อีกไม่กี่วันคงมีการประกาศผลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือที่เรียกกันติดปาก ‘รางวัลซีไรต์’ (S.E.A. Write) ประจำปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) ซึ่งน่าลุ้นเหลือเกินครับว่านวนิยายเล่มไหนจะได้ประทับตราบนปกหนังสือ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมกำลังจะสาธยายอีกหลายบรรทัดหาใช่การเอ่ยอ้างถึงเรื่องราวข้างต้นในยุคปัจจุบัน หากใคร่ชวนคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปทำความรู้จักกวีและนักเขียนผู้คว้ารางวัลซีไรต์คนแรกสุดของแต่ละประเทศเลยทีเดียว
อาจเพราะผมถูกจดจำในฐานะสุดยอดแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์ จึงทำให้ใครต่อใครมักแวะเวียนมาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลนี้อยู่เนืองๆ พอนึกทบทวนดู แม้ผมจะเคยถูกชวนไปบรรยายเกี่ยวกับวรรณกรรมซีไรต์บ่อยหนในช่วงหลายปีที่ล่วงผ่าน แต่ก็ไม่ค่อยได้เขียนบอกเล่าข้อมูลไว้เป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไหร่นัก ล่าสุดผมเพิ่งถูกถามเมื่อสัปดาห์ก่อนว่ามีผลงานของกวีและนักเขียนรางวัลซีไรต์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมาบ้างหรือไม่ อันที่จริง ผลงานเหล่านี้สามารถพบเห็นในตลาดหนังสือเมืองไทยไม่น้อยนะครับ กระนั้นเหมือนนักอ่านบ้านเรายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับกวีและนักเขียนซีไรต์ของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ดี แล้วผมก็หวนนึกขึ้นได้! 5 ปีก่อนผมเคยพยายามศึกษาถึงกวีและนักเขียนผู้คว้ารางวัลซีไรต์รุ่นแรกพร้อมเขียนไว้บ้างตามสื่อกระดาษ ถ้าจะนำเอาเนื้อหาบางส่วนมาขยายความต่อย่อมจะสร้างประโยชน์รวมทั้งความสนุกสนานให้แก่คุณผู้อ่านทั้งหลายได้กระมัง มิหนำซ้ำ ในปี พ.ศ. 2561 ยังจัดเป็นวาระ 40 ปี รางวัลซีไรต์ด้วย
รางวัลซีไรต์เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) มุ่งหมายมอบให้กับกวีและนักเขียนกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและวรรณกรรมแห่งภูมิภาค โดยการจัดมอบรางวัลครั้งแรกกวีและนักเขียนจะถูกคัดเลือกมาจากสมาคมทางภาษาและวรรณกรรมในแต่ละประเทศที่เป็นคณะจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 5 อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเจ้าของรางวัลคนแรกสุดของแต่ละประเทศปรากฏนามดังนี้
สุทาดจี คาลซูม บาซรี (Sutardji Calzoum Bachri) กวีจากอินโดนีเซีย
โจลิโค คัวดรา (Jolico Cuadra) กวีจากฟิลิปปินส์
เอ็ดวิน นาตาซัน ธัมบู (Edwin Nadason Thumboo) กวีจากสิงคโปร์
เอ ซาหมัด ซาอิด (A. Samad Said) นักเขียนนวนิยายจากมาเลเซีย
และ คำพูน บุญทวี (Kampoon Boonthawee) นักเขียนนวนิยายชาวไทย
ลองสังเกตดู ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าของรางวัลซีไรต์ปีแรกสุดส่วนใหญ่จะสร้างสรรค์ผลงานประเภทกวีนิพนธ์ซึ่งในบรรดาผู้คว้ารางวัลทั้งหมด 5 คน ก็เป็นกวี 3 คน ได้แก่ สุทาดจี คาลซูม บาซรี จากอินโดนีเซีย โจลิโค คัวดรา จากฟิลิปปินส์และ เอ็ดวิน นาตาซัน ธัมบู จากสิงคโปร์ ขณะที่มาเลเซียเลือกนักเขียนนวนิยายอย่าง เอ ซาหมัด ซาอิด เฉกเช่นเดียวกับ คำพูน บุญทวี ของไทย
