บทสนทนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เคยเริ่มต้นขึ้นในห้องอพาร์ทเมนต์หมายเลข 9 ณ กรุงปารีส
‘เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475’ คือวลีคุ้นหูที่ทุกคนต่างเคยได้ยินจากหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ชื่อตัวละครสำคัญอย่างปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในฐานะบุคคลสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์นี้
แต่การเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนี้ เกิดขึ้นจากคนเพียงแค่ 2 คนจริงหรือ?
‘ปรีดี, แปลก, ประยูร, แนบ, ตั้ว, ทัศนัย และจรูญ’ คือชื่อของนักเรียนสยามถึง 7 คนที่มีส่วนร่วมในการริเริ่มวางแผน เด็กหนุ่มวัย 20 กว่าปีที่รู้จักกันด้วยความบังเอิญ ในสถานที่ที่ห่างไกลสยามอย่างปารีส ฝรั่งเศส และได้ร่วมก่อสร้างความฝัน และแลกเปลี่ยนกันถึงความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด
“เกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนั้น อะไรที่ทำให้คนอายุ 20 คิดอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ” คือคำถามอันเป็นสารตั้งต้นสำคัญ จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของละครเวทีที่เล่าในสิ่งที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อน อย่าง ‘before 2475’
เลขเพียง 4 ตัว ที่ถูกนำมาเรียงต่อกันจนเป็นเลขปีที่บ่งบอกเหตุการณ์สำคัญของประเทศครั้งนี้ กลับดูเหมือนจะมีพลังต่อความรู้สึกของผู้พบเห็นมากกว่าที่คิด เพราะนับตั้งแต่เริ่มบอกข่าวว่าจะมีการจัดเล่นละครเวที ไปจนถึงช่วงหลังละครจบลง ก็ยังคงมีกระแสตอบรับไปหลากหลาย ทั้งตื่นเต้น สงสัย และเกลียดชัง
ทั้งหมดนี้ ทำให้ before 2475 จะกลับมาอีกครั้งในรอบ re-stage แต่ก่อนที่จะกลับมาให้ทุกคนได้สำรวจอดีตแห่งสยามไปด้วยกันอีกครั้ง The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ เอมอัยย์ พลพิทักษ์ ผู้กำกับ ถึงแรงบันดาลใจ มุมมองที่มีต่อประวัติศาสตร์ ความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง และ ‘ความกล้าหาญ’ ในมุมมองของเธอ
จากนี้ไป คือบทสนทนาของเรากับเอมอัยย์ หลัง ‘before 2475’ จบลงเพียง 1 สัปดาห์
จุดเริ่มต้นของ before 2475 คืออะไร ทำไมอยู่ๆ อยากจะทำเรื่องนี้
เอมชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ชอบเรื่องสังคม การเมือง แล้วก็ชอบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ อย่างเรื่องควีนอลิซาเบธมีสร้างไปกี่ภาค คนแย่งกันทำไปกี่รอบแล้ว เลยคิดว่าประเทศเราก็น่าจะมีอะไรอย่างนั้นบ้างมาตลอด
ประเทศไทยมีเรื่องประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องคนเยอะมากที่น่าทำ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ที่เราเห็นเรื่องเล่าก็มักจะอยู่ในฝั่งอํานาจ ฝั่งเจ้า แต่ฝั่งอื่นก็มีเรื่องที่เข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องนี้ เรารู้จักคณะราษฎรกันอยู่แล้ว เรารู้ว่าเขาทำอะไร แต่ส่วนใหญ่เรารู้จักแต่จอมพล ป. หรือปรีดี ซึ่งเป็นคนที่ดังที่สุด แต่เราสงสัยว่าแล้วสิ่งที่เขาทำมันเริ่มต้นขึ้นได้ยังไง
ตอนมารู้จุดเริ่มต้นอย่างจริงจัง ก็ตอน ม.ปลาย-มหา’ลัยแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันจะเป็นยังไงนะ ถ้ารู้สิ่งนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ถ้ารู้ตั้งแต่ยังเด็กมันจะต้องเปลี่ยนแน่เลย (ผู้เขียน: หมายถึงวิธีการ และมองโลกของเรา) ใช่ เพราะว่ามันคือ ‘group of people in their 20s’ เรารู้สึกว่าคนที่อายุแค่นี้ทำอะไรได้เยอะมาก แต่ปัจจุบันกลับไม่มีเรื่องเล่าอะไรที่บอกว่าคนอายุ 20 กว่าๆ ทำอะไรได้ในสังคมไทยสักเท่าไร เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เด่นที่สุดกับการที่บอกว่าคนอายุ 20 กว่าๆ ทำอะไรได้จริงๆ และเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
ไม่ว่าเราจะมองว่าเขาเป็นกบฏ หรือฮีโร่ มันก็เริ่มขึ้นด้วยผู้ชาย 7 คนที่อายุ 20 กว่าๆ ที่ห้องเล็กๆ ในปารีส ตอนนี้เราอายุ 20 กว่าๆ เราตอนนี้สนุกมากเลยกับการพยายามทำอะไรบางอย่างที่เป็นเป้าหมายของเรากับเพื่อน เขาก็น่าจะสนุกเหมือนกันนะ เพราะมันก็เป็นเป้าหมายในชีวิตของเขาในรูปแบบหนึ่ง เราก็คิดว่าน่าเอามาทำ
“ตอนที่เราอายุใกล้ๆ กับพวกปรีดีเนี่ย เราไม่ได้เปลี่ยนประเทศได้หรอก แต่ว่าอย่างน้อยเราได้เล่าเรื่องของพวกเขา ก็น่าจะสนุกดี”
มีความท้าทายอะไรบ้าง ในการเอาเรื่องประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ก็รู้จักมาทำ
คนมีความคาดหวังหลายแบบ เราจะเห็นจากกระแสตอบรับในช่วงแรกเลย แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าอ่านชื่อละครเต็มหรือเปล่าว่าเป็นชื่อ before 2475 มันคือเรื่องก่อนที่ 2475 ทั้งหมดจะเกิดขึ้น แล้วพอ 2475 เกิดขึ้นเนี่ย มันมีเรื่องเล่ามากมายออกมาจากสิ่งนั้น ไม่ใช่แค่โตเป็นดอกเห็ด แต่โตเป็นทุ่งดอกไม้ของเรื่องเล่า หลังจากนั้นคือตัวละครก็เกลียดกัน ทะเลาะกัน ห่างกัน
พวกเขาเป็นรัฐบุรุษ เรามักจะรู้จักเขาในรูปแบบรูปปั้นหรือภาพขาวดํา และจดจําจุดท้ายสุดในชีวิตเขา เขาทำอะไรให้ประเทศในตอนท้าย แล้วความเห็นของเขาในบั้นปลายชีวิตคืออะไร แต่ before 2475 คือจุดเริ่มต้น จุดที่ยังเป็นแค่เมล็ดพันธุ์อยู่ด้วยซ้ําและยังไม่ได้โตเป็นดอกไม้อะไรเลย หลายความคิดยังไม่หยั่งรากลงไปที่ไหน
เราจึงคิดว่ามันจะท้าทายตรงนั้น ประกอบกับว่าหลักฐานชั้นต้นมีไม่เยอะ แต่การสร้างละครเรื่องนี้ แทบทั้งหมดเราเอามาจากหลักฐานชั้นต้นเยอะมากแล้วนะ
มีหนังสือหรือเอกสารต่างๆ ที่เราเอามาประกอบเยอะมาก เราปรึกษาอาจารย์จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ เราก็พยายามหาหลักฐานชั้นต้นให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะเอามาประกอบกันให้เป็นเรื่องที่จะทำให้รู้จักคนเหล่านี้มากที่สุด
มันไม่ใช่แค่ปรีดี กับจอมพล ป. เท่านั้น เอมรู้สึกว่าเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ มันเกิดขึ้นเพราะคนตัดสินใจว่ามันจะทำอะไรร่วมกัน และปรีดีก็อาจจะไม่ทำสิ่งนี้ก็ได้ถ้าไม่ได้เจอเพื่อนอีก 6 คน หรือคนนี้อาจจะไม่ทำสิ่งนั้นถ้าไม่มีคนนั้น มันเป็นปฏิสารซึ่งกันและกัน แล้ว 7 คนนี้มันมาเจอกัน มันจึงเริ่มสิ่งนี้ ดังนั้น เราต้องเล่าให้เห็นเป็น 7 คนที่เริ่มสิ่งนี้ขึ้นมา และเห็นคาแรกเตอร์เขาอย่างชัดเจน นั่นคือความตั้งใจที่เราจะทำ
เวลาคนทำละครที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มันจะมีคำว่า “ต้องเคารพประวัติศาสตร์” ตามมา คุณมีมุมมองเรื่องนี้ยังไง
เราสร้างขึ้นบนฐานของหลักฐานชั้นต้นอยู่เยอะที่เกี่ยวกับตัวตนของพวกเขา มันไม่ใช่เรื่องจินตนาการล้วนๆ อยู่แล้ว ทุกอย่างมันคือการเก็บเล็กผสมน้อยเอามาบวกกัน อดีตมันก็คืออดีต ไม่มีใครรู้ คนที่บอกว่าเคารพประวัติศาสตร์ก็เขียนบทขึ้นมาใหม่เหมือนกันนะ บทสนทนาทุกอย่างมันต้องถูกเขียนขึ้นมาใหม่
แต่อย่างในเรื่องนี้เราก็พยายามเอาบทสนทนาซึ่งพวกเขาพูดกันจริงๆ ในอนาคตไปใส่ไว้ตอนนั้น อย่างตั้ว (ตั้ว ลพานุกรม) ที่พูดว่า “Do it now, or never” เขาก็พูดจริงๆ หรืออย่างที่จอมพล ป. บอกว่า “…เสร็จแล้วตั้งโต๊ะให้อาจารย์เขียนเอาตามชอบใจ” เขาก็พูดจริง แต่เราเอาไปใส่ตอนนั้นที่ให้เป็นบทสนทนาที่มันเกิดขึ้น
เรารู้สึกว่า อะไรที่มันเป็นคำพูดหรือความคิดที่มันหนักแน่น มันไม่ได้พูดครั้งเดียวหรอก เขาอาจจะคิดสิ่งนี้มานาน อาจจะฝังอยู่ในตัวเขาตั้งแต่ตอนแรกเลยก็ได้
อย่างไรก็ดี เราคิดว่าสำหรับนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ยังไงก็ต้องมีจินตนาการเข้าไปอยู่แล้ว เพราะยังไงมันก็คือเรื่องแต่ง (fiction) แต่เราเคารพประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ไม่งั้นเราไม่ทำเรื่องนี้ เราเคารพในฐานะเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เคารพพวกเขาในฐานะคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ ไม่งั้นก็คงไม่หยิบไม่ทำ
การเคารพของเอมคือการพยายามหาทุกเฉดของคนคนนี้ให้ได้กลมที่สุด ไม่ใช่แค่การมองว่าคนคนนึงต้องดีเลิศ หรือคนนี้จะขาวที่สุด คนนี้จะดำที่สุด นั่นอาจจะเป็นการเคารพประวัติศาสตร์ของคนอื่น แต่นั่นไม่ใช่การเคารพในแบบของเอม
เอมอยากมองพวกเขาในฐานะที่เป็นมนุษย์จริงๆ อย่าง ทัศนัย มิตรภักดี หรือหลวงทัศนัยนิยมศึก เขาตายเร็ว หลังจาก 2475 ปีเดียวเขาก็เสียชีวิต เราเลยต้องพยายามหาว่าตอนเด็กเขาเป็นยังไง พ่อแม่เขาเลี้ยงมายังไง เขาถูกกดดันจากครอบครัวแบบไหน คนแบบนี้เติบโตเป็นคนแบบไหนได้บ้าง เหมือนกับต่อจิ๊กซอว์เรื่อยๆ จนกลายมาเป็นตัวตนเขาที่เล่นในละคร
“ทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่มีทางที่จะขาวสุด ดําสุดอยู่แล้ว มันต้องมีจุดเทาๆ ตรงกลางหรือจุดที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกําลังจะเดินทางไปสู่ด้านสว่างหรือด้านมืด แล้วเราว่าเรื่องนี้มันพยายามเก็บรายละเอียดตรงนั้นมากที่สุด”
อยากให้เล่าถึงกระบวนการสร้างตัวละคร และสร้างเนื้อเรื่องเพิ่มเติมหน่อย
การทำคาแรกเตอร์ เราต้องหาหลักฐานชั้นต้นมาประกอบให้กลายเป็นตัวละคร อย่างคุณตั้วที่เป็นคนก่อตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เขาก็มีหนังสืองานศพที่คนจะพูดถึงว่าเขาเป็นคนยังไง อ่านแล้วเราก็นั่งคิดอีกทีว่าแล้วเขามองตัวเองยังไง ถ้าสมมติมีคนมองเขาอย่างนี้ แสดงว่าเขาแสดงออกความเป็นตัวเองออกมาแบบไหน แล้วลึกๆ ข้างในเขาเป็นคนยังไงอีกที
ตอนทำกับนักแสดง เป็นเรื่องที่ทำงานกับการสร้างตัวละคร เพราะตัวนักแสดงเองก็ต้องอ่านเยอะ คิดเยอะ อย่างตังโก้ (ฐิตินันต์ รัตนฐิตินันต์) ที่รับบท ประยูร (ประยูร ภมรมนตรี) เขาอ่านหนังสือที่ประยูรเขียนว่าเขาเขียนยังไง เขาคิดยังไง คือเราก็พยายามดูจากตัวต้นเรื่องให้ได้มากที่สุด อย่างประยูรเป็นคนเดียวที่พูดเรื่องคณะราษฎรและเขียนหนังสือออกมา 4-5 เล่มอย่างนี้ เราก็มองว่า อันนี้โม้นะเนี่ย แสดงว่าเป็นคนมั่นใจนะเนี่ย เลยคิดว่าเขาน่าจะเป็นคนที่พูดเยอะ แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ สืบหาว่าตัวตนคนนี้เป็นยังไงกันแน่จากสิ่งที่เขาเหลือทิ้งไว้
