มันคือเวทีอันกว้างใหญ่ของผู้คนที่ถูกรับเลือก ไม่ว่าพวกเขาจะยินดีกับมันหรือไม่ก็ตาม ทุกคนล้วนกระโจนเข้าสู่สนามรบตัวเปล่า แล้วต้องไปลุ้นเอาในดาบหน้าว่าแต่ละคนจะได้อาวุธอะไรมา จากนั้นทุกคนจะกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ทุกคนต้องห้ำหั่นกันจนเหลือผู้รอดตายคนสุดท้าย หากไม่มีการต่อสู้ก็จะบีบพื้นที่ลงไปเรื่อยๆ จนมีผู้ชนะจากการต่อสู้ครั้งนี้แค่คนเดียวเท่านั้น
ถ้าพูดถึงคำว่า ‘Battle Royale’ หลายคนคงจะนึกถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Battle Royale หรือที่ใช้ชื่อไทยว่า ‘เกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด’ ขึ้นมาก่อนเป็นแน่แท้ ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เราจะคุยกันในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของภาพยนตร์โดยตรง แต่เป็นเรื่องของเกมประเภทหนึ่งที่ใช้ชื่อเรียก กฎกติกา และมารยาทของการเล่นเกมตามหนังดังจากญี่ปุ่นเรื่องนี้ด้วย
ถ้ายังงงๆ ว่าเกมแนว Battle Royale เป็นเกมอะไร ก็ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเป็นเกมในลักษณะเดียวกันกับเกม PUBG ที่คนไทยไปเล่นแข่งชิงแชมป์โลก และอาจมีพนักงานบริษัทหลายๆ ท่านเล่นกันในช่วงพักเที่ยง หรือถ้าเมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีเกม Apex Legends ที่เปิดตัวมาให้เล่นกันฟรีๆ ซึ่งหลายคนก็อาจจะเพิ่งสไลด์พื้นหลบหลีกกระสุนแล้วหาทางเป็นผู้ชนะในเกมดังกล่าวอยู่
ดังนั้น เราอาจจะพูดได้ว่าเกมแนว Battle Royale ได้กลายเป็นที่นิยมไปแล้ว แถมยังเป็นความนิยมระดับโลกเสียด้วย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะมีประสบการณ์กับเกมแนวนี้ครั้งแรกเป็นเกมอะไรเสียมากกว่า และถึงประวัติของเกมแนวนี้อาจจะเกิดมาไม่นาน แต่ด้วยความเติบโตที่ชัดเจนก็ทำให้รู้สึกน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ก่อนหนัง Battle Royale จะฉาย
ถึงเกมสไตล์ Battle Royale จะเพิ่งเกิดไม่นานนัก แต่ถ้าคุยกันถึงระบบการเล่นเกมที่ต้องการให้ผู้เล่นทุกคนดวลกันจนเหลือคนสุดท้าย หรือที่เรียกด้วยภาษาอังกฤษเท่ๆ ว่า ‘Last Man Standing’ นั้นก็มีมานานแล้ว แค่เดิมทีอาจจะเป็นเพียงระบบแถมของเกม อย่างเช่นเกม ‘Double Dragon’ ฉบับเกมตู้ที่ด่านสุดท้ายจะบังคับให้ผู้เล่นสองคนต้องดวลกันเอง เพื่อตัดสินว่าใครจะได้นางเอกของเรื่องไปครอง หรือเกมยิงหลายๆ เกม อย่างเช่น ‘Unreal Tournament’ ก็ใส่โหมด Last Man Standing เอาไว้แบบชัดเจน แต่ในตอนนั้นอาจจะมีกฎข้อบังคับแบบอื่นๆ ที่บีบให้ผู้เล่นต้องมาดวลกันทั้งหมด แต่ไม่ได้บีบพื้นที่ในแผนที่ลงอย่างที่มีในปัจจุบันนี้
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็เป็นเกม ‘Bomberman’ ที่หลายภาคเปิดโอกาสให้ดวลกันได้ และคนที่รอดตายคนสุดท้ายจะเป็นผู้ชนะ แถมเกมยังมีระบบบีบพื้นที่ให้ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต้องมาดวลกันในพื้นที่ซึ่งแคบลงเรื่อยๆ ละม้ายคล้ายแนวคิดของเกม Battle Royale ในปัจจุบัน แต่ระบบดังกล่าวก็ยังไม่ใช่จุดขายหลักของเกม Bomberman แต่อย่างใด
