‘Based on true story’
หนังสร้างจากเหตุการณ์จริงเป็นส่วนหนึ่งของโลกภาพยนตร์มาตั้งแต่มักเกิดขึ้นมา อาจจะชู้รักเรือล่มใน ‘Titanic’ ที่ใช้เหตุการณ์โศกนาฏกรรมจริงๆ มาเป็นพื้นหลังเรื่องรักอมตะของตัวละครที่ผู้ทำหนังสร้างขึ้น หรือจะ ‘Spotlight’ ที่นำขั้นตอนการทำงานอันตึงเครียดและเหนื่อยหน่ายของนักข่าวที่เปิดโปงเครือข่ายการล่วงละเมิดทางเพศในโบสถ์มาทำเป็นภาพยนตร์ที่เราไม่อาจละสายตาได้
เวอร์ชั่นล่าสุดของหนังประเภทนี้ที่ออกมาทุกๆ ปีคือ Biopic หรือหนังที่เล่าชีวประวัติของคนคนหนึ่ง อาจจะเป็นคนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ดารา หรืออาจจะคนธรรมดาที่มีห้วงเวลาในชีวิตน่าสนใจ
แต่หากลองสังเกตกระแสการตอบรับของ biopic เกือบทุกเรื่อง เรามักเห็นจังหวะการตอบรับคล้ายๆ กัน ตัวอย่างล่าสุดเช่นเมื่อ Gangubai Kathiawadi ฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในไทย ขณะที่มีกระแสแง่บวกในแง่การขับเคลื่อนสังคมและการเรียกร้องสิทธิ sex worker แต่อีกฝั่ง กระแสแง่ลบว่าเรื่องราวของคังคุไบในภาพยนตร์กับหนังสือที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลและในชีวิตจริงนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง โดยเสียงนั้นมาจากทั้งผู้ชมและคนที่บอกว่าพวกเขาเป็นลูกบุญธรรมของเธอ
เช่นนั้นแล้วการ ‘สร้างจากเรื่องจริง’ เป็นจริงขนาดไหน?
ชีวิตจริงดำเนินเรื่องไม่เหมือนหนัง
3 Act Structure หรือโครงสร้าง 3 องก์ เป็นหลักการเล่าเรื่องพื้นฐานที่แบ่งเรื่องเล่าออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือองก์ 1 คือ set up หรือการปูพื้นโลกของเรื่องที่เราจะเล่า บอกว่าตัวละครเอกเป็นใคร และเป็นองก์ที่เกิดจุดหักเหของเรื่องหรือ inciting incident ที่ทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไปยังองก์ 2 ที่เรียกว่า confrontation หรือการเผชิญหน้า เป็นส่วนที่ตัวเอกต่อสู้กับปัญหาและโดยมากจะล้มเหลว เพื่อเป็นเหตุผลให้ตัวเอกต้องพัฒนาตัวเอง สร้างความเติบโตให้แก่ตัวละคร และนำไปสู่องก์ 3 คือ resolution หรือจุดคลี่คลายที่ตัวเอกสำเร็จการเดินทางของเขาที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่องก์แรก
แม้จะมีการปรับแปลงในสูตรดังกล่าวเช่นเปลี่ยนเป็น 5 องก์บ้างหรือเขย่าเรื่องให้เวลาไม่ดำเนินเป็นเส้นตรงบ้าง สูตรก็คือสูตร และบ่อยครั้งภาพยนตร์จะเดินตามสูตรนี้โดยเฉพาะภาพยนตร์ประแสหลัก แต่ไม่ว่าเราจะเป็นคนมีชื่อเสียงหรือไม่ สิ่งที่เราเรียนรู้จากการใช้ชีวิตคือจังหวะชีวิตของเราไม่ว่าจะน่าตื่นเต้นและหวือหวาขนาดไหนมันก็ไม่เหมือนจังหวะของภาพยนตร์ ชีวิตจริงมีขึ้นและลงตามปัจจัยเล็กน้อยนับล้านรอบตัวโดยไร้แบบแผน กี่ครั้งแล้วที่เราประสบความสำเร็จวันหนึ่งแล้ววันต่อมาก็จบที่วันแย่ๆ ทันที?
ฉะนั้นจะเกิดอะไรขึ้นหากต้องปรับชีวิตของคนคนหนึ่งให้กลายเป็นภาพยนตร์? บางครั้งผู้สร้างเลือกห้วงเวลาในชีวิตของคนคนนั้นที่ใกล้เคียงกันกับโครงสร้างดังกล่าว แต่บางครั้งเมื่อผู้สร้างต้องการที่จะนำเสนอห้วงเวลาที่เจาะจงของคนคนนั้น บางครั้งการปรับเปลี่ยนห้วงเวลาในชีวิตของคนคนนั้นไปเลย ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือใน ‘Bohemian Rhapsody’ ภาพยนตร์ biopic ที่เล่าเกี่ยวกับการก่อตั้งวงดนตรี Queen ไปจนการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ของวงที่ Live Aid
ในขณะที่ชีวิตของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ (Freddie Mercury) นักร้องนำวง Queen จะมีเรื่องหวือหวามากมายอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องนำมันมาทำเป็นหนัง ชีวิตของนักดนตรีระดับตำนานคนนี้ถูกปรับเปลี่ยนในหลายๆ จุด ทั้งการเปลี่ยนเหตุการณ์ในเรื่อง ไปจนการปรับเปลี่ยนไทม์ไลน์ชีวิตเพื่อสร้างจังหวะภาพยนตร์ที่ดราม่ามากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ความล้มเหลวในโชว์แรกของวงในหนังนั้นไม่ใช่ความจริงแต่ถูกใส่เข้ามาในหนังเพื่อเป็นจุดหักเหให้วง หรือเมื่อเฟรดดี้แยกตัวจากวงไปเป็นศิลปินเดี่ยวส่งผลให้ Queen แยกทางกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ในความเป็นจริงๆ ในปี ค.ศ.1983 วงต้องการเวลาพักหลังจากการทัวร์ที่ไม่รู้จบ ไม่ใช่จากความบาดหมางภายใน ซึ่งนำมาถึงจุดที่หนังต้องการเล่าที่สุดคือคอนเสิร์ต Live Aid ที่มีหลายๆ จุดที่ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้มันเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม
Live Aid เป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในปี ค.ศ.1985 ซึ่งในเรื่องผู้สร้างวางมันเป็นโชว์แรกหลังจาก Queen ไม่ได้แสดงด้วยกันมาเป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากในความเป็นจริงพวกเขาออกอัลบั้มที่หนังข้ามไปนั่นคือ The Works ใน ปี ค.ศ.1984 ที่พวกเขามีทัวร์โปรโมตมันทั่วโลกก่อน Live Aid และสุดท้ายคือในเรื่องเมอร์คิวรี่เปิดเผยว่าเขาตรวจพบเชื้อ HIV ก่อนขึ้นเวที ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะนั้นตัวเขาเองยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคดังกล่าว และเขาตรวจพบมันในราวๆ ค.ศ.1986-1987
เพราะคนไม่ใช่ฮีโร่
บ่อยครั้งหนึ่งในจุดประสงค์ของการสร้าง biopic คือเป็นการยกย่องผู้คนที่เป็นตัวละครเอกของเรื่องนั้นๆ ในมุมใดมุมหนึ่ง อาจเล่าถึงความสำเร็จ ความพยายาม หรือคุณประโยชน์ที่พวกเขาสร้างให้แก่โลก แต่ต่างจากตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเอง ผู้สร้างไม่สามารถเขียนประวัติชีวิต การกระทำ และบุคลิกของตัวละครนั้นได้เอง และการสร้างฮีโร่นั้นอาจยากขึ้นหากคนคนนั้นมีประวัติการมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
