ช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ คนดูหนังน่าจะเห็นกันว่าจะหนังแบบแมสๆ หรือ หนังสายรางวัลที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในไทย มีความยาวเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าสมัยก่อน จากเดิมทีที่ภาพยนตร์มักจะถูกตัดต่อให้มีความยาวอยู่ราวๆ 90 – 120 นาที
ความยาวประมาณสองชั่วโมงนั้น เป็นผลพวงมาจากแนวคิดด้านการตลาดที่ว่า ถ้าภาพยนตร์ได้รับความนิยมและมีจำนวนเวลาการฉายที่สั้น ก็จะสามารถเปิดรอบฉายได้มากขึ้น รวมถึงผู้ชมส่วนใหญ่มักจะมีสมาธิในการจดจ่อเรื่องราวใดๆ ไม่ได้ยาวมากนัก
แต่ถ้าเราย้อนไปมองในอดีตนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการสร้างภาพยนตร์ หรือช่วงยุค 1900-1910 จะพบว่าภาพยนตร์ยุคนั้น โดยส่วนใหญ่มีความยาวไม่เกิน 15 นาที มีเพียงแค่ไม่กี่เรื่องที่มีความยาวเกินกว่านั้น เนื่องจากฟิลม์ในยุคแรกต้องใช้ความยาวเป็นฟุต (อันเป็นที่มาของคำว่าฟุตเตจ) การจะหิ้วทั้งฟิล์มกับเครื่องฉายยังไม่ใช่อะไรที่ทำได้โดยง่าย
จนกระทั่งคนทำหนังในยุคนั้นมีความทะเยอทะยาน อยากจะสร้างสื่อใหม่ให้กลายเป็นสถานที่แสดงฝีมือของพวกเขา ทำให้มีคนเริ่มทำภาพยนตร์ขนาดยาวออกมาฉายบ้าง อย่างเช่นภาพยนตร์อิตาลีเรื่อง ‘Quo Vadis’ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ในช่วง ปี ค.ศ. 1913 ด้วยการเซ็ตฉากถ่ายทำแบบอลังการ มีฉากแอคชั่นให้รับชม มีนักแสดงและตัวประกอบระดับพันคน และความยาวของภาพยนตร์ที่ทำให้ตัวหนังมีความยาว 120 นาที
เพราะเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน การฉาย ‘Quo Vadis’ จึงแตกต่างไปจากเดิมด้วยการที่เปิดฉายในโรงละครที่มีที่นั่ง เพื่อให้คนดูสามารถรับชมจนจบตลอดความยาวสองชั่วโมง แม้จะใช้เวลารับชมนานนขึ้น แต่คนดูก็คุ้นเคยกับการรับชมการแสดงความยาวแบบเดียวกับละครเวที ทำให้ภาพยนตร์จากอิตาลีได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีคนทำหนังอีกหลายคนทำตามรอย และมีโรงละครหลากแห่งเรี่มฉายหนังควบไปด้วย หรือไม่ก็สร้างอาคารใหม่เพื่อฉายภาพยนตร์โดยเฉพาะ เพื่อรองรับกระแสการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
หรือหากพูดในอีกมุมหนึ่ง ภาพยนตร์ Quo Vadis ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ช่วยเซ็ตเทรนด์ของการทำภาพยนตร์ Blockbuster แบบที่เราพบเจอเป็นธรรมดาในปัจจุบันนั่นเอง
นอกจากความต้องการของคนทำหนัง กับ คนดู และ การตลาดแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้ภาพยนตร์มีความยาวเพิ่มขึ้นก็คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่การถ่ายทำต้องใช้ฟิล์มขาวดำ แล้วก็มีพัฒนามาเป็นการเก็บเสียงในฟิล์ม ก่อนจะกลายเป็นฟิล์มสี และกลายเป็นดิจิทัล ทำให้การถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีความยาวมากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดายิ่งขึ้น
แล้วพอมาถึงในยุคที่บริการรับชมรายการแบบออนไลน์สตรีมมิ่งกลายเป็นเรื่องสามัญประจำบ้าน จึงมีภาพยนตร์บางเรื่องกล้าออกฉายยาวขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่ต้องคำนึงถึงรอบการฉายอีกต่อไปแล้วนั่นเอง
