“…แต่หากเนตรแห่งนางอยู่บนฟ้า และดาวมาอยู่บนดวงหน้า
สุกสว่างของปรางแก้มย่อมข่มดาวนั้นจนระอา
ดุจแสงแห่งวันข่มแสงโคม ดวงตาของนางบนชั้นฟ้า
คงโชนแสงส่องผ่านนภากาศลงมา จนมวลปักษาขับร้อง ด้วยคิดไปว่ามิใช่ราตรีกาล….”
โรมีโอกล่าวถึงตาของจูเลียต ในองก์ 2 ฉาก 2 ของบทละครอมตะ โรมิโอกับจูเลียต โดยวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ฉบับแปลโดยศวา เวฬุวิวัฒนา ถ้อยคำที่ใกล้เคียงที่สุดกับการอธิบายลักษณะของจูเลียต อีกหนึ่งที่คล้ายกันพบในองก์ 1 ฉาก 5 ที่ว่านางเปรียบดั่ง “พิราบสีหิมะโดดเด่นในฝูงกา” ซึ่งทั้ง 2 คำอธิบายนั้นอาจตีความเป็นถึงความงามอันโดดเด่น คอนทราสต์ของนางต่อสภาพแวดล้อม ความหลงใหลคลั่งไคล้ที่ชายหนุ่มมีต่อนาง ไม่ต้องเกี่ยวกับหน้าตาเลยก็ได้
ตัวหนังสือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ด้วยถ้อยคำเรียงรายของไม่กี่คำสามารถวาดภาพให้เราเห็นได้เป็นหมื่นแสนรูป โดยแต่ละคนมองเห็นแตกต่างกันออกไปจากประสบการณ์และค่านิยมของตัวเอง จูเลียตของเราอาจหน้าเหมือนเพื่อนคนนั้นที่งามไกลเกินเอื้อม อย่าว่าแต่ไปคุยด้วยเลย อาจะเป็นคนที่เราเคยมองตาตรงข้ามโต๊ะอาหารโดยไม่อาจละสายตาออกได้ ใครบางคนที่มีอยู่เพียงในจินตนาการ หรือแคลร์ เดนส์สวมปีกนางฟ้าอยู่ ณ ริมระเบียง ใครสักคนที่งามโดดเด่นของเราแต่ละคนก็คงต่างกันออกไป ภาพจำจากตัวหนังสือหาใช่สิ่งสากลไม่
เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่ถูกพูดถึงตลอดมาโดยเฉพาะในขวบปีปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตถูกเปลี่ยนเป็นสมรภูมิ Culture War สุดแสนท็อกซิก ที่ผู้สูญเสียในสงครามมี 2 อย่างใหญ่ๆ คือเหตุและผล กับคนชายขอบที่ถูกลดทอนใช้ใช้เป็นเครื่องมือของข้อถกเถียง ตั้งแต่ Little Mermaid เวอร์ชั่นคนแสดง มาจนกรณีการดัดแปลง Romeo & Juliet กำกับโดย เจมี ลอยด์ (Jamie Lloyd) ที่พบกับกระแสตอบรับที่เชิงลบจากฝั่งปฏิกิริยานิยม เนื่องจากการแคสต์ฟรานเชสกา อเมวูดา-ริเวอส์ (Francesca Amewudah-Rivers) เป็นจูเลียตเพราะเธอเป็นคนผิวดำ
เพื่อ ‘ภาพจำ’ หรือ ‘ความตรงต้นฉบับ’ เขาว่ากันอย่างนั้น แต่ในศิลปะที่อาศัยการตีความในทุกย่างก้าวเช่นละครเวทีนั้น สิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริงแน่หรือ? และหากเราไปไกลกว่านั้น สิ่งที่กล่าวมามีที่ยืนในการพัฒนาศิลปะหรือเปล่า?
หากจะพูดถึงต้นฉบับ เราต้องมองย้อนกลับไปเมื่อราวๆ ศตวรรษที่ 16-17 ในวันที่เชคสเปียร์และคณะละครมากมายยังเป็นหนึ่งในความบันเทิงหลัก สิ่งที่เราสามารถทึกทักได้จากข้อถกเถียงกลุ่มคนที่ต้องการ ‘ต้นฉบับ’ คือการพูดว่า ทำอะไรก็ตามที่เขาทำกันเมื่อศตวรรษที่ 16 แต่เช่นนั้นแล้ว หากเรามองไปยังละครเวที ณ ขณะนั้น เราอาจพบว่าน้อยเวอร์ชั่นมากๆ ที่จะทำตามแบบแผนของเวอร์ชั่นเก่า โดยเฉพาะในการแคสติ้ง
ในยุคที่เรียกว่ายุคสมัยเอลิซสเบธ คือยุคเฟื่องฟูในศิลปะของอังกฤษ โดยเฉพาะในประเด็นของศิลปะการแสดงที่ราชินีเอลิซาเบธที่ 1 โปรดปราน และหนึ่งในนักเขียนบทละครที่มีชื่อที่สุดจนปัจจุบันคือวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) เรื่องราวของรักร้าว การล้างแค้น และการเมืองเปื้อนเลือด ทั้งหมดคือตัวหนังสือที่มีชีวิตขึ้นมาได้บนพื้นบอร์ดไม้ ณ โรงละครโกลบ แต่นักแสดงเหล่านั้นคือใคร? คำตอบเป็นลิสต์ยาวเกินกว่าที่จะเขียนได้ แต่ที่แน่ๆ คือไร้เงาของผู้หญิง
