เมื่อความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นในทุกๆ วินาที
ในวันที่หลายคนอาจเห็นว่าผู้หญิงจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้หญิงจะสามารถทำงานในตำแหน่งเดียวกับผู้ชายได้ ผู้หญิงมีอิสระภาพในชีวิตมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกดทับทางเพศยังคงอยู่และมีมิติซับซ้อนไปมากกว่านั้น ทั้งความกดดันทางสังคม การถูกรอบจารีตของโบยตี ความเจ็บปวดจากการไร้สิทธิ์ไร้เสียงในการพูดถึงสิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญ การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นทุกขณะ ทุกมุมโลก
8 มีนาคมของทุกปีนั้นนับเป็นวันสตรีสากล เราเลยอยากชวนทุกคนไปรู้จักหนังสือที่พาเราไปเข้าใจว่าเกิดเป็นผู้หญิงนั้นต้องถูกกดทับยังไงบ้าง พวกเธอเจ็บปวดกับอะไร และเรื่องของพวกเธอที่อยากจะเล่านั้นเป็นยังไง เพราะเราเองก็อยากให้เสียงของผู้หญิงได้รับฟังด้วยเช่นกัน หากใครมีเล่มไหนอยากชวนอ่านเพิ่มเติม แนะนำกันมาได้เลยนะ
คิมจียอง เกิดปี 82 – โชนัม จู
“เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง”
คิมจียอง เกิดปี 82 บอกเล่าเรื่องราวความไม่เท่าเทียมทางเพศผ่านเหตุการณ์และชีวิตแสนสามัญธรรมดาของตัวละครหญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานที่โอกาสเติบโตน้อยกว่า สุดท้ายต้องลาออกมาทำงาน เพื่อดูแลครอบครัว และแม้จะอยากทำงานแค่ไหน แต่สามีกลับบอกว่าให้อยู่บ้านสบายๆ ซึ่งการอยู่บ้านนั้นเธอทั้งต้องดูแลลูก ดูแลบ้าน ไม่มีเวลาให้ตัวเองแม้แต่น้อย รวมไปถึงการต้องคอยดูแลทั้งครอบครัวตัวเอง รวมไปถึงครอบครัวสามี เมื่อภาพของผู้หญิงเป็นเพียงแค่คนรับใช้ที่คอยปรนนิบัติทุกคน ในขณะที่ผู้ชายนั้นกลับไม่ต้องแบกรับภาระและความหนักอึ้งในใจตรงนี้แม้แต่น้อย
ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% – ชินเซีย อารุซซา (Cinzia Arruzza) ติถี ภัฏฏาจารย์ (Tithi Bhattacharya) แนนซี่ เฟรเซอร์ (Nancy Fraser)
“พวกเขาเรียกร้องต้องการทั้งขนมปังและดอกกุหลาบ ขนมปังที่ถูกฉกฉวยไปจากโต๊ะอาหารของเราเพราะอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมไปถึงดอกกุหลาบซึ่งสื่อถึงความรื่นรมย์ที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเราผ่านการก่อกบฏอันเต็มไปด้วยชีวิตชีวา”
ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% เป็นหนังสือที่ต้องการบอกเล่าผ่านแนวคิดเฟมินิสม์สายต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalist feminism) ที่ต้องการให้คนมองเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในวันที่ทุนนิยมเติบโต ซึ่งถ้อยแถลงนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อคุยกับผู้หญิงเท่านั้น แต่คือทุกคนและทุกสิ่งที่ถูกกดทับจากโลกทุนนิยมเสรีที่ผลาญทรัพยากรมากจนเกินไป ซึ่งหนังสือเล่มนี้ยังชวนวิพากษ์เฟมินิสม์สายเดิมที่เคยเกิดขึ้น เพื่อเรียนรู้และเดินไปข้างหน้าจนถึงวันที่โลกไร้ซึ่งชนชั้น ไร้ซึ่งการกีดกันทางเพศ เชื่อชาติ ศาสนา นี่ไม่ใช่หนังสือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือหนังสือเพื่อเราทุกคน
ชวนอ่านและสนับสนุนได้ที่ : https://www.readawrite.com/a/1b9129c91a1b8719048990276adae91c
ผู้หญิง | อำนาจ – แมรี เบียร์ด (Mary Beard)
“กระบวนการสำคัญในการเติบโตของผู้ชาย คือการเรียนรู้ที่จะเข้าควบคุมสิทธิการพูดในที่สาธารณะและจัดการให้ผู้หญิงเงียบเสียง”
ชวนสำรวจอำนาจที่กดทับผู้หญิงตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน รวมไปถึงชุดความคิดที่พยายามกีดกันผู้หญิงออกไปจากสังคม ไม่ว่าจะเป็น การลดทอนเสียงของผู้หญิงในที่สาธารณะให้เงียบลง การเป็นผู้หญิงที่จะได้รับความน่าเชื่อถือเมื่อแต่งตัวและใช้คำพูดแบบผู้ชาย และกระแส #MeToo ที่เปิดเผยให้เห็นการล่วงละเมิดที่เกิดเป็นวงกว้าง แต่สุดท้ายแล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้จริงไหม
บีเลิฟด์ (Beloved) – โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison)
หนังสือเล่มนี้พาเราย้อนกลับไปในยุคสมัยที่ยังมีการค้าทาส และเล่าเรื่องของทาสผู้หญิงที่ตัดสินใจฆ่าลูกของตัวเองเพื่อไม่ให้ลูกต้องพบเจอกับชะตากรรมการเป็นทาสที่เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะการเป็นทาสผู้หญิงที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจ เพราะไม่เพียงแค่พวกเธอต้องเจอกับการถูกใช้แรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม แต่พวกเธอยังต้องเจอกับการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้างหรือทาสผู้ชายด้วยกันเองที่มองเป็นเพียงเครื่องให้ความบันเทิงเท่านั้น ซึ่งจนถึงปัจจุบันแม้ระบบทาสจะดูเลือนหายไป แต่กดทับทางเพศ เชื้อชาติ และสีผิวยังคงวนเวียนอยู่ในสังคม
ว่างยังวุ่น: ชนชั้น เพศสภาพ และเวลาว่างของผู้หญิง – สมสุข หินวิมาน
“กว่าที่ผู้หญิงสักคนจะมีเวลาว่าง มิใช่เรื่องที่ได้มาโดยง่าย เพราะชีวิตครัวเรือนในปัจจุบัน “ของขวัญ” ในวันว่างๆ ของสามีและลูกๆ อาจต้องแลกมาด้วยชีวิตและอิสรภาพของผู้หญิงหรือทาสประจำครอบครัว”
เมื่อเวลาว่างของคนคนหนึ่ง หมายถึงการที่อีกคนหนึ่งอาจถูกกดขี่หรือต้องทำงานแทน ชวนไปสำรวจ ‘เวลาว่าง’ ของผู้หญิงที่ไม่ค่อยได้ว่างผ่านงานวิจัยของ สมสุข หินวิมาน เมื่อเวลาว่างของพวกเธอต้องถูกแปรเปลี่ยนเป็นเวลาดูแลลูกๆ และสามี เวลาจัดเตรียมบ้านให้เรียบร้อย โดยที่สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกเรียกว่า ‘งาน’ และทำให้เวลาว่างเลือนลางไปกับงานบ้านที่คนในครอบครัวหลายคนมองข้ามไป และเวลาว่างของผู้หญิง ไม่เคยได้ตอบสนองต่อความต้องการของตัวเองเลยแม้แต่น้อย
ทำลาย, เธอกล่าว – รวมนักเขียน
หนังสือรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนหญิงในไทยที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น วรรษชล ศิริจันทนันท์, สิรินารถ อินทะพันธ์, เพณิญ, ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์, ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์, ปอ เปรมสำราญ, จิราภรณ์ วิหวา, ภวิล เฟย์, ตวงพร ปฏิปทาพานิชย์, พิมพ์สิริ เพชรน้ํารอบ ซึ่งหยิบเอาความรู้สึกของผู้หญิงมาเขียนและเปิดเผยให้เห็นความอัดอั้นตันใจ และทำลายกรอบที่ขัดขวางความรู้สึกนึกคิดของพวกเธอไว้ผ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัก เรื่องโสเภณี เรื่องผู้หญิงที่ฆ่าผัว ความสัมพันธ์ที่เธอไม่เคยได้เอื้อนเอ่ย ในวันที่เสียงของผู้หญิงถูกทำให้เงียบงัน
คัมภีร์โยนี – พญ.เจ็น กันเทอร์
“แด่ผู้หญิงทุกคน ที่เคยได้ยินผู้ชายบางคนบ่นเรื่องโยนีของผู้หญิงว่า น้ำมากเกินไป แห้งเกินไป ดำไม่สวย ย้วยเกินไป หลวมโพรกเกินไป ตีบเกินไปดันไม่เข้า มีเซ็กซ์แล้วเลือดออกเยอะเกินไป หรือกลิ่นแรงเกินไป”
ผู้หญิงหลายคนอาจไม่เคยก้มลงดูและทำความรู้จักกับอวัยวะเพศของตัวเองเลย และนั่นอาจทำให้เกิดมายคติเกี่ยวกับ ‘กี’ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้หญิงด้วยกันเอง หนังสือเล่มนี้จึงชวนมาเรียนรู้เรื่องราว และหักล้างมายคติของกี รวมไปถึงการผลักดันให้ทุกคนออกมาพูดเรื่องอวัยวะเพศแบบไม่ต้องถูกประณาม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเซ็กซ์ การตั้งครรภ์ กระบวนการข้ามเพศ สุขภาพ กางเกงใน การทำความสะอาด และโรคต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงได้เข้าใจกีอย่างแท้จริง
Black Cherry : ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด – ลูกแก้ว โชติรส
ในทุกความสัมพันธ์มีอำนาจซ่อนอยู่เสมอ หนังสือเล่มนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าความสัมพันธ์และอำนาจที่กำลังกดทับผู้หญิง รวมไปถึงการประณามพวกเธอที่หลุดออกจากกรอบที่สังคมตั้งไว้ เพื่อให้เห็นว่าเกิดเป็นผู้หญิงนั้นต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและความโดดเดี่ยวเช่นไร นอกจากนั้นยังชวนให้เราได้ฟังเสียงและความรู้สึกของผู้หญิงที่น้อยครั้งนักจะได้ถูกบอกเล่าออกมา