อาจไม่ถูกต้องในทางวิทยาศาสตร์นัก แต่เชื่อไหม ประเทศไทยมี ‘ม็อกกิงเบิร์ด’ เต็มไปหมด
ม็อกกิงเบิร์ดอาจจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ถูกกระทำด้วยอคติของรัฐไทย
เป็นจำเลยคดี ม.112
เหยื่อในเหตุการณ์สังหารหมู่อย่าง 6 ตุลาฯ
หรืออาจจะเป็นพวกเราทุกคน
ในนวนิยายอเมริกันคลาสสิก To Kill a Mockingbird โดย ฮาร์เปอร์ ลี (Harper Lee) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1960 แอตติคัส ฟินช์ (Atticus Finch) ตัวละครสำคัญของเรื่อง ผู้เป็นทนายความและพ่อของเด็กๆ วัยประถม – เจ็ม (Jem) และ สเกาต์ (Scout) – สอนลูกว่า
“จะยิงนกบลูเจย์ยังไงก็ตามใจเถอะ ถ้ายิงโดนนะ แต่จำไว้ว่าถ้าฆ่านกม็อกกิงเบิร์ดจะเป็นบาป”
ตีความอย่างง่ายที่สุด ม็อกกิงเบิร์ดก็คือ ‘ผู้บริสุทธิ์’ ที่ถ้าหากถูกกระทำ ก็จะกลายเป็นความอยุติธรรมไปเสีย – ใกล้เคียงกันกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มองว่า
“ม็อกกิงเบิร์ดก็คือคนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องอยากฝันเห็นถึงสังคมที่ดีกว่า”
“เป็นหนึ่งอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติศาสตร์หลายพันปีของมนุษยชาติ เรียนรู้กันแล้วว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการอยู่ร่วมกันในฐานะสังคม มันคือ peace มันคือสันติภาพ คุณกับผมไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน แต่ไม่มีใครต้องทุบกัน ไม่มีใครต้องฆ่ากัน”
ถ้าถาม ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็จะได้คำตอบอีกแบบ
“ม็อกกิงเบิร์ดก็คือเราทุกคนนี่แหละ เพราะว่ามนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย”
“บางที ที่อคติมันร้ายแรง นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงได้ เพราะว่าคุณแค่เห็นคนที่แตกต่างจากคุณ โดยที่เขายังไม่ได้มาทำอะไรกับคุณเลยนะ ไม่ได้ทำผิด เขาแค่แต่งตัวแตกต่าง พูดจาแตกต่าง ภาษาแตกต่าง คุณก็เริ่มเกิดความไม่สบายใจ ถึงจุดหนึ่ง ถ้ามันสะสมนานเข้า อคติมันแรงกล้า คุณอาจจะนึกอยากไปทำร้ายร่างกายเขาด้วยซ้ำ”
ใช่ – เรานำนวนิยาย To KIll a Mockingbird ไปคุยกับประจักษ์และธนาธร สองบุคคลที่น่าจับตาในแวดวงการเมืองไทย บทสนทนาเริ่มต้นจากรัฐแอละแบมา ทศวรรษ 1930 อันเป็นฉากหลังของเรื่องแต่งเรื่องนี้ แต่กลับพาเราไปไกลถึงการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ปี 1776, เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ, Black Lives Matter และ ม.112
1.