เป็นสิ่งที่น่าแปลกเพราะว่าในไบนารีเหยียดเพศปัจจุบันมองภาพว่าผู้ชายทำงานใช้กำลัง เป็นช่างหรือตัดซุง ส่วนการแสดงร้องรำทำเพลงนั้นเป็นของผู้หญิงเพศที่อ่อนหวานบอบบาง แต่ว่าทำไมบนเวทีของยุคทองแห่งศิลปะการแสดง จึงเต็มไปด้วยชายสวมเดรสเล่นเป็นราชินี? คำตอบคือค่านิยมทางเพศที่เชื่อมโยงโดยตรงกับศาสนาเชื่อว่าการแสดงนั้นเป็นสิ่งไม่งาม ศาสนาที่เมื่อมองดีๆ บอกว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากอะไรก็ตามที่ผู้ชายในชีวิตบอกให้เป็น ซึ่งกฎดังกล่าวถูกยกออกเมื่อปี 1660 เวลาผ่านไปราว 5 ทศวรรษหลังเชคเสปียร์เสียชีวิต
เมื่อรู้เช่นนั้น เราอาจจะเริ่มเห็นว่าการแคสต์นักแสดงที่ตรงตามต้นฉบับนั้นมีปัญหา คนที่ต่อต้านคนผิวอื่นนอกจากสีขาวมาเล่นเป็นจูเลียตจะมองว่าเด็กผู้ชายแต่งหญิงขึ้นเวทีเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นจริงๆ หรือเปล่า? มองไปยังวิธีที่ฝ่ายปฏิกิริยานิยมโจมตีการสอนเด็กเกี่ยวกับวัฒนธรรมแดรกเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็อาจทำให้เราได้คำตอบ
มากไปกว่าสิ่งใดๆ การมองไปยังความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบอกเราว่าศิลปะนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและค่านิยม การที่ผู้หญิงมีสิทธิมากขึ้นก็นำไปสู่การมีสิทธิเพิ่มขึ้นในทุกๆ ภาคส่วน ในกรณีนี้ ศิลปะการแสดงก็เติบโตไปอีกขั้นเมื่อผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมกับมันได้มากไปยิ่งกว่าการแสดงบนเวที แต่รวมไปถึงเสียงใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ในผู้เขียนบทที่มีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกัน ศิลปะคือผลผลิตของสังคมและมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในนั้น หากสังคมเปลี่ยนไป ศิลปะเองก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือเปล่า?
อย่างที่เราพูดเกริ่นเอาไว้ก่อนหน้า ละครเวทีคือศิลปะที่อาศัยการตีความในทุกย่างก้าว โดยเฉพาะละครเวทีที่มาจากบทของผู้ประพันธ์คนอื่น ความหมายของวรรคบางวรรคเปลี่ยนแปลงไปตามคนอ่าน แม้แต่ในสายตาของผู้ดัดแปลงและนักแสดงของเขาเองก็อาจจะเป็นคนละอย่างกัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนของการตีความนี้ เราอาจมองไปยังบทรำพึงกับตัวเอง (Soliloquy) ชื่อดังในแฮมเล็ต องก์ที่ 3 ฉาก 1 หรือที่เราจำได้ในนามว่าฉาก To be, or not to be? ที่แม้ว่าจะเป็นฉากอันตรงไปตรงมาที่เจ้าชายแฮมเล็ตมองธรรมชาติของความตายและความคุ้มค่าในการจบชีวิตของตัวเอง แต่เมื่อเราลองมองเทียบไปยัง 2 การแสดง ระหว่างของเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ที่เล่นมันด้วยพลังงานของคนกำลังมีเมนทัลเบรกดาวน์ กับของแอนดรูว์ สก็อต (Andrew Scott) ที่แสดงมันอย่างเรียบเฉย เก็บงำทุกข์ของคำถามไว้หลังดวงตา ฉากเดียวกันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงผ่านการตีความที่แตกต่างกันของ 2 นักแสดง
การดัดแปลงไม่ใช่เพียงการลอกเลียน แมคเบธเวอร์ชั่นปี 2023 ที่จัดแสดง ณ โรงละครโกลบพาเราอยู่ในวังวนเรื่องราวฆาตกรรมที่เราไม่รู้แน่ว่าเกิดขึ้นในยุคใด การชนกันอย่างจังของภาพการดวลดาบ ชุดเกราะกันกระสุน แม่มดทั้ง 3 เปลี่ยนเป็นชาย 3 คนในชุดกันสารกัมมันตรังสีพร้อมหน้ากากจะงอยปากนก หรือว่าจะในภาพยนตร์ Romeo + Juliet โดยบาซ เลอแมนน์ (Baz Luhrmann) พาตัวละครมาอยู่ในเมืองละตินอเมริกายุคราวๆปี 90s ที่มาพร้อมกับแก๊กที่ทั้งฝืดทั้งน่ารักเพื่อเล่นล้อไปกับการเปลี่ยนยุคสมัยของเรื่อง เช่น รุ่นปืนของทุกคนมีชื่อรุ่นว่า “Sword” เพื่อให้การ “ชักดาบ” ในบทไม่แปลกไปในเรื่องที่ทุกคนถือปืน
หากไร้การตีความ ศิลปะจะถูกพัฒนาขึ้นได้อย่างไร? ในโลกที่มีคนหลากหลายเสียงมากขึ้น ที่ความหมายของคำว่าความงามถูกตั้งคำถาม ในที่ที่ไม่ได้มีแค่คนผมทองตาฟ้าเป็นต้นแบบเดียวของคำว่างาม การตีความศิลปะเปิดกว้างขึ้นอย่างไม่มีใครรั้งได้
เพราะมันขึ้นตรงกับกาลเวลา
อ้างอิงจาก