“แง่มุมไหนบ้างของตัวตนที่คุณต้องทำลายทิ้งให้สิ้นซาก เพื่อจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปบนโลกนี้ได้”
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่น้อยที่ทุกวันนี้ เรื่องเพศ ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ยอมรับในความหลากหลาย บางคนเหยียดหยาม บางคนมองเป็นเรื่องตลก บางคนรำคาญหน่ายใจ เรียกร้องอะไรกันหนักหนา และบางคนถึงขั้นกลั่นแกล้งและทำร้ายกันรุนแรงไม่ว่าจะทางกายหรือจิตใจ
แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังคงไม่ไปไหนเลยสักที
เรื่องหนึ่งที่ยังคงมีการถกเถียงอยู่เสมอคือเลือก ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ ที่เราอาจได้ยินกันมาบ้างกับเหล่าคำคุณศัพท์ “ทำตัวแมนๆ หน่อย” “เดินออกสาวจังเลย” สิ่งเหล่านี้คือการผูกติดเพศเขากับตัวตนของคนคนหนึ่ง โดยตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ soi ในซีรีส์ Damned Be Patriachy! พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย หนังสือเล่มนั้นคือ Beyond Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน ที่เขียนโดย อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) นักเขียนสัญชาติ อินเดียน-อเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ผลักดันเรื่องความลื่นไหลทางเพศและพยายามทลายกรอบแนวคิดเรื่องเพศทวิลัษณ์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เขาเพิ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ.2020
โดยหนังสือเล่มนี้พาเราเข้าไปสำรวจประสบการณ์ของคนที่มีความลื่นไหลทางเพศ พวกเขารู้สึกอะไร พวกเขาต้องเจออะไร และอลกไม่ได้เพียงเขียนขึ้นเพื่อก่นด่าความเฮงซวยของโลกที่แบ่งเพศเป็นเพียงสอง แต่เขายังได้มอบเครื่องมือในการเดินไปข้างหน้าเพื่อก้าวผ่านระบบเพศทวิลักษณ์แห่งนี้
หญิงชายมีปัญหาตรงไหน อะไรคือเพศทวิลักษณ์
โลกนี้มีเพียงชายจริงหญิงแท้? นี่คือคำถามที่หนังสือเล่มนี้อยากพาเรามองข้ามที่เชื่อว่าโลกใบนี้มีการแบ่งเพียงเพศแค่สองเพศ คือ ผู้หญิง และ ผู้ชาย ซึ่งมีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘เพศทวิลักษณ์’
ก่อนคุณเกิดมา คุณก็อาจจะถูกคาดหวังแล้วว่าคุณจะเป็นเพศไหน แถมช้อยส์ที่ผู้ให้กำเนิดนึกถึงก็คงไม่พ้นแค่เพียง ‘ชายหรือหญิง’ พอเกิดมาแล้วในสูติบัตรของคุณก็มีการตีตราคุณแล้วว่าคุณเป็นเพศอะไร ‘ชายหรือหญิง’ และระหว่างทางที่เติบโต คุณก็โดนคาดหวังตามเพศที่คุณแทบไม่ได้เป็นคนเลือกเลยในวันที่ลืมตาดูโลกใบนี้
ผู้ชายห้ามร้องไห้ ผู้หญิงต้องอ่อนหวาน สารพัดคำที่ถูกผูกติดไว้กับเพศ กลายเป็นเรื่องที่กดทับความลื่นไหลและความหลากหลายในตัวคนหนึ่งคน บางคนก้าวผ่านไป บางคนต้องลบความเป็นตัวเองบางส่วนทิ้งเพื่อเดินต่อ แต่บางคนก็ซัฟเฟอร์กับมันจนเกิดปัญหาทางใจ
อลก เล่าประสบการณ์ของตัวเขาเองตั้งแต่วันที่เขารู้สึกว่าได้รู้จักตัวเอง และตัวตนที่หล่นหายไประหว่างทางเพราะกรอบของสังคม
“จงเป็นตัวของตัวเอง” คำพูดที่มักได้ยินกันมา หากฟังให้ดีมักจะมี “แต่…” ตามหลังเสมอ อลกยกตัวอย่างในสมัยเด็ก ด้วยความเป็นคนที่ชอบเอาเสื้อผ้าของแม่หรือน้องสาวมาใส่ ก่อนจะเดินเล่นเต้นรำในบ้านอย่างสนุกสนาน คนในครอบครัวต่างปรบมือเชียร์ จนอลกรู้สึกมั่นใจจนตัดสินใจไปสมัครประกวดโชว์ความสามารถตอนประถม ก่อนจะเจอเหล่าผู้คนในหอประชุมหัวเราะเยาะใส่ เพื่อนร่วมคลาสบอก อลก ว่า เด็กผู้ชายเขาไม่ทำแบบนั้นกัน อลกเล่าในหนังสือเล่มนั้นและตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจว่าทำไมสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขถึงกลายเป็นสิ่งที่โดนวิพากษ์วิจารณ์และถูกตัดสินขนาดนี้
วัยเด็กของหลายๆ คน เคยมั้ย? ที่แม้โลกจะบอกว่าคุณคือผู้ชาย แต่คุณก็ชอบการใส่กระโปรงของพี่สาว ชอบทาลิปสติกของแม่ ชอบเต้นสวยๆ ให้คนอื่นดู ชอบดอกไม้สีสันสดใส เคยมั้ย? ที่แม้โลกจะบอกว่าคุณคือผู้หญิง แต่คุณก็ชอบเอากิ่งไม้มาเป็นดาบ และเล่นกับพี่ของคุณ คุณชอบใส่กางเกง แต่งตัวเท่ๆ คุณชอบตัวเองแบบผมสั้นๆ
และเคยมั้ยที่แม้คุณจะรู้ว่าตัวเองมีความสุขแค่ไหน แต่คุณก็ต้องกดมันไว้ และทำอะไรก็ตามอย่างที่คนอื่นบอกให้คุณทำเพื่อไม่ให้ผิดแปลกไปจากสังคม
อลกยังเล่าต่อว่าแม้จะเติบโตขึ้นมา คนรอบข้างก็ยังคอยบอกให้เขา หยุดทำตัวเป็นผู้หญิงและโตเป็นผู้ใหญ่เสียที เป็นประโยคที่พูดราวกับว่าการที่เราเป็นตัวของเราแบบนี้ เป็นคนที่มีนิสัยหรือความชอบไม่ตรงตามที่กรอบสังคมคาดหวัง กลายเป็นเพียงการทำอะไร ‘เด็กๆ’ ‘ไม่รู้จักโต’ ‘ไร้สาระ’ ไปเสียอย่างนั้น ซึ่งคำพูดนี้เหล่านี้ส่งผลให้อลกต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่สังคมอยากให้เป็นมากกว่าที่จะได้เป็น ‘ตัวของตัวเอง’ จริงๆ เสียอีก
นี่คือปัญหาของการกำหนดว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศ เพราะพอกำหนดแล้ว เราก็จะมีกรอบของนิสัย วิถีชีวิต ความชอบ กิริยา ท่าทาง ความรู้สึก เข้ากับความเป็นเพศไปทั้งหมด ถ้าคุณไม่ใช่ซ้ายคุณก็เป็นขวา ถ้าคุณไม่ใช่ชาย คุณก็ต้องเป็นหญิง
ทั้งๆ ที่โลกใบนี้มีความหลากหลายมากมาย และความเป็นทวิลักษณ์ของเพศนี้ก็เป็นการกำหนดขึ้นมาเมื่อช่วงศตวรรษที่ 17 เท่านั้น แถมยังมีความเชื่อไปอีกว่าระบบเพศทวิลักษณ์นี้คู่ควรกับคนผิวขาว คนที่เป็น ‘ชายจริงหญิงแท้’ นั้นสูงส่งกว่าคนนอื่นๆ