To Kill a Mockingbird บอกเล่าเรื่องราวการเติบโตของมนุษย์ ผ่านมุมมองของ สเกาต์ เด็กหญิง (ที่หลายครั้งก็ไม่ยอมสยบต่อความเป็นหญิงที่สังคมกำหนดในขณะนั้น) วัยราว 6 ขวบ รายล้อมด้วยตัวละครอย่าง เจ็ม พี่ชายผู้กล้าหาญที่โตกว่า 4 ปี และแอตติคัส ผู้เป็นพ่อ
ท่ามกลางฉากหลังที่ไม่ธรรมดา – เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่เมย์คอมบ์ เมืองเล็กๆ ในรัฐแอละแบมา ช่วงปี 1930 ซึ่งแน่นอน เมืองทางใต้ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น อุดมไปด้วยการเหยียดสีผิว (racism) อย่างไม่ต้องสงสัย ยังไม่นับอคติอื่นๆ รายรอบที่อาจไม่โดดเด่นเท่า ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ หรือการแบ่งชนชั้นทางเศรษฐกิจ
จะว่าไป หัวข้อรองของหนังสือในฉบับภาษาไทย (ตีพิมพ์ล่าสุดในปีนี้ สำนวนแปลของ วิกันดา จันทร์ทองสุข โดยสำนักพิมพ์ Words publishing) ก็สรุปไว้แล้วได้อย่างครบถ้วน นั่นคือ “เรื่องราวการเติบโตอันงดงาม ในสังคมที่แฝงไปด้วยอคติ”
แต่ปมหลักของเรื่อง มีศูนย์กลางอยู่ที่แอตติคัส นักกฎหมายผู้ยึดมั่นในหลักการ ชายผิวขาวที่มาว่าความให้กับ ทอม โรบินสัน (Tom Robinson) คนผิวดำที่แม้บริสุทธิ์ แต่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงสาวผิวขาวในเมือง
“แอตติคัส จริงๆ ดูไม่เป็นฮีโร่ตามขนบนะ” ประจักษ์ตั้งข้อสังเกต “เป็นผู้ชายที่ตอนแรก พวกลูกๆ เองยังรู้สึก เฮ้ย พ่อเราไร้น้ำยา ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ดูเป็นผู้ชายแหยๆ ใส่สูทผูกไทใส่แว่น ดูเป็นหนอนหนังสือไปทำงาน
“อันนี้เสนอให้เห็นฮีโร่ในรูปแบบใหม่ คือคุณปกป้องคนอื่นจากความ
อยุติธรรมทางกฎหมาย คุณปกป้องคนอื่นจากอคติที่สังคมมันครอบงำ”
“จริงๆ ก็คือคนที่น่ายกย่องไม่ต่างจากฮีโร่อื่นๆ ที่ไปใช้กำลังต่อสู้” เขาว่า
ในฐานะพ่อเหมือนกัน ธนาธรมองแอตติคัสเป็นพ่อตัวอย่าง “ไม่รู้นะ จากการที่เป็นพ่อ ผมมีลูกสี่ ไม่น่าจะมีพ่อคนไหนอดทน สุขุมกับลูกๆ ได้ขนาดนี้ อันนี้เป็นพ่อตัวอย่างมากๆ แต่โดยภาพรวมก็คือ ผมคิดว่า แอตติคัสเป็นคนที่สอนลูกด้วยการกระทำของตัวเอง ว่าการยืนยันในสิ่งที่ถูกต้องมันทำยังไง ไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่ทำให้ลูกเห็น”
ดังที่แอตติคัสเองก็สอนลูก “คดีนี้ คดีของทอม โรบินสัน นี่น่ะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงสำนึกผิดชอบชั่วดีในใจคน สเกาต์ พ่อคงไม่อาจไปโบสถ์และนมัสการพระเจ้าได้หรอก ถ้าพ่อไม่พยายามช่วยผู้ชายคนนั้น”
“ก่อนที่พ่อจะมีชีวิตอยู่กับคนอื่นๆ ได้ พ่อต้องมีชีวิตอยู่กับตัวเองให้ได้ก่อน สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกฎหมู่ก็คือสำนึกผิดชอบชั่วดีในใจคนนี่ละ”
2.
