คณะละครปรีดาลัยของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นคณะละครที่โด่งดังมากในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โรงละครตั้งในบริเวณเขตวังของเขาเอง เป็นย่านพาณิชย์หรูหรายุคแรกแห่งพระนคร และแหล่งที่พักอาศัยของนักคิดนักเขียนสำคัญจำนวนมาก เช่น กุหลาบ ตฤษณานนท์หรือ ‘ก.ศ.ร. กุหลาบ’ (2377-2464) เทียน วัณณาโภ หรือ ‘เทียนวรรณ’ (2385 – 2458) และขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) (2440-2523)
ละครปรีดาลัยมีเนื้อหาเป็นเรื่องประโลมโลกของชนชั้นกลาง แปลและแปลงมาจากนิยายหรือละครต่างชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดคณะละครร้องและโรงละครอีกมากมาย อย่างเช่น คณะวิลัยกรุง บันเทิงสยาม หม่อมพร้อม แม่เยื้อน[1]
เมื่ออภิสิทธิ์ชนในระบอบเก่าทยอยเสื่อมอำนาจและต้องแสวงหารายได้อันเนื่องมาจากอภิวัฒน์การปกครอง ในพ.ศ. 2476 พระนางเธอลักษมีลาวัณผู้เป็นลูกสาวจึงรื้อฟื้นคณะละคร เรียกว่า ละครปรีดาลัยใหม่[2]บ้างก็ว่ารื้อฟื้นขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงที่ภาพยนตร์และมหรสพต่างๆ หยุดชะงักลง เรียกกันว่า ‘ละครเฉลิมกรุง’ เนื่องจากเล่นที่ศาลาเฉลิมกรุง[3]
การกลับมาของละครที่ปรีดาลัยได้รับเสียงตอบรับและความนิยมอย่างดี ทั้งยังจัดแสดงเพื่อการกุศลประปรายเช่นจัดละครเก็บเงินให้กองทัพเรือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ ก่อนจะปิดตัวลงในช่วงพ.ศ. 2488-2489[4]เพราะเธอแก่ตัวลง แล้วเดินทางไปยุโรป[5]บางแห่งก็บอกว่า ละครยุติเมื่อ 2479 แล้วไปยุโรปเมื่อ 2480 เพื่อชมพิธีราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ 6 แห่งอังกฤษ[6]
ละครปรีดาลัยโปรดักชั่นลักษมีลาวัณเธอทั้งกำกับ ประพันธ์บทละคร ฝึกซ้อมตามความสามารถที่เธอมี เป็นที่น่าสังเกตว่าละครยังว่าด้วยเรื่องกรอบศีลธรรมทางเพศ ความแตกต่างระหว่างชายหญิง ปัญหาครอบครัวสมัยใหม่ผัวเดียวเมียเดียวความกังวลใจของเมียเรื่องผัวมีเมียน้อย และความปกปิดโกหกของผัวเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวหรือมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะนั้น ไปจนถึงโจมตีพฤติกรรมผู้หญิงสมัยใหม่ที่ขัดต่อศีลธรรมดั้งเดิม เช่นบทละครปรีดาลัยในนามปากกา ‘คันธะลีมาศ’ เรื่อง ‘หาเหตุหึง’ ‘เบอร์หก’ ‘ปรีดาลัยออนพาเหรด’[7]
เรื่อง ‘หาเหตุหึง’ และ ‘เบอร์หก’ ตัวละครหญิงดำเนินเรื่อง เว้นแต่ ‘ปรีดาลัยออนพาเหรด’ และ ‘กันเกินแก้’ ที่ตัวละครชายเป็นตัวละครหลัก แต่ทุกเรื่องเน้นประเด็นเพศสภาพอย่างชัดเจน
