คนไทยทุกคนคงได้ทราบว่านางงามจักรวาลคนใหม่คือ เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ส (Demi-Leigh Nel-Peters) ในขณะที่หลายคนยังตบตีถกเถียงกันว่า เอ๊ะ อะไรทำให้เราแพ้ บางคนก็ เอ๊ะ social movement แปลว่าอะไร บางคนก็พูดถึงเรื่องชุดของอาซาว่าบ้างอะไรบ้าง เอาจริงๆ ดิฉันไม่ได้ตามข่าวนางงามมากนัก ก็อ่านตามที่เพื่อนฝูงดิฉันโพสต์นิดๆ หน่อยๆ และดูรอบประกวดกับทุกๆ คนนี่แหละค่ะ
ดิฉันขออนุญาตถือโอกาสที่แม่คุณเดมี-ลีห์ได้เป็นนางงามจักรวาล นำเสนอเรื่องราวในประเทศของชีเสียหน่อย และแน่นอน ดิฉันจะพูดถึงวรรณกรรมดังๆ ในประเทศนี้ด้วย พูดจากใจจริง ดิฉันอยากให้คนอ่านวรรณกรรมจากแอฟริกาใต้กันบ้าง โดยเฉพาะคนไทย
หลายๆ คนอาจจะนึกไม่ออกว่า เอ๊ะ เมืองไทยไปสนิทชิดเชื้อกับแอฟริกาใต้ยังไง ตอนไหน นึกไม่ออก … รู้จักเพชรพระอุมาไหมคะ น่าจะมีคนเคยอ่านหรือเคยได้ยินบ้าง หนังสือชุดนี้ได้อิทธิพลมาจากนิยายผจญภัย King Solomon’s Mines (ฉบับภาษาไทยแปลไว้ว่า สมบัติพระศุลี) ของ เอช ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ซึ่งมีฉากอยู่ที่แอฟริกาใต้สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพชรที่เป็นส่วนหนึ่งของขุมทรัพย์ก็เป็นทรัพยากรธรรมขาติสำคัญที่ทำให้แอฟริกาใต้เป็นที่หมายตาของเจ้าอาณานิคมตะวันตกชาติต่างๆ
ดิฉันคงจะต้องเกริ่นด้วยคำถามที่คิดว่าน่าจะเบสิกที่สุดเกี่ยวกับแอฟริกาและแอฟริกาใต้ นั่นคือ ทำไมเดมี-ลีห์ถึงไม่ใช่คนผิวสีแบบคนแอฟริกันที่หลายๆ คนชอบนึกถึงกันล่ะ หน้าตาก็เหมือนฝรั่ง เอ… แต่ก็ดูเหมือนผสมๆ กันหลายๆ ชาติ คำตอบนี้จะกูรูหรือไม่ใช่กูรูนางงามก็ตอบได้กันหมดว่า ประเทศเขาก็มีชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลาย
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาที่มีชาติพันธุ์มากมายหลากหลาย แต่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นไม่ได้มาด้วยความราบรื่น สวยงาม หรือสันติสุข
ขออธิบายด้วยประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้แบบสั้นๆ ก่อนว่า เดิมบริเวณแอฟริกาใต้มีกลุ่มชาติพันธุ์สี่กลุ่มสำคัญ สองกลุ่มแรกมีคำเรียกรวมกันว่าพวกคอย-ซาน (Khoe-San) เพราะเป็นเพื่อนบ้านกัน ประกอบด้วยสองกลุ่มคือ กลุ่มคอยคอย (Khoekhoe) และกลุ่มซาน (San) พวกนักสำรวจชาวยุโรปเรียกพวกแรกว่าพวกฮอตเทนทอต (Hottentot) ชื่อนี้มาจากความพยายามอธิบายภาษาของคนเหล่านี้ คิดว่าได้ยินคนกลุ่มนี้พูดทำนองนี้ ในขณะที่กลุ่มคอยคอยเน้นการเพาะปลูก กลุ่มซานจะเน้นการไล่ล่าหาเก็บ (อันนี้พูดแบบหยาบๆ นะคะ) ส่วนกลุ่มที่สามคือพวกโชซา (Xhosa) มีจำนวนน้อยกว่าสองกลุ่มแรก เล่าขานกันว่าเป็นนักรบผู้กล้าหาญ กลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดนั่นคือกลุ่มซูลู (Zulu) กลุ่มนี้ยังได้สร้างราชอาณาจักรของตนเองด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในแอฟริกาใต้และเขตบันตู (Bantu) หรือบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของทวีปแอฟริกานั้นย้ายถิ่นฐานไปมา ไม่ได้มีพรมแดนชัดเจนอยู่แล้ว
ชาติตะวันตกกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงแอฟริกาใต้คือชาวโปรตุเกส ตามด้วยชาวดัตช์ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบหกถึงสิบเจ็ด ทั้งสองชาติเดินทางมาเพื่อล่าอาณานิคมและค้าทาส สิ่งที่ต้องจำไว้เป็นหลักเกี่ยวกับการล่าอาณานิคมคือ การล่าอาณานิคมไม่ใช่การค้าเฉยๆ ไม่เหมือนเมืองขึ้น แต่เป็นการตั้งถิ่นฐาน ธำรงอำนาจ และยึดครองทรัพยากร อังกฤษก็ตามมาหลังจากนั้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า ชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวอังกฤษได้เปลี่ยนวิธีเพาะปลูกและการทำการเกษตร ไปสู่ระบบเรือกสวนขนาดใหญ่ (plantation) ที่เน้นการตีกรอบพื้นที่และใช้ทรัพยากรจากบริเวณนั้นให้มากที่สุด เพื่อผลิตพืชผลจำนวนมากๆ ตอบสนองระบบอุตสาหกรรม ประชากร และกำลังการบริโภคในประเทศที่กำลังขยายตัว
เราอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ ไม่เห็นแปลกนี่ เราก็ทำการเกษตรแบบนี้ไม่ใช่เหรอคะ ทุกชาติก็น่าจะเป็นแบบนี้ ผู้เขียนมองว่า เดิมการเพาะปลูกพืชผลเพื่อเป็นอาหารนั้น ไม่ได้ปลูกในปริมาณมาก การย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมอาจเป็นวิธีหนึ่งของการดำรงอยู่กับธรรมชาติ เพาะปลูกแล้วย้ายไปเรื่อยๆ ไม่ดูดเอาธาตุอาหารจากดินเป็นเวลาต่อเนื่อง ต่างจากระบบเรือกสวนขนาดใหญ่ ระบบนี้นอกจากจะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ยังส่งผลต่อการปักปันเขตแดนและการทำผืนดินซึ่งมีบริเวณและมีมูลค่า ระบบเรือกสวนขนาดใหญ่จึงส่งผลต่อการสร้างพรมแดน แผนที่ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณต่างๆ ในพื้นที่แอฟริกาใต้อีกด้วย
การทำเรือกสวนขนาดใหญ่ทำให้ชาติเจ้าอาณานิคมต่างๆ นำพาเอาแรงงานจากชาติอาณานิคมอื่นๆ ของตนเองเข้ามาอยู่ในประเทศด้วย
ในดินแดนแอฟริกาใต้ตั้งแต่ตอนนั้น มีแรงงานชาวอินเดีย ชาวมาเลย์ และชาวอินโดนีเซียเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ด้วย กลุ่มชาวมาเลย์และอินโดนีเซียได้นำกลวิธีการประกอบอาหารมาผสมผสานกับอาหารของทาสแอฟริกาตะวันออก จนกลายเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเคปทาวน์ ในแอฟริกาใต้ ที่เรียกว่า เคป มาเลย์ ฟูด (Cape Malay Food)
เมื่อชาวอังกฤษอพยพเข้ามาตั้งรกราก ก็เกิดการเหยียดและความขัดแย้งกันในหมู่ชาวยุโรปขนานใหญ่ ชาวอังกฤษมองว่าตัวเองเป็นเจ้าอาณานิคมที่ดีกว่าชาติอื่นๆ (ทั้งๆ ที่คำว่า ‘เจ้าอาณานิคม’ ไม่ควรอยู่คู่กับคำว่า ‘ดี’ เลย) เพราะใจกว้าง หัวเสรี (ในระดับหนึ่ง) ต่างจากพวกดัตช์ หรือที่เรียกตัวเองว่าพวกอาฟริกาเนอร์ (Afrikaner) เพราะคนอังกฤษมองว่าคนดัตช์นั้นหัวหมอและกดขี่ข่มเหงคนอื่น เมื่อคนอังกฤษขยายดินแดนรุกคืบมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำการเกษตรและแย่งชิงพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรณีวิทยาอันมีค่า เช่น เพชร ทองคำ และแร่รัตนชาติต่างๆ ชาวดัตช์จึงต่อต้านการรุกคืบของอังกฤษโดยการประกาศว่าจะเคลื่อนที่เข้าสู่ตอนในของประเทศ การเดินทางนี้เรียกว่า The Great Trek หรือการเดินป่าครั้งใหญ่ ชาวดัตช์ในตอนนั้นได้ใช้เกวียนเดินทางออกจากที่อยู่อาศัยเดิมของตนเอง เข้าไปตั้งรกรากและทำการเกษตรภายในประเทศแทนและปล่อยให้อังกฤษอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล (ชาวดัตช์ได้ผลิตนวนิยายที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความผูกพันของตนเองกับที่ดินทำกินมากมาย