การใส่ความไม่สมบูรณ์ (Flaw) ให้ตัวละครนั้นเป็นวิธีการการเล่าเรื่องที่ทำให้ตัวเอกเป็นมนุษย์และสร้างสัมพันธ์กับผู้ชมได้มากขึ้น เช่นตัวละครอย่างฮาน โซโล จาก Star Wars ที่มีความไม่สมบูรณ์เป็นความเห็นแก่ตัวจึงกลายเป็นตัวละครโปรดของแฟนๆ ได้ หรือในการ์ตูนโชเน็นต่างๆ โฟกัสหลักของเรื่องมักเป็นการก้าวข้ามหรือการยอมรับในความไม่สมบูรณ์ของตัวละคร ฉะนั้นการมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอาจไม่ใช่จุดจบของตัวละครนั้นโดยทันที
แต่บางครั้งพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่อาจรุนแรงเกินจะเรียกว่าความไม่สมบูรณ์ รวมถึงเรื่องเหล่านั้นอาจกระอักกระอ่วนเกินจะนำเสนอในเรื่อง โดยเฉพาะถ้าคนคนนั้นเป็นตัวละครเอกของเรื่อง และเนื่องจากการไม่สามารถเขียนตัวละครเองได้ biopic บางเรื่องมีวิธีการจัดการกับเรื่องนั้นที่น่าตั้งคำถาม
‘Straight Outta Compton‘ เป็นประวัติการก่อตั้งวงดนตรีฮิปฮอป N.W.A. ที่ประกอบด้วย ไอซ์คิวบ์ (Ice Cube), ด็อกเตอร์เดร (Dr. Dre), อีซี่อี (Eazy-E), ดีเจเยลล่า (DJ Yella) และเอ็มซีเร็น (MC Ren) โดยหนังเล่าทั้งผลกระทบที่พวกเขามีต่ออุตสาหกรรมดนตรี วัฒนธรรมฮิปฮอป และสังคมในห้วงเวลานั้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 ถึงการจากไปของอีซี่อีในปี ค.ศ.1995 เป็นเรื่องธรรมดาที่หนังยาว 2 ชั่วโมงครึ่งจะไม่สามารถเล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ จุดที่พวกเขาเลือกตัดออกก็น่าสนใจไม่น้อย
ในปี ค.ศ.1991 ด็อกเตอร์เดรมีข่าวการทำร้ายร่างกายนักข่าวหญิงดี บานส์ (Dee Barnes) โดยตามคำให้การของบานส์เขาต่อเธอหลายครั้งก่อนโยนเธอใส่ประตูห้องน้ำ ก่อนโยนเธอลงบันได โดยในขณะที่เดรได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในนักทำบีตที่มีชื่อเสียงที่สุดในอุตสาหกรรม บานส์ถูกแบล็กลิสต์ในหน้าที่การงานของเธอหลังจากคดีความนี้
เดรให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stones ว่า ‘ผมทำไปแล้ว พูดไปตอนนี้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป อีกอย่างมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมแค่โยนเธอใส่ประตูเอง’ และนี่เป็นเพียงกรณีเดียว อดีตภรรยาของเขานิโคล ยัง (Nicole Young) ที่เพิ่งสำเร็จการหย่าร้างจากเขาในปี ค.ศ.2021 กล่าวว่าเธอเคยโดนเดรนำปืนจ่อที่ศีรษะสองครั้งในความสัมพันธ์
การตัดเหตุการณ์นี้ออกจากเรื่องยิ่งดูน่าตั้งคำถามมากขึ้นเมื่อเรามองไปยังชื่อโปรดิวเซอร์ของหนังแล้วพบชื่อของเดรอยู่ในนั้น
เรื่องจริงที่ไม่สะท้อนตัวตน
แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่หนังเรื่องเดียวจะเล่าชีวิตของคนทั้งหมดโดยไม่ตัดอะไรออกไปเลย การเลือกห้วงเวลาที่จะหยิบยกออกมาเป็นหนังสักเรื่องจึงสำคัญอย่างมาก แต่บ่อยครั้งที่ห้วงเวลานั้นๆ แม้จะมีอยู่จริง มันอาจไม่สะท้อนตัวตนของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์
‘Green Book’เล่าเรื่องของ แอนโธนี วาเลลองก้า หรือ ลิป (Anthony “Lip” Vallelonga) การ์ดชาวอิตาเลี่ยนที่ถูกจ้างให้เป็นคนขับรถและบอดี้การ์ดโดยนักเปียโนคลาสสิคอัจฉริยะดอน เชอร์ลี (Don Shirley) เพื่อทัวร์คอนเสิร์ตในตอนใต้สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1962 ที่การเหยียดสีผิวยังแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่นั้นของประเทศ โดย Green Book ชนะรางวัลออสการ์ทั้งจากการแสดงสมทบของมาเฮอร์ชาลา อาลี (Mahershala Ali) บทยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
แต่เสียงตอบรับจากการชนะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปในแง่บวกทั้งหมด เนื่องจากในสายตาผู้ชมส่วนมากมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนัง White Savior ที่คนที่อยู่ชายขอบโดนใช้เป็นเพียงเครื่องมือในการเติบโตของคนขาวในเรื่อง ในกรณีนี้คือการใช้นำดอน เชอร์ลี นักดนตรีผิวดำที่ถูกยกย่องที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือการให้คนขาวคนหนึ่งหยุดเหยียดสีผิว และนั่นไม่ใช่แค่ชาวเน็ตที่พูด แต่เป็นครอบครัวของเชอร์ลีเอง
‘สิ่งที่กวนใจครอบครัวของเรามากที่สุดคือหนังโฟกัสที่คนขาวที่เหยียดเชื้อชาติมากๆ และในตอนจบก็ยังเหยียดอยู่…แน่นอนว่าครอบครัวของเรายึดมั่นในความสามารถของคนผิวดำ (black excellence) และความภูมิใจในครอบครัว เราเกรงว่าผู้กำกับผิวขาวคนนี้นำเสนอมุมมองของคนคนเดียว’ แครอล เชอร์ลี คิมเบิล (Karole Shirley Kimble) หลานสาวของดอน เชอร์ลีกล่าวเกี่ยวกับหนังที่เขียนบทโดยลูกชายของลิป นิค วาเลลองก้า (Nick Vallelonga)
นอกจากนั้น Green Book ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ผ่านการปรึกษาครอบครัวของเชอร์ลีเลย ซึ่งนำไปสู่การเขียนตัวละครของเชอร์ลีที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยในหนังเชอร์ลีมีลักษณะของคนที่ห่างไกลจากคนรอบตัวโดยเฉพาะกับครอบครัวของเขา ซึ่งครอบครัวเชอร์ลีปฏิเสธการตีความนี้โดยสิ้นเชิง กล่าวว่า ‘ในทุกก้าวที่เขาเดิน ครอบครัวไปกับเขา’ และเล่าว่าเชอร์ลีติดต่อกับครอบครัวตลอดเวลาจนเขาเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.2013
แม้ว่าผู้สร้างจะเขียนเรื่องนี้มาด้วยความหวังดี กระแสตีกลับมาจากการเลือกเล่าเรื่องนี้ ในขณะที่มีเรื่องอื่นๆ ของดอน ผู้ที่ได้รับการยกย่องทั้งในความสามารถในการเล่นดนตรี ไปจนความสำเร็จเช่นการเป็นนักดนตรีผิวดำคนแรกที่ได้แสดงใน La Scala โรงโอเปร่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น และกระแสโต้กลับยิ่งทวีคูณเมื่อมันได้รางวัล เพราะนี่อาจเป็นภาพจำแรกและภาพเดียวของหลายๆ คนจะได้เห็นดอน
ทั้งนี้ทั้งนั้น biopic เองไม่ได้เป็นสิ่งไม่ดีอย่างสมบูรณ์แบบ เรื่องราวที่ต้องการสื่อสารนั้นอาจเป็นเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจและขับเคลื่อนบางอย่างในสังคมได้
เพียงแต่เราอาจต้องใช้สายตาในการมองมันเป็นภาพยนตร์ที่เป็นการตีความหนึ่งของชีวิตคนคนหนึ่ง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริงที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งอะไรเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก