ใครๆ ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง หนังสือเด็กเรื่องนี้นอกจากจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาแล้ว คนที่รักหนังสือประเภทวรรณกรรมเยาวชนย่อมต้องเคยผ่านตาโต๊ะโตะจัง มาบ้างอย่างแน่นอน
ล่าสุดเด็กหญิงในห้องเรียนรถไฟในตำนาน ถูกสร้างเป็นฉบับอนิเมชั่นเตรียมเข้าฉายในวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ เรียกได้ว่าเตรียมเสียน้ำตาให้กับเรื่องราวความประทับใจของเด็กหญิงที่ไม่เข้ามาตรฐานโรงเรียนทั่วไป แต่กลับได้พบพื้นที่การเรียนรู้แสนวิเศษ ที่ถือเป็นจุดกำเนิดของการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเปิดรับความหลากหลาย
ทว่าถ้าเราอ่านเรื่องราวแรงบันดาลใจของโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงโต๊ะโตะที่ถือว่าแปลกประหลาด และถูกไล่ออกจากโรงเรียน บริบทนี้จริงๆ เป็นการเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้เขียนอย่างเท็ตสึโกะ คุโรยานางิ (Tetsuko Kuroyanagi) ที่ได้เข้าโรงเรียนประถมโทโมเอะ โรงเรียนรถไฟในชีวิตจริงซึ่งก่อตั้งขึ้นในราวปี 1937 ช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนซึ่งกลายเป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น พื้นที่ของการเรียนรู้และมิตรภาพ แต่พื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ นี้ แท้จริงแล้วกลับถูกห้อมล้อมไปด้วยไฟสงคราม ซึ่งในที่สุดโรงเรียนประถมฯ ทั้งในชีวิตจริงและในวรรณกรรมก็ถูกระเบิดราบเป็นหน้ากลองจากเครื่องบินทิ้งระเบิด
แม้ว่าโรงเรียนจะสูญหายไปจากไฟสงคราม แต่เรื่องราวของโรงเรียนก้าวหน้าที่เคารพความหลากหลาย และจุดจินตนาการจากการเรียนรู้ของเด็กๆ นั้นกลับไม่เลือนหายไป นอกจากโต๊ะโตะจัง จะเป็นวรรณกรรมขายดีที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว กระแสของวรรณกรรมเยาวชนในพื้นที่สำคัญ เช่น ในอังกฤษก็ล้วนมีร่องรอยของบาดแผลสงคราม ร่องรอยที่ในที่สุด วรรณกรรม ภาพวาด และโลกจินตนาการก็ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ และผู้คน
โต๊ะโตะจัง แสงสว่างในเงามืด
เรารู้ว่าโรงเรียนที่ใช้ตู้รถไฟมาเป็นห้องเรียน เคยเป็นห้องเรียนจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเองนับว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรง นั่นก็คือโรงเรียนที่เธอรักถูกทำลายจากไฟสงคราม โดยเงื่อนไขหนึ่งที่เท็ตสึโกะเล่าเรื่องราวการเข้าเรียนของตัวเองนั้น มาจากการที่เธอได้ข่าวว่าเด็กๆ ปฏิเสธที่จะไปโรงเรียน และรอยยิ้มของเด็กๆ ล้วนแต่เลือนหายไปจากใบหน้า ในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ความพิเศษของวรรณกรรมสำหรับเยาวชน จึงเป็นภูมิหลังอันเจ็บปวด และเป็นการนำเสนอเรื่องราวที่เจ็บปวดได้อย่างมีความหวัง การที่เราบอกว่าเด็กหญิงอย่างโต๊ะโตะจังผู้ชอบยืนคุยกับผู้คน เปิดปิดโต๊ะซ้ำๆ หรือทำเรื่องราวจนผู้คนเอือมระอา และเข้ากับ ‘สังคม’ โดยทั่วไปไม่ได้นั้น เป็นเรื่องราวที่เริ่มต้นด้วยความแปลกแยก ผิดมาตรฐานของสังคมจนถูกแยกออกไป
ทั้งนี้ ยังมีผู้เป็นแพทย์ที่สนใจโต๊ะโตะจัง กล่าวว่า โต๊ะโตะจังอาจมีภาวะสมาธิสั้น หรือมีภาวะออทิสติกอย่างอ่อน ซึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องอาการดังกล่าว โต๊ะโตะจังจึงถูกมองว่าเป็นเด็กที่เข้ากับสังคมไม่ได้ ในโลกที่มืดมนลงด้วยสงคราม เงื่อนไขในการใช้ชีวิตของเด็กหญิงในแง่หนึ่งจึงไม่น่าจะสวยงามได้
วรรณกรรมเยาวชนกับความหวังจากยุคสงคราม
