและประเด็นระหว่างกัน นอกจากนี้ข้อควรระวังที่น่าสนใจคือความแตกต่างของการ Presentation และ representation ภาพที่เราเห็น สื่อที่เรามอง หนังที่เราดู บทความที่เราอ่าน เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถเป็นตัวแทนภาพรวมของทั้งหมดได้ เพราะเอาเข้าจริง การยื่นไมค์ บังคับให้เขาพูดอะไรบางอย่าง มันก็อาจจะไม่ได้มาจากเขาโดยตรง เพราะทุกคนต่างมีเรื่องและความรู้สึกของตัวเอง
การรู้เท่าทันความรู้สึกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากในโลกที่เรารู้เรื่องระหว่างกันในชั่วเวลานิ้วพิมพ์ นิ้วคลิก นิ้วโพสต์ การร้อยเรียง รูปถ่ายผลิตซ้ำ ใบหน้าชอกช้ำของประเด็น หรือที่เราเรียกว่า ‘Subject’ ถ่ายทอดพลังมาให้เราหดหู่ เราเองก็ต้องมองเห็น ‘ความเป็นจริง’ ที่โลกนี้ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ในจำนวนผู้อพยพหนึ่งล้านคน ทุกคนไม่ใช่คน ‘เลว’ หรือ ‘ดี’ และไม่ต่างจากเราๆ ท่านๆ ที่นั่งเสพสื่ออยู่หลังหน้าจอเช่นกัน การเล่าเรื่องอย่างคนเป็นคน ไม่ใช้ความสงสารเป็นกับดัก อย่างน้อยที่สุดน่าจะทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และหวังว่ามันจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้บ้างในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่อย่างน้อยที่สุด หลายงานจากศิลปินก็ทำให้เรามองเห็นชีวิตของกันและกัน ป้าย Welcome Refugee ที่แปะไว้ทั่วเมืองเท่าที่มองเห็น สำหรับเรา มันอาจเพิ่มกลุ่มให้กว้างกว่านั้นด้วยคำว่า ‘มนุษย์’
อ้างอิงข้อมูลจาก