หากเอ่ยคำว่า ‘หนังสือเด็ก’ ขึ้นมา คุณมีภาพจำสิ่งนั้นเป็นแบบไหน เป็นสมุดระบายสีแต่งแต้มจินตนาการ นิทานสอนใจก่อนนอน Flashcard ประลองความจำ หรือแค่การ์ตูนหน้าตาน่ารักสมวัย หนังสือเด็กมักถูกจดจำว่าต้องเป็นอะไรง่ายๆ ให้เด็กได้ใช้เวลาเพลิดเพลินไปกับมัน แต่เบื้องหลังหนังสือง่ายๆ หน้าตาเป็นมิตรเหล่านั้น กลับไม่ได้ประกอบร่างสร้างมาด้วยความง่ายดาย
เนื้อหาที่เหมาะกับช่วงวัย ความยากง่ายของเรื่อง สิ่งตอบสนองนอกเหนือจากตัวหนังสือ สีสันสดใสดึงดูดใจวัยจิ๋ว และอีกสารพัดปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเมื่ออยากจะผลิตหนังสือเด็กออกมาสักเล่ม แต่ละช่วงวัยก็ต้องการเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอที่ต่างกัน หนังสือเด็กจึงไม่ใช่การหยิบอะไรเข้าใจง่ายให้เด็กอ่านก็พอ
เพราะหนังสือเด็กไม่ใช่แค่นิทานก่อนนอน หรือการ์ตูนเล่าเรื่องง่ายๆ เราจึงเดินทางมาพูดคุยกับ ‘ริสรวล อร่ามเจริญ’ กรรมการผู้จัดการ Plan for Kids ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือสำหรับช่วงปฐมวัย เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังการอ่านของเด็กๆ และความจำเป็นของหนังสือต่อพัฒนาการ หนังสือกระดาษจับต้องได้ นิทานสอนใจก่อนนอน อะไรเหล่านี้ยังจำเป็นกับเด็กแค่ไหน ในวันที่โลกห้อมล้อมด้วยสื่อดิจิทัล
เมื่อเลี้ยวรถเข้าไปในออฟฟิศ รถกระบะและคนงานจำนวนหนึ่ง ยังง่วงอยู่กับการย้ายหีบห่อสีน้ำตาลขนาดพอดีอ้อมแขน ปะปนอยู่กับเหล่าของเล่นและตุ๊กตาขนาดใหญ่สีสันสดใส เดาได้ไม่ยากว่ากลุ่มเป้าหมายของพื้นที่แห่งนี้จะเป็นช่วงวัยไหน ยิ่งเดินเข้าไปถึงภายในอาคาร พื้นที่สำหรับนั่งพูดคุยในวันนี้ ก็ยังคงห้อมล้อมไปด้วยของเล่นและหนังสือเด็กเต็มชั้น มากพอที่จะให้เด็กเล็กได้เพลิดเพลินกับพื้นที่นี้ได้ทั้งวัน
เราเลือกล็อกหนึ่งของชั้นวางหนังสือเป็นพื้นที่นั่งพูดคุยกัน เมื่อคุณริสรวลมาถึง เราพูดคุยกันเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาและสินค้าของ Plan for Kids จึงได้รู้ว่าที่นี่ก่อตั้งมานานพอสมควร นานจนสามารถเป็นหนังสือในวัยเด็กของคุณแม่และต่อมาถึงวัยของลูกได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญกับพัฒนาการอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งที่เราเห็นบ่อยขึ้นในช่วงหลังนี้ แต่ว่ากันตามตรง ที่นี่ก็ออกจะมาก่อนกาลพอสมควร ที่เลือกชูสินค้าเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กมาเป็นสินค้าหลัก
พอถามถึงที่มาของความสงสัยนั้น คุณริสรวลเล่าว่า ในตอนนั้นคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าหนังสือเด็กคืออะไร ส่วนมากจะเป็นกิจกรรมวาดภาพ ระบายสี ซึ่งสิ่งนั้นเป็นเหมือนแบบฝึกมากกว่า พอได้มาคลุกคลีอยู่กับวงการสื่อสำหรับเด็ก บวกกับโอกาสในโลกกว้าง ได้เห็นถึงความก้าวหน้าในวงการหนังสือสำหรับเด็กของต่างประเทศ ยิ่งทำให้อยากผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับบ้านเราบ้าง แม้ในตอนนั้นจะมีหมวดหนังสือมากมายให้เลือกก้าวเข้ามาเป็นส่วนแบ่งของตลาด แต่ก็เลือกที่จะหยิบเอานิทานสำหรับเด็กเป็นหัวใจหลักของบริษัท
คุณริสรวลเสริมว่า “ตอนนั้นในท้องตลาด หนังสือนิทานมีน้อยมาก แต่ความยากคือเราต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคว่า หนังสือนิทานสำหรับเด็กเป็นเครื่องมือที่ดียังไง มันช่วยในพัฒนาการเด็กได้อย่างไรบ้าง”
Plan for Kids จึงใส่ใจในการพัฒนาหนังสือสำหรับเด็ก โดยอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์เด็กและครอบครัว เพราะมีความเชื่อมั่นที่เป็นดั่งสารตั้งต้นว่าหนังสือสำหรับเด็กนั้นเป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งที่พ่อแม่เลือกใช้ และมันส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กโดยตรง
“ผู้ใหญ่เราชอบอ่านนิยาย สร้างประสบการณ์ชีวิต นิทานก็เหมือนกัน เด็กจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเรื่องราวของนิทาน ให้ตัวเองได้เรียนรู้ต่อจากเรื่องราว เป็นการสร้างทักษะที่ดีสำหรับเด็ก พอได้เห็นทุกวันเข้า เด็กจะมีความพร้อมต่อการอ่าน มันจะมีทฤษฎีที่เรียกว่า Whole Language การสอนแบบภาษาธรรมชาติ วันที่เขาเริ่มเรียนสะกดคำ เขาจะคุ้นเคยกับคำที่เขาเคยเห็น ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่” เสียงบอกเล่าเมื่อถูกถามถึงความสำคัญของหนังสือต่อพัฒนาการ
นอกจากจะวางขายตามร้านหนังสือแล้ว อีกกลยุทธคือ การเสนอหนังสือสำหรับเด็กให้กับโรงเรียน ในโครงการนิทานเพื่อนรัก ที่เป็นระบบสมาชิกส่งหนังสือนิทานให้รายเดือน เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงหนังสือที่เหมาะกับช่วงวัยได้ ทั้งที่บ้านและโรงเรียน และยังมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอื่นๆ เป็นอีเวนต์สำหรับเด็กที่มีตัวคาแร็กเตอร์กุ๋งกิ๋งที่เด็กๆ คุ้นเคย เพื่อให้ความสนุกของเรื่องราวไม่หยุดอยู่แค่การอ่าน
แต่ก็ใช่ว่านิทานจะครองใจเด็กทุกช่วงวัยได้ สินค้าของ Plan for Kids จึงผลิตมาสำหรับหลายช่วงวัย หากเป็นเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก จะเรียกว่า หนังสือเทคนิค ที่เน้นฟังก์ชั่นอื่นๆ ประกอบนอกเหนือจากนิทาน อย่างหนังสือเสียง หนังสือผ้า หนังสือป็อปอัป Bath Book หนังสือที่โดนน้ำได้
“ถ้าเอาหนังสือแบบนี้ไปให้เด็ก 6 ขวบ เขาก็ไม่สนใจแล้ว” คุณริสรวลเน้นย้ำถึงความต่างของสินค้าขึ้นมาระหว่างเปิดลูกเล่นหนังสือเทคนิคที่ว่านั้นให้ชม แล้วขยับมาที่หนังสือสำหรับวัยถัดมา คือช่วง 3-6 ปี จะเป็นนิทาน มีตัวละคร มีเรื่องราวเชื่อมกันเป็นซีรีส์
“เราผลิตตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจน 9 ขวบ แต่จะโฟกัสไปที่ 3-6 ขวบ อย่างนิทานจะเหมาะกับกลุ่มนี้ที่สุด ไม่ยากเกิน ไม่ง่ายเกิน เรื่องราวจะพอดี เราต้องเอามาย่อยให้เด็กเข้าใจว่าจะไปต่อแบบนี้นะ ภาษาที่ใช้ก็ต้องเหมาะกับวัยเด็ก”
“อย่าไปมองว่าหนังสือเด็ก โอ๊ย ทำง่าย มีสีสันก็พอ ถ้าคุณคิดแบบนี้ไม่ได้นะ”
เราเห็นความตั้งใจของทางผู้ผลิตไปแล้ว ที่ต้องการสร้างหนังสือที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย ส่งให้ถึงมือเด็กๆ เพื่อเสริมพัฒนาการ แต่คุณริสรวลเสริมว่าสิ่งนี้อาจจะยังไม่พอ ใช่ว่าหนังสือไปอยู่ในมือแล้วจะได้ผลลัพธ์เท่ากันหมด และเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจว่าหนังสือเป็นเหมือนเครื่องมือ อยู่ที่ว่าพอแม่จะเลือกใช้เครื่องมือนี้แบบไหน จะให้มันเป็นเพียงเรื่องราวกล่อมนอน เป็นช่วงเวลาที่ลูกได้นั่งตักแม่รับฟังนิทานอย่างอบอุ่น หรือเป็นสิ่งกระตุ้นให้เด็กได้คิดจินตนาการต่อ
พอถามถึงนิยามของความเป็นเครื่องมือ คุณริสรวลเล่าเสริมว่า “มันอยู่ที่ทัศนคติของพ่อแม่ด้วย ว่ามองหนังสือนิทานเป็นเครื่องมือแบบไหน พ่อแม่บางคนก็อ่านให้จบๆ ไป แต่บางคนชวนลูกคุยต่อว่าเรื่องราวจะเป็นแบบไหน คิดยังไงกับเรื่องนี้ มันจะยิ่งต่อยอดความคิด เดี๋ยวนี้มันมีเทคนิคเยอะมาก จะใช้เสียงสูงเสียงต่ำ คุณก็เอามาปรับใช้ แต่สำคัญที่สุดคือคุณต้องมีเวลาให้กับลูก”
เมื่อพูดคุยถึงข้อเปรียบเทียบนั้น อีกประเด็นที่อดนึกถึงไม่ได้ หากหนังสือเป็นเครื่องมือได้ เทคโนโลยีรอบตัวในวันนี้ก็สามารถเป็นเครื่องมือได้เหมือนกัน แล้วอะไรในหนังสือล่ะที่เทคโนโลยีมาทดแทนไม่ได้ คำตอบของสิ่งนั้น อาจเป็นเรื่องของความใกล้ชิด
ตอนที่ได้นั่งอ่านนิทานสักเล่มด้วยกัน พ่อแม่ได้ใช้เวลาพุ่งความสนใจไปที่ลูกโดยตรง ลูกจึงรู้สึกได้รับความรัก ความสนใจ น้ำเสียงของพ่อแม่ที่ติดอยู่ในความจำ บอกเล่าพูดคุยถึงเรื่องราวในนิทาน ที่อาจเสริมคำสอนของพ่อแม่ต่อเข้าไปในเรื่องได้ ความอบอุ่นของการเข้านอนไปพร้อมเสียงและอ้อมกอดของพ่อแม่ อาจเป็นอีกหนึ่งความใกล้ชิดที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการทิ้งเด็กไว้กับหน้าจอ เพียงเพราะต้องการให้เขาอยู่นิ่งและหลับไป
คุณริสรวลเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอ่านนิทานให้ลูกฟังอีกว่า ช่วงเวลานี้อาจจะน่าเบื่อไปบ้างที่ต้องทำซ้ำอยู่บ่อยๆ หรือคอยเลือกเรื่องใหม่ๆ จูงใจให้ลูกรักในการอ่าน แต่ช่วงเวลาเหล่านี้จะไม่คงอยู่กับเราตลอดไป
“อ่านนิทานให้ลูกฟัง มันไม่เคยมีนิทานเล่มไหนที่สอนไปในทางที่ไม่ดี เรื่องราวดีๆ มันอยู่ในสมองเด็ก เด็กไม่ได้อ่านแค่ครั้งเดียว ยิ่งช่วงไหนเขาอินเล่มไหน เด็กจะชอบอ่านซ้ำๆ แม่ก็เบื๊อเบื่อ แต่อ่านไปเถอะ เหนื่อยแป๊บเดียวสัก 7 ขวบก็โตมากแล้ว เขาก็จะไปเลือกของเขาเอง ผลลัพธ์มันคุ้มแสนคุ้ม”
เหมือนหลอดไฟปิ๊งสว่างขึ้นมาในหัว เราเองก็ลืมไปว่าช่วงเวลาที่การอ่านยังไงต้องพึ่งพาพ่อแม่นั้น เกิดขึ้นเพียงระยะหนึ่งในชีวิตของเด็กคนหนึ่งเท่านั้น ต่อไปเขาจะมีช่วงเวลาที่ได้เลือกสิ่งที่ชอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่นิทาน ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่เป็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิตที่พ่อแม่อาจไม่ได้ยื่นมือเข้าไปแบบเต็มที่อย่างในวัยเด็กอีกต่อไปแล้ว การเตรียมความพร้อมให้เขาให้เต็มที่ เสียตั้งแต่ในตอนที่ยังทำได้ คงเปรียบได้กับการหว่านพืชหวังผล ให้เขาเติบโตมาอย่างมีความพร้อมต่อไป
เราพูดคุยกันต่ออีกเล็กน้อยเกี่ยวกับตัวละครและสินค้าอื่นๆ จึงได้ทราบว่ากำลังจะมีกิจกรรม Plan For Kids Festival อีเวนต์ที่มาในธีมโตขึ้นหนูอยากเป็น โดยมีกิจกรรมในหลากหลายหมวด ทั้งวิทยาศาสตร์ กีฬา ศิลปะ ธรรมชาติ ภาษา ทำอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย โดยจัดขึ้นในวันที่ 23-27 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00-20.00 น. ชั้น 4 เวสต์เกตฮอลล์ เซ็นทรัลเวสต์เกต สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook
เบื้องหลังของหนังสือสักเด็กสักเล่ม อาจเป็นการค้นคว้าข้อมูล พัฒนาเนื้อหาให้เหมาะสมกับเด็กวัยนั้น เบื้องหลังของเด็กสักคน จึงอาจเป็นหนังสืออีกมากมายหลายเล่ม เปล่งคำอ่านออกมาด้วยเสียงของพ่อแม่ ที่ยังคงฉายชัดในความทรงจำแม้จะเป็นวันที่เขาโตขึ้นที่จะเป็นพ่อแม่ได้เหมือนกันก็ตาม