หรือถ้าพูดอีกแง่ก็คือ ณ ช่วงก่อนปี 2000 ไม่มีเกมไหนที่ตั้งใจดีไซน์ออกมาเพื่อบีบให้ผู้เล่นต้องดวลกันในพื้นที่ปิดด้วยเวลาจำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความนิยมของโหมดเกม Last Man Stadning ยังมีไม่มากพอ เนื่องจากคนที่แพ้ก่อนมักจะต้องมานั่งเซ็งรอดูการต่อสู้ ในขณะที่โหมดแบบ Free For All ที่เกิดขึ้นมา หรือเกมที่แบ่งข้างแข่งขันอย่างชัดเจนอย่าง ‘Counter-Strike’ ค่อนข้างจะครองใจคนเล่นมากกว่า นอกจากนี้ยังมีผลพวงจากการที่เทคโนโลยีในยุคนั้นยังไม่ดีพอที่จะสร้างระบบเกมที่สามารถเข้าเล่นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นต่อให้แพ้ก็ไม่หัวเสียมากนัก
และที่สำคัญ กว่าที่จะมีหนังสร้างแรงบันดาลใจให้กับการสร้างโหมดของเกมแนวนี้ อย่าง Battle Royale ก็ปาเข้าไปปี 2000 แล้วนั่นเอง
คอนเซปต์ที่เกิดจากหนัง แนวเกมที่เกิดจากการสร้าง MOD
ถึงแม้ว่าหนัง Battle Royale จะถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่เรายังจำเป็นต้องพูดอ้อมไปถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งก็คือ ‘Hunger Games’ ที่ไฮไลต์ของเรื่องอยู่ที่เกมการแข่งขันเพื่อล่าชีวิตของผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ โดยที่แต่ละคนจะเริ่มต้นเกมด้วยสภาพมามือเปล่า ก่อนที่พวกเขาจะต้องไล่ล่าหาของที่มีสปอนเซอร์ส่งมอบให้ ซึ่งตัวเกมในหนังเรื่องดังกล่าวก็มีลักษณะใกล้เคียงกับหนัง Battle Royale อยู่ไม่น้อย
เมื่อ Hunger Games เริ่มโปรโมทในปี 2012 ก็มีกลุ่มนักเล่นเกมที่นิยมทำการดัดแปลงเกมที่พวกเขาเล่นหรือก็คือ MOD ให้เกมนั้นจำลองบรรยากาศแบบในหนังขึ้นมา แล้วก็มีคนสามารถ MOD เกมให้แข่งขันได้แบบในหนัง Hunger Games แต่ถึงอย่างนั้นตัวเกมที่ถูกสร้างแผนที่ดัดแปลงนี้กลับไม่ใช่เกมแนวยิง แต่เป็นเกม Minecraft ที่หลายๆ คนจะเข้าไปตีบล็อคเหลี่ยมๆ สร้างเมือง ขุดแร่ สร้างบ้าน
ซึ่งในเกม Minecraft ที่เปิดโหมด Hunger Games หรือที่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อไปใช้เป็น Survival Games (สาเหตุการเปลี่ยนชื่อไม่ชัดนัก แต่คาดว่าคงเป็นผลมาจากการพยายามเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์กับตัวหนังและนิยายต้นฉบับ) ก็จะให้ผู้เล่น 24 คน มารวมตัวกันแบบไม่มีไอเท็มใดๆ ในตัว ก่อนที่ทุกคนจะทำการแยกย้ายเพื่อหาทรัพยากรมาสร้างอาวุธเอาตัวรอด และเกมจะจบลงเมื่อเหลือผู้ชนะเพียงคนเดียว
Survial Games จึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้เล่น Minecraft ในระดับที่ว่าตอนนี้ก็ยังพอจะหาคนเปิดเซิร์ฟเวอร์เกมประเภทนี้ได้อยู่อย่างไม่ยากเย็นนัก ถึงตอนนั้นจะยังไม่มีคนเรียกเกมแนวนี้ว่า Battle Royale แต่ ณ จุดนี้ก็ชัดแล้วว่าชุมชนชาว MOD มีผลต่อการสร้างเกมแนวนี้ไม่มากก็น้อย
เวลาผ่านไปไม่นานนัก เราก็มี MOD ของเกม Arma 2 ที่ชื่อว่า DayZ ถือกำเนิดขึ้น โดยตัวเกมให้ผู้เล่นต้องฝ่าฝูงซอมบี้ที่มีอยู่เต็มพื้นที่ อีกทั้งต้องรับมือกับผู้เล่นคนอื่นๆ ที่อาจจะเป็นมิตรหรือศัตรูก็ได้ ซึ่งตัว MOD นี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ทว่าด้วยแนวคิดของเกมที่ใหญ่เกินไป กับผู้เล่นที่เข้ามาเล่นทีหลังนั้นจะรู้สึกเสียเปรียบคนที่เล่นอยู่ก่อนมาก แถมยังมีเกมออกใหม่มากมายที่เอาคอนเซปต์การเอาตัวรอดในโลกที่เต็มไปด้วยซอมบี้ ทำให้ผู้เล่น DayZ ส่วนหนึ่งเบื่อระบบหลักของ MOD ตัวนี้ แล้วก็เริ่มทำการ MOD ซ้ำอีกรอบหนึ่ง
หนึ่งในผู้ที่ทำการ MOD เกม DayZ ก็คือ Brendan Greene หรือที่ใช้นามแฝงในอินเตอร์เน็ตว่า PlayerUnknown ซึ่งเขาสร้าง MOD ชื่อ Battle Royale ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Battle Royale หนังญี่ปุ่นที่เรากล่าวถึงไปแล้ว แต่ใน MOD นี้จะบีบผู้เล่นให้เข้าไปในพื้นที่วงแคบด้วยการเกณฑ์ซอมบี้มากดดัน และระบบการเล่น ยังให้ผู้เล่นรวมตัวกันที่ส่วนกลางก่อนจะวิ่งแยกย้ายไปยังพื้นที่อื่นเหมือนกับหนัง Hunger Games แทน
การมาถึงของผู้สร้าง MOD คนใหม่นี้ ทำให้คนเล่นเกมทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ สนใจจะเข้าไปเล่น Arma 2 อีกครั้ง เพื่อเล่น MOD DayZ Battle Royale จนกระทั่งเกม DayZ ได้แยกพัฒนาให้ไปเป็นเกมตัวเต็มๆ รวมถึงเมื่อเกม Arma ออกภาค 3 PlayerUnknown คนนี้ก็ได้ขยายโปรเจกต์ของตัวเองมายังเกมภาคใหม่ ซึ่งรองรับเทคโนโลยีใหม่ด้วย ทำให้เขาสามารถตั้งค่าให้ผู้เล่น PlayerUnknown’s Battle Royale ต้องกระโดดร่มลงมาจากเครื่องบิน เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์จากกล่องที่โดนปล่อยกระจายตัวทั่วแผนที่ และยังมีระบบแผนที่บีบตัวโดยไม่จำเป็นต้องมีซอมบี้อีกต่อไป รวมไปถึงประโยค “Winner, winner, chicken dinner” (หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า ‘กินไก่’) ก็ถูกนำมาใช้ในเกมเป็นครั้งแรกใน MOD เวอร์ชั่นนี้ ซึ่งคนเล่นและเหล่าสตรีมเมอร์หรือยูทูบเบอร์ทั้งหลายก็ชอบ MOD ตัวนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา
นอกจากคนเล่นเกมจะสนใจ PlayerUnknonw แล้ว ผู้ผลิตเกมเองก็สนใจผลงานของชายคนนี้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือทีมงานของเกม H1Z1 เกมที่พยายามตามรอย DayZ ได้ติดต่อให้ Brendan Greene มาทำงานร่วมกันในฐานะที่ปรึกษาและผู้ร่วมพัฒนาเกม H1Z1: King Of The Kill ในช่วงปี 2015 โดยที่ตัวเกมดังกล่าวนั้นใช้คอนเซปต์จาก MOD ของ Battle Royale แต่ต้องการให้เกมสามารถระดมคน 100 คนมาดวลกันในแผนที่เดียวกัน โดยเพิ่มระบบสร้างสิ่งของ อย่างอาวุธและเกราะเข้ามา แต่ตัวเกมจะไม่ได้ซีเรียสเท่าฝั่ง Arma 3
ความสัมพันธ์ของ Brendan Greene กับทีมพัฒนา H1Z1: King Of The Kill สิ้นสุดลงในช่วงปี 2016 เพราะตัวเกม H1Z1 มีการปรับทิศทางไปจากเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้การพัฒนาเกมที่เน้นระบบการเล่นแบบ Battle Royale เพียวๆ เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน
กระโจนทะยานสู่การเป็นเกม Stand Alone
ชื่อของ Brendan Greene กลับมาเป็นที่สนใจของคอเกมและสื่อต่างๆ อีกครั้งเมื่อเขาได้ร่วมงานกับบริษัทผู้พัฒนาเกม Bluehole ที่เปิดโอกาสให้ Brendan คุมบังเหียนการสร้างเกมได้ตามที่ใจต้องการ ต่างจากเกมก่อนหน้าที่ต้อง MOD เกมอื่น หรือเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น และในที่สุด พวกเขาก็ได้ปล่อยเกม PlayerUnknown’s Battlegrounds หรือ PUBG ออกมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2017 ในฐานะเกม Early Access (ตัวเกมแบบที่ขายเกมระหว่างที่พัฒนาไปด้วย แต่ก็เปิดให้เล่นไปด้วย)
ระหว่างที่ตัวเกมอยู่ในช่วงขัดเกลาให้เรียบร้อย ในช่วงปี 2017 มีเกมหลายเกมใส่โหมดที่คล้ายๆ Battle Royale เข้ามา อย่างเช่น ARK: Survival Evoled เกมเปิดโลกสำหรับผู้เล่นหลายคนที่เดิมทีมีไฮไลต์อยู่ที่การสามารถเลี้ยงและขี่ไดโนเสาร์ ก็ใส่โหมด Survival of the Fittest ซึ่งเป็นโหมดที่ผู้เล่นต้องมาพบกันหมด
อีกเกมที่เปิดตัวในช่วงปี 2017 ด้วยคอนเซปท์ Battle Royale เหมือนกันก็คือ The Culling แต่ตัวเกมจะเน้นการต่อสู้ด้วยอาวุธประชิดมากกว่า (แม้ว่าจะพอมีปาหอก ปาระเบิดก็ตามที)
กระนั้นทั้ง ARK: Survival Evoled หรือ The Culling รวมถึงเกมอื่นๆ ก็อาจจะยังไม่สามารถสร้างกระแสของเกมสไตล์ Battle Royale ได้โด่งดังเท่ากับเกม PUBG ซึ่งในปีดังกล่าว ตัวเกมสร้างสถิติอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การขายเกมได้ทะลุ 4 ล้านชุด ภายในช่วง 3 เดือน แม้ว่าตัวเกมจะยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาก็ตาม นอกจากนี้ตัวเกมยังทำยอดผู้เล่นสูงสุดพร้อมกัน 2 ล้านคน รวมถึงทำยอดถ่ายทอดสดบนแพลตฟอร์มอย่าง Twitch แซงหน้าเกมรุ่นพี่แบบไม่เกรงใจใคร
และแรงกระเพื่อมจากเกมเพียงเกมเดียว ก็เขย่าให้วงการเกมยิงทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
จากตอนแรกที่เหมือนจะเป็นเกมที่มีคนเล่นกระจุกอยู่แค่กลุ่มเดียว แต่ทาง Bluehole ก็ได้พยายามสร้างตลาดด้วยการเกาะกระแสกับเหล่าสตรีมเมอร์ใน Twitch มีการสร้างระบบเกมให้รองรับการแข่งขัน eSports เพื่อดึงดูดผู้เล่นกับผู้ชม และจับมือกับทางบริษัท Tencent Games ในจีน รวมถึงยอมปรับรายละเอียดบางประการของเกมให้ขายได้ในประเทศจีนแบบไม่โดนแบน ทำให้ยอดผู้เล่นของเกมนี้สูงลิบ ทั้งๆ ที่ในเชิงความเห็นจากนักวิจารณ์เกมยังบอกกันว่าไม่ค่อยไหลลื่นนักหากเทียบกับเกมจากผู้ผลิตเจ้าใหญ่ในตลาด
พอเป็นแบบนี้ผู้ผลิตเจ้าใหญ่เจ้าอื่นๆ ก็เลยต้องปรับตัวตามเกม PUBG ไปโดยปริยาย หนึ่งในเกมที่เปิดใจโอบกอดรับความเปลี่ยนแปลงก็คือเกมอย่าง Fortnite ที่แรกเริ่มเดิมทีเปิดตัวในช่วงกลางปี 2017 ในฐานะเกมที่มีลูกเล่นปนกันระหว่างเกมแนวสร้างเมือง (แบบ Minecraft) กับเกมแนวยิง แต่กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก ซึ่งทาง Epic Game ผู้พัฒนาเกม (และเป็นผู้พัฒนา Unreal Engine ซึ่งเกม PUBG ใช้ในการสร้างเกมด้วย) ก็ตัดสินเปิดเกม ‘Fortnite Battle Royale’ ให้เล่นกันแบบฟรีๆ แล้วใช้การเก็บค่าบริการจากการซื้ออุปกรณ์ตกแต่งตัวละคร ต่างกับ PUBG ที่ต้องซื้อเกมต่างหากไปเลย
ด้วยความที่ทีมพัฒนาเกมของ Fortnite Battle Royale เป็นทีมงานที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ทำให้เกมนั้นมีสไตล์การเล่นที่คุ้นเคยและเข้าใจได้ง่าย ผสมรวมเข้ากับการเปิดให้เล่นฟรี คนจำนวนมากที่อินกับเกมแนวนี้จากการรับชม PUBG เลยกระโดดเข้ามาลองเล่นเกมฟรี และด้วยกราฟิกแนวการ์ตูนสบายๆ ก็ทำให้ผู้เล่นอายุน้อยเข้ามาเล่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางคนก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีการเปิดกว้างรับผู้เล่นใหม่ๆ แต่บางคนก็รู้สึกว่านี่เป็นการเรียก ‘เกรียน’ เข้าเกมเยอะเกินไปหน่อย
อีกส่วนที่ Fortnite Battle Royale สร้างกระแสได้เร็วก็ต้องยกให้กับการที่เขาเข้าไปติดต่อกับเหล่านักสตรีมเกมผ่านช่องทางต่างๆ และอาจจะมีแต้มบุญสูงจนได้คนดังมาร่วมเล่นเกมด้วยเยอะ (แม้ว่าหลายคนจะเชื่อว่านี่น่าจะเป็นการจ้างมากกว่าก็ตาม) เช่น นักร้องดังอย่าง Drake ที่มาร่วมเล่นเกมกับ Ninja ซึ่งเป็นสตรีมเมอร์ใน Twitch ชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีการปั่นกระแสออนไลน์ด้วยการทำเนื้อหาร่วมกับหนังดังอย่าง Avengers ด้วยการใส่ตัวละคร Thanos เข้าไปในเกม ซึ่งก็ทำให้เกมนี้ดูป๊อปและใกล้ตัวคนเล่นมากกว่าที่เคย
ซีรีส์เกมดังหลายเกมจึงพร้อมกระโดดร่มมาร่วมลงสนามรบนี้เช่นกัน อย่างเกม ‘Call Of Duty’ ที่สร้างภาค Black Ops 4 ซึ่งวางขายไปช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 โดยภาคนี้ได้ตัดโหมดผู้เล่นคนเดียวออกแล้วจงใจเพิ่มโหมด Battle Royale มาให้เป็นไฮไลต์ของภาคกันไปเลย หรือ ‘Battlefield V’ ที่วางขายในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2018 ก็ประกาศตั้งแต่เริ่มว่าจะมีโหมดเกม Firestorm ที่เป็น Battle Royale ของเกมออกมาให้เล่นกันในช่วงเดือนมีนาคมปี 2019
และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 ก็มีเกม ‘Apex Legends’ เกมแนว Battle Royale จากทีมผู้สร้างเกม Titan Fall ที่บุกมาตีตลาดด้วยการเปิดเกมให้เล่นฟรี พร้อมกับทำระบบให้ตัวละครแต่ละตัวมีความสามารถพิเศษต่างกัน (ลักษณะเดียวกับเกม Overwatch) และเกมก็ได้รับความสนใจผู้เล่นหลายล้านคนในช่วงเวลาไม่นานนัก
ไม่เพียงแค่นั้น เกมเก่าที่มีผู้เล่นเดิมเหนียวแน่นอยู่แล้วอย่าง ‘Grand Theft Auto Online’ หรือ ‘Counter-Strike: Global Offensive’ ก็ยังต้องยอมสร้างโหมดใหม่ให้มีอรรถรสแบบเกม Battle Royale กันอีกด้วย
และเกม Battle Royale ก็ขยับเข้าใกล้ชีวิตของหลายๆ คนมากขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่าเกมดังในแนวนี้ทั้ง PUBG กับ Fornite Battle Royale ได้พัฒนาเวอร์ชั่นสำหรับเล่นบนมือถือสมาร์ตโฟนตามออกมา รวมถึงมีอีกหลายๆ เกมที่ได้แรงบันดาลใจจากสองเกมนี้แล้วทำฉบับมือถือออกมาให้เล่นกันโดยเฉพาะด้วย ทำให้การต่อสู้เพื่อแย่งชิงเป็นผู้รอดตายในสนามรบนี้ สามารถเล่นแบบพกพาได้ง่ายขึ้นอีกเยอะ
ความหลากหลายในเกม Battle Royale
ที่เล่าไปยาวมากๆ นี้อาจจะทำให้หลายคนคิดว่า ‘ก็แค่เกมยิงปืนที่มีคนเล่นได้พร้อมกันเยอะๆ ซ้ำซากจะตาย’ ซึ่งเรื่องนี้เราเชื่อว่าผู้พัฒนาเกมทั้งหลายต่างรู้ดีว่าถ้าออกมาฟอร์มเดิมเรื่อยๆ เกมของพวกเขาเองย่อมโดนมองข้ามแน่นอน ทำให้มีการบิดสไตล์ของเกมไปเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง อย่างที่เราพูดถึงไปบ้างแล้วกับเกม Apex Legends ที่ให้ตัวละครแต่ละตัวมีความสามารถพิเศษเฉพาะที่แตกต่างกัน หรือ The Culling ที่โฟกัสการต่อสู้ระยะประชิดมากกว่า
นอกจากนี้ก็มีเกมที่สร้างเอกลักษณ์ให้แตกต่างจากเกมอื่นๆ อย่าง ‘Ring Of Elysium’ ที่เปลี่ยนสนามรบให้ไปอยู่ในสถานที่อื่นๆ อย่าง ทุ่งหิมะขาวโพลนหรือริมทะเล ผู้เล่นยังสามารถใช้พาหนะเพื่อฝ่าท้องที่ได้หลายแบบ สภาพอากาศในเกมก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และผู้ชนะของเกมนี้คือ 4 คนสุดท้ายที่หนีไปได้ด้วยเฮลิคอปเตอร์ ดังนั้นการห้ำหั่นจึงแบ่งเป็นทีมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
‘Spellbreak’ ก็มากับคอนเซปท์เกม Battle Royale ที่ยิงเวทมนตร์กันแทนที่ใช้อาวุธทันสมัย ‘Malestorm’ ก็เป็นเกม Battle Royale ในธีมโจรสลัด และให้ผู้เล่นปรับแต่งกับควบคุมเรือเข้าต่อสู้กับเรือคนอื่นๆ รวมถึงภยันอันตรายที่ซ่อนในผืนน้ำ ‘The Darvin Project’ ที่นอกจากจะต้องต่อสู้แล้ว ตัวละครยังต้องรักษาสภาพร่างกายไม่ให้หนาวเย็นจนตาย ‘Last Tide’ ที่ย้ายสมรภูมิ Battle Royale ไปอยู่ใต้ท้องทะเล แทนที่จะอยู่บนเกาะ ดังนั้นผู้เล่นอาจจะต้องระวังฉลามยักษ์มาไล่งาบด้วย
นอกจากเกมแนวยิงๆ กันแล้ว เกมต่อบล็อคที่ไม่มีใครคาดว่าจะโดนเอามาทำเป็นแนว Battle Royale ได้ ก็มีคนทำออกมาด้วย โดยเกมที่ว่านั้นก็คือ เกม Tetris 99 ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะงงๆ หน่อยว่าเกมนี้จะแข่งกันยังไง คำตอบก็คือ ตัวเกมจะเปิดเซิร์ฟเวอร์ให้คน 99 คนมาเล่นเกม Tetris พร้อมๆ กัน และถ้ามีใครลบแถวออกไปได้ แถวดังกล่าวจะกลายเป็นอาวุธที่ใช้โจมตีชาวบ้านชาวช่องได้ และผู้ชนะของเกมคือคนที่อยู่รอดเป็นคนสุดท้ายนั่นเอง
พอเจอแบบนี้แล้วก็ชวนให้คิดว่าในวันข้างหน้าจะมีคนเอาเกมแนวไหนมาผสมเอาความเป็น Battle Royale ลงไปอีกบ้าง
เหตุผลความนิยม ดราม่าที่บังเกิด และอนาคตที่พอจะเป็นไปได้
คาดว่าพออ่านรายละเอียดมาถึงจุดนี้แล้ว หลายท่านน่าจะเห็นภาพอย่างหนึ่งว่าเกมแนว Battle Royale นั้นเติบโตเร็วอย่างเหลือเชื่อในช่วงเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น การที่เกมแนวนี้ฮิตระเบิดขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลก (รวมถึงในฝั่งเซิร์ฟเวอร์) และสามารถเชื่อมต่อกันอย่างไหลลื่นมากขึ้น ทำให้เกมที่เล่นพร้อมกันหลายสิบหลายร้อยคนก็เป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น
อีกเหตุผลหนึ่งที่มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือตัวเกมแนว Battle Royale นั้น แม้จะมีความตึงเครียดของการแข่งขันตลอดทั้งเกม นับตั้งแต่การเริ่มต้นหาที่ปลอดภัยในแผนที่ การเก็บสะสมอาวุธ หรืออุปกรณ์อื่นๆ หรือการต่อสู้ในช่วงที่มีคนเหลือคนไม่กี่คน แต่เรื่องราวเหล่านี้กลับสามารถรับชมได้อย่างง่ายดาย แถมคนดูเองก็ยังตื่นเต้นไม่แพ้กับคนเล่นเสียด้วย แถมเกมแนวนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีโครงเรื่องแบบชัดเจน คืออาจจะมีโครงเรื่องให้บ้าง แต่ก็ยังมีพื้นที่มากพอให้ผู้เล่นได้ใส่ตัวตนเข้าไปในโลกของเกมได้ไม่ยากเย็นนัก
แต่เมื่อมากคน ก็ย่อมมากความ ดราม่าที่เกิดขึ้นกับเกมแนว Battle Royale ก็เลยมีให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ ทั้งดราม่าที่เกิดจากตัวบุคคล อย่างการที่ Pewdiepie เผลอหลุดคำพูดไม่เหมาะสมระหว่างเล่นเกม PUBG แต่ข่าวที่ออกจะ Go So Big หน่อย ก็คงเป็นการที่ Bluehole ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของเกม PUBG พยายามจะฟ้อง Epic Games ว่าละเมิดลิขสิทธิ์และลอกเลียนแบบสไตล์เกม Battle Royale แต่ต่อมาก็ได้มีการถอนฟ้องไป (ผู้สันทัดกรณีหลายท่านระบุว่าน่าจะถอนฟ้องเพราะเคยมีคดีใกล้เคียงกันแล้วศาลตัดสินว่า ‘แนวเกมไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้’)
อีกอันที่น่าจะเป็นดราม่าให้กับเกม Fortnite Battle Royale กับเกมอื่นๆ ที่มีคำสั่งให้ตัวละครในเกมเต้นได้ก็คือ การที่ตัวเกมถูกฟ้องร้องจากผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของท่าเต้นตัวจริง ซึ่ง ณ ปัจจุบันที่เขียนบทความนี้ คดีเพิ่งสิ้นสุดไปเพียงหนึ่งท่าเต้นเท่านั้น
แต่เชื่อว่าถึงจะมีเรื่องมากมายก่ายกองขวางทางกันอีกมาก เกมแนว Battle Royale ก็คงจะอยู่ให้เราเห็นกันอีกระยะใหญ่แน่ๆ อย่างน้อยที่สุดเราก็จะได้เห็นเกมแนวนี้ยาวๆ เพราะหลายๆ เกมได้พยายามจัดตั้งลีก E-Sport เพื่อให้ตัวเกมอยู่ได้อย่างยั่งยืน หรือถ้ามองไปในแง่รายได้ เมื่อปี 2018 ก็มีการคาดการณ์จากบริษัทวิจัย Super Data Research ในเครื่อง Nielson ว่าในปี 2019 มูลค่าเกมแนวนี้จะพุ่งทะยานไปถึง 20,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และคงไม่มีใครที่อยากจะถอนตัวจากเค้กมูลค่าสูงขนาดนี้ไปแบบง่ายๆ อย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก