ถ้าถึงวินาทีนี้แล้วยังไม่รู้ The MATTER บอกให้ก็ได้ว่าวันที่ 7 สิงหาคมเป็นวันลงประชามติว่าเราจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บางคนก็ฟังมาจนหูเปียกหูแฉะแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอย่างนั้น หรือบางคนก็ฟังมาว่ามีข้อบกพร่องอย่างนู้น ก็อย่าลืมรับฟังข้อมูลจากหลากหลายด้าน อ่านร่างฯสักนิดก็ยังดี
ถ้าไม่รู้จะหาอ่านที่ไหน iLaw เขาสรุปไว้ดี๊ดีทุกประเด็นเลยไปตามอ่านกันให้ฉ่ำใจ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกอนาคตประเทศที่อยู่ในมือเราทุกคน
นอกจากการลงประชามติหมาด ๆ ในประเทศที่ห่างไกลเรากว่าครึ่งโลกอย่างอังกฤษว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ออกแล้ว ใครที่พอจะจับตามองอยู่บ้างก็คงจะเห็นว่าประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างพม่าก็มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2008 ด้วยเหมือนกัน
แถมผลก็ออกมาว่าโหวตเยสอย่างท่วมท้น 93% จากผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 99% อื้อหือ อะไรจะให้ความสำคัญกับการออกสิทธิออกเสียงได้เบอร์นี้ เอ แล้วว่าแต่ไอ้ 99% ของพม่า นี่มันเหมือนประชาธิปไตย 99.99% ของเราตอนนี้ไหมนะ อุ้ย …
มา ๆ เรามามองประชามติไทยผ่านประชามติพม่ากันหน่อยว่ารูปร่างหน้าตาจะเหมือนหรือต่างกันขนาดไหน
เป็นเผด็จการมาตั้งนานจนชื่นใจ ขอหาทางลงให้ตัวเองสวย ๆ หน่อยนะ ?
เผด็จการทหารนี่ก็เหมือนของฮิตเนอะ ใช่ว่าที่ไทยจะมีอยู่กับเขาที่เดียว ในอดีตหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มักตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบนี้ และพม่าก็เช่นกัน
The MATTER พานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไป 28 ปีก่อน ที่คณะทหารพม่าได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 1974 ของตัวเองทิ้ง แล้วยึดอำนาจบริหารประเทศเมื่อปี 1988
ยึดไม่ได้ยึดเปล่ามันก็ต้องมีการตั้งชื่อคณะกันหน่อย ซึ่งการยึดอำนาจครั้งนี้ได้ถูกยึดในนามคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “สภาฟื้นฟูกฏระเบียบแห่งรัฐ” หรือ SLORC (ก็เหมือนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นั่นแหละ ที่ยึดอำนาจมาทีก็ต้องมีชื่อเก๋ ๆ เคลือบไว้ให้ดูดีกับเขาหน่อย)
เหมือนเป๊ะอย่างกับลอกกันมา พอครบ 2 ปี หลังจากสภาฟื้นฟูกฏระเบียบแห่งรัฐปกครองบ้านเมืองด้วยกฎอัยการศึกบ้าง ประกาศของทหารฉบับต่าง ๆ บ้าง สภาฟื้นฟูกฏระเบียบแห่งรัฐก็เตรียมจัดให้ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงผ่านการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าจะได้รับชัยชนะถล่มทลาย คิดว่าหาทางลงให้ตัวเองได้อย่างสวย ๆ แน่นอน
แต่ฝันมักไม่ค่อยเป็นจริงเมื่อผลออกมาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD (พรรคของอองซาน ซูจีนั่นแหละ) กลับเป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะไป แล้วคิดว่าเฮีย ๆ คณะทหารจะยอมไหม?
เมื่อผลออกมาว่าแพ้ปุ๊ป เฮีย ๆ ก็ล้มการเลือกตั้งปั๊ปโดยให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งที่มีขึ้นโดยที่ประเทศยังไม่มีรัฐธรรมนูญ มันจะพัฒนาให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยได้ไงล่ะ ว่าแล้วสภาฟื้นฟูกฏระเบียบแห่งรัฐก็ปกครองพม่าด้วยกฎอัยการศึกต่อไป แล้วบอกว่าเดี๋ยวขอร่างรัฐธรรมนูญก่อนนะ แล้วค่อยลงประชามติแล้วค่อยเลือกตั้งอีกทีแล้วกัน
นานาชาติเห็นท่าไม่ดี ก็มีมาตรการลงโทษต่อพม่าอย่างหนักในปี 2003 ทำให้คณะทหารต้องประกาศแผนโรดแมปไปสู่ประชาธิปไตย โดยหนึ่งในนั้นก็คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ทายว่าคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากไหน ? บอกเลยว่าเหมือนไทยเป๊ะตามประสาคนอยูใกล้กัน ก็คณะทหารแต่งตั้งขึ้นมาไงจะใครล่ะ (เลือกต้งเลือกตั้ง หรือมาจากประชาชนอะไรอย่าไปหวัง)
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญที่ปราศจากการยึดโยงกับประชาชนเสร็จออกมา รัฐบาลทหารก็ประกาศให้มีการลงประชามติในวันที่ 10 พฤษภาคม 2008
ทหารสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง มีแค่ที่ไทยหรือบ้านใกล้ ๆ เขาก็มี ?
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองพม่าเล่าว่าจุดเด่นหลักของร่างรัฐธรรมนูญสไตล์พม่าฉบับนี้คือการสนับสนุนให้กองทัพยังคงมีอำนาจล้นมือหลังการเลือกตั้ง
ถ้ายังนึกไม่ออกว่า อ้าว เลือกตั้งแล้วทหารจะมีอำนาจต่อได้ยังไงล่ะ? ผศ.ดุลยภาคก็ใจดีอธิบายต่อว่า รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ ก็สงวนตำแหน่งไว้ให้ทหารเท่านั้น รวมถึงต้องมีผู้แทนจากกองทัพร้อยละ 25 นั่งอยู่ในสภาสูงและสภาผู้แทนราษฎร และผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังสามารถเข้ามามีอำนาจในช่วงสภาวะฉุกเฉินได้ด้วย แถมยังคอยออกประกาศคณะทหารฉบับต่าง ๆ มาคอยควบคุมตรวจตราโรดแมปสู่ประชาธิปไตยอันไกลโพ้นแทบทุกขั้นตอน
ยังไม่จบเพียงเท่านั้นทุกขั้นตอนของการลงประชามติยังอยู่ใต้อำนาจเต็ม ๆ ของสารพัดกรรมการ อนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะทหารอีกด้วย
งอแงยิ่งกว่าเด็กเอาแต่ใจ ฉันรณรงค์ได้แต่ เธอห้ามรณรงค์นะ
ปัญหากาโน ๆ ไม่ได้มีขึ้นแค่ที่ไทยหรอกที่พม่าเขาก็มีเหมือนกัน โดยประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตย องค์กรจากกลุ่มชาติพันธุ์ ก็พากันออกมารณรงค์ให้ประชาชนออกไปโหวตโน แต่ก็ถูกคณะทหารจับกุมไปอย่างน้อย 48 ราย
ด้านรัฐบาลทหารก็ชูธงโหวตเยสอย่างออกหน้าออกตา ผ่านการคุมเข้มการรายงานข่าวเรื่องประชามติ มีเพลงรณรงค์ให้ออกไปโหวตเยสเก๋ ๆ ออกมาให้ร้องตาม ช่องทีวีของรัฐก็ออกอากาศพูดเรื่องนี้ซ้ำ ๆ (นึกว่าจะมีแค่ไทยที่เดียวซะอีก)
แต่ในขณะที่ประชาชนชาวพม่าที่มีสิทธิออกเสียงลงประชามติกว่า 30 ล้านคน คณะทหารกลับพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญออกมาเพียง 465,000 เล่ม อ่อ ไม่ได้พิมพ์มาแจกฟรีนะ พิมพ์ออกมาให้ประชาชนหาซื้อเอง! เท่านั้นยังไม่พอยังพิมพ์ออกมาเป็นภาษาพม่าล้วน ๆ ไม่แคร์กลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่อ่านภาษาพม่าไม่เข้าใจ
อย่างไรก็ตามเฮีย ๆ รัฐบาลทหารก็ยังยืนยัน นั่งยัน นอนยันว่าการลงประชามติครั้งนี้เป็นไปอย่างยุติธรรม เสรี ไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ก็แค่รัฐบาลทหารไปสัญญากับคนสัญชาติจีนในพม่าไว้ว่าถ้าโหวตเยสจะให้บัตรประชาชนชั่วคราวนะ ก็แค่ไปบอกนักโทษว่าถ้าโหวตเยสแล้วจะได้รับการปล่อยตัวหลังลงประชามติ ก็แค่ทหาร ตำรวจลงประชามติซ้ำกันได้หลายครั้ง ก็แค่กลุ่มแรงงานที่ต้องเดินทางมาทำงานในเมืองต้องโหวตเยสไม่งั้นห้ามเข้ามาทำงานในเมือง ยัง ยังไม่หมด รัฐบาลทหารยังมีมวลชนจัดตั้ง 33,000 คน ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในรัฐคะฉิ่น
เห็นไหม ไม่งอแง ไม่เอาแต่ใจ โปร่งใส เสรี ยุติธรรมที่สุดเลย
เรามีลิง เรามีหมา แต่พม่าหนักกว่าเพราะพายุนาร์กิสเข้า
ความโกลาหลก่อนถึงวันลงประชามติไม่ได้มีแค่เรื่องสัตว์ 4 เท้าเข้าไปฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างบ้านเรา แต่วาตภัยครั้งรุนแรงอย่างพายุนาร์กิสเข้าถล่มพม่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และประชาชนหลายแสนคนไม่มีที่อยู่อาศัย
รัฐบาลทหารกลับให้ความสำคัญกับการเดินหน้าลงประชามติต่อไปท่ามกลางความสูญเสียนั้น โดยไม่มีการเลื่อนวันแต่อย่างใด เพื่อให้ผลออกมาเป็นโหวตเยส รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างถล่มทลายอย่างที่หวัง
อย่างไรก็ตามรัฐบาลทหารพม่าได้รับการกดดันจากหลายฝ่าย จนจำต้องยอมเลื่อนวันลงประชามติเฉพาะเขาตประสบภัยพิบัติ โดยเลื่อนออกไปอีก 2 อาทิตย์ และผลก็ออกมาว่าประชาชนกว่า 93% รับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐบาลทหารนี้และจำนวนผู้มาใช้สิทธิก็มีมากถึง 99%
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่าชี้ ‘ต่อให้เสรีกว่านี้ยังไงทหารก็อาจชนะ’
แม้หลายฝ่ายมองว่าถ้าไม่ได้มีการรณรงค์อยู่ด้านเดียวแบบนี้ ผลอาจจะออกมาเป็นไม่รับร่างฯก็ได้ เพราะทั้งพรรค NLD กลุ่มชาติพันธุ์ และภาคประชาสังคมจำนวนมากที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชชมีความเห็นเพิ่มเติมว่าผลอาจไม่ได้ออกมาว่า “ไม่รับ”อย่างเด็ดขาด เนื่องจากก่อนวัน ก่อนวันลงประชามติ รัฐบาลทหารได้จัดตั้งมวลชนภาครัฐ ที่มีเครือข่ายเกิน 20 ล้านคน รวมถึงครอบครัว ข้าราชการ และครอบครัวชาวนาชนบทที่รับความช่วยเหลือทางการเกษตรจากรัฐบาลทหาร มวลชนกลุ่มนี้จึงเป็นอาวุธสำคัญของรัฐบาลทหารที่เห็นควรว่าต้องโหวตเยสให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนี้แต่ออกไปโหวตเยสก็มีเป็นจำนวนมากเนื่องจากคิดว่าไม่อยากให้เสียเวลา อยากให้รัฐบาลทหารพ้นจากอำนาจไปโดยไว โดยไม่ทันตระหนักว่านี่คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับบร่างทรงทหาร
นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนแทบจะเรียกโคนันออกมาไขคดี เพราะ ตัวเลข 99% ของคนออกมาใช้สิทธิก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย เนื่องจากประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงภาวะภัยพิบัติที่เอื้อต่อการอำพรางผลการลงประชามติ หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกตว่าผลประชามติที่ได้เป็นผลที่จริงเท็จมากน้อยแค่ไหน?
เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแบบงง ๆ ประเทศก็ต้องเดินแบบงง ๆ ต่อไป
ไม่ว่าผลการลงประชามติของไทยจะออกมาในรูปแบบใด งงหรือไม่งง เสรี โปร่งใส ยุติธรรมระดับไหนก็ยังไม่มีใครคาดเดาได้ แต่บทเรียนจากพม่าเมื่อผลออกมาว่าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ถูกประกาศใช้และนำไปสู่การเลือกตั้งในอีก 2 ปีหลังจากนั้น ภายใต้ข้อจำกัดอีกหลายประการ ข้อจำกัดสำคัญ คือ มีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญไม่ให้คนที่สมรสกับชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี ซึ่งหมายความว่าจงใจหมายถึงนางอองซาน ซูจีโดยเฉพาะ
นึกภาพไม่ออกก็อารมณ์ว่าในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าคนหน้าเหลี่ยมห้ามเล่นการเมืองนะ อะไรประมาณนี้อ่ะ
อย่างไรก็ตามการที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็ทำให้รัฐบาลทหารลดแรงกดดันจากนานาชาติลงได้มาก เนื่องจากทำให้นานาชาติพอจะมองเห็นว่ารัฐบาลทหารสามารถทำให้ระบอบการเมืองเคลื่อนไปตามหลักประชาธิปไตยสากลได้ ในขณะที่ตัวเองก็ยังสามารถกุมอำนาจไว้ในมือคณะชนชั้นนำทหารได้อีกด้วย
ภายใต้ความบ้านใกล้เรือนเคียงและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ร่วมหลายประการที่คล้ายคลึงกัน การลงประชามติไปจนถึงการเลือกตั้งของพม่าคงพอเป็นบทเรียนบางอย่างให้เราได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผลจะออกมาในรูปแบบเดียวกันทุกประการ สำคัญที่สุดคือนาคตอยู่ในมือเราทุกคน อย่าลืมออกไปเลือกอนาคตให้ตัวเองและประเทศพร้อมกันวันที่ 7 สิงหาคมนี้ล่ะ
ขอบคุณเนื้อหาบทความจาก iLaw – https://ilaw.or.th/node/4220