จนเกิดขนบบ้านไร่ หรือ plasroman (พลาสโรมัน) ขึ้น) แต่อังกฤษก็ยังรุกคืบเข้ามามากขึ้นจนกลายเป็นสงคราม อังกฤษต้องรบพุ่งกับชาวซูลูและชาวดัตช์ เกิดเป็นสงครามซูลู (ที่อีตา โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ หรือบีพี ผู้ก่อตั้งลูกเสือเคยไปรบมา แล้วก็มาเล่าว่าคนซูลูเป็นคนกล้าหาญชาญชัยอะไรยังไงนั่นแหละค่ะ) และสงครามโบเออร์หรือสงครามบัวร์ (ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านจะเรียกว่าสงครามระหว่างคนขาว หรือ War between the Whites) โบเออร์หรือบัวร์แปลว่า ชาวนาในภาษาดัตช์ค่ะ เพราะคนอังกฤษต้องสู้กับชาวดัตช์ ซึ่งส่วนมากทำกสิกรรมค่ะ
สงครามซูลูและสงครามบัวร์ทำเอาอังกฤษเซซวนไปพอสมควร อังกฤษพ่ายแพ้สงครามโบเออร์ครั้งที่หนึ่งและชนะในสงครามโบเออร์ครั้งที่สอง เมื่อแพ้ครั้งแรก คนอังกฤษนั้นกลับมาพิจารณาหาเหตุผลว่าชาติตัวเองแพ้เพราะอะไร จนได้ข้อสรุปว่า น่าจะเป็นเพราะเกณฑ์คนจนไปรบ งั้นเราต้องให้คนรวยไปรบเหรอ? เปล่าค่ะ คนอังกฤษเลยกลับมานั่งทบทวนพื้นที่สลัมว่าทำไมมันถึงสกปรก ส่งผลให้คนจนและชนชั้นแรงงานของอังกฤษอ่อนแอ ถ้าประชากรอังกฤษอ่อนแอ แสดงว่าอังกฤษมาถึงยุคเสื่อมแล้ว บลาๆ … ความกังวลนี้ก็ส่งผลให้เกิดนวนิยายสยองขวัญดังๆ หลายๆ อย่างที่ทุกคนรู้จักดีเช่น ดร. เจคิลและมิสเตอร์ไฮด์ (Dr. Jekyll and Mr. Hyde) ซึ่งชนชั้นสูงมีการศึกษากับชนชั้นแรงงานผู้โหดร้ายกลายเป็นคนเดียวกัน หรือแดรกคูลา (Dracula) ที่นำเอาเชื้อโรคแห่งความเสื่อมมาแพร่ระบาดถึงกรุงลอนดอน เป็นต้น
เมื่ออังกฤษชนะสงคราม อังกฤษก็ได้จัดแจงแผ่ขยายอำนาจตัวเองอย่างเต็มที่ แต่แล้วแอฟริกาใต้ก็เป็นเอกราชเมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ …ดีใจไหมคะ อย่าเพิ่ง เป็นเอกราชจากอังกฤษ ไม่ได้แปลว่าคนแอฟริกันจะมีสิทธิ์มีเสียงอะไร คือรัฐบาลอังกฤษจะค่อยๆ ถอนตัว หมดอำนาจ แต่คนแอฟริกันพื้นถิ่นก็ยากจนข้นแค้นต่อไป ถูกจำกัดสิทธิ์ในการถือครองที่ดินและถูกใช้แรงงานราคาถูก (อังกฤษเลิกทาสทั่วจักรวรรดิตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1830 แต่การเลิกทาสก็ไม่ได้เป็นเครื่องประกันความเป็นธรรมของอังกฤษต่อชนพื้นเมือง) ส่วนคนยุโรปชาติอื่นๆ ก็ถูกมองว่าเป็นพวกคนขาวที่ยากจน (Poor Whites) เพราะไม่ได้เข้าถึงความเจริญที่อังกฤษปูไว้ให้ชาติตัวเอง เมื่อรัฐบาลอังกฤษหมดบทบาทโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1931 พรรคการเมืองของชาวอาฟริกาเนอร์และพรรคของชาวอังกฤษตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างคนขาวด้วยกัน แต่ก็ได้แค่แป๊บเดียวแหละค่ะ เพราะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักการเมืองอังกฤษตัดสินใจส่งประเทศเข้าร่วมสงครามเพื่อเป็นพันธมิตรอังกฤษ ในขณะที่ชาวอาฟริกาเนอร์ต่อต้าน พรรคทั้งสองพรรคก็แยกขาดจากกัน
