อากาศหนาวๆ แบบนี้ ไม่อยากทำอะไร อยากจะนอนซุกอยู่ในที่นอนนุ่มๆ ผ้านวมอุ่นๆ ในฤดูแห่งความขี้เกียจนี้ไม่มีอะไรดีกว่าอยู่นิ่งๆ แล้วนอนอ่านหนังสือสบายๆ ขอรับรู้เรื่องราวจากโลกสมมุติดีกว่า ปล่อยให้อากาศหนาวเหน็บไป
ฤดูหนาวเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์เรา โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างรุนแรง ฤดูหนาวเป็นฤดูที่เปลี่ยนความหมาย ความหนาวเหน็บอาจหมายถึงทั้งความแห้งเหี่ยวและความตาย ในขณะเดียวกันช่วงเวลาสิ้นปีก็อาจหมายถึงงานเทศกาล และการเตรียมตัวเข้าสู่สิ่งใหม่ สู่ปีใหม่ เป็นห้วงเวลาแห่งเสียงดนตรี ความโรแมนติก และเสียงเพลง ด้วยอิทธิพลนี้เราจึงมีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับฤดูหนาว เรามีฤดูหนาวเป็นประเภทหนึ่งในงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก ฤดูหนาวเป็นเรื่องของความสนุก เรื่องของจินตนาการ และความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเด็กเข้ากับธรรมชาติ กับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่บทกวีและงานเขียนที่พูดถึงเทศกาล
The Lion, the Witch and the Wardrobe (1950) – C.S. Lewis
ฤดูหนาวเป็นฤดูที่มักจะเกี่ยวพันถึงความมหัศจรรย์ หน้าหนาวมักถูกเชื่อมโยงกับเวทย์มนต์ ใน ‘นาร์เนีย’ หนึ่งในงานเขียนชื่อดัง ผลงานสำคัญของ C.S. Lewis จุดเริ่มต้นหรือหนังสือเล่มแรกของชุดที่ว่าตู้เสื้อผ้าวิเศษที่นำเด็กๆ ไปสู่ดินแดนนาร์เนีย ดินแดนที่ในขณะนั้นปกคลุมด้วยหิมะขาวจากคำสาปและอยู่ภายใต้การปกครองของแม่มดขาว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี เป็นงานสนุกๆ ที่พาเราไปยังดินแดนที่ยังเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง แล้วหน้าหนาวของเราจะไม่ได้เป็นหน้าหนาวที่ชืดชาอีกต่อไป
A Song of Ice and Fire (1996) – George R. R. Martin
Winter is coming เมื่อฤดูหนาวมาเยือน เราเตรียมตัวพร้อมแค่ไหน วินาทีนี้ถ้าพูดถึงหนังสือที่ว่าด้วยหน้าหนาว ในเรื่องเกมออฟโทรนส์มีดินแดนแฟนตาซีทีไม่ได้สวยงามสดใส แต่เป็นโลกแฟนตาซีที่สร้างขึ้นบนความยากลำบาก ยากลำบากทั้งจากสภาวะแวดล้อม จากสภาพอากาศที่มนุษย์ต้องเผชิญ ไปจนถึงความยากลำบากที่มนุษย์ต้องต่อสู้และเอาตัวรอดกันเองในเกมของอำนาจ ดินแดนเหนือในเวสเตอร์รอส เป็นหนึ่งในดินแดนที่ทำให้ความแฟนตาซีของลุงจอร์จโดดเด่น ขมขื่น และเปี่ยมเสน่ห์มากขึ้น แน่ล่ะ ถ้าแดนเหนือไม่ยากเข็ญพวกสตาร์กเองก็คงไม่แข็งแกร่งและน่าสนใจ ฤดูจึงเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเรื่องและตัวละครให้เรื่องนี้โดดเด่นขึ้นไปอีก
The Worst Journey in the World (1922) – Apsley Cherry-Garrard
หนาวแค่นี้อาจจะยังไม่สะใจ ลองนึกถึงความหนาวระดับขั้วโลกดีกว่า The Worst Journey in the World งานเขียนชิ้นนี้เป็นบันทึกและไดอารี่จาก Apsley Cherry-Garrard สมาชิกทีมสำรวจที่รอดชีวิตจากการหาไข่เพนกวินในปี 1910 แค่ชื่อหนังสือก็บอกว่าเป็นการเดินทางที่เลวร้ายที่สุดในโลกใบนี้ ความหนาวเหน็บที่เหลือทนในระดับเหนือจินตนาการก็ตั้งคำถามว่า ความหนาวระดับอาร์กติกนั้นส่งผลกับร่างกายและจิตใจของเราได้ขนาดไหน ในเรื่องเล่าถึงขนาดว่าความเย็นที่ทำให้เสื้อผ้าแข็งจนขยับไม่ได้ ปลายนิ้วที่ค่อยๆ เป็นประกายเพราะกลายเป็นน้ำแข็ง และพื้นที่เวิ้งว้างที่ทำให้คนกลายเป็นบ้าได้ง่ายๆ
The Dead (1914) – James Joyce
เมื่อคริสต์มาสอาจไม่ได้สวยงามอีกต่อไป The Dead นวนิยายโดย เจมส์ จอยซ์ เจ้าพ่องานเขียนร่วมสมัยที่พูดถึงความแหลกหลายของชายหนุ่มในโลกสมัยใหม่ หน้าหนาวและเทศกาลแห่งความสุขสำหรับชายหนุ่มเมียหน่าย ตอนจบของเรื่อง หิมะจึงเป็นตัวแทนของความตาย เป็นสิ่งที่ร่วงหล่นเพื่อทับถมความฝันและหัวใจที่แหลกสลายของตัวละครที่จอยส์สร้าง
Snow (2002) – Orhan Pamuk
ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากตุรกีตอนนี้กำลังมาแรง บ้านเราเองก็มีการแปลเป็นฉบับภาษาไทย หิมะ เป็นเรื่องหนึ่งที่เพิ่งแปลออกมาในปีนี้ เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยการพบกันของกวีหนุ่มผู้ลี้ภัยการเมืองกับหญิงสาวที่เคยตกหลุมรัก จากความสัมพันธ์นี้นำไปสู่การพัวพันกับกลุ่มการเมืองและคณะปฏิวัติที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป งานเขียนของปามุกพูดเรื่องประเด็นของความรัก ตัวตนและความเชื่อได้อย่างเข้มข้น
The Snowman (1978) – Raymond Briggs
จากเรื่องหนาวเหน็บและมืดมน มาสู่ฤดูหนาวที่สดใสและเต็มไปด้วยเรื่องสนุกสนาน The Snowman เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กเขียนโดย Raymond Briggs นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1978 เรื่องราวก็น่ารักตามประสา คือเด็กชายปั้นสโนวแมนแล้วเจ้าสโนแมนนี้ก็มีชีวิตขึ้นมา งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการทำเป็นการ์ตูน The Snowman ซึ่งในฉบับการ์ตูนนี้ก็ได้กลายไปเป็นไอคอนสำคัญของวัฒนธรรมอังกฤษร่วมสมัย
Snow (1995) – Ted Hughes
ส่งท้ายด้วยงานประเภทบทกวีเรื่อง Snow ของ Ted Hughes เป็นบทกวีแนวเล่าเรื่องที่เกือบจะเป็นเรื่องสั้น บทกวีชุดนี้พูดถึงชายคนหนึ่งที่เครื่องบินไปตกกลางทุ่งหิมะอันเวิ้งว้าง ด้วยการที่ต้องเอาตัวรอด ชายคนนั้นเลยต้องเดินฝ่าหิมะหนาแล้วถือเก้าอี้ไปด้วยเพื่อใช้นั่ง บทกวีชุดนี้พูดถึงสภาวะเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความเวิ้งว้างและภาวะที่ไม่มีอะไร (nothingness)
อ้างอิงข้อมูลจาก