เราอาจมีคำถามว่า มานุษยวิทยามองศิลปะอย่างไร หรืออาจจะถามในทางกลับกันว่า แล้วศิลปะมองมานุษยวิทยาอย่างไร คำถามเหล่านี้อาจมีคำตอบที่หลากหลาย แต่ยังไงก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มานุษยวิทยาพยายามเอาขาข้างหนึ่งของตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกศิลปะ ประหนึ่งไปสร้างอาณานิคมเล็กๆ ก็คือเพื่อให้ตัวเองใช้ศิลปะเป็นกรอบคิด (conceptual) ในการมองวัฒนธรรม หรือแม้แต่ใช้ศิลปะเป็นตัวแสดง (actor) หนึ่งในการเล่าความสัมพันธ์ที่ผูกโยงใยอยู่ในวัฒนธรรม
การเชื่อมโยงมนุษยวิทยากับศิลปะเช่นนี้เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มที่เรียกว่า Visual Anthropology (บางคนใช้ว่า ‘มานุษยวิทยาทัศนา’) และ Anthropology of Art หรือก็คือ มานุษยวิทยาศิลปะ เป็นต้น
เมื่อมานุษยวิทยามองแกลเลอรี่ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ และสถานที่จัดแสดงศิลปะต่างๆ เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ศิลปะที่ได้รับการคัดสรรและจัดวางได้ออกไปจาก white cube หรือห้องสี่เหลี่ยมสีขาวๆ เพื่อเสนอกรอบคิดและสร้างบทสนทนาใหม่ๆ นั้น อีกสิ่งที่มานุษยวิทยาทำก็คือ อุปมาให้พื้นที่ศิลปะที่มีลักษณะหลากหลายเหล่านี้เป็นเหมือน ‘หมู่บ้าน’ ที่ตนเองกำลังเข้าไปศึกษา
พื้นที่ที่จงใจให้ว่าง
สิ่งที่ต่างออกไปเสียหน่อยในกรณีศึกษาของหมู่บ้านนี้ หรืออาจเรียกว่าประหลาดใจก็ได้คือ หมู่บ้านนี้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่โล่งๆ เต็มไปด้วยผนังว่างๆ มีเพียงป้ายสี่เหลี่ยมสองแผ่น (ป้ายหนึ่งสำหรับภาษาถิ่น อีกป้ายสำหรับภาษาต่างชาติ) เพื่อบอกว่า หมู่บ้านนี้ชื่อ BANGKOK CITYCITY GALLERY และกำลังมีพิธีกรรมที่เรียกว่า ‘This page is intentionally left blank’ นอกจากนี้ก็มีข้อมูลที่บอกว่า ปรัชญา พิณทอง คือ ‘ศิลปิน’ และ ธนาวิ โชติประดิษฐ คือ ‘ภัณฑารักษ์’ ของหมู่บ้านนี้ ยังไม่รวมตัวกั้นที่จอดรถ 8 แท่ง กล่องเอกสาร 7 ใบ ที่มีเอกสาร 67 ชุด วางอยู่เหมือนไม่จงใจในห้องสีขาวๆ เก่าๆ แห่งนี้ด้วย
จุดยืนในฐานะคนเขียนคืออยากชวนให้ขบคิดศิลปะในแง่มุมทางมานุษยวิทยา การเดินเข้าไปในนิทรรศการครั้งนี้ซึ่งอาจเปรียบเปรยได้เหมือนเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยอมนุษย์นั้น ผู้เขียนจึงเน้นสังเกตการณ์เป็นหลัก ผ่านการตีความในเรื่อง ‘พื้นที่’ (space) เท่าที่จะสามารถขยายขอบฟ้าของโลกศิลปะไปได้ โดยที่ไม่ได้ฟังหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลจากสิ่งที่ศิลปินและภัณฑารักษ์อาจจะ ‘เล่า’ ให้ผู้เข้าชมคนอื่นๆ ฟัง ยกเว้นเพียงรับรู้จากข้อความ (text) ที่ภัณฑารักษ์กล่าวถึงศิลปินที่ได้นำเอาสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มาใช้เป็นวัตถุ
ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากชวนตั้งคำถามต่อนิทรรศการของปรัชญา พิณทอง บนแนวคิดการรื้อสร้างและประกอบขึ้นใหม่ของพื้นที่ในระนาบต่างๆ ทั้งพื้นที่ในความหมายเชิงศิลปะและคุณค่าในเชิงทุนทางวัฒนธรรมของวัตถุที่ถูกย้ายเปลี่ยนบริบทเหล่านี้ เพื่อหวังว่าท้ายที่สุดจะช่วยอธิบายระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของตัวแสดงต่างๆ
เหตุการณ์ที่ไม่ปกติ
อาจเป็นเพราะความคุ้นชิน เราจึงมักเจอข้อมูลที่แปะผนังให้อ่านเยอะๆ ถ้าโชคดีก็อาจได้ซักถามศิลปินหรือไม่ก็ภัณฑารักษ์เพื่อให้พวกเขาเล่าว่า งานชิ้นนี้ต้องการบอกอะไร แต่สำหรับนิทรรศการนี้ สิ่งที่สามารถทำได้คือ ยืนมองผนังห้องสีขาว เบอร์ A1000 ที่เขียนกำกับไว้และจงใจ(รวมทั้งเน้นย้ำ)ว่า ผนังขาวๆ (ที่ไม่ทราบความกว้าง-ยาว)นี้คือ สิ่งที่ศิลปินจงใจปล่อยให้ว่างไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ
จากจุดนี้ทำให้ได้หยุดและกลับมาคิดอีกครั้งว่า เรามอง ‘พื้นที่’ ในความหมายของอะไร เป็นพื้นที่ว่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในหลากหลายแบบ หรือเป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างหรือกำหนดความหมายเอาไว้อยู่แล้ว
ข้อถกเถียงหนึ่งที่มานุษยวิทยาและศิลปะกำลังวิพากษ์วิจารณ์คือ ‘เมื่อไหร่กัน’ ที่วัตถุบางอย่างถูกเลือกให้มาจัดแสดงในแกลเลอรี่ศิลปะ ในขณะที่วัตถุบางอย่างถูกจัดให้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองปะกาเกอะญอที่นักมานุษยวิทยารวบรวมไว้จากเชียงใหม่จะนำมาวางแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY และเป็นไปได้หรือไม่ที่ซากแมงวันเล็กๆ สองตัวในผลงาน ‘Sleeping Sickness’ (2012) ของปรัชญา พิณทองจะสามารถไปวางแสดงที่พื้นที่แสดงงานมานุษยวิทยาในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจในงานของปรัชญา พิณทองครั้งนี้คือ การทำลายและตั้งค่าความหมายของพื้นที่ขึ้นมาใหม่ เป็นการรื้อสภาพความเป็นห้องสี่เหลี่ยม โดยสีขาวของห้องนี้ก็เป็นโทนสีแปลกไปจากปกติ ตัวกั้นที่จอดรถของแกลเลอรี่ที่เคยอยู่ด้านนอกก็นำเข้ามาวางอยู่ข้างในพื้นที่แกลเลอรี่ โดยมีประตูเล็กๆ ด้านหลังที่เปิดโล่ง ช่วยนำสายตาให้มองออกไปนอกห้องสี่เหลี่ยมที่เห็นรถยนต์จอดเรียงราย
เส้นแบ่งที่ต่างระนาบกัน
การตั้งค่าพื้นที่ขึ้นมาใหม่ จากการลากเส้นขอบเขตของพื้นที่ว่างของขนาดที่จอดรถ โดยทำให้เส้นขอบเขตของพื้นที่ว่างนี้มีรูปแบบของเส้นแบ่งที่ต่างกันออกไป แต่ยังคงขนาดของพื้นที่ว่างไว้ ทำให้เห็น ‘ความว่าง’ ที่ได้รับการสร้างความหมายขึ้นมาใหม่ การเปลี่ยนให้พื้นที่ศิลปะอย่างแกลเลอรี่กลายเป็นที่จอดรถ จุดนี้ถือเป็นปฏิบัติการ (practice) ที่น่าสนใจของศิลปินที่นำเสนอว่า พื้นที่ว่าง หรือ space สามารถรื้อและสร้างใหม่ได้
กระบวนการรื้อสร้างของพื้นที่ในงานนี้จึงยิ่งทำให้มองเห็นวาทกรรมต่างๆ ที่เคยถูกสร้างเอาไว้ และตั้งคำถามกับความคุ้นชินของพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทุนทางสังคมที่ปรากฏในโลกศิลปะ ชนชั้นในเชิงความหมายของพื้นที่ ซึ่งยิ่งปรากฏชัดเมื่อเอาวัตถุที่มีความหมายและคุณค่าที่ไม่เท่าเทียมกันมาจัดวางในระนาบเดียวกัน โดยในนิทรรศการนี้นำเอากล่องเอกสาร 7 ใบที่ดูธรรมดาๆ แต่เป็น ‘บันทึก’ ถึงคุณค่าของงานศิลปะที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มาวางอยู่บนพื้นห้องเทียบเท่ากับตัวกั้นที่จอดรถ (แต่ก็เชื่อว่าราคาของพื้นที่วางตัวกั้นจอดรถมีมูลค่าของเงินพอสมควร)
