เพราะวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นวันคนพิการสากล ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ เราเลยอยากมาบอกเล่าเกี่ยวกับภาพยนตร์สายบันเทิงที่เล่าเรื่องของผู้มีความพิการมาก่อนแล้ว
โดยเรามาพูดถึงอุตสาหกรรมมังงะ ที่มีคนเคยกล่าวกันว่าเหล่านักเขียนมังงะนั้นต่างมีความแกร่งมากกว่าคนทั่วไป เพราะการวาดมังงะนั้นต้องใช้ทั้งความคิด, แรงกาย, และแรงใจในการสร้างผลงานสักเรื่องนั่นเอง
แต่ถึงจะถูกกล่าวขานว่าต้องทุ่มเทพลังชีวิตอยู่มาก อุตสาหากรรมังงะของญี่ปุ่นก็ยังเปิดพื้นที่ให้กับทางก็มีนักเขียนส่วนหนึ่งที่มีความพิการ แถมผลงานของนักเขียนเหล่านั้นยังมีความโดดเด่นอยู่ไม่น้อย แค่คนอ่านนอกประเทศญี่ปุ่นอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับผลงานของพวกเขา หรืออาจจะไม่ทราบว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังงานเหล่านั้นเป็นผู้มคีความพิการมาก่อนนั่นเอง
เราจึงถือโอกาสใช้ช่วงเวลาใกล้ๆ วันคนพิการสากลนี้ พูดถึงนักเขียนกลุ่มหนึ่งที่เปิดตัวว่าเป็นผู้มีความพิการ แต่ตั้งใจทำงานเพื่อมอบความรู้และความสุขให้กับผู้อ่านในฐานะผู้สร้างผลงานมังงะคนหนึ่ง
Mizuki Shigeru – จากนายทหารผู้เสียแขนในสงคราม สู่นักวาดมังงะระดับตำนาน
อาจารย์ Mizuki Shigeru ไม่ใช่ผู้ที่มีความพิการแต่กำเนิด แต่นักเขียนมังงะท่านนี้สูญเสียแขนซ้าย ซึ่งเป็นแขนข้างที่อาจารย์ถนัดไปในช่วงที่รับราชการเป็นทหารของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อาจารย์มีแนวคิดต่อต้านสงครามขึ้นมานับจากจุดนี้
หลังจากที่รอดชีวิตกลับมายังประเทศญี่ปุ่น อาจารย์มิซูกิ ก็ทำงานจิปาถะอยูช่วงหนึ่ง รวมถึงการไปรับงานเป็นนักเล่านิทานกับโรงละครกระดาษ หรือ คามิชิไบ ก่อนที่อาจารย์มิซูกิ จะกลับไปทำงานวาดภาพซึ่งเดิมที่ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มทำงานในฐานะนักวาดมังงะมืออาชีพตั้งแต่ปี 1957
ผลงานที่โดดเด่นของอาจารย์มิซูกิ ก็คงจะไม่พ้น อสูรน้อยคิทาโร่ หรือ Ge Ge Ge No Kitaro ที่เล่าเรื่องของ คิทาโร่ เด็กชายผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกคนท้ายๆ ของเผ่ายูเรย์ (Yurei Zoku – เผ่าผี) ที่คอยต่อสู้กับทั้งมนุษย์และโยไค หรือ กลุ่มภูต พราย ปิศาจ และ สัตว์ประหลาด ตามความเชื่อญี่ปุ่น เพื่อรักษาความสงบสุขของทั้งสองฝั่งเอาไว้ ซึ่งมังงะเรื่องนี้ได้ถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นสื่ออื่นๆ ทั้ง อนิเมะ, ภาพยนตร์ และ เกม อย่างมากมายแล้ว
อาจารย์มิซูกิยังเป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องราวของโยไค และจดบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น จนถูกยกให้เป็นนักคติชนวิทยาคนสำคัญคนหนึ่ง และอาจารย์ยังเอาเรื่องเล่าที่เคยรวบรวมไว้ มาเขียนภาพประกอบเพิ่มเติมลงในหนังสือหลายเล่ม ที่โดดเด่นจะเป็น หนังสือชื่อ Mizuki Shigeru Sekai No Yokai Daihyakka เป็นอาทิ
นอกจากนั้นอาจารย์ยังสร้างผลงานต่อต้านสงคราม ด้วยการเขียนผลงานชื่อ Soin Gyukusai Seyo! (แปลไทยคร่าวๆ ได้ว่า – ทุกหน่วยจงบุกจนตัวตายเสีย) ซึ่งก็เป็นการหยิบเอาประวัติของตัวเองที่เคยเป็นทหาร มาเกลาให้กลายเป็นเรื่องเหล่าที่มีทั้งความน่ากลัวของสงคราม แต่ก็มีอารมณ์ขันของมนุษย์ และอาจจะมีหลายช่วงที่ชวนขื่นชมจนหลายคนอาจจะไม่สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้จบได้โดยง่าย แต่งานชิ้นนี้ก็ได้รับรางวัลอย่างหลากหลาย ทั้งจากในประเทศญี่ปุ่น และชาติอื่นๆ ที่นำหนังสือเล่มนี้ไปจัดทำ
อาจารย์มิซูกิ เสียชีวิตในปี ค.ศ.2015 ด้วยวัย 93 ปี และอาจารย์ใช้แขนข้างที่ไม่ถนัดสร้างผลงาน สร้างความรู้ รวมไปถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนนักอ่านรุ่นหลังไปจนถึงช่วงท้ายของชีวิต
Okita Bakka – ชีวิตหลากเฉดสีของหญิงสาวผู้มีความพิการทางการเรียนรู้
ความพิการทางการเรียนรู้ หรือ Learning Disability หรือ LD เป็นความพิการประเภทหนึ่งที่ทางแพทย์ได้ทำการวินิจัยว่ามีอาการมีความบกพร่างด้านการอ่าน, ด้านการเขียน, ด้านการคำนวณ และทำให้มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานบางประเภทได้
ซึ่งอาจารย์ Okita Bakka ก็เป็นหญิงสาวที่ถูกตรวจว่าเป็นเป็นผู้มีความพิการทางการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก และอาจารย์ได้เคยเปิดเผยผ่านสื่อว่า นอกจากมีอาการบกพร่องทางการเรียนรู้แล้ว อาจารย์ยังมีอาการไฮเปอร์ ก่อนจะได้รับการตรวจพบในภายหลังว่ามีอาการของโรคแอสเพอร์เกอร์อยู่ด้วย และมีอาการอื่นๆ แทรกอยู่
ผลจากความพิการด้านด้านการเรียนรู้นี้ทำให้อาจารย์โอกิตะ ต้องประสบความท้าทายในการใช้ชีวิตมาตั้งแต่วัยเด็ก นับตั้งแต่การผ่านการศึกษาขั้นต้นล่าช้า แต่อาจารย์ก็พยายามเรียนรู้ให้มากที่สุดจนสามารถเข้าเรียนในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ได้ แต่สุดท้ายอาจารย์ก็ได้รับแค่วุฒิผู้ช่วยพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถทำการการสื่อสารกับผู้อื่นอย่างปกตินั่นเอง
ความสิ้นหวังกับการไม่สามารถประกอบอาชีพในฝัน กอปรกับอุปสรรคในชีวิตเรื่องอื่นๆ ทำให้ช่วงหนึ่งอาจารย์จึงทำงานค้าประเวณีตามร้าน Soapland แบบเต็มตัว, เสพติดศัลยกรรม, และหมดหวังในการใช้ชีวิตจนเกือบจะจบชีวิตตนเอง จนกระทั่งวันหนึ่งระหว่างที่รอลูกค้าอาจารย์ก็ได้มังงะแนวตลกเรื่องหนึ่ง ที่เล่ามุมมองแปลกประหลาดจากมังงะสายแมส ทำให้เธอมีแรงบันดาลใจ ลองเขียนมังงะส่งไปตามสำนักพิมพ์บ้าง
แม้ว่าอาจารย์โอกิตะ อาจจะไม่ได้มีลายเส้นที่โดดเด่น แต่เรื่องราวที่มาจากสิ่งที่เธอประสบนับตั้งแต่วัยเด็ก ก็สามารถทำให้หัวใจของผู้อ่านหวั่นไหว้ได้โดยง่าย อย่างเช่นผลงานเชิงอัตชีวประวัติ เรื่อง Gaki No Tameiki ที่เล่าเรื่องวัยเด็กของตัวผู้เขียนที่ไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้แบบคนทั่วไปจนเกือบคิดจะฆ่าตัวตาย ซึ่งมังงะเรื่องนี้ ได้รับการคัดเลือกจาก Nippon Foundtation ให้เป็นหนังสือการ์ตูนที่ควรอ่านนอกเวลาในด้านความหลากหลายของผู้คนในสังคม ที่ทำให้คนเข้าใจผู้มีอาการ LD กับโรคแอสเพอร์เกอร์ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้อาจารย์โอกิตะ ยังมีงานแมสๆ อย่าง Toumei Na Yurikago – Sanfujinkain Kangoshi Minarai Nikki ที่เล่าประสบการณ์ในช่วงที่เธอเข้าเรียนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ที่นอกจากจะคุยเรื่องการแพทย์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของการตั้งครรภ์ ข้ามไปถึงเรื่องเครียดอย่าง การทำแท้ง, ความรุนแรงในครอบครัว, การล่วงละเมิดทางเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีมุมสดใสแซมอยู่ในเรื่องเสมอ จนทำให้มังงะเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์คนแสดงเมื่อปี ค.ศ.2018
ปัจจุบันอาจารย์โอกิตะ ยังคงวาดมังงะทั้งเรื่องแต่งและอัตชีวประวัติ โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอไม่ได้รู้สึกเขินอายในการเล่าประสบการณ์ชีวิตของเธอ และการเรียบเรียงเรื่องของตัวเองมาเป็นมังงะนั้นยังทำให้ตัวเธอเอง กับคนอ่าน มีความเข้าใจมากขึ้นด้วยว่า ผู้มีความพิการทางการเรียนรู้จะมีลักษณะอย่างไร และถึงจะต้องเผชิญความท้าทายในชีวิต พวกเขาก็ยังสามารถเติบโตและมีความสุขในสังคมได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ
Hiramoto Ryunosuke – ไม่ได้ยินเสียง ไม่หยุดตามฝัน
อาจารย์ Hiramoto Ryunosuke เป็นคนหูหนวกมาโดยกำเนิด ซึ่งเข้าข่ายการเป็นผู้พิการทางด้านการได้ยินหรือสื่อความหมาย ก่อนหน้าที่เขาจะทำการเขียนมังงะเป็นเล่มขาย อาจารย์ฮิราโมโตะ เคยทำงานเป็นพนักงานธุรการในบริษัทประกันมาก่อน และได้ทำการเขียนการ์ตูนแบบสี่ช่องจบลงในจดหมายข่าวของบริษัทเพื่อให้พนักงานบริษัทมีความรับรู้และเข้าใจผู้พิการทางการได้ยินมากขึ้น
หลังจากนั้นอาจารย์ก็เข้าเรียนเซ็มมง หรือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เกี่ยวกับการ์ตูนโดยตรง และได้มีโอกาสปล่อยผลงานมังงะออกมาตีพิมพ์หลายเล่ม อาทิ Iramoto No Jinseido (แปลได้คร่าวๆ ว่า – เส้นทางชีวิตของฮิราโมโตะ) กับ Boku Wa Me De Oto O Kiku (แปลคร่าวๆว่า – ผมฟังเสียงได้ด้วยสายตา) ที่เป็นการบอกเล่าการใช้ชีวิตและเข้าสังคมของผู้มีความพิการทางการได้ยิน ที่ยังสามารถเสพความสวยงามของโลกผ่านสัมผัสอื่นๆ
อาจารย์ฮิราโมโตะ ยังปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยการออกแบบสติกเกอร์ Line และยังผันตัวไปเป็น YouTuber ที่ใช้ภาษามือในการสื่อสารเป็นหลัก (ส่วนใหญ่แล้วจะมีคำบรรยายภาษาญี่ปุ่นประกอบในคลิปด้วย) และทำคอนเทนท์์ยอดนิยมแบบที่ไม่ต่างกับแชนแนลอื่นๆ อย่างการทดลองกินของแปลก, ทำอาหารในสไตล์ของตัวเอง, บอกเล่าเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องที่ชอบ หรือแม้แต่การใช้ภาษามือแนะนำวิธีการใส่หน้ากากอนามัยในช่วงไวรัส COVID-19 แพร่ระบาด นอกจากนั้นแล้วอาจารย์ฮิราโมโตะ ยังพยายามระดมทุนเพื่อสร้างงานอนิเมชั่นที่จะนำเอาเรื่องราวในมังงะมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวอีกด้วย
ผลงานทั้งหมดของอาจารย์ฮิราโมโตะ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า ผู้มีความพิการอาจจะต้องเผชิญความท้าทายในการใช้ชีวิตบ้าง แต่พวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ไม่ต่างกับคนทั่วไปแต่อย่างใด
Fujimoto Go – ไม่ใช่คนชายขอบ แต่เป็นคนหูหนวก ผู้วาดมังงะเกย์ที่เต็มไปด้วยความอารมณ์ความรู้สึก
อาจารย์ Fujimoto Go เป็นนักเขียนมังงะอีกท่านที่เป็นผู้พิการทางด้านการได้ยินหรือสื่อความหมายมาตั้งแต่กำเนิด และอาจารย์ยังระบุชัดเจนว่าตัวเองนั้นเป็นเกย์ ด้วยเหตุนี้นักเขียนมังงะท่านนี้จึงผลิตผลงานที่สอดคล้องกับเพศวิถีและความชื่นชอบของตัวเอง ด้วยการเขียนการ์ตูนลงตีพิมพ์ในนิตยสารเกย์ของญี่ปุ่น ซึ่งอาจารย์ฟูจิโมโตะ นั้นถนัดนักกับการวาดหนุ่มตัวใหญ่ขนดก หรือถ้าพูดในอีกแง่หนึ่งก็คือ นักเขียนมังงะท่านนี้ เป็นคนที่ทำให้เทรนด์ ‘เกย์หมี’ ในญี่ปุ่นบูมขึ้นมาก็ไม่ผิดนัก
แม้ว่างานหลักของอาจารย์จะเป็นมังงะเกย์อีโรติกกับการวาดภาพหนุ่มล่ำเป็นหลัก แต่ก็จุดเด่นอีกประการของอาจารย์ฟูจิโมโตะ คือการสื่ออารมณ์ความนึกคิดของตัวละคร อย่างที่เห็นได้จากผลงานมังงะเรื่องสั้นชื่อว่า Kikyo (แปลคร่าวๆ ได้ว่า – กลับบ้าน) ที่เล่าเรื่องของ เกย์คนหนึ่งที่ละทิ้งบ้านของตัวเอง หลังจากเปิดตัวกับพ่อแม่ไปแล้วเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้น ก่อนที่ความตายของผู้เป็นพ่อ ทำให้เกย์คนดังกล่าวกับคนรักจะต้องกลับไปที่บ้านหลังนั้นอีกครั้ง
การ์ตูนสั้นเรื่องดังกล่าวทำให้อาจารย์ฟูจิโมโตะ ได้รับรางวัลชมเชยจากงานประกวดรางวัลนักเขียนหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของสำนักพิมพ์โชคาคุคัง ประจำปี ค.ศ.2002 มาแล้ว ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้อย่างดีว่า อาจารย์ฟูจิโมโตะ สามารถส่งต่อความรู้สึกให้กับผู้อ่านได้อย่างดี
กระนั้นก็น่าเสียดายอยู่สักหน่อยว่า อาจารย์ฟูจิโมโตะ ไม่ได้ผันตัวเองขึ้นมาเขียนงานกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่ว่านักเขียนมังงะผู้มีความพิการท่านนี้จะไม่ปรับตัวแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกันเสียอีกเพราะตอนนี้อาจารย์เขียนผลงานในรูปแบบ E-Book มากขึ้น นอกจากนั้นอาจารย์ยังเขียนตัวละครผู้พิการทางด้านการได้ยินหรือสื่อความหมายลงไปในผลงานของอาจารย์เอง และอาจารย์ก็ยังคงใส่เรื่องเล่าที่สัมผัสใจคนอ่านแทรกเอาไว้ในงานของตัวเองอยู่เป็นระยะๆ
Takatsu Karino – ชีวิตท้าทายที่พร้อมมอบเสียงหัวเราะ
ท่านสุดท้ายที่เราอยากจะมาพูดถึงในครั้งนี้ ก็คืออาจารย์ Takatsu Karino นักเขียนมังงะที่ชำนาญการเขียนการ์ตูนแนว 4-Koma (ยงโคมะ หรือการ์ตูนแนวสี่ช่องจบ) และมักจะหยิบจับเรื่องราวที่ดูธรรมดา มาเสริมด้วยความสุดโต่งจนกลายเป็นเหตุการณ์ช่วนอมยิ้มไป เห็นได้ชัดจากผลงานที่โด่งดังของเธออย่าง Working!! และ Servant x Service
ตัวมังงะ Working!!! เล่าเรื่องของชีวิตกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ทำงานในร้านอาหารครอบครัว (family restaurant) ส่วน Servant x Service เล่าเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตของญี่ปุ่น ทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกันก็คือ คนทำงานในเรื่องนั้นมีแต่คนไม่เต็มเต็งกับมีเรื่องราวความรักที่ไม่กล้าเปิดเผยใจเกิดขึ้นในเรื่อง ทำให้ผลงานทั้งสองได้รับความนิยมจนถูกสร้างเป็นอนิเมะ
และนักเขียนท่านนี้เองก็เป็นผู้พิการทางด้านการได้ยินหรือสื่อความหมายเช่นกัน แต่เธอค่อนข้างจะโชคดีอยู่สักหน่อยที่ตัวเธอนั้นสูญเสียการได้ยินเฉพาะแค่หูข้างซ้ายอันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคคางทูม แต่การที่ได้ยินเฉพาะหูข้างวาก็ทำให้เธอมีความท้าทายในการใช้ชีวิตอยู่บ้าง อย่างที่เธอเขียนไว้เป็นการ์ตูนตลกแซวตัวเองว่า กองบรรณาธิการที่ดูแลงานของเธอต้องทำการยืนหรือนั่งอยู่ทางด้านขวาของเธอเท่านั้นในเวลาคุยงาน และถ้าเธอรับโทรศัพท์ก็จะทำให้ไม่ได้ยินเสียงรอบตัวไปเลย
อาจารย์ทาคัตสึ อาจจะมีความพิการที่น้อยกว่านักเขียนท่านก่อนหน้านี้ กระนั้นการใช้ชีวิตเป็นนักเขียนมังงะสายตลกที่โดดเด่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน แต่เธอก็ยังสามารถหยิบจับเรื่องราวที่ดูธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องชวนหัวได้ ซึ่งส่วนนั้นคงเป็นผลจากการที่ตัวอาจารย์เองเป็นคนที่น่าจะมองโลกในแง่บวกและสามารถบอกเล่าเรื่องราวให้กลายเป็นเรื่องขำขันได้อย่างคล่องแคล่วนั่นเอง
นักเขียนมังงะผู้มีความพิการที่เรากล่าวถึงนี้ ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น และเราเชื่อว่ายังมีนักเขียนมังงะอีกหลายคนที่ตั้งใจไม่เปิดเผยสภาวะร่างกายของตนอีกด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความพิการหรือไม่ เหล่าผู้สร้างผลงานทั้งหลายก็ยังคงตั้งใจทำงานเพื่อมอบความสุขให้คนอ่านอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