ในละคร ‘หาเหตุหึง’ เล่าเรื่องผู้หญิงขี้หึงในสังคมปิตาธิปไตยผู้พยายามจับผิดผัว และการทะเลาะบอกแว้งระหว่างผัวเมีย ซึ่งตัวละครเอกเป็นแม่บ้านที่ขี้หึงขี้ระแวง ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ และชอบประชดประชันเกรี้ยวกราด และผัวเป็นหมอที่มีพื้นที่บ้านเป็นคลินิกด้วย ซึ่งในตอนท้ายตัวละครผัวได้บอกว่ากับเมียว่า ไม่ได้มีเมียน้อยอย่างที่นางเข้าใจเพียงแต่นางได้ระแวงไปเอง ตรงกันข้ามกับเรื่อง ‘เบอร์หก’ ที่เมียเป็นหญิงฉลาดรู้จักควบคุมอารมณ์ อดทนอดกลั้นและพยายามเค้นหาความจริงว่าทำไมผัวของเธอจึงไม่กลับบ้านเมื่อคืนผัวนางแม้ว่าจะเจ้าชู้ กะล่อน แต่ก็กลัวเมีย เรื่องมันอลเวงตรงที่ตัวละครอื่นๆ คือหนุ่มๆ อีก 6 คนพยายามโกหกเธอเรื่องที่ผัวของเธอไม่กลับบ้านเมื่อคืน แม้แต่เพื่อนบ้านที่เป็นชายใฝ่ธรรมะรักษาศีล
ละครทั้ง 2 เรื่องมีฉากเดียวคือห้องรับแขกภายในบ้าน ซึ่งเผยให้เห็นชีวิตภายในคอบครัวกระฎุมพีที่พยายามรักษาระบบแต่งงานผัวเดียวเมียเดียว
เรื่อง ‘กันเกินแก้’ ว่าด้วยครอบครัวผัวเดียวเมียเดียวในพระนครของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระราชกิจเสวี (พนม) พยายามโกหกเมีย ทั้งนี้ก็เพื่อความสบายใจของเมีย ‘แม่อนงค์’ ที่เดินทางไปอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ‘เบ็ญจมาศ’ นางระบำเปลื้องผ้าแห่งโฮเต็ลอโนดาตที่เข้ามากลั่นแกล้งยั่วยิ้มพระราชกิจเสวีภายใต้การสอดรู้สอดเห็นยุ่มย่ามของแม่ยาย ‘คุณหญิงสุ่น’ ผู้ใช้อำนาจ เจ้ากี้เจ้าการสมาชิกภายในบ้าน ”ดูแลเข้าไปจนถึงรูกุญแจ…ดุยังกับเสือกับสาง โลภยังกับเสือหิว โมโหยังกับยักษ์กับมาร”[8]และ ‘เตียวลี้’ หรือ ‘ตุ้น’ ลูกชายอีกคนของแม่ยายที่ ฟุ่มเฟือย สำมะเลเทเมา และมักมากในกาม จนนำไปสู่ความเดือดร้อนปั่นป่วนไปทั้งบ้าน ลามไปถึงบ่าวไพร่ หลานและเพื่อนเก่าที่เพิ่งเดินทางมาเยือน
บทละคร 3 เรื่องนี้ไม่เพียงบอกถึงความยุ่งยากวุ่นวายภายในครอบครัวที่หมกมุ่นในความพยายามรักษาชีวิตแต่งงานและศีลธรรมแบบผัวเดียวเมียเดียว ที่ค่อนข้างฝืนใจพ่อบ้าน แต่ยังบอกเป็นนัยว่าผู้หญิงสมัยใหม่มีอำนาจในการตัดสินใจของตัวเอง เป็น “แม่พวกสมัยใหม่เจี๊ยบ”[9]เป็นหญิงที่น่ากลัว อันตราย และความเท่าเทียมทางเพศที่ผู้หญิงมีปากมีเสียงสามารถต่อรอง ดื้อรั้น ท้าทายอำนาจผู้ชายได้ ก็อาจนำมาซึ่งความโกลาหลภายในบ้านได้ทั้งของตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าชนชั้นใด ตั้งแต่ขุนนางถึงบ่าวไพร่อย่างสำราญกับเกสรคนรับใช้ใน ‘กันเกินแก้’ ที่รักใคร่กัน แต่เกสรก็คอยข่ม ดุและหึงหวงเสมอ
ความโกลาหลทั้งหมดใน ‘กันเกินแก้’ ผู้เขียนโยนความผิดไปที่ ‘แม่อนงค์’ ผู้เป็นเมียพระราชกิจเสวีในตอนท้ายเรื่องว่า เป็นเพราะเธอไม่ยอมอยู่บ้านแต่ออกไปทำธุระต่างจังหวัดหลายวัน ซึ่งนั่นเท่ากับจะสอนว่าผู้หญิงควรอยู่ติดบ้าน เฝ้าบ้านมากกว่าออกไปเถลไถลข้างนอก