การเคลื่อนย้ายวัตถุที่เคยมีความหมายและมูลค่าหรือคุณค่าในพื้นที่เดิมมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ ทำให้ไม่สามารถอธิบายความหมายหรือคุณค่าได้ชัดเจน เพราะศิลปินได้จัดการสลายขอบเขตพื้นที่และสร้างใหม่ (deterritorialization) เพื่อให้แต่ละคนตีความพื้นที่แกลเลอรี่ ที่จอดรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไปพร้อมๆ กัน
การรับรู้ที่เป็นไปได้
ปรัชญา พิณทองได้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และวัตถุด้วยการปรับให้ตัวกั้นที่จอดรถปรับรูปทรงไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน โดยที่ความว่างของระยะขอบตัวกั้นยังคงเท่าเดิมถึงแม้จะเปลี่ยนรูปไปอย่างไรก็ตาม
ซึ่งคล้ายกับเรื่อง ‘ทุนวัฒนธรรม’ ในรูปของวัตถุ สื่อ สิ่งของ (objectified state) รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การสะสมทุนวัฒนธรรมประเภทนี้ขึ้นมา ตัวชิ้นงานที่ถูกนับรวมในการจัดแสดงนิทรรศการอย่าง กล่องเอกสารที่ขอยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ฯ ผนังแกลเลอรี่สีขาวของตัวอาคาร หรือตัวกั้นที่ย้ายเอามาจากที่จอดรถข้างๆ นั้น ทำให้ชวนขบคิดว่าทุนวัฒนธรรมของวัตถุเหล่านี้ถูกให้ความหมายและคุณค่ากลับไปกลับมาอย่างไรในอีกบริบทของพื้นที่ที่เลื่อนไหลได้
สิ่งที่ผู้เขียนมีความเห็นร่วมกับภัณฑารักษ์นิทรรศการในเรื่องแง่มุมที่เป็นไปได้ในการอ่านงานของปรัชญา พิณทอง ก็คือ การใช้วิธีการสังเกต (เช่นเดียวกับศิลปิน) และการตีความต่อ “พื้นที่ว่างๆ” ที่ศิลปินจงใจเว้นไว้
‘เหตุการณ์ที่ไม่ปกติ’ ที่ผู้เขียนอยากบันทึกไว้ในงาน This page is intentionally left blank คือ แม้ว่าจะมีพื้นที่ที่จงใจเว้นว่างไว้ แต่การรับรู้ในเชิงมูลค่าของพื้นที่แกลเลอรี่ยังคงเดิม นั่นหมายถึงพื้นที่ว่างยังคงซ่อนราคาค่างวดของมันอยู่ เพราะสุดท้ายเรายังคงตระหนักรู้ว่ากำลังยืนอยู่ในแกลเลอรี่ ถึงแม้ศิลปินจะพยายามกระตุกให้ผู้คนในโลกศิลปะรู้สึกสะดุดเมื่อเข้ามาดูงานศิลปะแล้วเจอแต่แท่นคอนกรีตและกล่องลัง
‘ความเป็นไปได้’ ที่ผู้เขียนสนใจในงานนี้คือ ความเป็นไปได้ต่อการรับรู้เชิงพื้นที่ ที่ชวนพิจารณาทั้งในแง่มุมของขอบเขตแดน/ชนชั้น (border / class) และการเคลื่อนย้ายข้ามเส้นแบ่ง (trans-boundaries) ที่ล้วนแฝงการขยับชุดความหมายต่างๆ ไปพร้อมกัน ผ่านชุดกิจกรรมและเสวนาที่ภัณฑารักษ์และศิลปินชวนให้ผู้เข้าชมได้มามีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยน งานชุดนี้ของปรัชญา พิณทองจึงพยายามขยายกรอบมโนทัศน์ (conceptual expansion) ของพื้นที่ศิลปะให้สามารถตีความออกไปมากขึ้น