“ฉันได้แต่หวังแล้วก็ภาวนาว่าจะพาเจ็มกับสเกาต์ผ่านพ้นเรื่องนี้ได้โดยไม่บอบช้ำ และสำคัญที่สุดคือไม่ติดโรคประจำถิ่นของเมย์คอมบ์ไปด้วย ทำไมคนดีๆ ถึงต้องคลั่งเสียสติเวลามีเรื่องเกี่ยวกับนิโกรด้วย” แอตติคัสคุยกับอาแจ็ก (Uncle Jack)
หลายคนตีความตรงกัน ‘โรคประจำถิ่น’ ของเมย์คอมบ์ ก็คือการเหยียดสีผิวนั่นแหละ – เรื่องนี้ ประจักษ์อธิบายให้เห็นภาพว่า ในช่วงเวลานั้น นโยบายการแบ่งแยกสีผิว (segregation) ในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ คนขาวและคนดำใช้พื้นที่สาธารณะแยกกัน โดยที่คนดำถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์ที่ฝังรากลึกของสหรัฐฯ
“อเมริกาก่อสร้างขึ้นมาตอนแรกด้วยไอเดียเรื่องทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน แต่เวลาพูดประโยคนี้ตอนประกาศเอกราช เขาไม่ได้นึกถึงคนดำ เขาไม่ได้นับคนดำรวมเข้ามาด้วย ประโยคที่ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ก็คือเฉพาะคนขาวเท่านั้น”
“กว่าจะมาได้สิทธิก็เมื่อมันมีขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ที่เราเรียกว่า civil rights movement นำโดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ทศวรรษ 1960 คือตอนที่หนังสือตีพิมพ์ออกมานั่นแหละ มันเป็นช่วงที่กำลังต่อสู้กันอยู่ หนังสือเล่มนี้แหละเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และตระหนักถึงเรื่องนี้”
ธนาธรเองก็มองว่า เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้ คือการต่อสู้ท้าทายอำนาจ เพื่อสังคมที่ดีขึ้น
เขาชี้ว่า ตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพ ปี 1776 มาจนถึงการเลิกทาส ในปี 1865 หลังสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ก็ใช้เวลาหลักร้อยปี และกว่าที่คนดำจะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน ในปี 1869 ก็ใช้เวลาอีกร่วมร้อยปี
“ระหว่างเหตุการณ์พวกนี้ มันมีคนเป็นจำนวนเยอะมากที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ที่ลุกขึ้นมาออกแรง ลงทุนลงแรง เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า”
ประจักษ์อธิบายต่อมาว่า เป็นเพราะ “ทุกสังคมมีอคติที่ครอบงำอยู่ชุดใดชุดหนึ่ง บางสังคมก็เป็นเรื่องสีผิว อย่างอเมริกาก็ใหญ่สุดแล้ว เรื่องคนขาว คนดำ ก็ยังสู้กันจนถึงทุกวันนี้เลย มันยังต้องมามีขบวนการ Black Lives Matter ที่ต่อสู้ให้ปฏิบัติต่อคนดำอย่างเท่าเทียมกัน บางสังคมก็เป็นเรื่องศาสนา อคติด้านศาสนามันก็จะฝังรากลึก”
ขณะที่ธนาธรบอก “ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีผิว ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางการเมือง พอเราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง พอมันเติบโตและงอกงาม มันทำให้คนโหดเหี้ยมได้เหลือเชื่อเลย
“ถ้าเราเรียนรู้อะไรกับมันได้ และทำไมมันยังสำคัญกับเรา ผมคิดว่า ต้องตามให้ทันวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะถูกบ่มเพาะ ถูกสร้าง โดยชนชั้นนำในสังคมนั้นๆ เพื่อใช้วาทกรรม เพื่อใช้ความเกลียด เพื่อใช้ค่านิยมต่างๆ เหล่านี้ รักษาอำนาจของตัวเองไว้ และเรื่องนี้ก็ยังเป็นจริงอยู่จนถึงทุกวันนี้”
3.
“เราไม่มีทางเข้าใจคนอื่นได้อย่างแท้จริง จนกว่าจะพิจารณาสิ่งต่างๆ จากมุมมองของเขา –” แอตติคัสพูดกับสเกาต์
“อะไรนะคะ”
“– จนกว่าเราจะเข้าไปนั่งในใจเขาและหมุนตัวมองไปรอบๆ”
เราลองถอยออกมาจากเมืองเมย์คอมบ์ รัฐแอละแบมา – ถ้าพิจารณาจากมุมมองของธนาธรและประจักษ์ To Kill a Mockingbird สะท้อนอะไรบ้าง?