จนในปี ค.ศ. 1948 พรรคการเมืองของชาวอาฟริกาเนอร์ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นรัฐบาล พรรคนี้ได้เสนอนโยบายเหยียดผิวที่เรียกว่านโยบาย Apartheid (อะ-พาร์-ไธด์) ขึ้นมา คำว่า Apartheid เป็นภาษาดัตช์แปลว่า Apartness หรือการแยกขาดจากกัน นโยบายเหยียดผิวนี้ออกกฎหมาย ไม่ให้คนยุโรปปะปนกับคนแอฟริกัน แบ่งเขต แบ่งโซน หรือจัดสถานที่ไว้เป็นสองที่แบ่งกลุ่ม สระว่ายน้ำ ประตูทางเข้า ห้องน้ำ ยานพาหนะ จนนำไปสู่นโยบายมาตุภูมิหรือนโยบายบันตูสถาน (Bantustan) บันตูสถานหมายถึงเขตที่ผู้สนับสนุนนโยบายเหยียดผิวเรียกดินแดนในแอฟริกาใต้ส่วนหนึ่งถูกพรรคการเมืองอังกฤษและพรรคดัตช์กันไว้เพื่อจะแยกให้คนแอฟริกาใต้ผิวสีไปอาศัยอยู่ (พื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นเพียงร้อยละ 13 ของพื้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ทั้งหมด) ประเทศแอฟริกาใต้จะได้เป็นดินแดนของชาวยุโรปเท่านั้น
ข้ออ้างในการย้ายคนแอฟริกาผิวสีไปไว้ในเขตเดียวกันคือการอ้างว่า บริเวณบันตูสถานคือบ้านเกิด (homeland) อันแท้จริงของชาวแอฟริกันผิวสี ทั้งๆ ที่คนแอฟริกันผิวสีทั้งหลายเขาก็อยู่กระจายตัวกันไป
นโยบายนี้ยังเสนอให้ชาวแอฟริกันผิวสีนั้นแยกตัวออกเป็นเอกราชที่ทำแบบนี้ก็เพื่อให้คนยุโรปยังมีสิทธิต่างๆ ตามที่พลเมืองแอฟริกาใต้พึงมี เช่นสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่ชาวแอฟริกันผิวสีในดินแดน ‘บ้านเกิด’ นั้นจะไม่ได้สิทธินั้นเพราะเป็นดินแดนใหม่ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแอฟริกาใต้
นอกจากนี้ ดินแดน ‘บ้านเกิด’ ยังเป็นดินแดนที่ยากไร้ แห้งแล้ง ไม่มีทรัพยากรให้ประชาชนได้ดำรงชีวิตมากนัก ยังต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลแบ่งสันปันส่วนอาหารแจกจ่ายให้ชาวบ้าน (อย่างกับสมัยสงคราม) ส่วนรัฐบาลที่ดูแลบันตูสถานก็ไม่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อีกด้วย จนเกิดความเหลื่อมล้ำสูง อย่างไรเสีย ไม่ว่าจะมีนโยบายเบียดขับชาวแอฟริกันผิวสีอย่างไร กระแสต่อต้านก็มีอยู่เสมอมา
จนกระทั่ง เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ชาวโชซา แกนนำพรรคสมาพันธุ์ชาติแอฟริกัน (African National Congress) และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แอฟริกาใต้ (South African Communist Party)ได้ต่อต้านการเหยียดสีผิวจนเป็นที่รู้จักและนับถือทั้งในและนอกประเทศ แมนเดลาถูกจำคุกจำคุกยาวนานถึง 27 ปี ด้วยข้อหาปลุกปั่น แอฟริกาใต้ ณ ขณะนั้นจึงต้องเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติให้ปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา จนต้องยอมปล่อยตัวและเจรจากับแมนเดลา นำไปสู่การเลือกตั้งที่ให้สิทธิคนทุกสีผิวเข้าร่วมลงคะแนนเสียง ในปี 1994 ผลคือแมนเดลาได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งนโยบายสำคัญของแมนเดลาคือการตั้งคณะกรรมการความจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Committee) คณะกรรมการเหล่านี้ได้จัดให้รายการโทรทัศน์เผยแพร่รายการบอกเล่าความจริงทั่วประเทศ โดยให้คนผิวสีออกมาเล่าเรื่องราวว่าตัวเองถูกกระทำอย่างไร ถูกข่มขืน ถูกแกล้ง ถูกเหยียดอย่างไรบ้าง ในขณะที่ชาวยุโรปก็ต้องออกมาสารภาพและขอโทษสิ่งที่ตัวเองเคยทำผิดไปในสมัยเหยียดผิว แมนเดลาตั้งใจจะให้ประเทศที่เหยียดผิวขาวดำในอดีตกลายเป็นชาติสีรุ้ง (Rainbow Nation) ที่ความหลากหลายดำรงอยู่ด้วยกันได้ แต่ก็ดูจะเป็นฝันลวงๆ เพราะความรุนแรงยังคงอยู่ คนแอฟริกันผิวสีเอาคืนคนยุโรป ในขณะที่คนยุโรปก็จัดการสร้างเมืองที่มีแต่คนผิวขาวเท่านั้น นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวเมืองนี้ได้ แต่แทบจะแต่งงานอยู่อาศัยกับคนเมืองนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่คนขาว ถึงจะเป็นคนขาวก็ต้องสืบประวัติต่างๆ มากมาย เพื่อตรวจสอบว่าขาวจริงไหม ปู่ย่าตายายเป็นคนขาวไหม บลาๆ
