1.
“ในฝันของผมนั้น หวังที่จะได้เห็นธงชาติของเราในกีฬาโอลิมปิกและได้ยินเพลงชาติของเราดังบรรเลงที่นั่นด้วย”
ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลพม่า ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนนั่นก็คือการเร่งจัดการเผด็จศึกกลุ่มกองทัพอาระกัน (Arakan Army ตัวย่อ AA) ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธเรียกร้องขอปกครองตัวเองในรัฐยะไข่ โดยกองทัพอาระกันเป็นชาติพันธุ์นับถือพุทธและมีศักยภาพในการต่อกรกับกองทัพพม่าและรัฐบาลอย่างดุเดือดเลือดพล่านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งที่พึ่งก่อตั้งกลุ่มได้เพียงแค่ 11 ปีเท่านั้น
กองทัพอาระกันคืออะไร และทำไมถึงมีศักยภาพสั่นคลอนกองทัพและรัฐบาลพม่าได้ถึงขนาดนี้ บทความนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของพวกเขากับความมุ่งมั่นจะทวงคืนแผ่นดินที่สูญสิ้นให้กลับคืนมาในฐานะกบฏกู้ชาติ แม้ในสายตารัฐบาลพม่านั้น พวกเขาถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่จะต้องกำจัดให้สิ้นซากก็ตาม
2.
ก่อนจะเล่าถึงกองทัพอาระกัน ก็ต้องขอเกริ่นถึงรัฐยะไข่อันเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มนักสู้เหล่านี้ก่อน รัฐยะไข่นั้นตั้งอยู่ตรงตะวันตกสุดของพรมแดนพม่าติดกับอ่าวเบงกอลและบังคลาเทศ แม้จะอุดมด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างความสนใจให้กับมหาอำนาจอย่างจีน แต่ยะไข่กลับเป็นรัฐที่ยากจนสุดในประเทศพม่า คุณภาพชีวิตต่ำกว่ารัฐอื่นๆ มีบ้านเรือนไม่กี่หลังที่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและมีบ้านเรือนถึง 3 แสนหลังคาเรือนด้วยกันที่ไม่มีแม้กระทั่งห้องน้ำใช้
เดิมทียะไข่เป็นราชอาณาจักรอิสระมีการปกครองตัวเอง คนในดินแดนแถบนี้เรียกตัวเองว่า ‘อาระกัน’ พม่าได้ทำการรุกรานพวกเขาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนจะโดนอังกฤษยึดครองเป็นอาณานิคมไปทั้งหมด ภายหลังพม่าได้รับเอกราช พวกเขายังคงยึดครองรัฐชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ยอมปล่อยให้มีสิทธิ์ปกครองตัวเอง ในพื้นที่แถบนี้มีคนโรฮิงญาที่นับถือมุสลิมตั้งอยู่เป็นประชากรส่วนน้อย (และโดนกองทัพพม่าล้อมปราบอย่างรุนแรง) ท่ามกลางชาวอาระกันพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐ
เอาเข้าจริงโรฮิงญาและอาระกันพุทธ 2 กลุ่มนี้ไม่ถูกกัน เพราะคนละชาติพันธุ์และคนละความเชื่อ แต่พวกเขากลับเชื่อในหลักของสามก๊กที่ว่า ศัตรูของศัตรูคือมิตร และศัตรูร่วมกันของทั้งคู่ก็คือ พม่านี่เอง
ความที่เป็นรัฐที่ยากจน คนหนุ่มจำนวนมากต้องเดินทางไปทำงานตอนเหนือของพม่าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนมากคนอาระกันทำงานในเหมืองหยก ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก การพบปะกันของคนอาระกันในเหมืองหยกที่ชีวิตแทบไร้ค่าอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้พวกเขาพูดคุยระบายเรื่องคับแค้นใจและนำไปสู่การรวมตัวก่อตั้งกองทัพอาระกัน ที่มีสมาชิกเริ่มแรกแค่ 26 คนเท่านั้นในปี ค.ศ.2009
