ยังจำความรู้สึกตอนอ่านหนังสือเล่มแรกๆ ได้มั้ย เรามักได้เริ่มจากงานงดงามเช่น ต้นส้มแสนรัก ในสวนศรี บ้านเล็กในป่าใหญ่ ชั้นหนังสืออวลไปด้วยกลิ่นของหนังสือเก่าๆ อุดมไปด้วยงานเขียนที่พาเราก้าวไปยังเรื่องราวและดินแดนแสนวิเศษ ไปสู่ท้องทุ่งกว้าง สู่เรื่องราวของสรรพสัตว์ สู่สวนลับแห่งการเติบใหญ่ สู่การปรับสายตาไปสู่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น
พอลองหวนนึกดู ยิ่งในยุคที่เราห่างไกลจากธรรมชาติ และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายโดยพวกเราเองนั้นกำลังอยู่ในประเด็น ดินแดนแห่งความฝันและโลกในจินตนาการที่เรามักอ่านเมื่อครั้งยังเด็กแทบทุกเรื่องมักเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยธรรมชาติ วรรณกรรมระดับตำนานมักมีต้นไม้ใหญ่เป็นเพื่อน มีสวนลับ มีป่าเขา มีสรรพสัตว์ทั้งที่มีจริงและไม่มีจริงที่ล้วนพาให้เรากลับไปสู่ความกลมกลืนและกลมเกลียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กับโลกโดยรวมที่อบอุ่น นุ่มนวลและแสนผาสุข เมื่อวัยเยาว์เรามักมีภาพอันสงบสมบูรณ์เช่นนั้น และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เมื่อเราโตขึ้น ความสุขกันงดงามเรียบง่ายและความกลมเกลียวนั้นก็ค่อยๆ เลือนหายไป
มุมมองและความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติเป็นทัศนคติ และมิติทั้งเชิงกายภาพและเชิงจินตนาการอย่างหนึ่ง ดังนั้นความรักในธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับการปลูกฝัง Dr. Seuss- Theodor Seuss Geisel นักเขียนวรรณกรรมเด็กระดับตำนานเจ้าของผลงาน The Cat in the Hat และงานที่ปลุกจินตนาการให้ผู้คนทั่วโลกอีกมากมายบอกว่า วรรณกรรมเด็กเป็นช่องทางสำคัญที่จะสื่อสารและหล่อหลอมประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความรักในธรรมชาติให้กับคนรุ่นต่อไปอย่างลึกซึ้ง อบอุ่น และนุ่มนวล
ไม่ว่านักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กจะตั้งใจหรือไม่ แต่จุดเด่นหนึ่งของวรรณกรรมเด็กคือความงดงาม และวรรณกรรมเด็กส่วนใหญ่ก็มักจะพาเราไปสู่พื้นที่อันอุดมซึ่งในความอุดมนั้นคือความอุดมสมบูรณ์ คือความสัมพันธ์อันอบอุ่นแน่นแฟ้นที่มักมีธรรมชาติ มีระบบนิเวศเข้ามาสวมกอดมนุษย์ไว้ ไม่ให้เราเป็นสายพันธุ์ที่หยัดยืนเติบโตขึ้นอย่างเดียวดาย และหลายครั้งที่ต้นไม้และธรรมชาติเป็นพื้นที่สำคัญที่เราใช้เป็นพื้นที่ของการเติบโต ของการเยียวยารักษาความบอบช้ำ เป็นพื้นที่ของการก้าวข้ามผ่าน เป็นที่หลบภัย
ในโลกที่แห้งแล้วขึ้นทุกวันยิ่งเมื่อเราอายุมากขึ้น เราก็ยิ่งแปลกแยกออกจากธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการกลับไปอ่านวรรณกรรมเยาวชน กลับไปปัดฝุ่นหนังสือที่เราเคยจับเมื่อครั้งต้องป่ายปีนตู้หนังสือสูงจึงเป็นหนทางหนึ่งในการกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติทางหนึ่ง เป็นช่องทางที่เราได้กลับสู่ดินแดนแสนสุข หวนไปสู่ความสัมพันธ์ และกลับคืนสู่ธรรมชาติทั้งมิติต้นไม้ใบหญ้า ไปมองโลกผ่านสายตาสรรพสัตว์ ไปจนถึงการกลับไปพื้นฐานอันเป็นธรรมชาติของเรา
The Secret Garden (ในสวนศรี)
วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิก แน่นอนว่าเล่าเรื่องราวของเด็กๆ และมีเด็กๆ อ่าน แต่หลายครั้งนวนิยายเหล่านี้ไม่ได้ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน งดงาม แต่วรรณกรรมเด็กมักเกี่ยวข้องกับความไม่สมบูรณ์ ความเจ็บปวด และการเติบโตอันเป็นภาวะที่เด็กๆ ต้องเผชิญและก้าวข้ามผ่าน สำหรับ The Secret Garden เองก็เป็นในทำนองเดียวกัน ตัวเรื่องพูดถึงตัวละครที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นที่ต้องการ ถูกทอดทิ้ง แต่ในที่สุดเด็กๆ นั้นก็ได้พบกับสวนลับ ได้กลับไปใช้และเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพื้นที่ธรรมชาติ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งงานระดับขึ้นหิ้ง อบอุ่น งดงาม และในความงามนั้นคือการได้รับการสวมกอดโดยธรรมชาติ โดยพืชพรรณและต้นไม้เขียวขจี
My Sweet Orange Tree (ต้นส้มแสนรัก)
หนังสือเป็นสิ่งที่ประหลาดยิ่ง บางเล่มแค่เราได้ยินชื่อเรื่อง นึกภาพปกออกได้ พร้อมกันนั้นเราก็สามารถสัมผัสความอบอุ่น ความงดงาม กระทั่งความเศร้าที่สมควรมีเอ้อท้นขึ้นมาในหัวใจ ต้นส้มแสนรักเป็นหนึ่งในหนังสือเช่นนั้น เป็นวรรณกรรมที่ทำหน้าที่วรรณกรรมในฐานะพื้นที่พิเศษอันอุดมสมบูรณ์ ต้นส้มแสนรักพูดถึงเซเซ่เด็กน้อยที่ออกจะดื้อและซนไปซักหน่อยจนทำให้เขารู้สึกว่าตนเองอาจไม่เป็นที่ต้องการ จนที่ในที่สุดเขาเองได้พบกับต้นส้มพูดได้และต้นส้มนี้ก็กลายเป็นเพื่อนใจ เป็นที่หลบพัก เป็นเพื่อนรู้ใจที่คลายเหงาและเป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าอกเข้าใจเขาอย่างแท้จริง จนในที่สุดเซเซ่ต้องเรียนรู้ว่าเพื่อนที่รักยิ่งของเขาต้องจากกันไป เรียนรู้ที่พรากพบอันเป็นธรรมดาของการเติบโตขึ้นของเด็กคนหนึ่ง
Little House in the Big Woods (บ้านเล็กในป่าใหญ่)
บ้านเล็กในป่าใหญ่เป็นงานเขียนระดับตำนานที่แทบจะทำให้เราเกิดภาพฝันของชีวิตแบบบ้านทุ่ง ตัวบ้านเล็กในป่าใหญ่เป็นงานเขียนแนวอัตชีวประวัติที่ Laura Ingalls Wilder ครูและนักเขียนชาวอเมริกันเขียนรำลึกถึงชีวิตวัยเด็กอันเป็นยุคสมัยและช่วงวัยที่เธอยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านไร่ แน่นอนว่าตัวงานเขียนขึ้นเมื่อยุคหลังส่วนหนึ่งเขียนเพราะผู้เขียนและครอบครัวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ (great depression) งานเขียนนี้จึงเป็นเหมือนการหวนหาย้อนคืนกลับไปสู่ห้วงเวลาที่เนิบช้า เป็นช่วงเวลาของการปลูกเอง กินเอง ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติผ่านฉากและเรื่องราวของบ้านไร่ชายทุ่ง
Winnie-the-Pooh
แค่คำว่าทุ่งหญ้า 100 เอเคอร์ เท่านี้เราก็เห็นภาพทุ่งกว้างอันผาสุข เป็นดินแดนที่ความขี้เกียจเป็นความชอบธรรม เป็นดินแดนแห่งความเรียบง่าย สงบงาม เป็นที่ๆ เราเห็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่ล้วนเป็นสรรพสัตว์ต่างสายพันธุ์ มองเห็นว่ามนุษย์เช่นเราๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ธรรมชาติ เป็นที่ๆ เราโหยหาและในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่เรากลับไปเรียนรู้จากความเรียบง่ายทั้งของธรรมชาติและของความสัมพันธ์ที่ไร้เดียงสา ในทำนองเดียวกันทุ่งหญ้า 100 เอเคอร์นี้ก็เขียนขึ้นโดยมีป่าและทุ่งหญ้าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ทางตอนเหนือของอังกฤษ ความงดงามเรียบง่ายของพื้นที่ป่าทางกายภาพที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของผู้เขียน ในที่สุดก็ส่งต่อความรักและภาพฝันของเราที่มีต่อธรรมชาติอันงดงามต่อไป
Finn Family Moomintroll
ป่าไม้สน ลำธารใส ทุ่งน้ำแข็งกว้าง ภูเขาแม่น้ำอันเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แบบแสกนดิเนเวียร์เป็นภาพฝันของธรรมชาติ และเป็นที่น่าพิจารณาว่าเนเธอแลนด์ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์และใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งนั้น เป็นประเทศแห่งวรรณกรรมเด็กที่ส่งอิทธิพลกลายเป็นไอคอนไปทั่วโลก มูมินเองก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราว นิทาน การ์ตูน วรรณกรรมหรืออะไรก็ตามที่มูนมินกลายไปเป็นสัญลักษณ์ ความหมายหนึ่งของมูมินคือการให้ภาพชีวิตที่สวยงามในการกลับไปอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่อาจเป็นการกลับไปยึดโยงสัมพันธ์ในระดับจิตวิญญาณ เป็นพื้นที่และชีวิตในอุดมคติที่ใครๆ ก็ฝันถึง ด้านหนึ่งนั้นถ้าเราเติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม ก็เป็นไปได้ที่งานเขียนจะเขียนเกี่ยวกับความงามและความรักในธรรมชาติ และในทางกลับกันวรรณกรรมเหล่านั้นเช่นมูมินเป็นอาทิ ก็นำพาส่งแรงความรักและอาจนำไปสู่รักษาธรรมชาติให้งดงามวนเวียนสืบไป
The Tale of Peter Rabbit
ถ้าเราได้อ่านเรื่องราวแสนน่ารัก พร้อมภาพที่วาดครอบครัวกระต่ายน้อย พร้อมตัวเอกเป็นกระต่ายหนุ่มน้อยจอมแหกคอก มีหรือที่ไม่อยากได้ไปอยู่ในบ้านหลังจิ๋ว วิ่งอยู่ในแปลงผัก วรรณกรรมเล่มนี้บางส่วนยังพูดถึงความสัมพันธ์ของกระต่ายกับมนุษย์ที่ในที่สุดเราก็เห็นหัวจิตหัวใจ เห็นเรื่องราวจากมุมอื่นในมุมที่เล็กลงไปจากสายตาของมนุษย์เอง จริงๆ แค่ภาพประกอบที่กลายเป็นไอคอลศิลปะของงานวรรณกรรม แค่ดูรูปเราก็แทบจะหลงรักและอยากกลับไปนอนกลิ้งบนทุ่งหญ้าอีกครั้ง
Babe: The Gallant Pig
ในช่วงก่อนปีค.ศ. 1997 ราวๆ ก่อนที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2000 ช่วงนั้นสังคมมวลมนุษบ์เองกำลังอยู่ในยุคคาบเกี่ยวระหว่างโลกอนาล็อกกับโลกดิจิตัล เรามีทีวีจอตู้ คอมพิวเตอร์ที่ค่อยๆ กลายเป็นอุปกรณ์สามัญ พร้อมตื่นเต้นกับการเชื่อมโลกผ่านอินเตอร์เน็ตที่ส่งเสียงเหมือนเครื่องแฟกซ์ ในช่วงนั้นเองโลกภาพยนตร์ก็กำลังตื่นเต้นกับเทคนิกทางภาพยนตร์ต่างๆ และเด็กยุค 90s ย่อมจะจำได้กับหนังเรื่อง Babe ตัวหนังที่โดดเด่นในการทำให้สรรพสัตว์พูดได้ พร้อมๆ กับการกลับไปเล่าเรื่องราวอันแสนน่ารักของเจ้าหมู เบ๊บ แต่เดิมเป็นนวนิยายขนาดสั้นเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1983 ตัวเรื่องก็เล่าเรื่องหมูน้อยในฟาร์มที่แทนที่จะควรจะเป็นเพียงหนึ่งในปศุสัตว์ แต่ก็กลายเป็นหมูต้อนแกะและกลายเป็นสมาชิกหนึ่งของครอบครัว เรื่องนี้ถ้าหวนนึกถึงเราก็จะเกิดความรู้สึกนึกถึงบรรยากาศฟาร์ม เกิดความรักและมองเห็นความสัมพันธ์ของเราและสัตว์กระทั่งสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม
Pippi Longstocking
ปิ๊ปปี้เป็นเด็กหญิงแสนประหลาด หน้าตาก็- พูดอย่างใจร้ายก็ไม่ได้น่ารัก แต่งตัวก็พิลึก แถมมีชีวิตพิกลคืออยู่กับม้าและลิงในบ้านโดยลำพัง แต่ในที่สุดเด็กๆ กระทั่งเราเองก็รักปิ๊ปปี้ ด้านหนึ่ง ปิปปื้เป็นการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยอิสระเสรี มีความสามารถเฉพาะตัว ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองและไม่ต้องทำตามคำสั่งของกรอบกฏเกณฑ์ของใคร ปิ๊บปี๊จึงเป็นตัวแทนของความฝันของเด็กๆ ทั่วโลก เป็นสิ่งที่เด็กๆ อยากทำ กระทั่งเป็นคุณลักษณะที่ผู้ใหญอย่างเราๆ อยากรักษาไว้ ความมีอิสระเสรีไม่ถูกกรอบ—ในที้อาจหมายถึงกรอบสังคมที่ครอบกำกับความคิดและความเป็นไปของเรา แต่กลับเป็นชีวิตที่กลับไปอยู่กับธรรมชาติ กับม้ากับลิง และเรื่องปิ๊ปปี้ก็มีต้น lemonade ไม้ยืนต้นลูกผสมระหว่างส้มแมนดารินและมะวานที่เป็นเหมือนโลกทั้งใบของปิ๊ปปี้ ไม้แบบเดียวกับที่ผู้เขียนเติบโตขึ้นโดยมีไม้ใหญ่ในบ้านคอยให้ร่มเงาและเป็นเพื่อนยามเหงาพร้อมเติบโตไปพร้อมกัน
Bambi, a Life in the Woods
ในงานศึกษาความสัมพันธ์ของธรรมชาติและงานวรรณกรรมเด็ก พูดถึงพลัง—เสียงของธรรมชาติว่า ด้านหนึ่งนั้นงานเช่นวรรณกรรมเด็กเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีเสียง—มีชีวิตขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าจะเป็นเพียงฉาก เป็นเครื่องประกอบ และในขณะเดียกวันนั้นเองการมีชีวิตและเล่าเรื่องราวของธรรมชาติก็นำไปสู่การส่งต่อความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ เกิดความรู้สึกอ่อนโยนและเมตตาต่อธรรมชาตินั้นๆ ฟังดูแล้วก็มีเหตุผล เช่นในเรื่องแบมบี้นี้เองก็ดูจะตอบคำอธิบายสำคัญของงานศึกษาได้ แบมบี้ก่อนจะมาเป็นฉบับดิสนีย์เป็นนวนิยายสำหรับเด็กของนักเขียนเยอรมัน เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1923 แน่นอนว่าตัวเรื่องเล่าถึงชีวิตและการสูญเสียและการเติบโตขึ้นของเจ้ากวางน้อยแบมบี้ ตัวเรื่องพูดถึงธรรมชาติทั้งในมิติที่น่าครั้นคร้ามและงดงามในคราวเดียวกัน ในขณะเดียวกันแน่นอนว่านวนิยาย หนังรวมถึงละครเวทีจากเรื่องแบมบี้นี้ย่อมทำให้เราเสียน้ำตา และทำให้เราเกิดความรักและเห็นอกเห็นใจในสรรพสัตว์สายพันธุ์อื่นได้
The Wheel On The School
ส่งท้ายด้วยเรื่องราวที่มีฉากเป็นพื้นที่เมือง และพูดถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ร่วมกับเราในเมืองใหญ่ เป็นโอกาสที่เราจะได้มองเห็นและเอื้ออาทรต่อกัน The Wheel On The School เป็นนวนิยายสำหรับเด็กสัญชาติดัชช์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1954 ตัวเรื่องที่ฟังดูชื่อแล้วแสนจะประหลาด จริงๆ พูดเรื่องเมืองในฐานะพื้นที่ใหม่ คือในเรื่องจะพูดถึงกลุ่มเด็กนักเรียนที่พบว่าในหมู่บ้านเล็กๆ ของพวกเขาไม่มีนกกระสา—นกปากห่าง(Stork) ภารกิจของเรื่องจึงอยู่กลุ่มเด็กนักเรียนที่พยายามจะนำนกปากห่างนี้กลับมาอยู่ร่วมในหมู่บ้านอีกครั้ง ซึ่งก็มีภารกิจและอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า เช่นการไปหาล้อเกวียนโบราณมาประกอบไว้บนหลังคาโรงเรียน ตัวเรื่องในเบื้องต้นก็ว่าด้วยการฟื้นฟู หรือการย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติ และในระดับเบื้องลึกงานเขียนชิ้นนี้กำลังพูดถึงการรักษาสิ่งเก่าตั้งแต่ธรรมชาติ ไปจนถึงวัฒนธรรมบางอย่างไว้เพื่อก้าวไปข้างหน้าต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก