แม้ซีรีส์ Game of Thrones จะจบลงไปแล้ว และในขณะที่ฉบับนิยายจาก จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน เล่มใหม่จะยังไม่มาถึง แต่ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของเวสเทอรอส ก็ยังคงมีเสน่ห์เย้ายวนให้หยิบยกมาพูดถึงเสมอๆ
เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในร้านหนังสือก็องดิด เมื่อทางร้านจัดงานเสวนาโดชวนหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาร่วมพูดกันถึง Game of Thrones โดยมีนักเขียนอย่าง โตมร ศุขปรีชา เป็นพิธีกร ร่วมเปิดประเด็นซักถาม
ด้วยความอินกับทั้งสถานการณ์บ้านเมือง ชะตากรรมทางการเมืองมากมาย ที่ธนาธรต้องเจอ มันจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ว่าธนาธรจะวิเคราะห์ Game of Thrones อย่างไร และเขาจะนำมาเปรียบเทียบกับการเมืองไทย และการเมืองโลกว่าอย่างไรบ้าง?
เราขอสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกันเพลินๆ ท่ามกลางบรรยากาศสีทึมเทาปกคลุมสังคมการเมืองไทยเป็นส่วนประกอบ
(หมายเหตุบทความสรุปงานเสวนานี้เปิดเผยเนื้อหาใน Game of Thrones นะ)
ธนาธรชอบตัวละครไหนใน Game of Thrones?
“ผมคิดว่า ผมชอบหลายตัวนะ แน่นอนที่สุดจะไม่มีใครชอบ The Imp” ธนาธร เล่าถึงความชอบในตัวละคร ทีเรียน แลนนิสเตอร์ว่า นี่คือคนที่มีลีลาการใช้ถ้อยคำพูดต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับการพูดเชิงสีเสียดสีที่มีให้เราเห็นได้บ่อยๆ ในซีรีส์
นอกจากนั้น ตัวละครที่ธนาธรเอ่ยปากว่าชอบ ยังรวมไปถึง อาร์ย่า สตาร์ค และ แซมเวล ทาร์ลี่
“ผมชอบอาร์ย่า ถ้าผมเป็นเด็กที่เห็นพ่อตัวเองถูกประหารชีวิต เห็นพ่อตัวเองแตกสลายไป เห็นแม่แล้วกับพี่ชายโดนฆ่า ผมว่าไม่แปลกที่เด็กจะต้องนอนหลับทุกคืนแล้วก็พูดชื่อคนที่อยากจะฆ่าทุกคืน เซอร์ซีบ้างอะไรบ้าง ลุงคนนู้นบ้าง ลุงคนนี้บ้าง
“ผมชอบคาแรคเตอร์นี้มาก ผมชอบตอนที่เริ่มไปฝึกวิชากับพระเจ้าไม่มีหน้า ผมว่าฉากที่โหดที่สุดก็คือฉากที่เขาไปปาดคอเฟรย์ เพื่อแก้แค้น Red Wedding จริงๆ มีเชิงอรรถนิดหน่อย ถ้าใครได้ไปเวสเทอรอสแล้วได้บัตรเชิญไปงานแต่งงาน คำแนะนำของผมคืออย่าไปนะครับ การแต่งงานในเวสเทอรอสนี่ไม่ฆ่ากันก็วางยาพิษกัน
“มีตัวละครอีกตัวที่คนพูดถึงน้อย แต่ตัวละครแบบนี้มันมีอยู่จริง คือ แซมเวล ทาร์ลี่ คุณนึกออกไป ความกล้าหาญของคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คุณไม่จำเป็นต้องกล้าหาญเหมือน จอน สโนว์ ถือดาบไปฟันกับสัตว์ประหลาด แซมเขากล้าหาญในแบบของเขา
“ยกตัวอย่าง ถ้าไม่มีแซม จอน์ สโนว์ ก็ไม่ได้เป็น Lord commander นะ คนที่วิ่งล็อบบี้ คนที่บอกว่าไม่ได้นะ จังหวะนี้มันมีแต่ จอน สโนว์ เท่านั้นที่ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงไปวิ่งล็อบบี้คนอื่นทั้งหมดเลยให้ไปโหวต จอน สโนว์ ผมคิดว่าเป็นความกล้าหาญแบบหนึ่ง”
ในช่วงหนึ่งเขาก็ยกตัวละครอย่าง บรอนน์ ขึ้นมาเล่าด้วยเหมือนกัน “ผมคิดว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ดิบในความหมายว่า คนทุกคนมันพร้อมจะปกป้องสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองเชื่อ ด้วยอำนาจแบบดิบๆ คือไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ตัวละครอีกตัวที่คนชอบคือ บรอน เป็นคนที่ซื่อตรงมาก คือเลวก็บอกว่าเลว”
Game of Thrones กับศีลธรรมทางการเมือง
ในช่วงหนึ่ง ธนาธรชวนเรามองถึงตัวละครที่ เขายก High Sparrow ขึ้นมาเปรียบเทียบว่า เป็นตัวแทนของฝ่ายที่ต้องการสร้างการเมืองให้กลายเป็นพื้นที่แห่งศีลธรรม ความขาวสะอาด ทั้งที่ความจริงแล้ว ความเป็นมนุษย์ในนักการเมืองมันไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้
“มันมีเซนส์ของการเมืองเยอะมากอยู่ใน Game of Thrones ยกตัวอย่าง High Sparrow ที่เป็นนักบวชแล้วพยายามสร้างกองกำลังของตัวเอง เพื่อไปต่อรองอำนาจกับวัง ไอเดียของ High Sparrow คือต้องการล้างมลทินให้กับชนชั้นสูงทั้งหมดที่อยู่ใน King’s Landing
“พอนึกถึงการเมือง ผมอาจจะนึกถึงคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เหมือนน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรแบบนี้ การเมืองมันต้องบริสุทธิ์แบบ High Sparrow ซึ่งจริงๆ เราก็รู้ว่านักการเมืองมันก็คนธรรมดา มันก็มีดีมีเลวกันหมดทุกคน”
แน่นอนว่า ภาพที่เราเห็นชัดใน Game of Thrones ย่อมรวมถึงศึกสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจ และตำแหน่งแห่งที่ในทางการเมืองระหว่าง 7 อาณาจักร ซึ่งธนาธรมองว่า ในศึกสงครามทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำใน Game of Thrones นั้น ความเสียหายแรกๆ ที่จะเกิดขึ้น คือผู้คนตัวเล็กๆ “สงครามที่เกิดในแต่ละตระกูล คนตายคนแรกคือประชาชนธรรมดา คือสามัญชนที่ต้องตายเพราะสงครามของคนอื่น ไม่ใช่สงครามของตัวเอง”
บทบาทของทุนใน Game of Thrones
ต่อคำถามเรื่องทุนในโลกของเวสเทอรอส ธนาธร ยกเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลแลนนิสตเตอร์ กับ Iron Bank
“ถ้าเราดู GOT ในช่วงที่ไทวินตาย เซอร์ซีจะส่งทูตไปเจรจากับดาวอส เซอร์ซีบอกว่าเป็นหนี้ไม่มีตังค์คืน ถ้าอยากได้คืนต้องให้กู้เพิ่มอีกเพื่อเอาไปชนะในการสู้รบ มันหลีกหนีไม่พ้นระหว่างรัฐและทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุนมันสามารถข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี การที่ทุนข้ามชาติอย่างเสรีมันเป็นปัญหามากกว่าแก้ปัญหา”
ซานซ่า สตาร์ค และการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในโลกของการเมือง
ในช่วงหนึ่งมีคำถามถึงธนาธร เกี่ยวกับบทบาทของซานซ่า สตาร์ค ที่เธอต้องปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อความอยู่รอด คำถามนี้ค่อนข้างน่าสนใจ ยิ่งถ้าเทียบกับบริบทที่ธนาธร และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าไปทำงานในสภาแล้ว
“คือมันจำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามนั้นไหม ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน แต่ถ้าคุณเป็นซานซ่า คุณอยู่ในสถานการณ์ที่คุณไม่มีกองกำลัง คุณไม่มีอะไรสักอย่าง แล้วถ้าคุณยังทำตัวบ้องแบ๊วต่อไป คุณก็อาจจะเป็นเหยื่อของเขา มันมีความจำเป็นที่คุณจะต้องเขี้ยวลากดินมากขึ้น
“ผมพูดตรงๆ การเมืองที่ผมเห็นมาด้วยตัวเอง ตลอดสองด่วนหลังจากการเลือกตั้ง ผมว่าไม่เบากว่า Game of Thrones แน่ๆ เราอาจจะไม่ได้ไร้พลังแบบซานซ่า แต่ในความหมายว่า เคี่ยวมากขึ้นไม่ใช่ในความหมายไม่ดี คือเคี่ยวกรำในทางการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่ในความหมายว่าเอาเปรียบคนอื่น ผมคิดว่าอาจจะจำเป็นต้องทำนิดนึง
“เราเห็นพรรคนึงที่หลังการเลือกตั้ง ที่เป็นพรรคขนาดกลางแต่ได้อะไรเยอะแยะไปหมด เพราะความเคี่ยวกรำทางการเมือง”
Game of Thrones และมิติของเสรีนิยม
พิธีกรชวนธนาธรคุยถึงผลสำรวจที่ทำในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า ผู้ชมชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ดูเรื่องนี้จะเป็นคนที่มีความเชื่อทางการเมืองในฝั่งลิเบอรัล แม้ ธนาธร จะไม่ได้ตอบแบบเต็มคำว่าเพราะทำไม แต่สิ่งที่เขาชวนคุยต่อนั้นก็น่าสนใจมากเหมือนกัน “ผมคิดว่ามันก็มี dimension ที่ก้าวหน้าใน Game of Thrones นะ มีผู้หญิงที่มีบทบาท มีความสามารถมาก นอกจากตัวละครหลักสองสามตัวแล้ว
ในช่วงหนึ่งธนาธร บอกว่า “คุณอาจจะถูกผลักดันด้วยปม ซึ่งแต่ละคนก็มีปมของตัวเอง คุณไม่ได้มีปมเหมือนกันหมด คุณไม่ได้รักชาติแบบเดียวกันหมด นึกออกไหม คุณอาจจะมีวิธีรักชาติของคุณ รักเพื่อนมนุษย์แบบผม ซึ่งไม่มีใครควรจะถูกดำเนินคดีเพราะคิดต่าง ไม่ควรมีใครควรจะถูกพิพากษาเพราะแต่งตัวไม่เหมือนคนอื่น
ธนาธร บอกด้วยว่า “ใน Game of Thrones แต่ละคนก็อาจจะไม่ได้รักชาติแบบเดียวกันหมด คุณอาจจะมีวิธีรักชาติของตัวเอง”
White Walker : ภาพแทนของ Global Warming
ธนาธร บอกว่า เขาเตรียมเรื่อง White Walker มาพูดในงานเสวนานี้เป็นการพิเศษ โดยเปรียบเทียบว่า ภัยคุกคามจากดินแดนแห่งความหนาวเย็นนั้น คล้ายกับปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เราของเรากำลังเผชิญหน้าอยู่จริงๆ
“ถ้าทั่วโลกไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยกัน โลกมันกำลังจะพัง นี่คือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แล้วแต่ละประเทศยังมาคุยกันเรื่องสงครามการค้า
“คุณสู้กันให้ตาย แต่ถ้ามัน (White Walker) เดินลงมา คุณก็ตายกันหมดทั้งอาณาจักร สำหรับผมแล้ว ถ้ามี White walker มาเปรียบเทียบกับการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง ผมกำลังนึกว่ามันคือ Global Warming นะ คุณต้องจัดการมันร่วมกัน มันเป็นปัญหาของอาณาจักรทั้งเจ็ด ผมคิดว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไปมากเลย
“ถ้าคุณไม่จัดการมัน ถ้าคุณมันแต่รบกันเอง มัวแต่ทำสงครามการค้า อเมริกากับจีน Brexit ไม่ Brexit ถ้าคุณมัวแต่คิดเรื่องอะไรแบบนี้ มันตายทั้งโลก
เขียนตอนจบ Game of Thrones แบบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ช่วงท้ายๆ ของการเสวนา หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บรรยายถึงภาพตอนจบของ Game of Thrones ในแบบฉบับของเขา โดยอยากเห็นเจ็ดอาณาจักรที่มีอิสระเป็นของตัวเอง และไม่ต้องขึ้นตรงกับเวสเทอรอส เขาเชื่อว่าด้วยบรรยากาศแบบนี้ มันจะนำไปสู่สันติภาพได้
“เจ็ดอาณาจักรควรแยกกัน ไม่ควรเป็นอาณาจักรเดียว แต่ละอาณาจักรควรมี autonomy คืออำนาจในการกำหนดการบริหารจัดการภาษี ทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องส่งส่วยไปให้ King’s Landing จัดการตัวเองแล้วก็ยกเลิกกองทัพให้หมดทุกอาณาจักรเลย จะได้ไม่ต้องมีสงครามฆ่าฟันกัน”
“สำหรับผม ผมก็อยากจะมี ending แบบ peaceful”
Publicată de Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด) pe Vineri, 7 iunie 2019