กรณีการคัดเลือกหนังสือให้ได้รับรางวัลของไทยนั้น ในปี พ.ศ. 2522 คณะกรรมการตกลงกันจะพิจารณาประเภทนวนิยายเป็นอันดับแรก แม้ตอนนั้นมีการเสนอกวีนิพนธ์เข้ามาจำนวน 2 เรื่องคือ นิราศนครศรีธรรมราช ของอังคาร กัลยาณพงศ์ และ ชักม้าชมเมือง ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แต่ตามจำนวนของนวนิยายที่ถูกเสนอชื่อมากกว่าจึงเห็นควรสนใจก่อนผลงานประเภทอื่นแน่นอนครับนวนิยายเรื่องลูกอีสาน ของคำพูน บุญทวี กลายเป็นวรรณกรรมซีไรต์เล่มแรกของไทยครั้นพอปีถัดมา (พ.ศ. 2523) ก็พิจารณาผลงานประเภทกวีนิพนธ์และทำให้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คือกวีซีไรต์ชาวไทยคนแรกจากผลงานเพียงความเคลื่อนไหว
เอาล่ะ คงถึงเวลาสักทีที่ผมจะผายมือแนะนำกวีและนักเขียนรุ่นแรกผู้คว้ารางวัลซีไรต์ในปีค.ศ.1979
สุทาดจี คาลซูม บาซรี
สุทาดจี คาลซูม บาซรี คือกวีชาวอินโดนีเซียคนสำคัญ หากในเมืองไทยแล้วชื่อของเขาไม่คุ้นหูเสียยิ่งกว่าชื่อของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียนผู้มีนวนิยายได้รับการแปลหลายเล่ม
สุทาดจีเป็นกวีเฉกเช่นเดียวกันกับ คัยริล อันวาร์ กวีอินโดนีเซียซึ่งนักอ่านชาวไทยอาจจะรู้จักบ้างในแวดวงจำกัด เขาเกิดเมื่อ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ที่เมืองริเยาในเขตสุมาตราอันเป็นแหล่งต้นกำเนิดของบาฮาซาอินโดนีเซีย สุทาดจีผ่านการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปาจาจาราน (Padjadjaran University หรือUNPAD) ในเมืองบันดุง ที่นี่เองเขาเริ่มส่งบทกวีไปนิตยสารรายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์ต่างๆ กระทั่งต่อมาผลงานได้รับการตีพิมพ์และก้าวสู่ความเป็นกวีเต็มตัวช่วงปลายทศวรรษ 1960 ค่อยๆ พัฒนาการฝีมือในทศวรรษ 1970 จนผลิตผลงานรวมบทกวีออกมาหลายเล่ม เช่น บทกวีชุด ‘O’ (1973), Amuk (1977), และ Kapak (1979) เป็นต้น ผลงานกวีนิพนธ์ของสุทาดจีได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อรวมเล่มว่า Black Soup โดย Harry Aveling นักแปลผู้ประหนึ่งสะพานนำพาวรรณกรรมอินโดนีเซียสู่สายตานักอ่านโลกไม่เพียงแค่ภาษาเดียว งานของเขายังได้ถูกแปลเป็นภาษาดัชต์
สุทาดจีนิยมอ่านบทกวีต่อหน้าสาธารณะชน ท่าทางขึงขังและทรงพลังเวลาอ่านบทกวีของเขาดึงดูดใจผู้ฟังให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามอำนาจแห่งถ้อยคำ บทกวีของสุทาดจีคล้ายๆ บทพึมพำภาวนา อบอวลด้วยกลิ่นอายมนตร์คาถาผสมผสานเข้ากับรูปแบบของกวีนิพนธ์สมัยใหม่อย่างลงตัวภาพพจน์มีลักษณะเซอร์เรียล ใช้สัญลักษณ์แปลกแหวกแนว เนื้อหาสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของกวีที่ว้าเหว่ อ้างว้างสิ้นหวัง ดังผมจะลองยกตัวอย่างบทกวี ‘ปราศจาก (พบ)’ มาปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่าน
ก้อนหินปราศจากความเงียบ
นาฬิกาปราศจากเวลา
ความคมปราศจากใบมีด
ฝีปากปราศจากบทเพลง
ท้องฟ้าปราศจากห้วงหาว
แผ่นดินปราศจากความตาย
ความบริสุทธิ์ปราศจากความเสื่อมทราม
เธอปราศจากฉัน
ก้อนหินปราศจากความเงียบ
นาฬิกาปราศจากเวลา
ความคมปราศจากใบมีด
ฝีปากปราศจากบทเพลง
ท้องฟ้าปราศจากห้วงหาว
แผ่นดินปราศจากความตาย
ความบริสุทธิ์ปราศจากความเสื่อมทราม
เธอพบฉัน
ความโดดเด่นทางด้านวรรณศิลป์และการถ่ายทอดกวีนิพนธ์เปี่ยมล้นลักษณะเฉพาะตัวทำให้สุทาดจีเคยได้รับเลือกให้เข้าร่วมประชุมกวีนิพนธ์นานาชาติที่รอตเตอดัม (Rotterdam International Poetry Reading) ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปีค.ศ. 1974 อีกทั้งเข้าร่วมในโครงการสัมมนานักเขียนนานาชาติของมหาวิทยาลัยไอโอวา ที่สหรัฐอเมริกาช่วงปลายปีค.ศ. 1974 ถึงเกือบๆ กลางปีค.ศ. 1975
ในแวดวงวรรณกรรมอินโดนีเซียได้ขนานนามให้สุทาดจีเป็น ‘ประธานาธิบดีแห่งกวี’ ขณะที่ดามี เอ็น. โทดา (Dami N. Toda) ผู้เชี่ยวชาญแห่งวงวรรณกรรมอินโดนีเซียกล่าวว่า
“หากคัยริล อันวาร์ เป็นดวงตาข้างขวาของพวกเราแล้ว สุทาดจีย่อมคือดวงตาข้างซ้าย”
เอ.ซาหมัด ซาอิด
เอ.ซาหมัดซาอิดหรือชื่อเต็มๆ ว่าอับดุล ซาหมัด บิน มูฮัมหมัด ซาอิด (Abdul Samad bin Muhammad Said) คือนักเขียนชาวมาเลเซียผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นจากผลงานประเภทนวนิยาย เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนสมาชิกกลุ่ม ASAS 50 ซึ่งรวมตัวกันเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูผ่านการใช้วรรณกรรมภาษามาเลย์ งานเขียนชิ้นเลื่องลือของซาอิดเห็นจะมิพ้นนวนิยายเรื่องซาลินา (Salina) ผลงานที่ถูกกล่าวขานในฐานะหมุดหมายของวรรณกรรมมาเลเซียสมัยใหม่ทั้งยังรู้จักแพร่หลายระดับสากล
ซาลินา (Salina) ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงสาวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้ตัวเอกหญิงของเรื่องคือซาลินาซึ่งมีภูมิหลังชีวิตดีงามต้องกลายเป็นโสเภณีเพราะเธอถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืน นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 1958 จากสถาบันเดวาน บาฮาซ่า ดัน ปุสตากา (Dewan Bahasa dan Pustaka) สถาบันทางภาษาและวรรณกรรมของมาเลเซีย พร้อมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ
เอ. ซาหมัดซาอิด เกิดวันที่ 9 เมษายนค.ศ. 1935 ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งของมะละกาแล้วไปเติบโตในสิงคโปร์ เขาผ่านระบบการศึกษาจนได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงของเคมบริดจ์จากสถาบันวิกตอเรียเมื่อปี ค.ศ.1956 เคยมีประสบการณ์เป็นเสมียนในโรงพยาบาล เคยร่วมภารกิจกับนักการเมืองฝ่ายซ้าย รวมถึงทำงานวนเวียนอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์เนิ่นนานหลายปี จากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการไปสู่บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์หลายฉบับๆ
ซาอิดเริ่มต้นเขียนหนังสือช่วงทศวรรษ 1950 สร้างสรรค์ผลงานออกมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียง และวรรณกรรมเยาวชน แต่ผลงานโดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญมิแคล้วประเภทนวนิยายแนวสัจนิยม งานเขียนของเขามักพาดพิงผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามาของกองทัพญี่ปุ่นในมาเลเซียอันเป็นช่วงเวลาที่ชาวมาเลย์เผชิญความทุกข์ยากแสนสาหัส ซาอิดมองว่างานเขียนหรืองานศิลปะต้องรับผิดชอบต่อสังคม (Art for Society) สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่ม ASAS 50 ตัวละครในงานของนักเขียนผู้นี้ขับเสนอภาพชนชั้นล่างในสังคมมาเลเซียไว้ชวนติดตาม
