ไม่นานมานี้ เป็นอีกครั้งที่พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์ เข้าเยี่ยมเยียนเหล่าเยาวรุ่นชาวกรุงเทพมหานคร ปรากฏการณ์พระมหาเทวีเจ้านั้นถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่เป็นความสนุกของโลกอินเตอร์เน็ตที่กิจกรรมธรรมดาทั้งการหนีบผม ไปจนถึงทำแกงบอน กิจกรรมจากหมู่บ้านเล็กๆ ในปัตตานีนั้นกลายเป็นไอคอนระดับชาติ เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่สำคัญ
ถ้าเรามองพระมหาเทวีในฐานะปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ตัวของพระมหาเทวีเจ้านั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ผสมผสาน อันเป็นลักษณะของโลกหลังสมัยใหม่ โดยเฉพาะโลกในยุคอินเตอร์เน็ต จุดที่น่าสนุกมากๆ จุดหนึ่งคือการสร้างตัวตนของ ‘เมืองทิพย์’ ซึ่งภูมิหลังของพระมหาเทวีเป็นคนใต้เนอะ บางทีเราก็เห็นทรงเครื่องโนราห์มา แต่ด้วยชื่อของพี่ทิพย์ ประกอบกับความหวานๆ สองอย่างนี้พอรวมกัน ก็เลยเกิดเป็นเมืองทิพย์ เกิดเป็นจินตนาการของเจ้านางต่างๆ นามละครเพลิงพระนางขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ และยิ่งอัศจรรย์ไปกว่านั้นคือไม่นานมานี้เหล่าเจ้านางแห่งเพลิงพระนางตัวจริงก็ได้กลับมาคืนความเป็นเจ้านางกันอีกครั้งเพราะพระมหาเทวีเจ้านี่แหละ
จินตนาการเรื่องเมืองเหนือ ล้านนา ล้านช้าง ไปจนถึงบางส่วนของพม่านั้นเป็นจินตนาการที่ล่องลอยอยู่ในสังคมมาเนิ่นนานแล้ว มีข้อสังเกตว่าจินตนาการเรื่องเจ้านางนั้นมีความเป็นการเมืองพอสมควร ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการสร้างประวัติศาสตร์และตัวตนของสยาม- ไทยในยุคหลัง ที่เราเริ่มวาดภาพของเมืองเหนือและเมืองพม่าที่เป็นทั้งศัตรู และเป็นพื้นที่ทางจินตนาการบางประการ เช่นการนึกถึงเมืองพม่าที่อ่อนกำลังลง แตกเป็นก๊กเป็นเหล่าและอำนาจต่างๆ ตกอยู่ในราชสำนักฝ่ายใน
หนึ่งในนั้นคืองานของ มรว. คึกฤทธิ์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของเพลิงพระนาง และส่งอิทธิพลต่อพระมหาเทวีเจ้าที่แม้จะอยู่ภาคใต้ก็ดูละครและนึกฝันวาดเมืองทิพย์ดุจเดียวกัน
ในฐานะเยาวรุ่นที่ชื่นชอบอำนาจทั้งของเจ้านางต่างๆ และประวัติศาสตร์ของดินแดนในภูมิภาคเดียวกัน The MATTER จึงชวนกลับไปอ่านงานที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการเรื่องพระมหาเทวี ของราชสำนัก งานเขียนทั้งที่เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ บันทึก วรรณกรรม ที่ล้วนให้ภาพของอาณาจักรที่ยังคงมนต์ขลังเป็นแรงบันดาลใจ ตั้งแต่งานเขียนที่เป็นที่มาของเพลิงพระนาง บันทึกของรัฐฉาน เรื่องราวของเจ้านางที่มีศรัทธาและยึดถือคติแบบโบราณ ไปจนถึงเรื่องราวของเจ้านางตัวจริงที่ชีวิตผกผันราวกับละคร
เที่ยวเมืองพม่า, กรมพระยาดำรงรานุภาพ
ละครเพลิงพระนางเป็นละครของกันตนา ซึ่งกันตนาระบุว่าได้เค้าโครงมาจากหนังสือสำคัญว่าด้วยพม่า 2 เล่มคือ เที่ยวเมืองพม่า และ พม่าเสียเมือง โดยหนังสือเที่ยวเมืองพม่าเป็นพระนิพนธ์ของกรมดำรง ตัวเรื่องเป็นพระนิพนธ์บันทึกการเดินทางเมื่อเสด็จเที่ยวเมืองพม่าพร้อมด้วยพระธิดา ซึ่งบันทึกการเดินทางนี้เป็นอีกหนึ่งงานเขียนสำคัญด้วยกรมดำรงเองเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นเอกอุ ตัวบันทึกนี้จึงเป็นการบันทึกอย่างรอบด้านและทรงเล่าอย่างสนุกสนานมีสีสัน นอกจากการท่องเที่ยวและบันทึกเรื่องราวต่างๆ เท่าที่เสด็จผ่านแล้ว ยังมีบางส่วนของพระนิพนธ์ที่ทรงมีข้อสันนิษฐานและอรรถธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งช่วงหนึ่งก็ว่าด้วยการล่มสลายของรางวงศ์พม่าที่มีเจ้านางและการแตกก๊กเหล่า แย่งชิงอำนาจภายในอันเป็นส่วนที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของเพลิงพระนางต่อมา อนึ่งต้องอย่าลืมว่างานเขียนว่าด้วยพม่าที่กลายเป็นละครและจินตนาการถึงอาณาจักรอื่นนั้นเขียนโดยเจ้านายฝ่ายไทยเป็นสำคัญ และทางหอสมุดวชิรญาณมีต้นฉบับดิจิทัลด้วยนะ
พม่าเสียเมือง, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
พม่าเสียเมือง เป็นงานเขียนเชิงสารคดีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งงานชิ้นนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเที่ยวเมืองพม่าของกรมดำรงฯ มาอีกทอดหนึ่ง งานเขียนนี้คึกฤทธิ์ใช้การค้นคว้าจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะบันทึกของชาวอังกฤษ ตัวสารคดีว่าด้วยช่วงท้ายของประวัติศาสตร์ราชวงศ์พม่าจากยุคพระเจ้ามางลองที่ทำศึกจนรวมชาติพม่าได้ แต่ด้วยอำนาจและการเมืองภายในและภายนออกทำให้พม่าอ่อนแอลง โดยเฉพาะในยุคพระเจ้ามินดง ที่มีพระนางอเลนันดอ พระมเหสีคนโปรดที่กลายเป็นผู้ชักใยบงการ และสร้างโศกนาฏกรรมขึ้นในราชสำนักพม่า จนเป็นเหตุให้สิ้นชาติและตกเป็นของอังกฤษได้ในท้ายที่สุด ซึ่งเจ้านางอเลนันดอนี้ เชื่อว่าเป็นที่มาของเจ้านานอนัญทิพย์ในเพลิงพระนางต่อมา
รากนครา, ปิยะพร ศักดิ์เกษม
จากงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ในยุคก่อนหน้า รวมถึงจินตนาการถึงเมือง- ดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียง ในระยะหลังงานเขียน- สื่อที่มีผลต่อจินตนาการของคนไทย โดยเฉพาะการนึกถึงภาพของดินแดนอื่นๆ ที่มีความแฟนตาซีนิดๆ หวนหาอดีตหน่อยๆ ก็คืองานเขียนกลุ่มอิงประวัติศาสตร์ที่ได้รับความนิยม จนหลายเล่มกลายเป็นละครทีวี ซึ่งจริงอยู่ว่าล้านนา และพม่าเป็นคนละวัฒนธรรม คนละช่วงสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจินตนาการถึง ‘อาณาจักรทางเหนือ’ ความคิดเรื่องเจ้านาง เรื่องคุ้ม เรื่องเจ้ามหาชีวิตล้วนมีนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และมีจุดร่วมบางประการของกลุ่มวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์บริเวณแม่น้ำโขงที่ถูกนำเสนอและอยู่ในจินตนาการร่วมของไทยอยู่ ดังนั้น รากนครา ของปิยะพร ศักดิ์เกษม จึงเป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่พาเรากลับไปยังชุดคุณค่าบางประการที่สัมพันธ์กับขัตติยะราชประเพณี และแน่นอนการแย่งชิงอำนาจของการเมืองของเหล่าสตรีผู้สูงศักดิ์
สิ้นแสงฉาน (Twilight Over Burma: My Life as a Shan Princess), Inge Sargent
