ความใคร่ทราบใคร่ศึกษาของผมค่อยๆ ผุดพรายเรื่อยมานับแต่ได้เริ่มต้นรู้จักนาม ปรีดี พนมยงค์ ครั้งแรกสุดผ่านการอ่านหนังสือการ์ตูนชุดบุคคลสำคัญของโลกชุดที่ 1 ลำดับที่ 8 ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้นำความคิดทางการเมือง จัดพิมพ์โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ตอนนั้น น่าจะเป็นช่วงใกล้ๆ วาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของปรีดีในปีพุทธศักราช 2543 พร้อมทั้งเขาได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผมเองกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อนคนหนึ่งนำหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ่านเล่นในห้องเรียน ผมจึงขอยืมอ่านด้วย
จวบจนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีพุทธศักราช 2551 ยามว่างก็หมั่นเพียรค้นคว้าข้อมูลนานาของปรีดีเสมอๆ ตั้งใจจะเขียนบทความในวาระครบรอบ 110 ปีชาตกาลของบุคคลผู้นี้ในปีพุทธศักราช 2553 หากกว่าจะได้เขียนเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง กาลเวลาก็ปลิดปลิวล่วงเลยถึง 10 ปีทีเดียว
พุทธศักราช 2563 ในวาระครบรอบ 120 ปีชาตกาลของปรีดี (11 พฤษภาคม) และครบรอบ 100 ปีที่เขาได้เดินทางไปเรียนวิชากฎหมายในประเทศฝรั่งเศส ผมปรารถนาเกาะกุมโอกาสนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับเขา โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงเท่าไหร่ นั่นคือเรื่องราวการเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเป็นนักเรียนกฎหมายของปรีดี ซึ่งผมค่อยๆ แกะรอยเนิ่นนานหลายปี กระทั่งเมื่อ 5-6 ปีก่อนได้ประจักษ์ตัวอักษรในสมุดบันทึกของปรีดี หน้าปกสมุดบันทึกเป็นภาษาจีน มีข้อความเป็นลายมือว่า หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐
ย้อนไปในปีพุทธศักราช 2463 ปรีดี พนมยงค์ คนหนุ่มวัยยี่สิบและเนติบัณฑิตสยามหมาดๆ ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส แน่ละ จากเมืองไทย เขาเดินทางโดยสารเรือกลไฟรอนแรมกลางท้องทะเล
ประมาณวันที่ 11-12 สิงหาคม เรือกัวลาหรือโกลา (Gola) ถอนสมอออกจากท่าเรือบีไอ (British-India) ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถววัดพระยาไกร ค่อยๆ แล่นลำเคลื่อนห่างฝูงคนที่พากันมาส่งจนเลือนหายลับตา มุ่งหน้าสู่เกาะสิงคโปร์ที่ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปรีดีคือหนึ่งในผู้โดยสาร
กัวลาหรือโกลาเป็นยานนาวาที่ชาวไทยผู้เดินทางไปสิงคโปร์หรือไปต่อเรือที่นั่นในช่วงทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 ย่อมคุ้นเคยกันดี
สำหรับปรีดี ใช่เพียงจะได้โดยสารเรือกัวลาตอนเป็นนักเรียนทุน
เดินทางไปฝรั่งเศสเมื่อพุทธศักราช 2463 เท่านั้น
เดือนเมษายน พุทธศักราช 2476 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ผลจากการเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติจนถูกประณามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้เขากับ พูนศุข ภรรยาต้องระหกระเหินออกนอกประเทศไปอยู่ฝรั่งเศส ทั้งสองก็โดยสารเรือกัวลาไปสิงคโปร์ ก่อนจะโดยสารเรือเดินสมุทรสัญชาติญี่ปุ่นชื่อฮากุซัน มารุ (Hakusan Maru) ต่อไปทวีปยุโรป
อีกหนึ่งชาวไทยที่เคยโดยสารเรือกัวลาในทศวรรษ 2460 คือหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ยอดนักประพันธ์แห่งบรรณพิภพ ซึ่งอาศัยตัวละครวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยาผ่านผลงาน ละครแห่งชีวิต ถ่ายทอดห้วงรู้สึกขณะอยู่บนเรือกัวลาตอนเดินทางไปสิงคโปร์และต่อเรืออังเดร เลอบลองก์ (André LeBlanc) เพื่อไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ความว่า
“เวลานั้น-เวลาที่เรือ “กัวลา” กำลังแล่นอยู่เรื่อยๆในอ่าวสยามมุ่งตรงไปยังปีนังและสิงคโปร์ – – และขณะที่ข้าพเจ้านอนบนเก้าอี้หวาย บนดาดฟ้าเรือซึ่งพระพายพัดอยู่เฉื่อยๆ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ข้าพเจ้าสามารถคิดถึงโชคลาภและความเป็นอยู่ที่ได้ล่วงมาแล้วด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ปราศจากความเคียดแค้นใดๆ…”
เรือกัวลายังเคยลากพ่วงเรือกลไฟลำหนึ่งกลางท้องทะเลอ่าวไทย แต่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ด้านท้ายของเรือ ต้องหาทางดับไฟพัลวัน
วกกลับมาที่การโดยสารเรือกัวลาของปรีดี พนมยงค์เมื่อครั้งเป็นนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรม เขาบันทึกว่า “กัวลาถึงสันดอนค่ำ รุ่งเช้าถูกพายุคลื่นแรง เมาคลื่น ครู เล.ช่วยพยาบาล อีกประมาณ ๔ วัน ถึงสิงค.”
เมาคลื่นจากการโคลงของเรือเป็นประสบการณ์ที่ชาวสยามผู้เดินทางไปเมืองนอกทางทะเลมิแคล้วเผชิญ ลักษณะเรือโคลงตามคลื่นทะเลที่ชวนให้เมามีอยู่ 2 แบบได้แก่ rolling คือเรือโคลงไปมาจากกราบเรือซ้ายไปขวา และ pitching คือพอเจอคลื่นลูกใหญ่ เรือตั้งลำให้แล่นได้ฉากกับคลื่น แล่นไต่จากจุดต่ำสุดไปถึงที่สูงสุดแล้วก็แล่นดิ่งลงมาถึงจุดต่ำสุด สลับกันไป ผู้โดยสารบนเรือที่ทนไม่ไหวพลันอาเจียนอ้วกอ้ากออกมา
ปรีดีโดนอาการเมาคลื่นเล่นงานไม่บันเบา
‘ครูเล.’ หรืออาจารย์เลเดแกร์ (E.Ladeker) ชาวฝรั่งเศส ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศกระทรวงยุติธรรม และผู้แนะนำสนับสนุนให้ทางกระทรวงคัดเลือกนายปรีดีให้มาเรียนฝรั่งเศส ได้เข้าช่วยเหลือเยียวยานักเรียนหนุ่ม
วิธีแก้เมาเรือที่นิยมใช้กันยุคนั้นก็คือ ให้ผู้เมาคลื่นรับประทาน ‘pomme’ หรือแอปเปิ้ล จะบรรเทาอาการลงได้
ล่องจากกรุงเทพฯ ประมาณ 4 วัน ครั้นเรือกัวลาเทียบท่าสิงคโปร์ ปรีดีเล่าต่อว่า “คอยสิงค. ๑๕ วัน จึงซื้อตั๋ว Amazone” และเหตุที่รอเกิน 2 สัปดาห์กว่าจะได้ออกเดินทางสู่ทวีปยุโรปไปกับเรือเดินสมุทรชื่อ ‘Amazone’ ของบริษัท Messageries Maritimes ก็ “เนื่องจากปลายสงคราม คนอยากกลับบ้าน หาเรือยาก” ซึ่งสงครามที่ว่าก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 1
ใครสนใจประวัติศาสตร์เรืออาจขมวดคิ้วสงสัย ไฉนเรือ Amazone จึงมารับส่งผู้โดยสารจากเอเชียไปยุโรปหรือแล่นทางฝั่งตะวันออกไกล (Far East) ปกติการตั้งชื่อเรือจะสอดคล้องกับเส้นทางที่ล่อง เรือชื่อ Amazone น่าจะตระเวนท้องทะเลแถบๆ ภูมิภาคอเมริกาใต้ หากลองสืบค้นดูพลันบรรลุบางอ้อ เรือลำนี้ขึ้นระวางปีคริสต์ศักราช 1896 ชื่อเดิมว่า Le Laos รับส่งผู้โดยสารท้องทะเลแถบๆ ตะวันออกไกล แต่ในปีคริสต์ศักราช 1903 เปลี่ยนไปแล่นสายอเมริกาใต้ รับส่งผู้โดยสารไปมาระหว่างเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ของฝรั่งเศส กับเมืองลาปลาตา (La Plata) ของอาร์เจนตินา และเปลี่ยนชื่อเรือใหม่เป็น Amazone จนปีคริสต์ศักราช 1912 สายอเมริกาใต้ถูกยกเลิก ก็มาเดินสายตะวันออกไกลดังเดิม เริ่มแล่นจากไฮฟอง ไซ่ง่อนของเวียดนาม และแวะเทียบท่าสิงคโปร์ แล้วบ่ายหน้าสู่ปลายทางที่มาร์กเซย(Marseille) ของฝรั่งเศส คริสต์ศักราช 1921 เกิดการก่อกบฏจราจลบนเรือจนต้องให้ตำรวจอังกฤษที่เมืองโคลอมโบของศรีลังกาเข้ามาระงับความวุ่นวาย และปลดระวางในปีคริสต์ศักราช 1932