โจลิโค คัวดรา
Dogstar หรือ ดาวสุนัขใหญ่ อาจถูกเรียกขานนามตามหลักวิชาดาราศาสตร์ได้ว่าดาวซิริอุส (Sirius) แสดงนัยยะเชื่อมโยงถึงพระเจ้า ตามคติความเชื่อการบูชาดาวซิริอุสย่อมเสมือนการเคารพนบนอบต่อพระองค์ ทว่าในบทกวี ‘Dogstar’ กลับสำแดงความพยายามปลดแอกตนเองจากพระผู้เป็นเจ้าและเกิดใหม่อีกครั้งในฐานะมนุษย์อย่างบริบูรณ์ ดังตอนหนึ่งว่า “เร็วสิ–สลัดตัวออกจาก การเป็นหมาของพระผู้เป็นเจ้า” บทกวีนี้ปรากฏขึ้นในวงวรรณกรรมฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ.1962 และได้กลายเป็นบทกวีคลาสสิกชิ้นสำคัญในวรรณกรรมร่วมสมัยของฟิลิปปินส์ นี่คือผลงานที่ทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งแจ้งเกิดในฐานะกวีฟิลิปปินส์เขาคือ โจลิโค คัวดรา
โจลิโคเป็นชาวเมืองซัมบอนกา (Zamboanga) ลืมตาดูโลกหนแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในเมืองดาเวาและกรุงมะนิลาเขาผ่านการศึกษาจาก Ateneo de Manila University และ University of the East จากนั้นเดินทางไปเรียนต่อที่โรงเรียนศิลปะแห่งบาร์เซโลนา ประเทศสเปน พร้อมทั้งโรงเรียนศิลปะในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างเรียนหนังสือโ จลิโคเพียรเขียนบทกวีโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากผลงานของกวีฟิลิปปินส์ชื่อ Jose Garcia Villa ภายหลังแจ้งเกิดด้วยบทกวี ‘Dogstar’ เขาก็ยึดถือชีวิตศิลปิน ไม่เพียงแต่เขียนบทกวีเลี้ยงชีพหากยังเป็นจิตรกรและคอลัมน์นิสต์วิจารณ์งานศิลปะในนิตยสารหลายฉบับ
บทกวีของโจลิโคซ่อนเร้นความหมายไว้ในแต่ละคำ ขณะเดียวกันก็ซ่อนคำไว้ในความหมายอย่างลุ่มลึก เนื้อหามักเกี่ยวกับความหลุดพ้นจากการครอบงำของพระผู้เจ้า ยืนหยัดเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์เออร์วิน คาสติลโย่ (Erwin Castillo) นักเขียนนวนิยายแดนตากาล็อกกล่าวไว้ว่า “ในบรรดากวีที่พระเจ้าทรงรักโจลิโคเป็นกวีที่พระองค์รักที่สุด”
โจลิโคเคยได้รับรางวัลปาลองก้า (Palanca) อันทรงเกียรติแห่งวงวรรณกรรมฟิลิปปินส์จากรวมบทกวี ‘Dogging Years’ ในปี ค.ศ.1978 รางวัลนี้จัดตั้งขึ้นโดยนายคาร์ลอซ ปาลองก้า (Carlos Palanca) เศรษฐีด้านอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมความสำเร็จของศิลปินทางด้านอักษรศาสตร์ และแล้วต่อมาเขาก็ได้รับคัดเลือกจากสมาคมนักเขียนฟิลิปปินส์ให้เป็นผู้คว้ารางวัลซีไรต์ในปี ค.ศ. 1979 โดยพิจารณาจากผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง ‘Poems of Poison Pawn’
ในช่วงวัยชรา โจลิโคเผชิญทุกข์ทรมานจากโรคพาร์คินสัน และโรคร้ายอื่นๆ ที่ทยอยตามมา ห้วงยามแห่งความป่วยไข้เขารำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้านั่นอาจเป็นความหวังของกวีผู้เคยมีแนวคิดปลดแอกตัวเองจากพระองค์เขากล่าวว่า “หากผมสามารถอยู่เพื่อชีวิตของผมได้อีก ครั้งผมจะอุทิศมันให้พระผู้เป็นเจ้าผมจะเขียนบทสรรเสริญการสร้างสรรค์ของพระองค์ แสดงให้คนเห็นถึงความรุ่งโรจน์แห่งพระองค์ผมจะเขียนบทกวีรักเพื่อยกย่องพระผู้เป็นเจ้า”
โจลิโค คัวดรา จากโลกนี้ไปเมื่อสิ้นเดือนเมษายน ค.ศ. 2013 แต่ถ้อยคำพึงครุ่นคิดที่เขาฝากไว้ยังก้องกังวาน
“เราจำเป็นต้องอ่านทุกสิ่งที่กวีเขียนเพื่อการตัดสินใจที่ดีอย่าด่วนสรุปก่อนเข้าใจอย่างถ้วนถี่ บทกวีบทเดียวมิอาจสร้างกวี ผมยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในฐานะกวีเพราะทั้งหมดคืองานของผม”
เช่นเดียวกันครับ การไปเรียนหนังสือที่อินโดนีเซียครั้งล่าสุด ผมมีเหตุให้ต้องทำงานกลุ่มกับเพื่อนๆ จากฟิลิปปินส์ มีเพื่อนผู้หญิงจากกรุงมะนิลาคนหนึ่งเธอกำลังเรียนทางด้านวรรณกรรมฟิลิปปินส์ ผมก็ได้อ้างชื่อโจลิโค คัวดรานี่แหละเป็นเครื่องเจริญสัมพันธไมตรี
เอ็ดวิน นาตาซัน ธัมบู
มักแว่วยินว่านิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่เป็นวรรณคดีการเมืองที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งถ้าเชื่อว่าเป็นจริงเช่นนั้นบทกวี ‘MAY 1954’ ของเอ็ดวิน ทัมบู ก็คงสะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดใจที่ชาติตะวันตกเข้ามาครอบงำ ดังปรากฏในท่อนสุดท้ายของบทกวีว่า
ไปเถิด ทอม ดิค และแฮร์รี่
ไปอย่างอ่อนโยน อย่างเป็นทางการ
เราอาจยังเป็นเพื่อนคุณ
แม้แต่รักคุณ–หากเราจะห่างกันออกไปสักหน่อย
เอ็ดวิน ธัมบู เป็นกวีและศาสตราจารย์ทางวรรณกรรมชาวสิงคโปร์ เขาไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากคือนักเขียนดังระดับโลก ธัมบูเกิดที่สิงคโปร์เมื่อ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1933 พ่อของเขาเป็นครูเชื้อสายทมิฬแต่นับถือศาสนาคริสต์โปรเตสแตนท์ ขณะแม่เป็นจีนแต้จิ๋ว-เปรานากานวัยเยาว์ของธัมบูตรงกับช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองสิงคโปร์ (1942–1945) ประสบการณ์ส่วนนี้ย่อมส่งผลต่องานวรรณกรรม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ธัมบูเรียนต่อในโรงเรียนศาสนาและที่โรงเรียนวิกตอเรีย (Victoria School) เขาเริ่มต้นเขียนบทกวีตอนอายุ 17 และได้รวมเล่มบทกวีชุดแรกในปี ค.ศ. 1956 ชื่อเล่มว่า ‘Rib of Earth’ (ซี่โครงของแผ่นดิน) ขณะยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีด้านวรรณคดีอังกฤษและประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมลายาตลอดทศวรรษ 1950 ธัมบูศึกษาวรรณคดีอังกฤษอย่างเข้มข้นพร้อมๆ กับเขียนบทกวีและบทความวิชาการพอสำเร็จปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยม ธัมบูปรารถนาศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปโดยมีเป้าหมายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่กลับถูกปฏิเสธเขาจึงไปทำงานข้าราชการพลเรือน กระทั่งในปีค.ศ. 1966 ธัมบูย้อนกลับสู่โลกแห่งมหาวิทยาลัยอีกครั้งเริ่มจากผู้ช่วยวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่สุดเขาศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกโดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับบทกวีแอฟริกัน กลายเป็นอาจารย์คนสำคัญประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
ในฐานะกวี ธัมบูพยายามถ่ายทอดความคิดเห็นที่มีต่อสังคมลงในงานเขียน เขาสร้างผลงานกวีนิพนธ์ออกมาหลายต่อหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น God Can Die (1977), Ulysses by the Merlion (1979), Still Travelling (2008) และ The Best of Edwin Thumboo (2012) นอกจากนี้ เขายังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมผลงานวรรณกรรมด้วยการแปลงานของนักเขียนอาเซียนให้มีความแพร่หลาย ธัมบูกล่าวว่า “พวกเราต้องจดจำไว้ว่า วรรณกรรมเป็นเพียงศิลปะแขนงเดียวซึ่งเป็นกลางในการตรวจสอบศิลปะอื่นๆ ทั้งหมด”
ตอนที่ธัมบูได้รับรางวัลซีไรต์ในปี ค.ศ. 1979 เขามิได้มารับรางวัลด้วยตนเองที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากติดภารกิจสำคัญในสหรัฐอเมริกา แต่กวีชาวสิงคโปร์ผู้นี้เคยมาเยือนเมืองไทยหลายหน เขาประทับใจเชียงใหม่ ทั้งธรรมชาติ สาวงาม และอาหารการกิน จนถึงขั้นนำไปเขียนบทกวีชื่อว่า ‘Khan Tok in Chiengmai’ ต้นปี ค.ศ. 2012 ธัมบูได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อเป็นองค์ปาฐกถาในงานพระราชทานรางวัลซีไรต์ประจำปี ค.ศ. 2011 ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลซึ่งเป็นปีที่ จเด็จ กำจรเดช คว้ารางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น ‘แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ’ ไปครอง และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 เขาได้รับรางวัล ‘สุนทรภู่’ ซึ่งจัดมอบโดยกระทรวงวัฒนธรรมของไทย
ที่บอกเล่าไปทั้งหมดคือเรื่องราวของกวีและนักเขียนจากประเทศเพื่อนบ้านผู้คว้ารางวัลซีไรต์รุ่นแรกสุด แน่ล่ะ ผมยังมิทันได้กล่าวถึงคำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรต์ชาวไทยคนแรกซึ่งคุณผู้อ่านคงน่าจะพอรู้จักกันดี ยิ่งถ้าเคยชมละคร ‘นายฮ้อยทมิฬ’ เคยอ่านหนังสือนวนิยายเรื่อง ‘ลูกอีสาน’ คงจะร้อง อ๋อ! อ๋อ! เกรียวกราว ผมเองมีเรื่องอยากเขียนถึงคำพูน บุญทวีอยู่มิใช่น้อยเกินร้อยบรรทัดเลย เอาเป็นว่าผมขออนุญาตผัดไว้เป็นคราวหน้าก็แล้วกันครับ รับรองด้วยเกียรติของลูกเสือดื่มน้ำสำรอง จะสรรหาความแซ่บอีหลีเด้อมาบำเรอคุณผู้อ่านแน่ๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- จินดา ดวงจินดา. พระเจ้าย้งตาย เสียงกวีจากอาเซียน.กรุงเทพฯ : เรืองศิลป์, 2522
- นรนิติ เศรษฐบุตร. 10 ปี ซีไรท์ คำให้การเรื่องราวรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปี 2522-2531.พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2531
- Bachri, Sutardji Calzoum. Black soup. Translated from Indonesian by Harry Aveling. Singapore:Departmaent of Malay Studies, National University of Singapore, 1993
- Said,Abdul Samad. Salina. Translated from Malay by Harry Aveling, Kuala Lumpur : Dewan Bahasa dan Pustaka, 1975
- Thumboo, Edwin. Seven poets, Singapore and Malaysia.Singapore: Singapore University Press, 1973