เรื่องราวที่มากมายของประเทศนี้ส่งผลต่อการสรรค์สร้างงานวรรณกรรมมากมายหลายชิ้น และมีนักเขียนที่สร้างชื่อในระดับนานาชาติได้รับรางวัลหรือเสนอขื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากมาย (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นการเหยียดผิวเป็นอันเป็นที่สนใจของนานาชาติ) ตัวอย่างนักเขียนชาวแอฟริกาใต้ที่เป็นที่รู้จัก (และเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ) เช่น เจ เอ็ม คูตซี (J. M. Coetzee), นาดีน กอร์ดิเมอร์ (Nadine Gordimer), อองเดร บริงค์ (André Brink), ซาเกซ อึมดา (Zakes Mda), เบสซี เฮด (Bessie Head) และ มอนเกน วอลลี เซอโรต (Mongane Wally Serote)
ณ ที่นี้ จะขอพาไปทำความรู้จักกับนักเขียนสองคน ที่มีคนกล่าวว่า สองคนนี้เขียนถึงประเด็นเดียวกันในประเทศเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละประเทศนั่นคือ เจ เอ็ม คูตซี และซาเกซ อึมดา
คูตซีเป็นลูกหลานอาฟริกาเนอร์ ปัจจุบันนี้ย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลีย คูตซีได้รับรางวัลมากมาย หนังสือของเขา อันได้แก่ Life and Times of Michael K. เล่มที่ได้รับรางวัลแมนบุคเคอร์ไพรซ์ (Man Booker Prize) ความน่าสนใจของงานคูตซีคือ เขามักเล่าเรื่องจากมุมของคนยุโรป เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนในชุมชนและพื้นเพของตัวเอง มากกว่าจะสร้างตัวละครแอฟริกันผิวสีขึ้นมา แต่งานคูตซีไม่ได้เหยียดสีผิว แต่ตั้งคำถามกับการเหยียดสีผิวและความรุนแรงด้วยซ้ำ คูตซีมองว่า พื้นเพของเขาไม่ได้มีเชื้อสายคนแอฟริกันผิวสีเลย เขาไม่สามารถและไม่มีสิทธิที่จะพูดแทนคนเหล่านั้น ตัวเอกของเขาจึงมักเป็นตัวละครคนขาวที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นอื่นในหลากรูปแบบ (ทางเพศ ทางชาติพันธุ์ หรือทางสายพันธุ์ หรือผสมกัน) และถูกความเป็นอื่นเหล่านั้นตั้งคำถาม ทำให้สิ่งที่เขาเชื่อมั่นนั้นสั่นคลอน ตัวละครเอกเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแต่เจ้าอาณานิคมจอมโหดตบตีรุนแรงอาละวาด แต่มีทั้งนักเขียน อาจารย์มหาวิทยาลัย ลูกสาวเจ้าของฟาร์ม คนสวน ฯลฯ เอาจริงๆ อารมณ์โดยรวมๆ ของงานคูตซีนั้นหลากหลาย แต่ถ้าพูดกันทั่วๆ ไป งานคูตซีบีบคั้นมาก ใจอาจจะต้องแข็งประมาณหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะมีแต่ความช้ำเลือดช้ำหนอง บางเรื่องนี่แทบไม่มีเลือดอะไรสักหยดเลย แต่เล่นเอาคนอ่านมึนและตั้งคำถามกับสิ่งที่เราคิดเราเชื่อได้ประมาณหนึ่งเลย
เขา [คูตซี] มักเล่าเรื่องจากมุมของคนยุโรป เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนในชุมชนและพื้นเพของตัวเอง มากกว่าจะสร้างตัวละครแอฟริกันผิวสีขึ้นมา แต่งานคูตซีไม่ได้เหยียดสีผิว แต่ตั้งคำถามกับการเหยียดสีผิวและความรุนแรงด้วยซ้ำ