นอกจากโต๊ะโตะจัง จะเป็นสุดยอดวรรณกรรมเยาวชนขายดีที่ขายดีต่อเนื่องมาอีก 4 ทศวรรษ และกลายเป็นหนังอีกครั้งในวันนี้ ในด้านหนึ่ง วรรณกรรมเยาวชนที่สดใสจำนวนมาก ต่างเป็นผลงานที่เขียนขึ้นในบริบทสงคราม และหลายชิ้นยังเขียนโดยผู้ที่เคยผ่านสงครามโดยตรง
ตัวละครและงานเขียนสำหรับเด็กที่เต็มไปด้วยจินตนาการ เช่น The Story of Doctor Dolittle ว่าด้วยคุณหมอที่เรียนรู้การพูดกับสรรพสัตว์ ก็เขียนและตีพิมพ์ในปี 1920 โดยฮิว จอห์น ลอฟติง (Hugh John Lofting) เองก็เคยเป็นวิศวกรโยธา ทำหน้าที่ในกองทัพอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งด็อกเตอร์ ดูลิตเติ้ล มีที่มาจากจดหมายที่จอห์นเขียนถึงลูกๆ โดยไม่อยากเขียนเรื่องสงครามที่โหดร้าย จึงเลือกแต่งเรื่องจินตนาการขึ้น เพื่อให้ลูกๆ ได้อ่านในจดหมายจากแนวหน้า
ในทำนองเดียวกัน เดอะ ฮอบบิท (The Hobbit) และมัชฌิมโลก (The Lord of The Rings) ก็เกิดขึ้นในสนามเพลาะของสงครามเช่นเดียวกัน เจ อาร์ อาร์ โทลคีน (jrr tolkien) เป็นบัณฑิตหนุ่มด้านภาษาและวรรณคดี แต่สงครามพาโทลคีนให้รับหน้าที่ในการส่งสัญญาณในแนวหน้าการสู้รบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงนี้เองโทลคีนจึงสร้างโลกจินตนาการขึ้น และบอกเล่าเรื่องราวของสงครามและสันติภาพ โดยมีเอล์ฟ ออร์ก มนุษย์ คนแคระ และแหวน เป็นตัวแทนของสงครามในโลกแฟนตาซี
นอกจากโทลคีนแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉพาะการเข้าร่วมยุทธการที่ซอมน์ (Battle of the Somme) ยังเป็นสนามรบร่วมของนักเขียนสำคัญ 3 คนคือ โทลคีน เจ้าของมิดเดิลเอิร์ล เอ.เอ. มิลน์ (A. A. Milne) เจ้าของทุ่งหญ้าร้อยเอเคอร์ของวินนีเดอะพูห์ และซีเอส ลูอิส (CS Lewis) เจ้าของดินแดนนาร์เนีย ซึ่งในชีวิตจริง ลูอิสยังเป็นเพื่อนกับโทลคีนด้วย
หลังสงคราม เอ.เอ. มิลน์ มีภาวะบาดแผลสงคราม (shell shock) ตัวมิลน์เองต้องรับการรักษา เพื่อกลับมาเป็นพ่อที่ดีของครอบครัว มีวันหนึ่ง มิลน์ได้พาลูกชายตัวน้อยอย่างคริสโตเฟอร์ โรบิน ไมลน์ (Christopher Robin Milne) ไปสวนสัตว์ลอนดอน แล้วได้พบกับลูกหมีแคนาดาสีน้ำตาลที่ชื่อว่า Winnipeg มิลน์จึงเชื่อมโยงกับเจ้าหมีน้อยได้ทันที เพราะมันเคยเป็นมาสคอตของหน่วยทหารลาดตระเวนแคนาดาในช่วงสงครามที่เขาเคยเข้าร่วม โดยมองเห็นตัวเองในนั้น ในขณะเดียวกัน ลูกชายก็ได้ตุ๊กตาหมีกลับมาบ้าน
ตลอดชีวิตการเป็นพ่อ มิลน์มีอาการตกค้างจากสงคราม เช่น ความตื่นตระหนก การวิ่งหนีสิ่งต่างๆ เพราะสะท้อนภาพรุนแรงที่เคยเผชิญ ในที่สุดเขาจึงลงมือเขียนเรื่องราวของวินนีเดอะพูห์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์-ภาวะทางจิตใจจากสงครามให้ลูกได้เข้าใจ ส่วนหนึ่งคือลักษณะของพูห์และตัวละครต่างๆ อย่างพิกเลตที่มีอาการพารานอยด์ อียอร์มีอาการเซื่องซึม ไปจนถึงนกฮูกที่สูญเสียความทรงจำ และวินนีก็คือตัวเขาเองที่จะพาคริสโตเฟอร์โรบินไปเรียนรู้ และเดินทางเติบโตในป่าร้อยเอเคอร์นี้
ร่องรอยของบาดแผลสงครามจากผลเชิงลบแห่งการทำลายล้าง แต่ด้วยพลังของวรรณกรรม ของศิลปะ และของจินตนาการ รวมไปถึงการคำนึงของผู้มีบาดแผลที่อยากจะสร้างโลกปลอดภัย โดยใช้เรื่องราวพิเศษๆ เพื่อพาเด็กๆ ออกจากบรรยากาศของสงคราม ไปจนถึงอยากให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ปลอดภัย และเติบโตได้อย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะมีโลกที่มืดมนแค่ไหนรออยู่
ทั้งหมดนี้คือพลังวิเศษของวรรณกรรมสำหรับเด็ก จากการเล่าประสบการณ์เลวร้าย ผ่านการตีความออกมาใหม่ด้วยความหวัง ความสวยงาม เพื่อเป็นพื้นที่ที่จะพาให้คนรุ่นต่อๆ ไป ก้าวไปอย่างสวยงามและแข็งแรง
อ้างอิงจาก