ส่วนเรื่องที่เราจะมาคุยกันในวันนี้ ก็คือภาพยนตร์ที่มีความยาวจนเกินเลยนั่นเอง แต่เราขออนุญาตตัดส่วนของภาพยนตร์ทดลอง (Experimental Film) ออกไป เพราะหนังกลุ่มนี้ บางเรื่องตั้งใจทำมาเพื่อทดลองการถ่ายทำภาพยนตร์ อย่างเช่น ภาพยนตร์ ‘Logistics’ ที่มีตัวอย่างยาว 7 ชั่วโมง 20 นาที และตัวภาพยนตร์เต็มๆ มีความยาว 857 ชั่วโมง หรือ 35 วัน กับ อีก 17 ชั่วโมง จนมีการฉายทั้งเรื่องอยู่แค่ไม่กี่ครั้ง
และบางเรื่องตั้งใจทำมาเพื่อเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม อย่างเช่น ภาพยนตร์ ‘Paint Drying’ จากประเทศอังกฤษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตั้งใจกวนบาทา คณะกรรมการตรวจสอบจัดประเภทภาพยนตร์อังกฤษ (British Board of Film Classification – BBFC) ด้วยการถ่ายภาพการทาสีบนกำแพง และรอจนกว่าสีจะแห้ง จนทำให้ภาพยนตร์มีความยาว 607 นาที หรือ 10 ชั่วโมง 7 นาที ที่คณะกรรมการต้องนั่งดูตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
หนังย้าวยาวที่เราจะนำมาพูดถึงนั้นจะเป็นกลุ่มภาพยนตร์ที่จบในเรื่องเดียว ไม่ใช่กลุ่มที่ต้องดูต่อเนื่องกันหลายภาค (ขออภัยแฟน Avengers, Lord Of The Rings, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรด้วยครับ) รวมถงมีความตั้งใจที่จะทำเป็นภาพยนตร์สำหรับออกฉายแบบคาดหวังรายได้ แม้ว่าจะได้กำไรหรือไม่ก็ตาม และหวังว่านักอ่านทุกท่านที่เห็นลิสต์หนังเหล่านี้แล้วจะเลือกไปรับชมในช่วงวันหยุดกันนะ
สุริโยไท ความยาว 185 นาที
ก่อนที่เราจะเดินทางสู่ภาพยนตร์ต่างชาติที่มีความยาวกันสาแก่ใจ เราก็อยากจะพูดถึงภาพยนตร์ไทยกันก่อน ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงภาพยนตร์อย่างตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิดมากนัก เพราะสามภาคแรกของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีความยาวเกิน 150 นาที แต่สามภาคหลังจะสั้นกว่า แต่เพราะในที่นี่เราไม่ได้พูดถึงภาพยนตร์ที่ฉายต่อกันหลายภาค เรื่องนี้จึงขอยกเอาไว้ก่อน
โดยส่วนใหญ่แล้วภาพยนตร์ไทยที่มีความโดดเด่นมักจะมีความยาวของเวอร์ชั่นปกติไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่าไหร่นัก อาทิ รักแห่งสยาม ความยาว 150 นาที, ฟ้าทะลายโจร มีความยาว 148 นาที, ชั่วฟ้าดินสลาย มีความยาว 132 นาที, บางระจัน มีความยาว 127 นาที, นางนาก 100 นาที หรือ สารคดี BNK48: Girls Don’t Cry ก็มีความยาว 147 นาที
และภาพยนตร์แบบเรื่องเดียวจบที่มีความยาวมากที่สุดนับตั้งแต่ฉบับที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ก็คือภาพยนตร์ ‘สุริโยไท’ ที่ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับและร่วมเขียนบท ตัวหนังนั้นโฟกัสไปที่การเล่าเรื่องราวของ พระสุริโยไท นับตั้งแต่วัยเยาว์ ตราบจนการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่พระองค์ทรงกระทำการยุทธหัตถีที่ลงเอยด้วยการพลีชีพ จนกลายเป็นรักษาความสงบสุขของอาณาจักรอยุธยาเอาไว้ได้
ภายพนตร์ใช้ทุนสร้างราว 350 ล้านบาท และใช้เวลาสร้างอยู่ราวห้าปีก่อนจะเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ในมุมหนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นการเชิดชูเกียรติของพระสุริโยไทให้ชาวไทยสมัยใหม่ได้เข้าใจกันง่ายผ่านภาพยนตร์ แต่ก็มีมุมมองอีกทางหนึ่งว่าการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการกระตุ้นภาวะชาตินิยมให้เพิ่มมากขึ้น เพราะภาพยนตร์ไทยที่ฮิตในช่วงก่อนหน้านั้นจะเล่าเรื่องในแง่มวลชนมากขึ้น และเพื่อป้องกันอิทธิพลจากชาติตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีผลต่อผู้คนในประเทศหลังช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง
ทั้งนี้ความยาว 185 นาที หรือ 2 ชั่วโมง 35 นาที นั้นเป็นความยาวฉบับปกติที่ฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทย แต่ภาพยนตร์นี้ยังมีฉบับอื่น ทั้งฉบับความยาว 142 นาที สำหรับการถ่ายต่างประเทศ กับความยาว 300 นาที ที่ถูกระบุว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ที่มีการฉายและจำหน่ายในรูปแบบ DVD อีกด้วย
กระนั้นถ้าหากจะนับเอาภาพยนตร์ฉบับ Director’s Cut เรื่องอื่นๆ ก็จะมีภาพยนตร์ไทยความยาวใกล้หลัก 3 ชั่วโมง ปรากฏขึ้นมาอีกพอสมควร อาทิ รักแห่งสยาม ที่จะมีความยาว 178 นาที กับ ชั่วฟ้าดินสลาย ที่จะมีความยาว 190 นาที เป็นอาทิ
Titanic ความยาว 195 นาที
พูดถึงภาพยนตร์เรื่องเดียวที่มีความยาวมาก หลายท่านน่าจะนึกถึง ‘Titanic’ ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของคู่รักในเรือขนาดใหญ่ที่อัปปางกลางมหาสมุทรแอตแลนติกทั้งที่เพิ่งออกเดินเรือเป็นครั้งแรกของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ขึ้นมาอย่างแน่นอน อาจจะเป็นเพราะคนดูรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของตัวเรือ กับการที่ภาพยนตร์ยืนโรงฉายในประเทศไทยยาวนานเกินสี่เดือน
แต่ความยาวของภาพยนตร์นั้น อยู่ที่ 3 ชั่วโมง 15 นาที ที่อ่านแล้วอาจจะดูยาวไม่เบา แต่ถ้าหากเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่เราจะพูดถึงต่อๆ ไปนั้น บอกได้เลยว่า ความรักของ Jack Dawson กับ Rose Ruby นั้นเป็นชั่วเวลาที่ไม่ยาวนานมากนัก
เหตุผลที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมายาวได้ในยุคที่บริษัทผู้ออกเงินทุนผลิตภาพยนตร์อยากให้ทำหนังความยาวไม่เกินสองชั่วโมงมากกว่านั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากตัวของผู้กำกับเอง อย่างแรกก็คือ การที่ตัวผู้กำกับควบโปรดิวเซอร์ควบคนเขียนบท ตั้งใจจะทำฉากภายในเรือให้มีความใกล้เคียงความจริงที่สุด ทั้งยังมีการเดินเรื่องให้เห็นในพื้นที่หลายส่วนของเรือ จึงมีความจำเป็นจะต้องสร้างฉาก หรือถ้าพูดให้ถูกคือจำลองภาพภายในเรือขนาดใหญ่ขึ้นมา เลยทำให้งบการสร้างนั้นสูงใช้เล่น เมื่อรวมฉากที่ใช้น้ำเข้ามาก็ยิ่งทำให้งบทะลุทะลวงเกินจำเป็น
พอต้นทุนเยอะค่ายหนังก็อยากจะให้ตัดต่อหนังสั้นลงจะได้รอบฉายมากขึ้น แต่ก็เป็นเจมส์ที่ไปงัดข้อกับเจ้าของเงิน และต่อรองจนสามารถเก็บความยาวหนังที่เขาต้องการเอาไว้ แล้วก็โชคดีที่ผลลัพธ์ลงเอยด้วยสำเร็จอย่างมหาศาลจนทุกฝ่ายพึงพอใจ
ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่า หากตัดเนื้อเรื่องในโลกยุคปัจจุบันกับเครดิตท้ายเรื่องไป หนังจะมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง 40 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาเท่ากับช่วงเวลาที่เรือไททานิกล่มลงไปสู่ใต้ผิวสมุทรโดยบังเอิญ
The Irish Man ความยาว 209 นาที
Martin Scorsese เป็นผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่สร้างภาพยนตร์ชื่อดังจำนวนมากให้ชาวโลกได้รับชม ทั้งหนังดัง หรือ หนังดับ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจของมาเฟีย ไปจนถึงภาพยนตร์แนวผจญภัยสำหรับครอบครัว ไปจนถึงภาพยนตร์รีเมกจากบทภาพยนตร์ของประเทศอื่น