แต่ 11 ปีผ่านไป เมื่อถึงปี ค.ศ. 2020 กองทัพอาระกัน
มีทหารของตัวเองถึง 20,000 คนทั้งชายและหญิง
โดยผู้นำกลุ่มก็คือพลตรีตวัน มยัด นาย (Twan Mrat Naing) นายพลหนุ่มวัย 41 ปีที่มากบารมีและอุดมด้วยความเก่งกาจในกลศึกการรบและการเมือง เขาคือเจ้าของประโยคเปิดบทความนี้ ซึ่งสะท้อนความฝันและความหวังของคนอาระกันในรัฐยะไข่อย่างแท้จริง
เดิมทีกองทัพอาระกันทำงานร่วมมือใกล้ชิดกับกลุ่มรัฐคะฉิ่น ซึ่งฐานปฏิบัติการชั่วคราวของกองทัพอาระกันเคยตั้งอยู่ แต่ปัจจุบันพวกเขาเคลื่อนฐานทัพมาอยู่ในรัฐยะไข่เรียบร้อยแล้ว โดยในช่วงแรกเริ่มนั้น กองกำลังเรียกร้องเอกราชของรัฐคะฉิ่นได้ทำการฝึกสอนร่วมสร้างกองทัพอาระกันให้อีกด้วย นอกจากนี้ AA ยังมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จนมีการจับมือเป็นพันธมิตรฝ่ายเหนือต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองกับกองทัพพม่าได้ดีกว่าเดิมด้วย
ในช่วงเริ่มแรกกองทัพอาระกันไม่ได้เปิดฉากโจมตีอย่างรุนแรง แม้จะก่อตั้งมาหลายปี แต่พวกเขาก็ไม่ได้คืบหน้าไปมาก นอกจากเป็นกองกำลังติดอาวุธธรรมดา นั่นทำให้กองทัพพม่าไม่สนใจจะพูดคุย เพราะถือว่าเป็นกองกำลังที่ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมชาติพันธุ์ เมื่อไม่เจรจา เพราะไม่เห็นค่า ยิ่งทำให้กองทัพอาระกันสะสมความแค้นไว้
ภายหลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2015 พรรคของคนอาระกันชนะเลือกตั้งในรัฐยะไข่ แต่รัฐบาลที่มีอองซาน ซูจีคุมอำนาจกับแต่งตั้งประมุขของรัฐยะไข่จากพรรคตัวเอง แทนที่จะให้พรรคของคนอาระกันที่ชนะเสียงในพื้นที่คุม ความไม่พอในลุกลามเมื่อมีการกวาดล้างคนโรฮิงญาอย่างโหดเหี้ยมในรัฐยะไข่ กองทัพพม่าใช้กำปั้นเหล็กคุมดินแดนในรัฐนี้ เมื่อชาวอาระกันพุทธออกมาประท้วง ทหารพม่ายังคงยึดหลักการไม่สนใจ แต่คราวนี้ได้ส่งกระสุนจริงสลายชุมนุมจนมีคนอาระกันพุทธเสียชีวิต 7 รายด้วยกัน
ความรุนแรงจากรัฐนี่เอง ทำให้ในที่สุดวันเสียงปืนแตกของกองทัพอาระกันก็มาถึง เหตุการณ์ในวันฉลองเอกราชจากอังกฤษของพม่าในวันที่ 4 มกราคมปีก่อน ทางกองทัพอาระกันได้บุกป้อมตำรวจ 4 แห่งในรัฐยะไข่ใกล้กับพรมแดนบังคลาเทศ การบุกโจมตีครั้งนี้ทำให้ตำรวจพม่าเสียชีวิต 13 คน เจ็บ 9 คน
เหตุการณ์นี้นับเป็นการยกระดับความรุนแรงให้ปรากฏแก่สายตาคนพม่า ถือเป็นการหักหน้ารัฐบาลที่มีออง ซาน ซูจีเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงและคอยป่าวประกาศชาวโลกว่ารัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศได้ตกลงหยุดยิงกันแล้ว แต่ที่เสียหน้ามากกว่านั่นก็คือกองทัพพม่าที่ดูแลเรื่องความมั่นคง
การโจมตีในวันนั้นทำให้พม่าประกาศ
ให้กองทัพอาระกันคือกลุ่มก่อการร้ายในทันที
3.