โดยความหลากหลายที่โลกนี้มีมานาน ในหนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่าง ชนพื้นเมืองอินเดียนอเมริกันที่คนที่เรียกว่า two-spirit นอกจากนี้ยังมี hijira ในเอเชียใต้ waria ในอินโดนีเซีย muxe ในเม็กซิโก
ระบบเพศทวิลักษณ์นี้เป็นเพียงการขีดเส้นเพื่อแบ่งหน้าที่ในโลกทุนนิยมที่ทุกคนกลายเป็นแรงงาน การแบ่งหน้าที่ทำให้ง่ายต่อการจัดการ ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงทำงานในบ้าน (ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่มีให้พูดคุยกันได้อีกยาว) การแบ่งเพศให้มีเพียงสองนี้จึงลดความหลากหลายของการเป็นมนุษย์ ผลักไสคนที่มีความลื่นไหลให้กลายเป็นอื่น ตามมาด้วยการเหยียดหยาม กีดกัน กลั่นแกล้ง ที่มนุษย์ด้วยกันเองกลับต้องมาเจอกับโลกที่ตัวเองเป็นคนสร้าง
เหล่าคำโต้แย้งและผู้คนที่ถูกกดทับ
หลังจากอลกเล่าประสบการณ์และเรื่องราวของเพศทวิลักษ์แล้ว ต่อมาเขาก็ได้ลองหยิบหยกเอาคำโต้แย้ง ข้อครหา หรือตรรกะแปลกๆ ที่ LGBTQ+ หรือคนที่มีความลื่นไหลทางเพศพบเจอ ซึ่งจะขอหยิบยกเหล่าคำโต้แย้งที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้มาให้เป็นตัวอย่างว่าผู้คนที่ไม่ได้อยู่ใน ‘กรอบ’ ตามเพศที่ถูกกำหนดนั้นต้องเจอกับคำกล่าวหาอะไรบ้าง
“พวกเธอมันผิดปกติ เป็นโรคผิดเพศ ต้องเข้ารับการรักษา”
ที่สุดของประโยคแสนโบราณซึ่งบางครั้ง แม้แต่ในไทยเองก็ยังมีหนังสือที่มองว่าการเป็นคนที่มีความลื่นไหลทางเพศนั้นเป็นเรื่องผิดเพี้ยน (ซึ่งเราอาจเจอได้ในหนังสือเรียนด้วยซ้ำ) อลกอธิบายต่อไปว่า คำว่า ปกติ (normal) กับ ปทัสถาน (normative) นั้นเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งปทัสถานคือการที่สังคมให้คุณค่าบางอย่างจนมีอำนาจ กลายเป็นศีลธรรม การยึดถือบางอย่าง เรื่องความลื่นไหลทางเพศเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่แค่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานของคนบางกลุ่ม
นอกจากนี้ WHO และแพทยสาคมโลก รวมถึงสมาคมจิตวิทยาอเมริกันก็ลงมติถอดถอนอัตลักษณ์ทางเพศอันหลากหลายออกจากลิสต์อาการความผิดทางจิตอย่างเป็นทางการแล้วด้วย ดังนั้นการบอกว่าต้องได้รับการรักษาก็เป็นอะไรที่ล้าหลังมากๆ
“จะใช้สรรพนาม they (พวกเขา) ไปทำไมกัน? มันเป็นรูปพหูพจน์นะ ผิดหลักไวยากรณ์ชัดๆ”
คำว่า they นั้นได้รับการบัญญัติในปี ค.ศ.2019 ให้เป็นสรรพนามที่สื่อความเป็นกลางทางเพศแล้ว แต่ก็ยังมีบางคนที่ยึดหลักว่าไวยากรณ์ไม่ควรเปลี่ยนแปลง
ซึ่งจริงๆ แล้วภาษานั้นมีความลื่นไหลเหมือนกัน และมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม แล้วทำไมการกำหนดคำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศถึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม หากใครที่กลัวว่าภาษาจะเปลี่ยนแปลงไป ก็มีคำมากมายที่เกิดขึ้นและผันแปรไปตามสังคม แบบนี้เราอาจไม่ต้องมีคำใหม่ๆ วิธีการพูดใหม่ๆ ขึ้นมาเลยหรือเปล่า
นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษก็มีการใช้ they ในเชิงเอกพจน์มาก่อน และปัจจุบันเราก็ยังใช้ในรูปเอกพจน์อยู่ด้วยซ้ำไปในประโยคที่เราไม่แน่ใจว่าคนที่พูดถึงเป็นใคร
“ทำไมเอะอะก็ลากทุกอย่างเข้าเรื่องเพศด้วย เงียบๆ ไปเดี๋ยวมันก็หายไปเองแหละน่า”
คำโต้แย้งที่มักได้ยินกันบ่อยๆ ว่าทำไมอะไรๆ ก็ต้องลากเรื่องเพศมาเกี่ยว ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากการที่บางคนยังมองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับกลุ่มเพศต่างๆ ที่มีความลื่นไหล มองไม่เห็นว่าพวกถูกกีดกันยังไง ต้องเผชิญกับอะไรตลอดช่วงชีวิตที่รู้ว่าตัวเป็นใคร แต่แสดงออกไม่ได้ หรือแสดงออกแล้วต้องถูกกระทำด้วยความรุนแรงต่างๆ
อลกโต้แย้งประโยคเหล่านี้ให้ฟังว่า ในขณะที่คนที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศนั้นพยายามทำให้เรื่องเพศเป็นประเด็นน้อยลงด้วยการให้เพศเป็นช้อยส์ของตัวเราเอง ไม่เอามาตัดสิน ไม่เอามากำหนดกรอบ แต่สังคมก็หันมาโทษพวกเขาว่าพูดถึงเรื่องเพศไม่หยุดหย่อน
แต่หากลองวิเคราะห์ดูดีๆ ว่าสังคมนั้นลากทุกอย่างเข้าเรื่องเพศมาแต่ไหนแต่ไร การจัดปาร์ตี้ฉลองเพศทารกแรกเกิด การลุ้นว่าลูกจะเป็นชายหรือหญิง การระบุเพศในสูติบัตร การแบ่งโซนเสื้อผ้าชายหญิง การระบุเพศในใบขับขี่หรือเอกสารต่างๆ สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่ยัดเยียดความเป็นเพศเข้าไปอยู่ในทุกอณูชีวิติ
การเรียกร้องเรื่องเพศที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของการพยายามทลายกรอบเพศที่มีเพียงชายหญิง การไม่มีตัวเลือกอื่นให้คนอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นการบังคับกลายๆ ว่าทุกคนเกิดมาไม่เป็นหญิงก็เป็นชาย เพียงเท่านั้น นี่ต่างหากคือการลากทุกอย่างเข้าเรื่องเพศ
“ลึกๆ แล้วพวกเราทุกคนมีแนวโน้มจะเป็นชายจริงไม่ก็หญิงแท้ เพราะยังไงระบบสองเพศก็คือรูปแบบการสืบพันธ์ุของเผ่าพันธ์ุมนุษย์”
เพราะเราอาจจะกำลังอยู่ในจุดที่วิทยาศาตร์ = ความจริง 100% ซึ่งจริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์นั้น 1.เปลี่ยนแปลงได้ 2.ยังมีทฤษฎีที่ไบแอสเรื่องเพศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าอะไรทำได้ไม่ได้ อะไรจริงไม่จริง อะไรถูกต้องไม่ถูกต้อง
บนโลกนี้ยังมีคนที่เป็น intersex ที่สุดท้ายด้วยโลกที่มองไม่เห็นว่าสองเพศจะอยู่ในร่างกายเดียวยังไง จึงตัดสินใจเลือกให้เด็กคนนั้นแทนด้วยซ้ำว่าเขาจะเพศใด (โดยไม่ได้มีเรื่องรักษาโรคหรือการเสี่ยงต่อชีวิตมาเป็นเงื่อนไข)
อลกยังได้ยกข้อมูลเรื่องโครโมโซมที่แต่ก่อนข้อมูลบอกว่ามีโครโมโซมที่แสดงเพศเพียงสองแบบคือ xx ที่เป็นหญิง และ xy ที่เป็นชาย ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานมารองรับว่ารูปแบบลักษณะโครโมโซมไม่ได้สะท้อนความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิงเสมอไป และการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมเองก็ไม่สามารถตัดสินทุกอย่างได้ เพราะมีหลักฐานจากการทดลองตรวจสอบ DNA ของนักกีฬาข้ามเพศ ค้นพบว่าพวกเขามีลักษณะทางพันธุกรรมที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดและอวัยวะเพศ รวมไปถึงบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature เมื่อปี ค.ศ.2015 ชี้ว่านักวิจัยบางคนให้ความเห็นว่าทุกๆ 100 คน จะมี 1 คนที่มีรูปแบบพัฒนาการทางเพศที่แตกต่างออกไป
นอกจากนี้การกำหนดบทบาทจากลักษณะกายภาพก็เป็นการเหมารวมไปเสียหน่อย เช่นการสร้างครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ชายหญิงที่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเด็กๆ ให้เติบโตได้ นี่จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมองกันใหม่ว่าระบบสองเพศไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
ไปให้ไกลกว่าการมองโลกแบบมีแค่สองเพศ
“ความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดของการธำรงอยู่ของมนุษย์ เช่นเดียวกับชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ มันเป็นเช่นนั้นเสมอมา และจะยังคงอยู่อย่างนั้นเสมอไป” นี่คือประโยคในหน้าแรกๆ ของการอ่านหนังสือเล่มนี้ที่ชวนประทับใจ
บนโลกที่มีความหลากหลายมากมาย บนโลกที่ความหลากหลายทำให้เราอยู่รอด หนังสือเล่มนี้ชวนตั้งคำถามว่าแล้วทำไมมนุษย์ต้องปิดกั้นตัวเองให้เหลือเพียงสองช้อยส์ ทำไมเราต้องลดทอนความหลากหลายนั้นลง ทำไมเราต้องกดทับความหลากหลายเอาไว้ไม่แสดงออกมาให้คนอื่นรู้
จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราปล่อยให้มนุษย์คนหนึ่งได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น เป็นตัวของตัวเองแบบไม่ต้องมี ‘แต่’ ตามหลัง ได้เลือกทำอะไรก็ตามโดยไม่ต้องมากังวลถึงกรอบกฎเกณฑ์ที่ถูกโยงด้วยเพศ
หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราอาจได้มุมมองเรื่องเพศใหม่ ทั้งการต่อสู้ถึงการเมืองเรื่องเพศที่แฝงอยู่ในทุกอณูชีวิต ตั้งแต่ยังไม่เกิดจนตายจากไป การตระหนักว่าทำไมเราต้องอยู่ภายใต้กรอบสองเพศที่ช่างไม่เมกเซนส์เสียเลย และอาจเป็นเราที่เริ่มต้นสร้างมุมมองนี้และส่งต่อให้คนรอบข้าง ค่อยๆ เปลี่ยนให้โลกนี้โอบกอดความหลากหลายมากขึ้น
ชีวิตควรมีช้อยส์ให้เลือกมากกว่าแค่สอง และเราต้องมองไปให้ไกลกว่าความเป็นแค่ชายหญิง
อ้างอิงข้อมูลจาก