และยิ่งเขามีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็เริ่มทำภาพยนตร์ที่มีความยาวมากขึ้น ตั้งใจเล่าเรื่องให้มีอารมณ์ศิลป์มากขึ้น อย่างเช่น ‘The Wolf of Wall Street’ ที่ฉายในปีค.ศ. 2013 มีความยาว 180 นาที หรือ ‘Silence’ ที่ออกฉายครั้งแรกในปีค.ศ. 2016 มีความยาวราว 161 นาที แล้วก็อย่างที่เราบอกไว้ข้างต้นว่าในปัจจุบันนั้นการรับชมรายการผ่านบริการออนไลน์สตรีมมิ่งเยอะขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Irish Man’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 2019 จึงมีความยาวถึง 209 นาที หรือ 3 ชั่วโมง 29 นาที
และความยาวของตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นการยืดเรื่องให้ยาวอย่างไม่มีเหตุผล แต่เป็นผลพวงจากการที่ดัดแปลงหนังสือ I Heard You Paint Houses ซึ่งเป็นการเล่าชีวิตของ Frank Sheeran นับตั้งแต่ยุค 1950 นับตังแต่แรกเข้ามาทำงานกับตระกูล Bufalino ที่เป็นมาเฟีย ก่อนที่จะกลายเป็นคนสนิทของ Jimmy Hoffa ผู้ใหญ่โตในฝั่งสหภาพแรงงานที่่มีความสัมพันธ์กับเหล่ามาเฟีย
ด้วยความที่ชีวิตของคนกลุ่มนี้ ต้องผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายที่เกิดขึ้นในกาลเวลา ทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก อย่างเช่น การที่ John F. Kennedy ได้เป็นประธานาธิบดีในยุค 1960 หรือการอภัยโทษ Richard Nixon ในปีค.ศ. 1971 ส่งผลกระทบต่อสังคมอเมริกาและสมาชิกของกลุ่มอาชญกรรมต่างๆ อย่างไรกันบ้าง รวมไปถึงการตัดเหลี่ยมของเหล่ามาเฟีย ก่อนที่เรื่องจะสิ้นสุดลงด้วยช่วงท้ายของชีวิต Frank Hoffa ในยุค 2000
ความยาวของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการตั้งใจที่จะเล่าชีวิตกับความสัมพันธ์อันซับซ้อนของคนที่เกี่ยวข้องกับสังคมมาเฟีย กับอีกส่วนหนึ่งคือการที่เราได้เห็น Martin Scorsese ได้นำพาเอานักแสดงรุ่นเก๋าที่บางคนเกษียนตัวเองไปแล้วกลับมารวมตัวกันเพื่อสร้างงานระดับมาสเตอร์พีซนั่นเอง
Cleopatra ความยาว 248 นาที
ย้อนไปในช่วง 1950-1970 หรือปลายฮฮลลีวูดในยุคทอง ก่อนที่โทรทัศน์จะกลายเป็นสินค้าที่ราคาจับต้องได้โดยง่าย ภาพยนตร์ถือว่าเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วทั้งโลก การสร้างภาพยนตร์ในยุคนั้นจึงมีหลายเรื่องที่ความยาวทะลุ 2 ชั่วโมงอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น ‘The Ten Commandments’ ฉบับปีค.ศ. 1956 หรือ ‘Ben-Hur’ ฉบับปีค.ศ. 1959 แต่ถ้าให้ยกว่าภายนตร์ในช่วงนั้นที่มีความยาวจนน่าพูดถึง เราก็ต้องขอยกให้ภาพยนตร์เรื่อง ‘Cleopatra’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1963
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นการตีความข้อมูลประวัติศาสตร์ของ พระนางคลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์ ราชินีแห่งอียิปต์โบราณ และเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของราชวงศ์โตเลมี ซึ่งได้ดาราดังสาวของยุคอย่าง Elizabeth Taylor มารับบทเป็นราชินีผู้เลอโฉม ทรงอำนาจกับกำลังทรัพย์ จนทำให้มีชายหลายคนที่ประสงค์จะครองใจ ซึ่งราชินีไอยคุปต์ก็มีทั้งมอบใจให้คนรักอย่างจริงจัง ก่อนจะพลิกมาใช้คนที่หลงเสน่ห์เธอในการต่อรองเกมอำนาจ ก่อนที่เรื่องราวจะนำพาไปสู่ฉากสุดท้ายของราชวงศ์โตเลมีและชีวิตของเธอเอง
การสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘Cleopatra’ นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในยุคนั้นเลยทีเดียว เพราะนอกจากดารานำหญิงแล้ว ดาราสมทบชายคนอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นดารามีชื่อ ฉากของภาพยนตร์ก็เป็นการสร้างขึ้นจริง แถมยังต้องสร้างฉากส่วนหนึ่งถึงสองรอบเนื่องจาก Elizabeth Taylor ป่วยระหว่างถ่ายทำ จนหนังเรื่องนี้มีงบบานปลายระดับที่เกือบทำให้ 20th Century Fox ล้มละลาย ณ ช่วงนั้น
เรื่องราวของคลีโอพัตราพระองค์นี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์คนอื่นอย่าง จูเลียส ซีซาร์ กับ มาร์ก แอนโทนี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีแม้จะไม่ได้ติดตามประวัติศาสตร์ของของอียิปต์โบราณกับโรมันอย่างละเอียดก็ตามที เลยทำให้หนังจำเป็นต้องยาวเพื่อให้เล่าเรื่องราวให้ครบถ้วน
กระนั้นความยาวที่ปรากฏในหนังก็ไม่ใช่ความยาวที่ผู้กำกับ Joseph L. Mankiewicz ต้องการ เพราะตัวผู้กำกับอยากให้แยกภาพยนตร์เป็นสองภาคเป็นส่วน ‘Caesar And Cleopatra’ และ ‘Anthony And Cleopatra’ แต่ทางค่ายหนังไม่ต้องการแบบนั้น จึงถูกปรับแก้ให้หนังสั้นลงพอที่โรงภาพยนตร์จะอยากนำไปฉาย ตามมาด้วยการตัดทอนหนังให้สั้นลงอีกเล็กน้อยเพื่อฉายโรงอีกรอบหนึ่ง ก่อนจะมีฉบับ Director’s Cut ที่มีความยาว 5 ชั่วโมง 20 นาที ออกมาจำหน่ายในภายหลัง แต่ฉบับที่หารับชมได้กับคนที่เคยดูในโรงคุ้นเคยจะมีความยาวยั้งอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง
ถึงหนังจะยาวขนาดนี้ แต่นักแสดงหลายคนรวมถึงตัว Elizabeth Taylor เองกลับบอกว่า ส่วนของภาพยนตร์ที่โดนทางค่ายหนังตัดออกไปนั้น ทำลายหัวใจของหนังเรื่องนี้ไปไม่น้อย และแทบจะเป็นไปไม่ได้ว่าเราจะมีโอกาสได้รับชมวิสัยทัศน์เดิมที่ทีมนักแสดงกับผู้กำกับอยากนำเสนอ จนชวนเสียดายว่าถ้ายอมตัดภาพยนตร์ออกเป็นสองภาค ตัวหนังอาจจะมีกำไรมากยิ่งกว่าที่หนังทำได้ด้วยการรวมกันเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียว
O.J.: Made In America ความยาว 467 นาที
เรากระโดดข้ามแนวมาคุยถึงภาพยนตร์สารคดีกันบ้าง ความจริงแล้วภาพยนตร์ที่มียาวนั้น อยู่ในฟากของสารคดีมากกว่าเสียอีก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก ด้วยเหตุที่ว่าสารคดีหลายต่อหลายเรื่องใช้เวลาการถ่ายทำกันเป็นปี และบางประเด็นนั้นก็มีสาระมากเกินกว่าที่ทีมงานสร้างจะตัดต่อส่วนดังกล่าวทิ้งไป แล้วเลือกที่จะปรับเปลี่ยนไปฉายเป็นซีรีส์สารคดีเสียมากกว่า
กระนั้นก็มีสารคดีบางเรื่องที่มีความมุ่งมั่นจะแสดงเนื้อหาของตัวเองทั้งหมดในฉบับภายนตร์ และภาพยนตร์สารคดี ‘O.J.: Made In America’ ก็คือหนึ่งในภาพยนตร์เหล่านั้น
สารคดีที่ทาง ESPN Films บริษัทผู้สร้างรายการแนวกีฬาชื่อดังเป็นผู้สร้างนี้ก็ตัดสินใจจะเล่าเรื่องราวของ O.J. Simpson นับตั้งแต่ชีวิตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของชายหนุ่มผิวสีคนนี้เริ่มต้นขึ้น จนถึงวันที่เขากลายเป็นนักวิ่งที่ฝีมือฉกาจที่สุดใน NFL ระดับคว้ารางวัล MVP มาครอง และเมื่อเขาเกษียนตัวเองจากการเป็นนักกีฬา เขาก็กระโดดเข้ามาในวงการบันเทิงแบบชัดเจน
แต่เรื่องราวดุจวีรชนก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดเหตุคดีฆาตกรรม Nicole Brown อดีตภรรยาของ O.J. และ Ronlad Goldman ที่เป็นคู่รัก ถูกฆาตกรรมภายในบ้านของฝ่ายหญิง ในช่วงดึกของวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1994 และ O.J. Simpson ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยแทบจะทันที ด้วยเหตุผลที่มีหลักฐานกับพยานแวดล้อมที่ชี้เป้าไปว่าอดีตสามีนั้นเป็นคนก่อเหตุ
แต่ O.J. ก็ไม่ได้ยอมให้ถูกควบคุมตัวแบบง่ายดาย นับตั้งแต่การจับเพื่อนเป็นตัวประกันเพื่อให้ขับรถหลบหนีการจับกุมจากตำรวจ ซึ่งกลายเป็นข่าวเด็ดระดับที่การแข่งบาสเกตบอล NBA ในวันนั้นยังถูกเบียดเรตติ้ง และเมื่อ O.J. ยอมมอบตัวเพื่อสู้คดี เขาก็ได้ใชัพลังเงินตราในการจัดตั้งทีมทนายระดับท็อปมารวมตัวกัน จนสื่อในยุคนั้นเรียกทนายชุดดังกล่าวว่า ‘ดรีมทีม’
ทิศทางของการสู้คดีนั้นก็มุ่งหน้าไปในแนวทางว่า ตำรวจนักสืบที่ทำคดีของ O.J. มีพฤติกรรมในการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว จึงมีโอกาสที่จะดำเนินคดีแบบไม่เป็นธรรม กลายเป็นว่าคดีนี้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนขณะลูกขุน หรือแม้แต่ผู้พิพากษา ให้มีอัตราส่วนที่จะเหยียดเชื้อชาติกับสีผิวให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อคดีดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วยการประกาศว่า O.J. กลายเป็นผู้บริสุทธิ์เพราะหลักฐานไม่สามารถมัดตัวได้ ก็เกิดกระแสสังคมตั้งคำถามว่า คนมีเงินจะรอดตัวจากเรื่องร้ายแรงต่อไปหรือไม่ กระแสสังคมที่ว่านั้นก็มีทั้งการพูดคุยข่าวสารในสื่อต่างๆ ไปจนถึงการจราจลของกลุ่มคนที่คอยติดตามข่าวนี้
เรื่องราวก็ไม่ได้จบลงด้วยการที่ O.J. นั้นต้องเสียทรัพย์สินไปจำนวนมาก ทั้งเพื่อการว่าจ้างทนาย และการบริจาคเงินให้ครอบครัวของอดีตภรรยาย ด้วยเหตุว่าชีวิตของ O.J. ยังดำเนินต่อไปจนถึงจุดที่เขากับพวกอีกห้าคนได้ตัดสินใจบุกเข้าปล้นของมีค่าจากวงการกีฬาที่เจ้าตัวยืนกรานว่าเป็นรางวัลกับอุปกรณ์ที่โดนขโมยไป จนทำให้ในที่สุดชายคนที่เคยรอดคุกจากคดีหนึ่ง มาลงเอยที่เรือนจำจากอีกคดีหนึ่ง
ด้วยเรื่องราวจำนวนมากที่เกิดขึ้น กินเวลาราว 35 ปี จึงไม่แปลกนักที่เนื้อหาของภาพยนตร์จะมีความยาวอย่างมาก มิหนำซ้ำชื่อเรื่องก็ยังสะท้อนความเป็น ‘อเมริกา’ ได้อย่างดี ทั้งแนวคิดที่ว่า อเมริกันชน ทุกผิวสี ทุกเชื้อชาติ สามารถทะยานไปเป็นคนสำคัญของสังคมได้ แต่ในขณะเดียวกันอเมริกาก็ยังมีการเหยียดเชื้อชาติกับเหยียดผิวที่รุนแรง และการหาซื้อปืนนั้นก็ดูไม่ยากเย็นเลยแม้แต่น้อย
ตัวภาพยนตร์สารคดีนั้นเริ่มต้นจากการฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ ตามมาด้วยการฉายแบบจำกัดโรง และด้วยความยาวกว่า 7 ชั่วโมง 47 นาที ทำให้ในการฉายตามโรงภาพยนตร์นั้นต้องมีช่วงพักเบรคระหว่างการฉายถึงสองครั้ง ก่อนที่สารคดีดังกล่าวจะถูกตัดต่อเป็นมินิซีรีส์ความยาวจำนวน 5 ตอน เพื่อฉายทางสถานีโทรทัศน์ ABC กับ ESPN โดยมีการเซ็นเซอร์ภาพที่รุนแรงบางส่วนไป ก่อนที่ตัวภายพนตร์จะกลับมาฉายอีกครั้งในบริการออนไลน์สตรีมมิ่ง
และถึงภาพยนตร์จะมีความยาวพอๆ กับเวลานอนหลับของใครหลายคน แต่ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นก็ทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป รวมถึงสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีมาครองได้อีกด้วย
Evolution of a Filipino Family ความยาว 593 นาที
ในขณะที่ภาพยนตร์ปกติ พยายามจะเดินเรื่องให้กระชับฉับไว หรืออาจจะมีการปล่อยให้เนิบนาบบ้างตามเป้าประสงค์ของผู้กำกับ แต่จะมีภาพยนตร์ประเภทหนึ่งที่ตั้งใจจะเล่าเรื่องอย่างแช่มช้า ตั้งใจถ่ายฉาก Long Take แบบต่อเนื่อง ปล่อยให้ภาพไหลไปโดยไม่มีคำบรรยาย ซึ่งภาพยนตร์แนวดังกล่าวเรียกว่า Slow Cinema
ด้วยความตั้งใจที่จะปล่อยฉากให้ดำเนินไปยาวๆ จึงทำให้หนังแนวนี้มีความย้าวยาวโดยธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Solaris ของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ที่เพิ่งมีโอกาสมาฉายในประเทศไทยเมื่อปี 2019 นี้ เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟผสมกับเรื่องราวจิตวิทยาที่ผู้กำกับตั้งใจเดินเรื่องชั่วโมงแรกให้หน่วงเพื่อสร้างบรรยากาศและไล่คนดูที่ทนไม่ไหวออกไปด้วย
แต่เราไม่แน่ใจนักว่าผู้กำกับอีกท่านหนึ่งตั้งใจทำหนังแนว Slow Movie เพื่อให้คนดูที่ทนไม่ไหวต้องเดินออกจากโรงหรือเปล่า แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ Lav Diaz ผู้สร้างหนังชาวฟิลิปปินส์ที่นิยมทำหนังแนวดังกล่าว เพื่อบอกเล่าปัญหาในเชิงสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตัวเองเอง และภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขารับหน้าที่เป็นผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์, คนเขียนบท และ คนตัดต่อเอง นั้นก็มักจะมีความยาวอย่างน้อย 200 นาที หรือถ้าพูดติดตลกว่า หากภาพยนตร์แข่งขันกันด้วยความยาวเป็นหลักแล้ว ผู้กำกับท่านนี้น่าจะได้แชมป์ระดับโลกไปแบบไม่ยากเย็นนัก
ผลงานที่ยาวที่สุดของผู้กำกับคนนี้ก็คือ ‘Evolution Of A Filipino Family’ ผลงานภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวเกษตรกรรมในท้องถิ่นฟิลิปปินส์ในช่วงปีค.ศ. 1971-1987 ที่ต้องดิ้นรนไม่ให้ล่มสลายลงไป ตัวภาพยนตร์ที่มีความยาวอย่างมากนั้น เพราะมีการตั้งใจเล่าชีวิตของเกษตรกรโดยละเอียด ทั้งในแง่ความน่าเบื่อในการทำงาน ความสุขในการอาศัยอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็มีความพิสดารเกิดขึ้นเมื่อตัวละครเกษตรกรนั้น รับเอาเรื่องที่เกิดในละครวิทยุมาเป็นภาพในจินตนาการที่เรียบง่ายแต่ก็พิสดาร อีกทั้งยังมีการผสมภาพจากข่าวในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ทำให้ตัวหนังที่แม้ว่าตัวภาพจะเป็นหนังขาวดำ มีน้ำหนักชวนคนดูหน่วงอยู่ไม่น้อย
ถึงแม้หนังจะมีความยาวราว 10 ชั่วโมง แต่ตัวผู้กำกับ Lav Diaz ก็ยังเคยนำเอาภาพยนตร์ฉบับความยาว 11 ชั่วโมงมาฉายด้วย ทั้งนี้ตัวภาพยนตร์ได้รับรางวัลในบ้านเกิดจากเวที Gawad Urian Award ทั้งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม นั่นพอจะบอกได้ว่าแม้ภาพยนตร์จะยาวแต่ก็มีคนที่เข้าถึงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
Resan / The Journey ความยาว 873 นาที
อาจจะยากสักหน่อยที่จะพูดถึงภาพยนตร์ที่ออกฉายแบบคาดหวังรายได้และมีความยาวมากที่สุด เนื่องจากตัวภาพยนตร์ ‘Resan’ หรือ ‘The Journey’ ที่ผู้สร้างพาตัวเองเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งชาติใหญ่ๆ อย่างอเมริกา, สหภาพโซเวียต (ณ ตอนนั้นยังไม่ล่มสลาย), ญี่ปุ่น และประเทศขนาดเล็ก อย่าง โมซัมบิก และหมู่เกาะโพลินิเซีย
การเดินทางของภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการรวบรวมข้อมูลของการใช้เงินของกองทัพในแต่ละประเทศที่ต้องการรวบรวมเงินเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และในขณะเดียวกันก็มีการไปพูดคุยกับประชาชน ทั้งคนทั่วไปว่าคิดเห็นอย่างไรกับการเสริมกำลังให้กองทัพ, คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระเบิดนิวเคลียร์ และคนยากไร้ที่รับผลกระทบจากการใช้เงินจากการหาซื้ออาวุธ
ตัวภาพยนตร์ยังสอดแทรกการแสดงของศิลปินเข้าไปในท้องเรื่อง เพื่อเป็นการส่งข้อความของการเป็นภาพยนตร์ที่ถามหาสันติภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเปิดพื้นที่มากพอให้คนดูได้คิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ เช่นกัน เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ผู้กำกับ Peter Watkins อยากจะบอกคนดูว่าพลังของสื่อนั้นสามารถสร้างความสงบแก่โลกได้
ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Peter Watkins พยายามเคลื่อนไหวเช่นนี้ และการเคลื่อนไหวของเขายังเคยสร้างอิทธิพลให้กับ John Lennon กับ Yoko Ono ทำการนอนประท้วงเพื่อสันติภาพ หรือ Bed-Ins For Peace ที่เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1969
ความยาวกว่า 14 ชั่วโมงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้มีการออกฉายจริงไม่บ่อยมากนัก กระนั้นกลุ่มนักวิชาการหรือผู้ที่สนับสนุนแนวคิดในการใช้สื่อสร้างสันติก็มักจะจัดงานฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งในรูปแบบการฉายแบบต่อเนื่องพรวดเดียวทั้งเรื่อง หรือการแบ่งฉายสลับกับการเสวนาต่อต้านสงคราม ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีอายุอานามราว 30 ปี ยังมีโอกาสได้ฉายเก็บรายได้ทั่วโลกเป็นระยะๆ แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับกำไรก็ตาม
ปัจจุบันตัวภาพยนตร์มีการทำเป็นรูปแบบ DVD ซึ่ง Peter Watkins ได้ทำการแบ่งเนื้อหาออกเป็นทั้งหมด 19 ส่วนใน DVD จำนวน 5 แผ่น เพื่อให้นำไปรับชมหรือนำไปเสนอต่อผู้ชมอื่นๆ แบบง่ายดายขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ สถิติของ Resan ที่เป็นภาพยนตร์เพื่อการค้าที่ยาวที่สุดกำลังจะถูกทำลายลงด้วยภาพยนตร์ ‘Amra Ekta Cinema Banabo’ ของผู้กำกับ Ashraf Shishir จากบังกลาเทศ ที่มีความยาว 1265 นาที โดยจะเล่าเรื่องราวความรัก ความฝัน การเมือง การเปลี่ยนแปลง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ
แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ เพิ่งมีรายละเอียดว่าภาพยนตร์ที่ผู้กำกับตั้งใจทำให้มีความยาว 21 ชั่วโมง ได้ตัดภาพยนตร์ออกเป็นหลายส่วนเพื่อรับการตรวจสอบจากกองเซ็นเซอร์ในบ้านเกิด จึงมีความเป็นไปได้ว่าภาพยนตร์อาจจะถูกฉายแยกภาคเช่นกัน แต่ถ้าภาพยนตร์นี้ผ่านการเซ็นเซอร์และได้ฉายในรูปลักษณ์ที่ผู้สร้างต้องการ เราก็คงพูดได้เต็มปากว่าหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องอยู่นิ่งๆ สักสองสามวันเพื่อดูหนังให้จบแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Suriyothai: hybridizing Thai national identity through film – Amporn Jirattikorn
Peter Watkins – The Journey (Resan in Swedish)