ภายหลังวันเสียงปืนแตกของกองทัพอาระกัน กองทัพพม่าได้ส่งกำลังจัดหนักลงไปในพื้นที่รัฐยะไข่เพื่อกวาดล้างกองทัพอาระกัน แต่กลับยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงแห่งความไม่พอใจ เพราะคนในพื้นที่ต่างออกมาสนับสนุนกองทัพอาระกันเป็นจำนวนมากกว่าเดิมด้วย แม้กองทัพพม่าจะระดมสรรพกำลัง 3 เหล่าทัพ เรือ เครื่องบิน ทหารบกเข้าลุยในรัฐยะไข่ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถชนะศึกบดขยี้ได้ แม้จะไล่จับญาติมิตรของพลตรีตวัน มยัด นาย กล่าวหาว่ามียาเสพติดเป็นทุนในการซื้ออาวุธ กองทัพอาระกันก็ยังไม่แหลกลาญหรือพ่ายแพ้ ทุกครั้งที่กองทัพพม่าเผลอก็จะโดนลอบโจมตี ด้วยยุทธศาสตร์การรบแบบกองโจรนี่เองที่ทำเอากองทัพพม่าถึงกับไปไม่เป็น รบไม่ถูกเลย
หลักการรบของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กองทัพพม่าเคยปะมือด้วยนั้น จะรบกันในป่า ใช้วิธีซุ่มโจมตีกองกำลังลาดตระเวน แต่กองทัพอาระกันไปไกลกว่า พวกเขาซุ่มตัวตามชนบทไม่ใช่ในป่า พวกเขาไม่โจมตีชุดลาดตระเวน แต่ไปไกลถึงขั้นวางระเบิดและลักพาตัวข้ารัฐการของพม่า ตำรวจ ทหารและนักการเมืองล้วนเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการของกองทัพอาระกัน
โดยก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ กองทัพอาระกันได้ลักพาตัว 3 ผู้สมัครพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยอันเป็นพรรคของซูจีเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำของกลุ่มที่โดนจับตัวไป หลังกกต.พม่าตัดสิทธิ์ประชาชนในรัฐยะไข่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 ล้านกว่าคน เพราะไม่ต้องการให้เลือกพรรคการเมืองขวัญใจคนรัฐยะไข่เข้าสภา
ความรุนแรงทางกฎหมายและการเมืองเหล่านี้นี่เอง ที่ผลักดันให้กองทัพอาระกันไม่เหลือทางเลือกสันติอื่นใดนอกจากการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ถึงขั้นที่ข้ารัฐการในพื้นที่ต้องป้องกันตัวเองสุดชีวิต หลายครั้งต้องมีรถนำขบวนคุ้มกันในหมู่ข้ารัฐการระดับสูงด้วย
4.
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพอาระกันปฏิบัติการได้อย่างดี ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้นำของเขาพลตรีตวัน มยัด นาย ที่กุมใจขบวนการและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างอยู่หมัด
“ผมอยากเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพตั้งแต่ยังเด็ก”
พลตรีตวันนั้นมีเอกลักษณ์ชอบสวมแว่นสายตา ใส่หมวกเบเรต์และชุดทหาร เป็นคนอาระกันในรัฐยะไข่ จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยซิตเว มหาวิทยาลัยประจำรัฐยะไข่ ในด้านวิศวกรรม ไปทำงานในเหมืองหยก เคยเป็นไกด์ทัวร์และเป็นผู้ก่อการรุ่นแรกที่ก่อตั้งกองทัพอาระกัน ภาพลักษณ์ของเขา ดึงดูดชายหญิงอาระกันเข้ามาสมัครทหารจำนวนมาก ที่สำคัญภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันของนายพลดีมาก ผลจากการฝึกฝนทักษะตอนทำงานเป็นไกด์ทัวร์นั่นเอง
ทั้งนี้นายพลตวันนั้นมีภรรยา ลูกสาวกับลูกชายคนเล็กวัยเพียง 11 เดือน โดยลูกสาวคนโตซึ่งอายุ 11 ขวบได้มาเรียนหนังสือในโรงเรียนนานาชาติในจ.เชียงใหม่ ประเทศไทย ระหว่างที่ทำการต่อวีซ่าเมื่อสิ้นปีก่อน ตม.ไทยได้คุมตัวไว้หลังพบวีซ่าครอบครัวแม่-ลูกหมดอายุเป็นข่าวออกไป ทางการพม่าถึงกับทำเรื่องขอให้ส่งตัวครอบครัวของนายพลตวันมาทันที
โชคดีที่มีการร้องขอช่วยเหลือจากต่างชาติ ทำให้ครอบครัวขุนศึกคนนี้ได้ลี้ภัยไปสวิสเซอร์แลนด์อย่างปลอดภัยเมื่อต้นปีนี้หลังโดนคุมตัวมากว่า 3 เดือนด้วยกัน เมื่อไม่มีพันธะให้กังวล นายพลคนนี้ก็พร้อมสู้เพื่อเอกราชของคนอาระกันในทันที
สำหรับภารกิจของกองทัพอาระกันก็คือการทำให้เห็นว่า
รัฐบาลกลางไม่สามารถคุมอำนาจในพื้นที่ได้และยิ่งส่ง
กองทัพปราบปราม คนในพื้นที่ยิ่งสนับสนุนนายพลหนุ่มมากขึ้น
เพราะทหารพม่านั้นใช้ความรุนแรงยิ่งกว่าในการปราบกบฏ ทั้งสังหารชาวบ้าน ทรมานราษฎรเพื่อล้วงข้อมูล การปราบปรามของพม่านี่เองทำให้คนพุทธรัฐยะไข่ 1 แสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และมีประชาชนเสียชีวิตถึง 42 คนด้วยกัน
นักวิเคราะห์มองว่า กองทัพอาระกันไม่มีความสามารถจะรบชนะพม่าได้อย่างแน่นอน แต่การที่พวกเขาก่อกวนยื้อศึกสร้างความเสียหายนั้น ก็เพื่อจะทำให้กองทัพพม่าและรัฐบาลตัดสินใจยุติการกวาดล้างและเริ่มหันเข้าหาข้อตกลง ซึ่งก็คือการมีสิทธิ์ปกครองตัวเองเหมือนรัฐชาติพันธุ์อื่นๆ
ทั้งนี้นโยบายสำคัญกับนายพลคือการอยู่ร่วมกับกลุ่มโรฮิงญาที่เหลืออยู่น้อยแล้วในรัฐยะไข่อย่างปรองดอง โดยย้ำว่าจะดูแลและหาตัวคนที่ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาในพื้นที่ทั้งหมด และผลงานสำคัญของกองทัพอาระกันก็คือการจับตัวทหารพม่า 2 คนส่งไปให้ศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศเพื่อรีดข้อมูลจนกลายเป็นหลักฐานชิ้นโบว์แดงที่ยืนยันว่ากองทัพพม่ามีความตั้งใจแน่วแน่ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาจริง
4.
ทหารแห่งกองทัพอาระกัน นายพลหนุ่ม และคนในรัฐยะไข่กับความฝันที่จะได้ปกครองตัวเอง นำแผ่นดินที่สิ้นชาติกลับคืนมา จะมีวันสำเร็จหรือไม่เป็นสิ่งที่เราไม่อาจตอบได้ แต่ตราบใดที่โลกใบนี้ยังเต็มไปด้วยสงครามความรุนแรงที่มีแต่ความสูญเสียเกิดขึ้น หยาดน้ำตาที่เจ็บปวดเพียงเพื่อแผ่นดินที่หมายปอง อำนาจที่ต้องการสยบ ระเบียบที่คงไว้ มันก็ยากจะบอกได้ว่าชัยชนะของกองทัพอาระกันจะสำเร็จได้หรือไม่ เพราะหน้าประวัติศาสตร์ก็มากด้วยชัยชนะและหลากด้วยความพ่ายแพ้ของนักสู้แห่งชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่เสมอ
บรรทัดนี้ขอยกคำพูดของหญิงสาวที่ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการมาสมัครเป็นทหารกองทัพอาระกันว่า
“ฉันเรียนที่มหาวิทยาลัยซิตเว แต่ไม่สามารถเรียนให้จบปริญญาตรีได้ มันไม่มีโอกาสมากนักในรัฐยะไข่ ดังนั้นถ้าไม่เข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพอาระกัน ก็ต้องไปดิ้นรนหางานทำในต่างแดนและส่งเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว”
ดังนั้นเธอจึงเลือกเป็นทหารอาระกัน ที่ซึ่งมีคนเรียกเธอว่าผู้ก่อการร้ายและเรียกเธอว่ากบฏกู้ชาติ ไม่น่าเชื่อว่า 2 คำนี้จะอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว แต่มันก็เป็นความจริง ในฐานะเหรียญคนละด้านของกันและกันมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์
สุดท้ายมันจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่จะนิยามพวกเขาว่าอย่างไร
จะเป็นผู้ก่อการร้าย..หรือกบฏกู้ชาติ…