จุดเริ่มต้นของการเขียนวรรณกรรมของคูตซีคือการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ช่วงเวลาสงครามเวียดนาม คำถามหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนวรรณกรรมชิ้นแรกของเขาคือ คนที่กระทำความรุนแรงนั้น กระทำความรุนแรงได้อย่างไร จิตใจของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร คนเหล่านี้เป็นผลพวงของอุดมการณ์อะไรบ้าง โดยเฉพาะคนที่เข้าร่วมหรือสนับสนุนสงครามเวียดนาม คูตซีได้หยิบเอาประเด็นของความรุนแรงและจักรวรรดินิยม (เราอาจมองได้ว่าสงครามเวียดนามคือผลพวงของจักรวรรดินิยมอเมริกัน) มาเชื่อมโยงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่บ้านเกิดในยุคสมัยแห่งการเหยียดผิว งานชิ้นแรกที่ชื่อ Duskland นั้นจึงแบ่งเป็นสองส่วนย่อยๆ ส่วนแรกเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม และส่วนที่สองย้อนยุคไปถึงศตวรรษที่สิบเจ็ดในดินแดนแอฟริกาใต้ หลังจากนั้นคูตซีได้เขียนนวนิยายที่ตั้งคำถามกับความรุนแรงและพลพวงของจักรวรรดินิยมในแอฟริกาใต้มาตลอด (ถึงแม้บางเล่มจะตั้งใจไม่บอกชื่อประเทศ หรือย้ายประเทศหรือบริบทบ้าง)
ดิฉันมองว่านวนิยายเรื่อง Disgrace (มีฉบับแปลภาษาไทยชื่อไร้เกียรติ) เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายสำหรับโจทย์แรกของคูตซี ในระยะเวลานี้ คูตซีได้เขียนนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ ซึ่งตั้งใจเน้นย้ำเล่นกับประเด็นความเป็นอื่นและความเป็นอื่นจากตัวเอง ทั้งๆ ที่อัตชีวประวัติควรเป็นเรื่องของตัวเอง อาจมองได้ว่าเกี่ยวโยงกับการตั้งคำถามตัวตนของคนยุโรปและจักรวรรดินิยมที่ปลูกฝังให้คนขาวมองตัวเองเป็นผู้รู้ เป็นผู้มีเสียงพูดแทนสิ่งต่างๆ ทั้งๆ ที่การพูดถึงสิ่งอื่นๆ ในความคิดของเรา ก็อาจเป็นการพูดถึงตัวเอง ในขณะที่สิ่งที่เป็นอื่นอาจแทรกสอดเสียงหรือตัวตนชนิดที่ตัวเราไม่เคยสังเกต (เช่น คนขาวเชื่อว่าตัวเองเหนือกว่า มีอำนาจ อธิบายทุกอย่างได้ แต่สุดท้ายก็อธิบายการกระทำบางอย่างของคนแอฟริกันผิวสีไม่ได้ หรือหาทางใช้ความรุนแรงต่างๆ เพื่อให้ความเป็นอื่นนั้นอธิบายได้) งานเหล่านี้ คูตซีตั้งคำเรียกขึ้นมาว่า autrebiography (autre ภาษาฝรั่งเศสแปลว่าคนอื่น) หรือ (ดิฉันขอแปลว่า) ‘อัญชีวประวัติ’ ในชุดนี้มีสามเล่ม นั่นคือ Boyhood (กำลังจะแปลค่ะ), Youth และ Summertime หลังจากนั้น คูตซีมีช่วงเปลี่ยนผ่านจากการตั้งคำถามเรื่องผลพวงของจักรวรรดินิยม ไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะการเขียนและวรรณกรรมศึกษา ระยะเปลี่ยนผ่านนี้น่าจะจบลงด้วยนวนิยายชื่อ Diary of a Bad Year และนวนิยายหลังจากนี้คือนวนิยายชุดใหม่ของเขา
ขออนุญาตยกตัวอย่างนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก และเป็นเล่มที่ได้รางวัล Booker Prize นั่นคือ Disgrace หรือ ไร้เกียรติ (มีฉบับภาพยนตร์แล้วด้วยค่ะ) เรื่องนี้ตีพิมพ์ในยุคหลังนโยบายเหยียดผิว ตัวเอกของเรื่องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวรรณคดีอังกฤษ ชื่อ เดวิด ลูรี (David Lurie) ในท้องเรื่อง เขาจะต้องสอนวิชาวรรณกรรมจินตนิยม (Romanticism) ที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกและหันเข้าหาธรรมชาติ หลีกหนีอารยธรรม กฎเกณฑ์ และเหตุผล ซึ่งถูกมองว่าพันธนาการมนุษย์ ลูรีนั้นได้มีความสัมพันธ์กับนักศึกษาสาวคนหนึ่งนามว่า เมลานี ไอแซกส์ (Melanie Isaacs) หลังจากนั้นลูรีก็ถูกฟ้องร้องว่าข่มขืนนักศึกษาคนนี้ หลังจากการตัดสินใจ ลูรีประกาศต่อคณะกรรมการไต่สวนว่ายอมรับผิด ก่อนจะตัดสินใจลาออกและไปอยู่กับลูกสาวชื่อลูซี (Lucy) ที่ตอนในของประเทศ ทำการเกษตรปลูกดอกไม้ขาย เธอเป็นเลสเบียนที่พึ่งเลิกกับแฟน ข้างๆ บ้านของเธอ มีลูกจ้างคนหนึ่งที่เป็นลูกมือ ชื่อ เพทรัส (Petrus) ซึ่งเป็นแอฟริกันผิวสี ขอเล่าแค่นี้แล้วกัน ไม่บอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
Disgrace นั้นเล่าเรื่องด้วยสายตาลูรีคนเดียว ที่น่าคิดมากๆ คือ เราจะเชื่อเรื่องเล่าของลูรีได้ยังไง ว่าลูรีทำความผิด เพราะลูรีพูดเข้าข้างตัวเองอย่างเดียว ถ้าลูรีข่มขืนเมลานีจริง ลูรีจะบอกเราไหมว่าลูรีข่มขืน ลูรีจะยอมรับผิดไหม ถ้าอ่านฉากพิพากษาไต่สวน ซึ่งเหมือนจะล้อขบวนการความจริงและการปรองดองในแอฟริกาใต้ ลูรีบอกว่าตัวเองเป็นข้าช่วงใช้ของพระกามเทพ (the servant of Eros) และบอกกับคณะกรรมการว่า “ผมยอมรับว่าผมกระทำความผิด” พอกรรมการท่านหนึ่งถาม “ผิดอะไร” ลูรีตอบว่า “ผิดตามข้อกล่าวหา” ลูรีไม่พูดออกมาด้วยซ้ำว่าตัวเองทำอะไรผิด กรรมการคนหนึ่งย้ำด้วยว่า ลูรีต้องขอโทษออกมาจริงๆ อย่างจริงใจ แต่ก็นั่นแหละ ลูรีก็ไม่ได้ลาออกหรือสารภาพอย่างจริงใจ พูดผ่านๆ ให้เรื่องนี้มันจบๆ ไปเสียมากกว่า แล้วคณะกรรมการความจริงและการปรองดองในแอฟริกาใต้ล่ะ เขาจะรับประกันได้ยังไงว่าการสารภาพจะนำไปสู่การลดความรุนแรง คนที่สารภาพจะพูดจริงสักแค่ไหน คนจะเห็นใจคนที่ตัวเองเคยมองว่าต่ำกว่าคนได้อย่างไร เพิ่มเติมอีกอย่างนึง ตัวเรื่องไม่ยอมบอกชาติพันธุ์ของเมลานีอย่างตรงไปตรงมาเลย ถ้าจะรู้ได้ก็ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับย่านที่ครอบครัวไอแซกส์อยู่ เราจะพบว่าเป็นย่านคนแอฟริกันผิวสีมานานแล้ว ถ้าอย่างนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เพียงชายหญิง แต่เป็นคนแอฟริกาใต้ผิวขาวและผิวสีด้วย อย่างที่บอกว่ากระบวนการชาติสีรุ้งไม่ได้ช่วยให้เกิดการปรองดองขึ้นได้มากขนาดนั้น แล้วทำแบบไหนเราถึงจะปรองดองกันได้ นี่คือคำถามที่เรื่องนี้ถามเรา และผู้เขียนก็คิดว่า คำถามสำคัญอีกคำถามที่เรื่องนี้ถามคือ เราจะปรองดอง สมานฉันท์กับคนแบบลูรีได้หรือเปล่า เราจะสามารถเห็นใจลูรี ผู้กระทำความผิดได้หรือไม่
ลองเปลี่ยนอารมณ์มาที่นักเขียนอีกคนของเราบ้าง ซาเกซ อึมดา เป็นนักเขียนแอฟริกาใต้ผิวสี แม้จะยังไม่เคยได้รับรางวัลใหญ่โตมากมายแบบคูตซี แต่งานอึมดามีคนแปลมากมายถึง 21 ภาษา (แต่ยังไม่มีภาษาไทยค่ะ) อึมดาเขียนทั้งบทละครและวรรณกรรม นอกจากนี้ยังสอนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย เขาเขียนงานมาแล้วมากกว่าสิบเรื่อง สนใจประเด็นหลากหลาย ทั้งผู้หญิง ทั้งการเหยียดสีผิว รวมไปถึงการสรรค์สร้างงานศิลปะอีกด้วย
ส่วนใหญ่แล้ว วรรณกรรมของอึมดาจะมีฉากอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้และประเทศเลโซโท (Lesotho) ซึ่งเป็นประเทศที่เขาเติบโตมาทั้งสองประเทศ
เขาเขียนงานแนวหลังอาณานิคม (ตั้งคำถามกับระบอบอาณานิคมและมรดกของลัทธิล่าอาณานิคม) หลายชิ้น เมื่อสองสามปีก่อน เขาเริ่มเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาด้วย งานของอึมดานั้นมีสำนวนการเขียนแตกต่างจากงานคูตซีชนิดคนละโลก ไม่ได้บอกว่าแย่หรือดีกว่า แต่งานของอึมดานั้นสุดแสนจะแฟนซี มีตัวละครประหลาดๆ มีเด็กฝาแฝดเสียงหวานแต่ทำตัวเป็นเด็กเปรต มีแม่หมอลึกลับ มีชายชุดดำร้องไห้ครวญหน้าศพเป็นอาชีพ
นิยายที่ดิฉันจะแนะนำคือนิยายที่มีชายชุดดำ (ที่ไม่ได้มาจากโคนัน) มีชื่อว่า Ways of Dying เรื่องว่าด้วยตัวเอกเป็นชายชุดนำที่สถาปนาตนเองเป็นผู้ไว้อาลัยใหญ่ (Chief Mourner) นามว่า โทโลคี (Toloki) โทโลคีเดินทางไปตามงานศพของทุกคนที่มาร้องขอให้เขาไปร้องไห้หน้าศพให้ ตัวเรื่องค่อยๆ เปิดเผยทั้งประวัติความเป็นมาของโทโลคี ที่โตมาในพื้นที่แห้งแล้งตามนโยบายบ้านเกิดและกลายเป็นชนชั้นแรงงานเข้าเมืองมา และค่อยๆ เล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงของนโยบายเหยียดผิวและการต่อต้านนโยบายเหยียดผิว นวนิยายเรื่องนี้มีท้องเรื่องอยู่ในช่วงที่ยังมีนโยบายเหยียดผิวอยู่ โทโลคีได้กลับมาเจอกับโนเรีย (Noria) สาวสวยที่เขาหมายปองตั้งแต่วัยเด็ก เพราะลูกของโนเรียเสียชีวิตจากความรุนแรงนี้เช่นกัน โทโลคีได้พบว่าเธอมาอยู่สลัมและมีชีวิตยากลำบาก อ่านมาถึงตรงนี้คงคิดว่า โอ้โห เรื่องนี้คงมีแต่เศร้าเสียน้ำตาเป็นลิตรๆ แน่ๆ …ไม่ค่ะ เรื่องนี้มีอะไรตลกๆ บ้าๆบอๆ รออยู่ด้วย ไม่สปอยล์แล้วกันนะคะ
สิ่งหนึ่งทีทำให้ดิฉันประทับใจเล่มนี้มากๆ คือการพูดเรื่องความซับซ้อนของอำนาจและการกดขี่ มีเหตุการณ์หนึ่งในเรื่องที่ดิฉันเคยชวนนักศึกษาคุยในห้องเรียน คือ งานศพของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เด็กหนุ่มคนนั้นถูกไฟคลอกตาย เพราะเขาถูกคนขาวแกล้งจุดไฟใส่ แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านการใช้ความรุนแรงจากคนขาว และสะท้อนให้เห็นความรุนแรงที่เป็นผลพวงของนโยบายเหยียดผิว แต่มีชายแอฟริกันผิวสีคนหนึ่งออกมาปกป้องคนยุโรปที่ทำให้เด็กหนุ่มคนนั้นเสียชีวิต ชายแอฟริกันผิวสีคนนั้นบอกว่า “คนขาวคนนั้นเขาไม่ใช่คนเลวอะไร อย่าไปว่าเขา เขาเป็นคนใจดี รักเพื่อนฝูง เขาก็เล่นกับพวกเราเป็นปกติ ผมก็เคยโดน แต่ผมไม่ตายเท่านั้นเอง”
ความขัดแย้งมันไม่ได้แยกดำขาวชัดเจน
เราอาจจะรู้สึกสับสน หรือประหลาดใจ ทำไมคนแอฟริกาใต้ผิวสีคนนี้ปกป้องคนขาว ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นเหยื่อการเล่นสนุกของคนขาวด้วย ความขัดแย้งมันไม่ได้แยกดำขาวชัดเจน คนกลุ่มนี้ต้องไม่ถูกกับคนกลุ่มนั้น หรือพอกดขี่แล้วทุกคนจะขัดขืนหมดเมื่อเกิดความรุนแรง คนแอฟริกาใต้ผิวสีบางคนกลับยอมรับความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ แถมมองไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรงอีกต่างหาก คนแอฟริกันผิวสีทุกคนไม่ได้จะสามัคคีกันต่อต้านคนขาวกันหมด ความหลากหลายซับซ้อนของเรื่องนี้ชี้ให้เห็นความยุ่งยากของการปรองดอง แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเรื่องก็ยังให้ความหวังในการฟื้นฟูประเทศที่บาดแผลแห่งนี้ด้วยศิลปะและจินตนาการ
ดิฉันไม่ได้รู้จัก เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ส นัก แต่นี่คือสิ่งที่หล่อหลอมและสร้างตัวเธอขึ้นมา ไม่ว่าเธอจะสนใจเรื่องความรุนแรงหรือบาดแผลของประเทศเธอมากแค่ไหน การทำความรู้จักประเทศของนางงามจักรวาลคนล่าสุด อาจทำให้เราได้เห็นทั้งความไม่งามของประเทศนี้ และอาจเห็นภาพสะท้อนความอัปลักษณ์บางอย่างที่เราไม่เคยเห็นในความคิดของเราและบ้านเกิดของเราเอง