รวมถึงจากคําให้สัมภาษณ์ในสมัยนั้น อย่างเหตุการณ์ในละครที่มีการทำหมูหวานในหอพัก มันก็เป็นเรื่องจริง จอมพล ป. กับปรีดีเคยทำหมูหวานแล้วกลิ่นเหม็นไปทั้งซอย เรื่องนี้ถูกเล่าไว้โดยจอมพล ป. ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว
เราก็พยายามหาอะไรพวกนี้ที่จะเล่าความเป็นนักเรียนสยามในยุโรปในช่วงเวลานั้น เพราะการไปเรียนต่างประเทศไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ เป็นกลุ่มคนที่เล็กมากๆ ที่มีโอกาสได้ไป แล้วเขาจะรู้สึกยังไง คิดถึงบ้านไหม กลัวคนต่างชาติไหม โดนเหยียดไหม ชีวิตพวกเขาเป็นยังไง มันเป็นจุดที่ความเป็นชาติกําลังก่อร่างสร้างตัว แล้วพวกเขาเริ่มรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากๆ เป็นช่วงที่กําลังหาอัตลักษณ์ความเป็นคนสยาม
เมื่อมันมาเจอกันในที่ที่ไม่มีคนสยามเลย ก็ยิ่งเห็นชัดว่าคนสยามคือเป็นแบบไหน คนสยามต้องการอะไร คนสยามจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร และจะหาหนทางในชีวิตเพื่อที่จะอยู่รอดต่อไปได้ เพราะว่าเรากําลังเป็นคนสยาม 3-4 คนที่เดินในถนนที่มีแต่คนขาว มันเป็นจังหวะชีวิตที่น่าตื่นเต้นและน่าตื่นกลัวในเวลาเดียวกันสําหรับมนุษย์คนนึง
เราเคยเห็นภาพ เหมือนภาพพาสปอร์ตของจอมพล ป. ตอนเด็ก ที่โดนลนไฟ ทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นเด็กคนหนึ่งที่อายุใกล้ๆ เราและกําลังจะไปเรียนเมืองนอก เขารู้สึกยังไงวะ เขาตื่นเต้นแค่ไหน เขากลัวขนาดไหน เขากําลังจะออกจากท่าเรือตรงเจริญกรุงไปแล้วเขาจะไม่กลับมาเหยียบที่นี่อีก เราก็เลยหยิบตรงนั้นมาเล่า
ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องนี้ออกมาในรูปแบบของ coming of age
เรื่องนี้ไม่เคยมีใครเล่า เราก็อยากทำอะไรใหม่ๆ และในทุกงานที่เราทำ เราทำโดยที่ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่ได้หวังว่าจะขายได้แบบคืนทุน เราก็เลยรู้สึกว่า จะต้องทำอะไรที่แปลกที่แตกต่างและเป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ
เรารู้นะว่าคนอาจจะบอกว่า เอาการเมืองออกไปจากตัวละครเหรอ คือถ้ามองพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาอายุแค่ 24-25 ปีเองในตอนนั้น เขาคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ เราเล่าสังคม วัฒนธรรม และตัวตนของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นมากกว่าการเมือง
จึงเลือกเป็นแนว coming of age เพราะว่าอายุเท่านี้เป็นจุดที่เป็น coming of age ของใครหลายๆ คน ความคิดอะไรหลายๆ อย่างมันเพิ่งผุดขึ้นในตัว แล้วมันก็กําลังโตในตัวเอง และเราเนี่ยแหละเป็นคนที่กําลังรดน้ําให้มันโตอยู่
“เป็นช่วงเวลาที่สําคัญ ช่วงเวลาของผลไม้ที่ยังไม่สุกงอม”
มันเลยน่าสนใจมากๆ และเราก็อยู่ในห้วงวัยนั้น เราก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะถ่ายทอดเรื่องนี้ออกมาได้ดี เพราะเราก็น่าจะมีการฝ่าฟันอะไรบางอย่างในแบบที่คล้ายกับเขา
คนคนหนึ่งไม่ได้เกิดมาแล้วอยากเปลี่ยนประเทศเลย แต่มันเป็นความคิดที่ต้องค่อยๆ เกิดขึ้น แล้วมันก็ต้องได้รับอะไรสะท้อนจากคนอื่น ก่อนที่มันจะถูกสร้างออกมาจริงๆ
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเรื่องนี้มันดูออกมา ‘วาย’ เหลือเกิน อาจจะด้วยความโรแมนติกของปารีส หรือความหน้าตาดีของนักแสดงก็แล้วแต่ คุณตั้งใจหรือเปล่า?
เราไม่ได้เขียนให้กะเป็นวายเลย มันไปเอง ในเรื่องของความหน้าตาดี เราแค่พยายามหานักแสดงมืออาชีพมาเล่น แล้วสำหรับนักแสดงมืออาชีพในประเทศไทยตอนนี้ ที่มีวัยใกล้เคียงกับตัวละครก็มักจะเป็นหนุ่มน้อยหน้าตาดี ตอนแรกเราก็พยายามจะหาคนที่ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับตัวละคร หาหนุ่มหน้าไทย แต่มันหายาก
แล้วโดยเฉพาะคนไทยเองในปีสองปีมานี้ มันมีแว่นของการเห็นผู้ชาย 2 คนอยู่ด้วยกันแล้วกลายเป็นตำรวจจับวาย แต่สุดท้ายแล้วจะมองยังไงก็ได้ เพราะเรารู้สึกว่าเราเขียนเรื่องนี้ด้วยแบบการ์ตูนมิตรภาพอะ แนวโชเน็น (ผู้เขียน: ก็เพราะมันโชเน็นนี่แหละ มันเลยดูวายมาก) เออ มันก็เลยดูวายยิ่งกว่าเดิม
แต่เราคิดว่า ด้วยมิตรภาพของพวกเขามันแข็งแรงและสําคัญ เพราะเอมมองมันด้วยแว่นนั้น เมื่ออ่านแบบบทสัมภาษณ์หรืออะไรก็ตามที่เขาพูดถึงช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ปารีส เขาดูมองย้อนกลับไปด้วยความรัก ด้วยความคิดถึง มีคนที่เขียนบันทึกว่าได้คุยกับจอมพล ป. แล้วเขาก็เล่าเรื่องชีวิตที่ปารีสให้ฟังด้วยแววตาที่มีความสุขมาก หรือปรีดีก็ยังพูดถึงช่วงเวลาในปารีสอย่างมีความสุข
“เราว่ามันเป็นช่วงเวลาที่หอมหวาน มันเป็นวัยเยาว์อันรุ่งโรจน์ของพวกเขาอะ เป็นช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปไม่ได้อีกแล้ว”
เพราะหลังจากนั้นมันวุ่นวาย เหมือนมันเป็นเวลาในขวดแก้วของพวกเขา แล้วพวกเขามองกลับไปหามันด้วยความสุขกับ มันจึงเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ลึกซึ้งและสนิทกัน และเราเชื่อว่ามิตรภาพมันไม่ได้เล็กไปกว่าความรัก
ถ้าคนเราไม่สนิทกัน เราจะไม่กล้าทำอะไรให้เขารู้ บางทีเราแอบชอบผู้ชายคนไหนสักคนหนึ่ง เราอาจจะไม่บอกเพื่อนที่ไม่สนิทใจด้วยซ้ํา แต่นี่มันไม่ใช่เรื่องแอบชอบ แต่เป็นการแอบอยากเปลี่ยนประเทศ แอบอยากเปลี่ยนระบบการปกครอง มิตรภาพมันต้องแข็งแรงมาก
ไม่ใช่แค่คู่ของปรีดีกับจอมพล ป. แต่การมาเจอกันของทั้ง 7 คนนี้มันมีความพิเศษและไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มีบางสิ่งทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อใจกันมากพอที่จะทำสิ่งนี้
ณ เวลาสังคมตอนนั้น มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก ทุกๆ คนต่างรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น แต่ใครจะเป็นคนจับกระแสสายลมนั้นทัน แล้วคนพวกนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้ แต่ก็คงต้องมีรากฐานความสัมพันธ์ระดับหนึ่งถึงกล้าที่จะรวมตัวกัน
จอมพล ป. กับปรีดี เวลาผ่านไป 40-50 ปีผ่านไป เขายังจําช่วงเวลาเหล่านั้นได้แล้วยังระลึกถึง ก่อนจะตายยังเขียนจดหมายขอโทษ ทำให้เราเห็นว่า จุดเริ่มต้นของมิตรภาพนี้มันต้องแข็งแรงขนาดไหน ในเวลานั้นประเทศเรามันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มันอาจจะมีความโลภ ความแค้น ความเข้าใจผิด ความโกรธ แต่อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น มันเกิดขึ้นหลังจากความฝันที่พวกเขามีร่วมกันในตอนแรกเมื่อพวกเขาเพิ่งเริ่มรู้จักกัน นั่นแหละที่สำคัญ
มันอาจจะเป็นความรักก็ได้ แต่ความรักระหว่างเพื่อน สําหรับเอม มันยิ่งใหญ่มากพอกับความรักเชิงชู้สาว ไม่ได้ต่างกันเลย
จะมีผลตอบรับบางส่วนที่บอกว่า ทำไมละครมันดู ‘หวาน’ จังเลย คือมีความสนุกสนาน วัยรุ่นโชเน็นสุดๆ นึกว่าจะพูดเรื่องการเมืองเยอะกว่านี้ หรือหลายคนมองว่าเรื่องนี้ถึงขั้น ‘บิดเบือน’ เราคิดเห็นยังไง เรารู้สึกยังไงบ้าง
เอมมักจะทำงานความคิดว่า เมื่อละครจบแล้ว มันอยู่ในมือคนดูแล้ว เราไม่สามารถไปดึงเขามาบอก “ไม่นะพี่ มันเป็นอย่างนี้ๆๆ” เราจะไม่ทำสิ่งนั้นอยู่แล้ว มันกลายเป็นของคนดู แต่เอมว่าเราก็โปรยมาให้ตั้งแต่แรกแล้วนะ ว่าเรื่องนี้มันไม่ได้มาแบบการเมืองเผ็ดแซ่บ แต่ทุกคนก็มีความคาดหวังในรูปแบบนึงเหมือนกัน
เราได้คุยกับคนที่มาดู แล้วเป็นคนที่ตอนแรกเราคิดว่าเขาจะด่า อย่าง อ.นริศ จรัสจรรยาวงศ์ หรือหลานจอมพล ป. ทุกคนก็ประทับใจ แต่น่าจะเพราะเราก็บอกอยู่แล้วว่าเราต้องการที่จะทำมันด้วยเป้าประสงค์อะไร แล้วอดีตก็คืออดีต เราไม่รู้ว่าจริงๆ เขาคิดอะไร เขาทำอะไรอยู่
เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าเราบิดเบือนอะไร เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ําว่าความจริงคืออะไร เราจะบิดไปจากไหน มันไม่มีอะไรให้บิด
เอมแต่งขึ้นมาน้อยมาก แม้แต่เรื่องทำหมูหวานยังมีอยู่จริง สิ่งแรกที่ทำคือเราเอาของจริงมาเรียงกันให้หมด แล้วสิ่งที่เป็นจินตนาการคือการเชื่อมของจริงเข้าด้วยกัน มันไม่ได้มีความคิดว่า ฉันจะต้องมีซีนนี้ให้ได้ แต่เราเอากระดาษโน้ตเล่าเรื่องจริงมาเรียงกันเต็มโต๊ะ แล้วก็คิดว่ามันต้องเชื่อมอะไรเพื่อให้ของจริงพวกนี้เกิดขึ้น คําพูดจริงพวกนี้เกิดขึ้น เหตุการณ์จริงพวกนี้เกิดขึ้น ความคิดจริงพวกนี้เกิดขึ้น นำมาคิดว่ามันจะต้องขึ้นยานยนต์แบบไหนเพื่อที่จะถูกวิ่งให้ไปต่อได้
และถ้าถามว่าเราทำให้มันดูสวยงาม (romanticize) มากไปหรือเปล่า นั่นเป็นความตั้งใจที่เราอยากจะเล่าช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของพวกเขา เป็นช่วงวัยที่หอมหวานที่สุดที่เอากลับมาไม่ได้ ที่ตัวพวกเขาตอนแก่ก็ไม่เข้าใจตอนนั้นแล้ว
แต่การที่เขาไม่ลืมนี่สิ มันเลยสำคัญ เรายังไม่ได้แก่มากขนาดนั้น ตอนนี้เรายังคิดกลับไปสมัยมหา’ลัย เรายังรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่หอมหวานมากเลยเลยอะ แล้วสําหรับพวกเขาที่ชีวิตแม่งโคตรวุ่นวายหลังจากนั้น การที่ตอนวัยรุ่นคิดอยากจะทำอะไรให้ประเทศดีขึ้น มันบริสุทธิ์ที่สุดเลย นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะดึงออกมาจากตัวคนพวกนี้ ว่าจุดที่มันบริสุทธิ์ที่สุดของพวกเขามันเป็นยังไง
จะว่า romanticize ก็คง romanticize นะคะ เพราะเรารู้สึกว่ามันคือช่วงเวลาที่โรแมนติกจริงๆ
“เราอยากจะนําเสนอในแง่ของความหวัง ความฝัน เพราะประเทศทุกวันนี้วุ่นวายจะตาย”
คือเอมว่าเพราะเราเองซึ่งเป็นคนยุคปัจจุบันนี้ เราอยู่คนละยุคกับเขา ยุคนั้นการเมืองเพิ่งถูกก่อร่างสร้างตัว เขารู้สึกอยู่ใกล้การเมืองมาก จนเขารู้สึกว่าเขาเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ฉากแรกของละคร เราก็เปิดให้เห็นเลยว่าเป็นยุคที่กษัตริย์ขึ้นครองราชย์ตอนอายุ 29 ปี และในสมัยนั้นมีทูตอายุ 25 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนยุคเราไม่เคยเห็น ดังนั้นเอมว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในยุคเรา ที่ดูแล้วคิดว่า “บ้าเปล่าเนี่ย” เพราะเราไม่เคยเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง คนที่จะทำอะไรได้ในยุคเราตอนนี้ต้องอายุ 60-70 ปี
เราเลยอยากเอาเรื่องตรงนั้นที่มันดูแสน surreal และแฟนตาซีจังเลยนั้นเนี่ย มาเล่าให้ฟังว่า มันเคยมีนะ ยุคที่คนอายุ 20 กว่าๆ รู้สึกว่าเขาทำอะไรก็ได้ แล้วเขาจะเปลี่ยนได้จริงๆ ดังนั้นจะบอกว่า romanticize ก็ได้ เพราะว่าทุกวันนี้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องหอมหวานจริงๆ
คิดว่าถ้าทั้ง 7 คนนั้นได้มานั่งดู before 2475 เขาจะรู้สึกยังไง
เขาคงคิดว่า “นี่กูถูกมองแบบนี้หรอ” อย่างประยูรอาจจะคิดว่า “โห กูไม่คิดว่ากูจะเท่แบบนี้” จากการที่เขาเขียนหนังสือไว้เสียเท่มาตั้ง 4 เล่ม แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นคนที่แอบขี้โม้และพูดมากอะ เราก็รู้สึกว่า เขาคงคิดอ๋อ ว่านี่เป็นอีกภาพหนึ่ง เป็นอีกกระจกหนึ่งที่สะท้อนตัวเขา ว่าคนในอนาคตมองพวกเขาอย่างไร
ก่อนจะแสดง เรากับนักแสดงก็พากันไปไหว้อัฐิของทั้ง 7 คน ซึ่งอยู่ที่เดียวกันหมดเลย ที่วัดประชาธิปไตยตรงหลัก 4 เป็นวัดที่พวกเขาตั้งขึ้นมาเอง อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกยุบไปทำสถานีรถไฟ
วัดนั้นก็มีอัฐิของรัฐบุรุษเป็นร้อยคน รวมถึง 7 คนนี้ ที่ถูกจดจำว่าเป็นส่วนสําคัญของวันนี้ที่เกิดขึ้น ตอนนั้นเราก็คิดนะว่าพวกเขาจะรู้สึกยังไง อย่างอัฐิของ จอมพล ป. หรืออาจารย์ปรีดี จะมีที่แขวนพวงมาลัย เพราะคนอาจจะมาไหว้บ่อย แต่อย่างของคุณตั้ว คุณจรูญ คนคงแทบจะไม่ไปไหว้เขาเลย (ผู้เขียน: ก็ไม่รู้จัก) ใช่ ก็จริง เพราะตอนแรกๆ เลยที่ไม่รู้เรื่องพวกนี้ เอมก็ไม่รู้จักชื่อคนเหล่านั้นจริงๆ พวกเขาหายไปเลยจากหน้าประวัติศาสตร์
เอมเลยรู้สึกว่า การที่เราได้พูดถึงเขาอีกครั้งก็ดีแล้วค่ะ ก็สนุกแล้ว
ถ้าคุณมีโอกาสได้ทำ after 2475 มันจะออกมาเป็นแบบไหน เคยคิดไว้บ้างไหม
คิดไว้เยอะเลย เอมเป็นพวกคิดอะไรออกก็เขียน ดองไว้เยอะมาก มียัน after 2475 ตอนศึกษาเรื่องนี้ เอมเขียนไทม์ไลน์ 2ไทม์ไลน์ซ้อนกัน ว่าตอนเริ่มเรื่องกับตอนหลังจากกลับมามันเกิดอะไรขึ้น ยันพวกเขาตาย