ละครที่ดูจะเป็นฟอร์มยักษ์ของปรีดาลัยก็คือ ‘ปรีดาลัยออนพาเหรด’ ละครร้องและละครพูดแฟนตาซีที่พยายามแสดงทักษะเทคนิคแพรวพราวทั้งการรำ ร้องแสดง เครื่องแต่งกาย ฉาก แสงสีเสียง แม้เรื่องนี้เล่าถึงตัวละครชายนอนป่วยในโรงพยาบาลที่จิตหลุดลอยไปยมโลก แต่ก็ทำหน้าที่สะท้อนสังคมในมุมมองของเพศชายต่อความสัมพันธ์หญิงชายที่รับวัฒนธรรมชนชั้นกลางจากตะวันตกมา และวิพากษ์ถึงผู้หญิงที่มีอำนาจ เปรียบได้กับตัวละคร ‘แม่นางมฤตยู’ ที่มักคัดเลือกผู้ชายมาคอยปรนนิบัติรับใช้ แต่อย่างไรก็ตามในละครก็เผยให้เห็นว่า สุดท้ายผู้หญิงก็ย่อมไม่มีอำนาจเท่าผู้ชาย เหมือนกับตัวละคร ‘ยมบาล’ ที่มีอำนาจตัดสินพิพากษาดวงวิญญาณ กำหนดคุณค่าความหมายของคุณงามความดีและความชั่วได้ ซึ่งในเรื่องเป็นอุปมาหนึ่งเช่นเดียวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง นางพยาบาล แพทย์ และคนไข้ ที่แม้ว่านางพยาบาลจะมีอำนาจเหนือคนไข้ (ซึ่งในบทละครคือผู้ชาย) ได้ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่าแพทย์ที่เป็นผู้ชาย
เพราะในยุคสมัยนั้น นางพยาบาลเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มารองรับผู้หญิงสมัยใหม่ที่อ่านออกเขียนได้ มีความรู้วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ เพราะมิชชันนารีได้เริ่มเปิดโรงเรียนวิชาชีพพยาบาลแล้วที่เชียงใหม่ตั้งแต่ 2410 เพื่อขยายความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ และเริ่มมีโรงเรียนสอนพยาบาลในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 2439 เป็นต้นมา[10]
‘ปรีดาลัยออนพาเหรด’ วิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงสมัยใหม่ที่เริ่มรับค่านิยมวัฒนธรรมชาวตะวันตกผิวขาว ตัดสินชี้ให้เห็นว่าค่านิยมสมัยใหม่คือการผิดศีลธรรมทางเพศ เช่นนิยมอาบแดด กินเหล้า ซ้ำยังแสดงทัศนคติต่อต้านการบวชภิกษุณีของวัดนารีวงศ์อีกด้วย
ละครปรีดาลัยของลักษมีลาวัณจึงเป็นเพียงจินตนาการถึงครอบครัวสามัญชน ของหญิงชนชั้นสูงที่เต็มไปด้วยกรอบจารีตดั้งเดิม ที่เชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรมีอำนาจบทบาทเสมอผู้ชาย และการแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมียที่เป็นเรื่องปรกติของบรรดากระฎุมพี ข้าราชการ ขุนนาง เศรษฐี และอภิสิทธิ์ชน ทว่าถูกเปลี่ยนมาเป็นผัวเดียวเมียเดียวหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้ว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมทางเพศและความทันสมัย[11]แต่ถูกทำให้ปมปัญหาของบทละครทุกตัวละครต่างต้องพยายามรักษาระบบการแต่งงานครั้งใหม่นี้ การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวในละครปรีดาลัยจึงนำไปสู่ภาวะตึงเครียดภายในครอบครัวได้เช่นการซุกซ่อนเมียลับ การหึงหวงอย่างรุนแรงของผู้หญิง พฤติกรรมโกหกปิดบังความจริงของผู้ชาย ไปจนถึงความกังวลหวาดระแวงกลัวผัวจะมีเมียน้อย
โปรดิวเซอร์อย่างลักษมีลาวัณเองก็เป็นผู้ประสบภัยจากค่านิยมผัวเดียวเมียเดียว เพราะผัวเดียวเมียเดียวยังทำให้หญิงชนชั้นสูงมีโอกาสแต่งงานได้น้อยลงและยากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเธอ ซ้ำเธอยังม่ายขันหมาก ชายคนรักเธอแต่งงานกับหญิงอื่น ถ้าชายคนรักเธอไม่ยึดคติผัวเดียวเมียเดียว เธอก็คงจะมีโอกาสแต่งงาน
ด้วยเหตุนี้ ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรีของสามัญชนร่วมสมัยกับคณะละครและก่อนหน้านั้นใช้สิ่งพิมพ์ตีแผ่ปัญหาของการแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมีย โรงละครปรีดาลัยกลับใช้ละครบอกเล่าข้อเสียของการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ภูษิตา อุดมอักษรภาดา. นางมหรสพไทย: พัฒนาการทางอัตลักษณ์ของความเป็นหญิงจากมหรสพหญิงโบราณถึงมหรสพปัจจุบัน สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551, น. 307-308.
[2] ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พระนคร:บำรุงสาส์น, 2506, น. 225-226.
[3] ขุนวิจิตรมาตรา. หลักหนังไทย. นครปฐม : หอภาพยนตร์,2555, น. 206.
[4] ภูษิตา อุดมอักษรภาดา. นางมหรสพไทย: พัฒนาการทางอัตลักษณ์ของความเป็นหญิงจากมหรสพหญิงโบราณถึงมหรสพปัจจุบัน สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551, น. 316 ; ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พระนคร:บำรุงสาส์น, 2506, น. 225-226.
[5] ชัยมงคล อุดมทรัพย์. พระประวัติพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหษีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และเปิดเผยรายละเอียดการลอบปลงพระชนม์. ธนบุรี : เรืองวิทยา, 2509. น. 64-66.
[6] ลาวัณย์ โชตามระ. มเหสีเทวี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2532, น. 140.
[7] คันธะลีมาศ. บทละครพูด 3 องค์จบ เรื่อง กันเกินแก้. พระนคร : ม.ป.ท., ม.ป.ป.พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงพิมพ์แจกพระราชทานเพลิงพระศพ ม.จ. ทองต่อ ทองแถม.
[8]เรื่องเดียวกัน, น. 46.
[9]เรื่องเดียวกัน, น. 49.
[10] ณัฏฐวดี ชนะชัย. สตรีในสังคมไทยสมัยใหม่ : ศึกษากรณีสตรีซึ่งประกอบอาชีพพยาบาล (พ.ศ. 2439-2485).ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
[11] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. กว่าจะเป็น “ผัวเดียวเมียเดียว”: สังเขปประวัติความเป็นมาของกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ในสยาม พ.ศ. 2410-2478. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 35 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2557),น.1-36.
Illustration by Yanin Jomwong