ยังจำช่วงเวลาที่เราเฝ้ารอแฮร์รี่พอตเตอร์เล่มใหม่ จำความรู้สึกที่เราได้หนังสือเล่มโปรดอยู่ในมือ ความรู้สึกที่เราค่อยๆ ท่องไปยังดินแดนและราวมหัศจรรย์ไปทีละหน้า ทีละหน้า จากรถไฟในชานชลาเก้าเศษสามส่วนสี่ถึงการข้ามตู้เสื้อผ้าไปยังอาณาจักรของอัสลานในนาร์เนีย
เมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มเติบโตขึ้น หนังสือที่เราอ่าน สื่อที่เราเสพก็อาจจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป ความน่าตื่นเต้นในวัยเด็กอาจจะเริ่มเลือนรางจางหาย แนวคิดที่เราพยายามรักษาไว้อย่างความเป็นเด็ก ก็ถูกการเติบโตที่ขมขื่น ทำให้การละทิ้งความฉงนสงสัยและโลกแห่งจินตนาการไปเริ่มเข้ามาแทนที่ ในบรรยากาศที่การอ่านกลับมาคึกคักอีกครั้ง นอกจากหนังสือใหม่ๆ เราเองก็อาจจะเห็นงานแปลที่นำเอาหนังสือคลาสสิกกลับมาทำใหม่ วรรณกรรมสำหรับเยาวชน เรื่องราวมหัศจรรย์ หรือกระทั่งการเลือกหนังสือที่เราเคยอ่านสมัยเด็กจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าหยิบมาอ่านซ้ำ
ในด้านนี้คำว่าการอ่านซ้ำ จึงเป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจและค่อนข้างมีความซับซ้อน เบื้องต้นที่สุดคือ หนังสือนั้นคือเล่มเดิม แต่ตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงไป หรือกระทั่งว่าความรื่นรมย์และความหมายการอ่าน อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่แค่การรับรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ คือเรารู้เรื่องทุกอย่างแล้ว แต่การกลับอ่านเรื่องเดิมอีกครั้ง ทำให้ได้ย้อนกลับไปยังความทรงจำเดิมๆ กระทั่งสามารถมองเห็นตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปของเราได้
เยี่ยมเยียนตัวตนในวัยเด็ก
ความพิเศษอย่างหนึ่งของหนังสือ คือเรื่องราวในหนังสือนั้นเหมือนเดิม แต่เป็นเราเองที่เปลี่ยนแปลงไป ทว่ามีข้อสังเกตที่ว่า การอ่านซ้ำหรือ rereading มีคุณสมบัติพิเศษคือการอ่านหนังสือเล่มเดิมให้ความรู้สึกมั่นคงกับเรา และที่สำคัญคือให้ความรู้สึกหวนหาอดีต นำพาเรากลับไปยังความทรงที่เฉพาะเจาะจงของห้วงเวลานั้นๆ ห้วงเวลาที่เราอ่านหนังสือเล่มนั้นเป็นครั้งแรก
การฟื้นความทรงจำจากการอ่านซ้ำในแง่นี้จึงค่อนข้างซับซ้อนยิ่งขึ้น เบื้องแรกคือความรู้สึกที่เรารับรู้เรื่องราวในวรรณกรรมนั้นๆ ต่างออกไปจากเดิม เราอาจมองเห็นอะไรมากขึ้น หรือกระทั่งมองเห็นว่าเรามองเห็นอะไรน้อยลง คือในที่สุดนอกจากเรากลับไปอ่านแฮรี่อีกครั้งแล้วเราพบว่าเรารับรู้ในเรื่องต่างไปจากเดิม ในความรู้สึกนั้นเราเองก็อาจจะนึกได้ว่าเมื่อสมัยเด็ก เราคิดหรือรู้สึกอะไรในการอ่านครั้งแรก
การกลับไปสู่ความทรงจำผ่านการอ่านจึงเป็นพาตัวเองกลับไปยังตัวตนก่อนหน้า ก่อนที่บางส่วนของเราจะหายหรือเปลี่ยนแปลงไปในนามความเป็นผู้ใหญ่ เราเริ่มเห็นช่องว่างของตัวเองจากตัวตนของเราในปัจจุบัน กับตัวตนเมื่อครั้งยังเยาว์วัย ง่ายที่สุดก็คงเป็นความเรียบง่ายในการมีความสุขผ่านโลกจินตนาการ เพียงแค่เราได้ซุกตัวขลุกอยู่บนเตียงทั้งคืนและแอบไล่สายตาไปยังบทแล้วบทเล่าจนเกิดเวลาที่เราควรนอน
ความสุขในวัยเด็กที่เราได้รับจากการอ่านเรื่องการผจญภัยที่อันที่จริงแสนเรียบง่าย และเราเองในปัจจุบันอาจจะนิยามว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ไม่ซับซ้อน ทำให้เราเองเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในความสุขแสนเรียบง่ายในตอนนั้น
การรับรู้ว่าตัวเราเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนผ่านการย้อนกลับไปในความรู้สึกของการอ่านครั้งแรก ดูจะเป็นความรู้สึกและการทบทวนตัวเองที่น่าสนใจ การลองกลับไปยังข่วงเวลาของความสุขง่ายๆ และการมองโลกอย่างไม่ต้องซับซ้อนเกินไปนัก ในหนังสือชื่อ On Rereading ของ Patricia Meyer Spacks นิยามการอ่านซ้ำว่าเป็นการสร้างการรับรู้ตัวเอง (creates a kind of self-consciousness) คำว่าการรับรู้ตัวตนจากอดีตนี้จึงค่อนข้างสำคัญเพราะเรามองเห็นไม่ใช่แค่ตัวตนในอดีตเท่านั้น แต่ยังเห็นความต่อเนื่องของตัวเราที่เชื่อมโยงกลับไปยังอดีตได้ด้วยว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหน และตัวตนเดิมอันที่จริงก็ไม่ได้หายไปซะทีเดียว
การอ่านซ้ำที่ถี่ถ้วนและพาเราผ่านโลกที่ไม่แน่นอนอย่างมั่นคงขึ้น
ในโลกที่เราเสพติดความใหม่และบางครั้งเราอาจมองอดีตเป็นสิ่งที่ไม่อาจหวนคืน เราเองอาจจะมีความเปรียบที่รู้สึกว่าการกลับไปหาอะไรเดิมๆ อาจเป็นเรื่องเสียเวลา เช่นเราบอกว่าการกลับไปหาคนรักเก่าก็เหมือนการอ่านหนังสือเล่มเดิม ทุกอย่างจบเหมือนเดิม เราจะไปเสียเวลาอ่านเรื่องเดิมซ้ำๆ ทำไม
แต่ทว่าการอ่านหลายครั้งไม่ใช่แค่การรับรู้สิ่งใหม่ นักเขียนสำคัญ เช่น วลาดีมีร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) อธิบายเรื่องการอ่านไว้ใน Lectures On Literature ว่าการอ่านครั้งแรกเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังมาก การไล่สายตาและการพยายามจับเรื่องราวต่างๆ เข้าหากันผ่านกระบวนการทางกายภาพที่ซับซ้อน ข้อเขียนของนักวิชาการด้านวรรณกรรมจึงมักพูดถึงศักยภาพในการอ่านที่บางครั้งเกิดจากการอ่านเรื่องเดิมซ้ำ เราอาจรู้สึกว่าเราเข้าใจเรื่องคร่าวๆ แล้ว ในการไล่สายตาบนเรื่องราวเดิมอีกครั้งอาจทำให้เราค่อยๆ รับรู้บางอย่างระหว่างบรรทัดและระหว่างย่อหน้าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ นิยามของการอ่านหนังสือเล่มโปรดเล่มเดิมคือความรู้สึกอบอุ่นมั่นคง คือเรารู้อยู่แล้วว่าเรารักเรื่องราวที่เรากำลังจะอ่าน การกลับไปยังอดีตผ่านนวนิยายเล่มโปรดจึงเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่นหัวใจอีกครั้งในโลกที่ไม่แน่นอน มีข้อเขียนของ รีเบคก้า เหว่ย เซียะ (Rebecca Wei Hsieh) นักเขียนและนักแปลไต้หวันอเมริกันเขียนถึงการอ่านซ้ำเพื่อก้าวผ่านบาดแผลว่า ในช่วงโควิดเธออ่านหนังสือไม่จบเลย และเธอเลือกที่จะกลับไปอ่านหนังสือที่เธอเคยอ่านสมัยเด็ก หนังสือเหล่านั้นมักจะไม่ยาวนัก
มันเรียบง่ายและอบอุ่นหัวใจ
ซึ่งทำให้เธอก้าวผ่านเรื่องราวในปัจจุบันไปได้
ความพิเศษหนึ่งที่รีเบคก้าพูดถึงนอกจากจะเป็นการเริ่มกลับมาใช้การอ่านหลังจากที่เราผ่านวิกฤตบางอย่างไปได้ การกลับไปอ่านเรื่องที่เคยอ่านสมัยเด็ก ทำให้เธอได้นึกช่วงเวลาวัยเด็กที่เคยมีอยู่ กระทั่งได้อ่านบางอย่างที่บางครั้งอ่านข้ามไปเมื่อครั้งที่เธออ่านครั้งแรก ได้ตั้งคำถามใหม่ๆ และได้คำตอบใหม่ๆ จากการอ่านหนังสือเล่มเดิม
การกลับไปอ่านหนังสือสมัยเด็กอีกครั้งจึงเป็นกิจกรรมที่ทั้งเรียบง่ายและซับซ้อนในตัวเอง เรากลับไปอ่านเรื่องราวง่ายๆ เรื่องราวเดิมๆ ไปจนถึงเราได้กลับไปทบทวนและเชื่อมต่อกับตัวตนและห้วงเวลาที่เราอาจรู้สึกว่าขาดออกจากกันของอดีตและปัจจุบัน งานศึกษาในปี 2012 อธิบายเรื่องการย้อนอ่านและย้อนดูหนังหรือวรรณกรรมเรื่องเดิมว่าทำให้เราเชื่อมต่อมิติของเวลา (synthesis of time) และทบทวนการดำรงอยู่ของตัวตน (existential reflection) ซึ่งฟังดูเป็นปรัชญาแต่เราก็พอจะเข้าใจได้
การอ่านซ้ำทำให้เราเห็นการไหลของเวลา เห็นความเชื่อมต่อของความคิดของเราจากที่เรามีในการครั้งแรกผ่านการอ่านซ้ำสอง สามหรือสี่ครั้ง เป็นกิจกรรมที่รื่นรมย์ทั้งยังเป็นเหมือนที่หลบภัยจากความไม่แน่นอนในโลกปัจจุบัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
bloomsburyliterarystudiesblog.com