ถ้าสมมติว่าทำ after 2475 เรามองว่ามันคงจะอยู่ในรูปแบบที่ว่า พวกเขาโตไปกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวเองเคยเกลียดหรือเปล่า ตอนเด็กคิดยังไง แล้วตอนแก่ผิดคําพูดตัวเองไปแบบไหน เอมว่ามันจะเป็นกระจกที่สะท้อนกันตลอดเวลาระหว่างการเป็นเด็กกับการเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง แล้วสุดท้ายเขาทำได้จริงหรือเปล่า และอะไรบ้างที่เกิดขึ้นไม่ได้จริง แป๊บเดียวก็โดนไล่ออกนอกประเทศ แป๊บเดียวก็อยู่ในสงครามโลก
และสิ่งที่เอมชอบมาก และถ้าจะทำ after 2475 จะต้องมีสิ่งนี้ คือในท้ายที่สุดแล้ว จอมพล ป. ตอนที่ถูกเนรเทศไปอยู่ญี่ปุ่น ก็ไปอยู่บ้านหมายเลข 9 ในชินจูกุ ทุกอย่างในชีวิตเขาวนกลับมาที่เดิม เหมือนกับตอนครั้งแรกที่เขาประชุมกับเพื่อนที่อพาร์ทเมนต์หมายเลข 9 ในปารีส
มันคงยิ่งใหญ่สําหรับตัวละครนั้นมาก ที่แม้ว่าชีวิตจะวนผ่านไปกี่อย่าง แต่สุดท้ายกลับมาอยู่ที่เดิมตรงที่ว่าเมื่อก่อนเขาเคยเป็นใคร เขาก็คงนึกถึงว่าแล้วเมื่อก่อนเขาเคยเป็นใคร อาจจินตนาการไม่ออกแล้วถึงแปลกในตอนอายุ 27 ปี
ดังนั้น มันคงเป็นเรื่องที่ว่าคนพวกนี้เติบโตไปเป็นแบบไหน เขาเป็นคนในแบบที่เขาฝันไว้หรือเปล่า อะไรที่มันไม่มีทางเป็นได้จริงเลยแล้วเขายังคงจินตนาการถึงอยู่
จากกระแสตอบรับมากมาย จนในที่สุดก็ตัดสินใจ re-stage แล้ว อยากให้เล่าถึงการ re-stage ในครั้งนี้หน่อย
หลังจากเสียงตอบรับที่ทั้งดีและไม่ดี แต่คนก็ดูตื่นเต้นอยากดู มีคนที่พลาดไปเยอะเพราะเล่นแค่ 2 สัปดาห์ แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ก็น่าดู และน่าทำ และยังคงสะท้อนเรื่องราวในยุคสมัยนี้อยู่
เราจึงจะจัด re-stage ที่ River City Bangkok ที่ดาดฟ้า วันที่ 8-24 พฤศจิกายน 2567 ในบรรยากาศลมเย็นๆ จิบเบียร์ ดูละคร บนดาดฟ้า
เชิญมาดูบทสนทนาของคนที่ไม่อาจจินตนาการออกว่าสยามในอนาคตจะเป็นยังไง ด้วย backdrop ของกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ หวังว่าทุกคนจะได้คําถามหรือคําตอบกลับไปว่า แล้วเมืองทุกวันนี้ ประเทศของเราทุกวันนี้ เป็นในสิ่งที่คนเมื่อ 90 กว่าปีที่แล้วใฝ่ฝันไว้ไหม และเรามองเห็นประเทศเราเป็นแบบไหน ทั้งผ่านสายตาและบทสนทนาของคนยุคเก่า และผ่านตัวของคุณเองในที่เป็นคนยุคสมัยนี้ค่ะ
เราจะทำเป็นโปรดักชันที่รอบด้านมากขึ้น มีดนตรีสด โดยใช้นักแสดงเซ็ตเดิม มีการเปลี่ยนแปลงบนบ้างในบางฉาก โดยจะมีการเล่นแค่รอบพระอาทิตย์ตกดินเท่านั้น
ก่อนมาดู ไม่จำเป็นต้องหาความรู้ ถ้าคุณไม่รู้อะไรเลย คุณมาดูคุณก็จะรู้อะไรมากขึ้นและเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าคุณมีความรู้มาก่อนหน้า คุณรู้ว่าหลังจากนั้นคนเหล่านั้นจะเป็นยังไงต่อ คุณสนุกขึ้นแน่นอน แล้วเรามั่นใจว่าคุณจะอินขึ้นหลายเท่า ดังนั้นก็ขอแค่ให้มาดู จะรู้แค่ศูนย์ หรือรู้ร้อย ก็น่าสนใจทั้งนั้นค่ะ
ติดตามรายละเอียด before 2475 Restage และจองบัตรได้ทาง https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/before2475