ชื่อของ Chimamanda Ngozi Adichie อาจไม่ค่อยคุ้นหูในวงการวรรณกรรมบ้านเรานัก เพราะยังไม่เคยมีนวนิยายของเธอที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลยสักเล่ม แต่ถึงอย่างนั้นชื่อของ Adichie ก็ไม่ได้จมหายไปจากเรดาร์เสียทีเดียว เพราะราวๆ สองปีที่ผ่านมา ถ้อยคำอันทรงพลังที่ครั้งหนึ่งเธอเคยได้กล่าวไว้บนเวที TED Talk ได้ถูกแปลและตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มบางๆ โดยสำนักพิมพ์ 1001 Nights Editions ในชื่อ ‘เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์’ ผมเองก็เพิ่งเคยได้ยินชื่อเธอครั้งแรกจากหนังสือเล่มนี้แหละครับ
Adichie เป็นนักเขียนชาวไนจีเรีย เธอเกิดและเติบโตที่นั่น ก่อนจะมาเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในวัย 19 และแม้ชื่อเสียงของเธอจะเป็นที่จดจำในระดับสากลจากเวที TED Talk แต่ในฐานะนักเขียน ผลงานของ Adichie มักถูกหยิบยกมาชื่นชมหรือถกเถียงอยู่บ่อยๆ จากประเด็นร่วมที่พบเห็นในงานเขียนเล่มต่างๆ ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเพศ (Gender) ชาติพันธุ์ (Race) ความสัมพันธ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างไนจีเรียและสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Americanah นวนิยายเล่มหนาเรื่องล่าสุดของเธอ (ตีพิมพ์ในปี 2013) ที่ผมหยิบมาพูดถึงในสัปดาห์นี้ก็ได้นำประเด็นร่วมทั้งสามมาถักถอร่วมกันได้อย่างหนักหน่วง เข้มข้น และงดงามครับ
Americanah เริ่มต้นที่ชีวิตประจำวันของ Ifemelu หญิงสาวชาวไนจีเรียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในวันธรรมดาๆ ที่เธอโดยสารรถไฟไปถักผม (Hair Braiding) ในย่านที่ห่างไกลสักหน่อย Ifemelu เดินเข้าไปในร้านที่พนักงานต่างก็เป็นชาวแอฟริกัน และระหว่างที่เธอได้พูดคุยกับหญิงสาวในร้าน Ifemelu ก็ได้หวนย้อนถึงอดีต ความทรงจำที่มีต่อไนจีเรีย และการระลึกถึงอดีตคนรักที่เธอจากมา
Ifemelu พาเราไปสัมผัสกับไนจีเรียในช่วงที่ถูกปกครองภายใต้ระบบเผด็จทหาร ฉายภาพความทุกข์ทรมานที่ประชาชนในประเทศประสบ และต่างก็ต้องการหลบหนีจากแผ่นดินเกิดด้วยหวังว่าจะได้เจอความหวังในแผ่นดินอื่น แต่แน่นอนว่าชีวิตจริงย่อมไม่เป็นไปอย่างฝัน หรือในกรณีของ Ifemelu ที่แม้จะได้โยกย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็จริง ทว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอประสบกลับทวีความบอบช้ำในอีกระดับ เพราะ Ifemelu ต้องเผชิญกับการเหยียดผิวพรรณ และการกดขี่อีกนับไม่ถ้วน
แต่ Americanah ไม่ได้ฉายให้เราเห็นแค่ชีวิตของ Ifemelu เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังรวมถึง Obinze อดีตคนรักของเธอ ที่ชีวิตต้องเผชิญกับความพลิกผันไม่ต่างกัน เมื่อความตั้งใจแรกของเขาที่หวังจะติดตาม Ifemelu มาสหรัฐอเมริกากลับถูกบดขยี้ลงต่อตา วีซ่าของเขาถูกปฏิเสธทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 จนท้ายที่สุดเขาก็จับพลัดจับผลูได้เดินทางอังกฤษ เพียงเพื่อจะเผชิญกับปัญหาสารพัด หนึ่งในนั้นคือเรื่องวีซ่าที่ส่งผลให้สถานะของเขาร่วงหล่นลงสู่การเป็นผู้ลี้ภัยผิดกฏหมาย
หากสรุปอย่างสั้นๆ เราอาจเรียก Americanah ในฐานะนวนิยายของผู้ลี้ภัยและการพลัดถิ่น ชีวิตที่ต้องระหกระเหินไปอาศัยในประเทศอื่นอย่างยากลำบาก ในขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ก็อาจเป็นบทบันทึกร่วมสมัยต่อการเป็นคนดำในสังคมที่แม้ภายนอกจะดูเปิดกว้างต่ออัตลักษณ์และชาติพันธ์ที่แตกต่าง หากลึกลงไปกลับปรากฏเค้ารอยของการกดขี่เหยียดหยามอย่างคละคลุ้งเข้มข้น
Adiche ได้ฉายภาพให้เราเห็นความซับซ้อนของประเด็นการเหยียดเชื้อชาติในหลายมิติ ที่บ้างก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นโต้งๆ แต่ซึมลึกอยู่ในสามัญสำนึก หรือบรรทัดฐานของสังคม จนบางครั้งก็อาจแนบเนียน บางเบา คล้ายจะเป็นปกติเกินไปโดยฝ่ายผู้กดขี่อาจกระทำไปโดยไม่รู้ตัว
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และ Adiche ถ่ายทอดได้อย่างแหลมคม คือความแตกต่างระหว่าง ‘แอฟริกันอเมริกัน’ กับ ‘อเมริกันแอฟริกัน’ ครับ เราอาจเรียก แอฟริกันอเมริกัน ว่าเป็นกลุ่มที่สามารถสืบย้อนเชื้อสายไปยังแอฟริกาได้ เพียงแต่พวกเขาไม่ได้เกิดและเติบโตขึ้นในดินแดนแห่งนั้น คนกลุ่มนี้อาจยังเชื่อมโยงต่ออัตลักษณ์และจิตวิญญาณของบรรพบุรุษผ่านทางความคิด และกายภาพที่มีร่วมกัน แต่พวกเขาไม่ได้มีสำนึกต่อพื้นที่แห่งนั้นว่าเป็นบ้านเกิด ในเมื่อบ้านของเขาคือสหรัฐอเมริกา และแม้พวกเขาจะตระหนักดีว่าสายเลือดของตนอยู่ที่ไหน แต่พวกเขาก็ดูจะพึงพอใจที่ตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้ความยากลำบาก และทุรกันดารที่ปู่ย่าตายายเคยต้องเผชิญ
ส่วน อเมริกันแอฟริกัน นั้น คือกลุ่มคนที่อพยพจากแอฟริกามาสหรัฐอเมริกาอย่างใหม่หมาด และยังคงหลงเหลือความโหยให้ต่อบ้านเกิด ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือคนรักที่พลัดพราก กล่าวคือ ตัวตนของพวกเขายังคงผูกโยงกับแอฟริกาอย่างเข้มข้น Ifemelu ตัวเอกของเรื่องก็จัดว่าอยู่ในประเภทนี้ เป็นประชากรที่พลัดหลงจากแผ่นดินอื่นมาสู่แผ่นดินใหม่ สิ่งที่เธอต้องรับมือจึงมีแต่สิ่งใหม่ อย่างเช่นการต้องมารับรู้เรื่องสีผิวของตัวเองในฐานะสิ่งแปลกปลอมในสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเธอไม่เคยรู้เลยว่าการมีผิวดำจะกลายเป็นเรื่องผิดปกติขึ้นมาได้ ซ้ำร้าย การที่ Ifemelu เป็นผู้หญิง ก็ยิ่งทวีความบอบช้ำให้กับเธอมากขึ้นไปอีก จากทัศนคติที่พร้อมกดขี่ผู้หญิงผิวดำอยู่ตลอดเวลา บดขยี้ให้เธอต้องจำยอมภายใต้อำนาจที่เพียงเธอคนเดียวไม่สามารถคัดง้างด้วยได้
Americanah คือนวนิยายที่เป็นดั่งแว่นขยายสอดส่องลงไปในพื้นที่สังคมต่างๆ ของโลก สำรวจทัศนคติมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 มีต่อประเด็นเชื้อชาติ และการเป็นผู้หญิง Adiche ได้ชี้ชวนให้เราเห็นถึงความอำมหิต และความทรมานต่อการต้องดำเนินชีวิตกับความหวาดระแวง และสายตาอันหยามเหยียดที่คอยเพ่งพินิจจับผิดอยู่ตลอดเวลา
ชีวิตมนุษย์โดยพื้นฐานนั้นเปราะบาง แต่หากวันหนึ่งเราต้องทนอยู่กับชีวิตที่ไม่เพียงจะเปราะบาง แต่ยังอัปลักษณ์ และไร้ค่าในสายตาของมนุษย์คนอื่นด้วยแล้ว ชีวิตเช่นนั้นจะหดหู่ รวดร้าว และน่าโกรธแค้นสักเพียงไหนกันครับ