สำหรับธนาธร เขาก็เห็นด้วยหากจะบอกว่า นวนิยายเล่มนี้สะท้อนไปกับชีวิตทางการเมืองของเขา
“ที่แอตติคัสไปว่าความให้กับ ทอม โรบินสัน แล้วเขาก็ถูกสังคมกดดัน” ธนาธรเล่าย้อน “โดยปกติมันไม่มีทนายผิวขาวไปว่าความให้ คือมันเป็นอคติอย่างร้ายแรง แต่แอตติคัสบอกว่า เฮ้ย คนนี้ไม่ได้ทำผิด แล้วพอคุณไปยืนยันเพื่อความถูกต้องอะไรบางอย่าง คุณก็ถูกสังคมกดดันด้วยอคติ
“พอทำงานการเมืองมา 4-5 ปี ผมคิดว่า การเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ง่ายๆ ตรงไปตรงมา และเราก็จะทำผ่านกลไกที่สันติที่สุดด้วย คือการเลือกตั้ง คือการตั้งพรรคการเมือง แต่ในกระบวนการนี้เอง ผมกลับถูกกล่าวหา ให้กลายเป็นผู้ร้าย ให้กลายเป็นปีศาจ
“มันเป็นความหมายเดียวกันว่า บางครั้งเราจำเป็นจะต้องยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่เราเชื่อ แม้ว่าสิ่งนั้นในเวลานั้นมันอาจจะอาจจะไม่ได้รับความนิยมทางการเมืองก็ตาม แต่ผมว่ามันต้องมีคนยืนยัน
“เพราะถ้าไม่มีใครยืนยัน ไม่มีใครยกเพดานการตระหนักรู้ของสังคม สังคมมันไม่มีทางก้าวหน้าได้”
ส่วนประจักษ์ ประเด็นเรื่องอคติ นับว่าเป็นสิ่งที่ก้องกังวานอยู่ในทุกสังคม ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทย
“สังคมของเรา จริงๆ มีอคติหลายอย่างเลยนะ ถ้ามาสำรวจดีๆ เพราะว่าอุดมการณ์ความเป็นไทยกระแสหลักไม่ได้นับรวมคนทุกกลุ่ม ถ้าเราสำรวจดูให้ดี มันมีอคติซ่อนอยู่ในนั้นแหละ มันกีดกันคนหลายกลุ่มออกไป”
เขายกตัวอย่างกรณี บิลลี่—พอละจี รักจงเจริญ คนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกบังคับสูญหายเพราะอคติที่มีกับกลุ่มชาติพันธุ์ “จริงๆ เรื่องมันก็ไม่ต่างจาก To Kill a Mockingbird เลยนะ ครอบครัวเขาก็ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ภรรยาเขาก็ต่อสู้
“ของไทย นอกจากในเชิงศาสนา ชาติพันธุ์เหล่านี้ ผมคิดว่ามันมีอคติอีกอันนึงที่ค่อนข้างฝังรากลึกและแก้ยาก ก็คืออคติในเชิงอุดมการณ์ความคิด สีผิวมันยังเห็นได้ภายนอก หรือภาษา ศาสนาอาจจะสะท้อนผ่านการแต่งกายหรือพูดจาออกมา” ประจักษ์อธิบาย “คุณต้องมีความคิดชุดหนึ่งที่สอดคล้องกับรัฐเท่านั้น ที่รัฐอนุญาตให้คุณคิดได้ ถ้าคิดต่าง คุณอาจจะมีความผิดถึงตายได้”
เขายกตัวอย่างความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นเพราะอคติ กับความยุติธรรมที่หล่นหาย เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ที่รัฐใช้กำลังปราบปรามสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการกล่าวหาว่าคนเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐไทย – เขายังยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อย่างอยุติธรรม เพราะอคติที่ฝังรากลึก
นอกจากนี้ ประจักษ์เล่าอีกว่า “คนขาวที่ไปช่วยว่าความให้คนดำ ก็กลายเป็นคนเลวไปด้วย ผมว่าในสังคมไทยก็เหมือนกัน เราพิพากษาตีตราไปแล้ว คนกลุ่มนี้เป็นคนเลวนะ ถ้าใครโดนฟ้องด้วยคดี ม.112 ใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ก็เป็นคนเลวไปด้วย แค่เป็นสมาชิกครอบครัวของคนเหล่านี้คุณก็ถูกพิพากษาโดยสังคมแล้ว”
4.
เราจึงยังต้องอ่าน To Kill a Mockingbird ในศตวรรษที่ 21
“ผมว่าหนังสือเล่มไหนที่มันจะคลาสสิก หรือเป็นอมตะ มันพูดถึงประเด็นที่มันข้ามยุคสมัย และมันก็ยังคงเป็นปัญหาที่อยู่กับเรา”
ประจักษ์อธิบาย “ก็เอาแค่อเมริกาเอง สังคมที่เป็นต้นเรื่องของนวนิยายเล่มนี้ ก็ยังต้องมาต่อสู้กันเรื่องนี้อีกใช่ไหม การเหยียดสีผิว ยุคอย่างทรัมป์อย่างนี้ โอ้โห มันกลับขึ้นมารุนแรง” ซึ่งเขาชี้ว่า สโลแกนของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ว่า ‘Make America Great Again’ (ทำอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง) มันก็หมายถึง ‘Make America White Again’ (ทำอเมริกาให้ผิวขาวอีกครั้ง)
“อคติมันน่าจะลดลง ขบวนการคนผิวขาวเหยียดผิวมันน่าจะลดลง แต่เราไว้ใจไม่ได้เลย มันถูกปลุกกลับมาได้ ก็เหมือนสังคมไทย ถามว่า 6 ตุลาฯ เราคิดว่ามันเป็นอดีตไปแล้วจริงๆ หรือเปล่า มันไม่ใช่หรอก มันก็อาจจะถูกปลุกขึ้นมาได้อีกเสมอ”
ประการที่สอง ประจักษ์ชี้ว่า “มันบอกเล่าด้วยภาษาที่มันไม่ได้เทศนานัก คือเราจะไม่ได้รู้สึกว่า เฮ้ย มันจะมาสอนเรื่องความยุติธรรม เรื่องอคติ เรื่องการเหยียดผิว จริงๆ เขาไม่ได้ใช้คำใหญ่ๆ โตๆ เหล่านี้เลยด้วยซ้ำ แต่ว่ามันสอดแทรกผ่านเหตุการณ์ ผ่านตัวละคร ที่ผมว่ามันลึกซึ้งกินใจและทุกคนก็สามารถเข้าถึงได้”
และอีกประการหนึ่ง คือ ความน่าสนใจคือการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็ก เขายกตัวอย่างฉากหนึ่ง เมื่อเจ็มร้องไห้ และมีตัวละครผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ มิสเตอร์โดลฟัส เรย์มอนด์ (Dolphus Raymond) บอกว่า “ลองเขาโตกว่านี้อีกนิดเถอะ เขาจะไม่สะอิดสะเอียนร้องไห้แบบนี้หรอก”
“แต่ถ้าทุกคนมันเลิกร้องไห้หมด มันก็แสดงว่า คุณชาชินกับความอยุติธรรมมากๆ และมันก็จะสามารถดำรงอยู่ไปอย่างนั้นไม่เคยเปลี่ยน” เขาว่า
“แต่ถ้าคุณยังมองโลกด้วยสายตาของเด็กได้ มันยังตั้งคำถามเป็น มันยังเห็นได้ว่า ความไม่ปกติคืออะไร และนั่นแหละ มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้”
ธนาธรเห็นด้วยกับประจักษ์ทุกอย่าง
ประการที่เขาขอเสริมคือ เขาบอกว่า พออ่านจบแล้ว ราวกับมีอะไรมา ‘กระตุก’ ความคิด กระตุกมโนธรรมสำนึก ให้ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม “เหมือนมันมีมือที่มากระตุกมโนสำนึกของสังคมดังๆ ว่า คุณปล่อยให้สังคมมันเป็นอย่างนี้ได้ยังไง คุณปล่อยให้สังคมดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ยังไง”
บทสนทนานี้ก็เช่นกัน – เราออกมาโดยหอบหิ้วความรู้สึกอยากลงมือทำอะไรบางอย่างกลับมาด้วย ยังไม่อาจรู้ได้ว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่าปลายทางของมันที่อยากเห็น คือความยุติธรรม