เรือ Amazone ถอนสมอออกจากท่าเรือสิงคโปร์สิ้นเดือนสิงหาคม (ประมาณวันที่ 31 สิงหาคม) พุทธศักราช 2463 (คริสต์ศักราช 1920) นายปรีดีแจงว่า “อัตราไปชั้น ๑ ทุนหลวง ครูเล.กับเมียชั้น ๒ เงินส่วนตัว จึงแยกกันกินกันอยู่ แต่ไปเยี่ยมเยือนระหว่างกันได้”
สถานภาพนักเรียนทุนหลวงของรัฐบาลสยามทำให้เนติบัณฑิตหนุ่มได้ตั๋วผู้โดยสารชั้นหนึ่ง อาจารย์เลเดแกร์กับภรรยาออกค่าใช้จ่ายเอง ได้เป็นผู้โดยสารชั้นสอง พิจารณาแปลนเรือ Amazone พบว่า ผู้โดยสารชั้นหนึ่งถูกจัดให้อยู่บริเวณกลางเรือ อันเป็นจุดที่นิ่งที่สุด ส่วนผู้โดยสารชั้นสองถูกจัดให้อยู่บริเวณท้ายเรือ อาจสั่นกระเทือนเนื่องจากใกล้ใบพัด ยังมีผู้โดยสารชั้นสามที่ถูกจัดให้อยู่ชั้นล่างใกล้ๆห้องเครื่อง ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงช่องอากาศที่ทำเป็นรูกลมๆข้างเรือ (porthole)
ปรีดีสัมผัสบรรยากาศความหรูหราที่ตกแต่งภายในแบบสถาปัตยกรรมโบซาร์ (Beaux-Arts architecture) ณ บริเวณของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง แต่เขาก็ได้เห็นการแบ่งชนชั้นแบ่งเชื้อชาติบนเรือ Amazone ดังในบันทึกที่ว่า “คนโดยสารส่วนมาก นายทหารและพนักงานอาณานิคม…” และ “ดูเหมือนคนโดยสารเวียดนาม ในชั้น ๑ มีน.ร.เวียดนาม ต้องเจียมตัวอยู่ระหว่างพวก” ชาวฝรั่งเศสก็มีจำนวนสูสีกัน วันแรกบนเรือมีการกีดกันผู้โดยสาร ปรีดีต้องไปกินอาหารร่วมกับเด็กนักเรียนเวียดนาม เพราะพวกฝรั่งเศสมองเขาเป็นชาวเวียดนามและแสดงท่าทางหยาบหยาม เนติบัณฑิตหนุ่มชาวสยามเผยความในใจ “คงคิดว่าเป็น ว.น. เขาก็คงรังเกียจ” แต่ก็ “…ทำให้คุ้นเคย ว.น. ดีขึ้น เมื่อถึง ฝ. ก็ยังเปนเพื่อนเราคนที่เปนสื่อให้รู้จัก ว.น. ที่รักชาติคนอื่นๆ ต่อไป” (ต่อมาเมื่อปรีดีเป็นนักเรียนกฎหมายในฝรั่งเศสแล้ว เขามีมิตรสหายเป็นนักปฏิวัติชาวเวียดนามหลายราย) อย่างไรก็ดี “วันหลังๆ ฝ.รู้ว่าเปนไทย ดีขึ้นมาสนทนา บางคนก็ว่าเคยมาไทย ภาพประทับใจรู้สึกเพิ่มความรักชาติ เอกราช สงสารเวียดนาม”
เรือเดินสมุทร Amazone ล่องอยู่ในทะเลราว 25 วันก็ถึงจุดหมายชายฝั่งฝรั่งเศสที่มาร์กเซย (Marseille) ระหว่างทางได้แวะเมืองท่าต่างๆ เช่น โคลอมโบ (Colombo) เมืองหลวงของศรีลังกา, จีบูตี (Djibouti)ในทวีปแอฟริกา, คลองสุเอซ (Suez Canal) และพอร์ต ซาอิด (Port Said) ในอียิปต์ ปรีดีเขียนว่า “แวะโกลัมโบ, จีบูตี (Djibouti) ผ่านคลองสุเอซ แวะปอร์ตซาอิ๋ด แล้วมาเซยย์ ใช้เวลาประมาณ ๒๕ วันจากสิงค.”
เรือแล่นผ่านคลองสุเอซ พอแลเห็นภูมิทัศน์คลองขุดระดับโลก ปรีดีพูดคุยกับอาจารย์เลเดแกร์ถึงเรื่องการขุดคอคอดกระในเมืองไทย ปรากฏถ้อยความในบันทึกที่เขานำมาเปิดเผยต่อนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อปีพุทธศักราช 2501
“…เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะที่เรือลำซึ่งข้าพเจ้าโดยสารเพื่อไปยังประเทศฝรั่งเศสได้แล่นผ่านคลองสุเอซนั้น ข้าพเจ้าได้ถามอาจารย์เลเดแกร์ (ชาวฝรั่งเศสที่เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายและอาจารย์โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม) ซึ่งเดินทางไปด้วยถึงเรื่องราวของคลองสุเอซ เมื่ออาจารย์ได้เล่าให้ฟังพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ระลึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ว่ารัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ดำริห์ที่จะขุดคลองที่คอคอดกระ แต่มีอุปสรรคเนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าจึงได้ถามอาจารย์ผู้นั้นว่า ถ้าประเทศสยามจะฟื้นความคิดขุดคลองคอคอดกระขึ้นมาอีก ต่างประเทศจะว่าอย่างไร? อาจารย์ตอบว่าสำหรับฝรั่งเศสไม่มีปัญหา คือถ้าขุดได้ก็เป็นการดี เพราะจะทำให้คมนาคมระหว่างฝรั่งเศสกับอินโดจีนทางทะเลสั้นเข้าอีก อาจารย์ได้เล่าให้ฟังถึงการที่ชาวต่างประเทศเคยเสนอโครงการต่อรัชกาลที่ ๕ เพื่อขอขุดคลองที่กล่าวนี้ ท่านแนะว่า ถ้าข้าพเจ้าสนใจที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในฝรั่งเศส ก็ควรค้นคว้าศึกษาถึงเรื่องคลองนั้น และเทียบเคียงดูกับเรื่องคลองสุเอซ คลองปานามา คลองคีลของเยอรมัน คลองโครินธ์ของกรีก..”
ปรีดีตระหนักและหวนคำนึงคำแนะนำของอาจารย์เลเดแกร์มิวาย
ช่วงพำนักในฝรั่งเศส เขาขะมักเขม้นทบทวนเรื่องการขุดคลองต่างๆ
ครั้นมีโอกาสทำงานรับใช้ประเทศชาติ มีบทบาททางการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ปรีดีได้เสนอโครงการขุดคอคอดกระ แต่ท้ายสุดก็มิอาจดำเนินการสำเร็จ เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและความมั่นคง
ปรีดีเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสวันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2463 ก้าวขึ้นฝั่งที่มาร์กเซยย์ เมืองท่าทางใต้ พักที่นั่น 1 วัน ก่อนจะไปปารีสเพื่อรายงานตัวกับท่านเอกอัครราชทูต อยู่กรุงปารีส 15 วัน เพื่อตระเตรียมเรื่องการเรียน จากนั้นเดินทางสู่เมืองก็อง จังหวัดกาลวาโดส แคว้นนอร์มังดี ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เข้าศึกษาวิชาความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัยก็อง (Lycée de Caen) และสอบเข้าศึกษาวิชากฎหมายระดับเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยก็อง (Université de Caen) พอถึงเมืองก็อง ศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ (Prof.Lebonnois) ผู้ที่จะเป็นอาจารย์คอยดูแลเขาได้นำรถม้ามารับตัวไปพักที่บ้าน ยุคนั้น ทั้งเมืองยังไม่มีรถยนต์แท็กซี่โดยสาร ปรีดีอธิบายว่า
“พักมาเซยย์ ๑ วัน ถึงปารีสเกือบ ๒ ยาม รุ่งขึ้น ม.เล พาไปรายงานอัครทูต พัก ๑๕ วันรอเสื้อผ้า, จัดหาที่เรียน แล้วไป Caen Calvados Normandie Prof. Lebonnois เอารถม้ามารับรอง ขณะนั้น เมืองนั้นยังไม่มีรถยนตร์แทกซี พาไปพักที่บ้านท่าน”
ปรีดีเคยให้สัมภาษณ์แก่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในปีพุทธศักราช 2525 เรื่องการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส
“…เมื่อผมได้ทุนรัฐบาลไปศึกษากฎหมายในฝรั่งเศสนั้น แม้ผมเป็นเนติบัณฑิตสยามแล้ว แต่ผมมีอายุเพียง ๒๐ ปี อาจารย์ของผมจึงแนะนำให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นต้น เหมือนนักเรียนฝรั่งเศสตามหลักสูตรคณะ…”
นายปรีดียังได้ร่ำเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อยอดจากที่เคยเรียนกับอาจารย์เลเดแกร์ ในเมืองไทยสมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย รวมถึงศึกษาพิเศษจากศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ เลขาธิการสถาบันครุศาสตร์ระหว่างประเทศ
เดือน บุนนาค ซึ่งเดินทางมาเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศสหลังปรีดีหลายปีได้พาดพิงว่า “ท่านปรีดีมีความเฉลียวฉลาด สติปัญญาดี เรียนทั้งภาษาฝรั่งเศส ลาติน อังกฤษ ไม่ถึงปีก็สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมืองก็อง (Université de Caen) ได้”
นี่คือเหตุการณ์ก่อนปรีดีจะเข้ามาเรียนกฎหมายต่อในกรุงปารีส สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส กลายเป็น “ดอกเตอร์อัง ดรัวท์” (Docteur en Droit) กลับมารับราชการพร้อมสอนหนังสือโรงเรียนกฎหมาย เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนร่วมการอภิวัฒน์ พุทธศักราช 2475 ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทยและรัฐบุรุษอาวุโส
การโดยสารเรือล่องทะเลไปสู่ทวีปยุโรปเพื่อเป็นนักเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศสของปรีดี พนมยงค์ หนุ่มวัย 20 ปี เสมือนจุดเริ่มต้นโลกทัศน์ใหม่ๆ และแรงดาลใจหลายประการที่ผลักดันให้เขากลายเป็นบุคคลสำคัญของเมืองไทยและบุคคลสำคัญของโลก เท่าที่สำรวจมา ยังไม่เจองานเขียนที่เอ่ยอ้างถึงปรีดีขณะอยู่บนเรือในการเดินทางครั้งแรกสุดเลย เหมาะควรเหลือเกินที่ผมจะหยิบยกฉากชีวิตนี้มาสาธยายสู่สายตาคุณผู้อ่าน
*ขอบคุณ พงษ์ นีติวัฒนพงษ์ ที่ได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องเรือเดินสมุทร Amazone และวิภพ หุยากรณ์ที่ช่วยอ่านถอดรหัสเอกสารลายมือบางถ้อยคำ
เอกสารอ้างอิง
คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกงานฉลอง 100 ปีรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์. คือวิญญาณ
เสรี ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 2543
ชัยนาทนเรนทร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ. 118. เรียบเรียงโดย
หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต. กรุงเทพฯ: บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, 2548
เดือน บุนนาค. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
สามัคคีธรรม, 2517
ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เรือน
แก้วการพิมพ์, 2544
ประยูร ภมรมนตรี. ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2518
ปรีดี พนมยงค์. “การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ.” บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอน 11(มิถุนายน
2469), หน้า 661-665
ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie
mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนงค์
ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529
ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. บรรณาธิการ วิษณุ วรัญญู. พิมพ์ครั้งที่ 5.
กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553
ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์
นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. . กรุงเทพฯ : โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับ
สังคมไทย”, 2526
ปรีดี พนมยงค์. หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐ (สมุดบันทึก ยังไม่ตีพิมพ์)
พรชมพู ราชธา (เรียบเรียง). ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้นำความคิดทางการเมือง. ผู้วาดภาพ ธนิต
สุวรรณพฤกษ์ ; บรรณาธิการ จินตนา เวชสวัสดิ์. กรุงเทพฯ : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด, 2543
พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์.
บรรณาธิการ วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์. กรุงเทพฯ : บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2551
สุพจน์ ด่านตระกูล. ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ . กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์, 2514
ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526
อากาศดำเกิง รพีพัฒน์, หม่อมเจ้า. ละครแห่งชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 29. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา,2544
๑๐๑ ปีปรีดี- ๙๐ ปีพูนศุข. กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2545
Piouffre, Gérard. First Class Legendary Ocean Liner Voyages Around the World. New York:
Vendome Press, 2009