ประวัติศาสตร์พม่าสัมพันธ์กับกลุ่มชนและอาณาจักรเล็กๆ รัฐฉานเองก็ส่วนหนึ่งของกลุ่มวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ และการล่มสลาย ที่ในการล่มสลายนั้นมีอิสตรีร่วมชะตากรรมและดิ้นรนอยู่ในความพลิกผันนั้น สิ้นแสงฉาน เป็นบันทึกส่วนตัว และเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ระดับวรรณคดี ของ Inge Sargent เด็กสาวผิวขาวชาวออสเตรียผู้มีชีวิตแสนจะโลดโผน ตั้งแต่การหนีนาซีรับทุนฟุลไบรต์ไปเรียนที่สหรัฐ ตกหลุมรักกับเจ้าจาแสงและเสกสมรส ก่อนจะเดินทางกลับมายังรัฐฉานและกลายเป็นเจ้าหญิง และพระมหาเทวีคู่บารมี ก่อนที่ฉานจะเข้าสู่การล่มสลายของแผ่นดินฉานจะนำความระหกระเหินสู่ชีวิตเจ้านางจากต่างแดนอีกครั้ง
เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน, มาลา คําจันทร์
เจ้าจันท์ผมหอม เป็นอีกหนึ่งงานชิ้นเอกของวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทย แต่งโดย มาลา คําจันทร์ ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีในปี พ.ศ.2534 เจ้าจันท์ผมหอมเป็นงานเขียนที่ใช้ขนบนิราศ โดยมาลา คำจันทร์เลือกเล่าถึงเจ้านาง หรือเหล่าเจ้าหญิงที่เป็นอิสตรีผู้สูงศักดิ์ แต่การเป็นอิสตรีโดยเฉพาะในอาณาน้อยใหญ่นั้นมีหน้าที่และมีราคาที่ต้องจ่าย เจ้าจันท์เองก็เช่นกัน งานเขียนชิ้นนี้งดงามทั้งด้วยวรรณศิลป์ และโดยนัยของเรื่องราวที่ทั้งสวยงามและแหลกสลายโดยมีบริบททั้งของการรวมชาติของสยาม ของการล่าอาณานิคมที่เข้าไปกระทบกับเหล่าเจ้านางที่สุดท้าย ชีวิตอาจเป็นโศกนาฏกรรมมากกว่าความสุขสบาย
ประวัติศาสตร์พม่า (A History of Burma), Maung Htin Auang
หลังจากที่เรารู้จักพม่า- โดยเฉพาะในมุมที่ค่อนข้างดราม่าหน่อย และส่วนใหญ่มาจากบันทึกบ้าง งานเขียนกึ่งประวัติศาสตร์บาง นวนิยายบ้าง การจะมองเห็นความเป็นไปและวัฒนธรรม เราก็ควรเลือกอ่านงานเขียนจากภายนอก ที่คราวนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากทางพม่าเอง หนังสือ A History of Burma ก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มยักษ์จากพม่าตั้งแต่ยุคก่อนพม่า ยุคพุกาม มาจนถึงการตกเป็นของพม่าและการกู้เอกราช หนังสือสำคัญเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และมีบริการแจกฟรีโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
สนใจดูได้ที่ http://www.openbase.in.th/files/tbpj152.pdf
ราชินีศุภยลัต: จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน (Thibaw’s Queen)
ว่าด้วยรุ่นลูก และเจ้านาง- อัครมเหสีพระองค์สุดท้ายของพม่า ราชินีศุภยลัตเป็นพระธิดาของพระนางอเลนันดอ ซึ่งเจ้านางและราชินีองค์สุดท้ายนี้ถือเป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่เป็นที่โจษขานไปทั่วโลกทั้งความเกี่ยวข้องกับการล่มสลาย การล่าอาณานิคม และการเป็นสตรีแห่งอำนาจที่มีความเลือดเย็นเด็ดขาด หนังสือเล่มนี้เป็นอีกงานเขียนที่พาไปรู้จักกับพระนางในมุมมองอีกด้าน ที่คราวนี้เป็นการเขียนจากมุมของฝรั่งอังกฤษ คือเป็นข้าราการที่กล่าวว่าเรียบเรียงเรื่องราวจากนางกำนัลในพระองค์ ให้ภาพของฝ่ายในและพระมหาเทวีที่มีตัวตนและมีความซับซ้อนขึ้นไปจากหน้าประวัติศาสตร์เดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก