ที่ผ่านมาประเทศไทยตีเส้นหนาๆ แยก ‘เมือง’ และ ‘ธรรมชาติ’ ราวกับ 2 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีทางมาบรรจบกันได้ ความห่างเหินทำให้เราไม่คุ้นเคย ซ้ำยังต้องทนทู่ซี้อยู่ในเมืองหลวงพิษๆ รอคอยวันหยุดอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อ ‘หนี’ ไปสัมผัสธรรมชาติ และเป็นข้ออ้างในการผลาญเงินโดยที่อาจไม่เข้าใจธรรมชาติเลย
เป็นไปได้ไหม ที่คุณจะเข้าใกล้ธรรมชาติเพียงแค่ก้าวพ้นประตูบ้าน และธรรมชาติจะเป็นผู้แก้ปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังที่มนุษย์มีแต่ชี้นิ้วโทษกันไปมา
หากคุณคิดว่าการคืนป่าสู่เมืองเป็นแค่ความฝันล้มๆ แล้งๆ ที่นักอนุรักษ์ทำไม่ได้จริง อาจต้องแตะเบรก ปลดเกียร์ต่ำลงมาเสียหน่อย เพราะจากกิจกรรมเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยพลังอย่าง ‘Rewilding Bangkok : ฟื้นชีวิตป่าเมืองกรุง’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘ดร.อ้อย’ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว และนักกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์อีกหลายท่าน พาเราไปสำรวจความหมายของ Rewilding ในแบบใกล้ชิดคนเมือง โดยไม่ต้องไปปลูกป่าทำฝายตามกระแสอินเทอร์เน็ต
Re-wild เอาป่ามาอยู่กลางกรุงงั้นหรือ?
บ้านเราอยู่เอกมัยที่แพงแสนแพง คอนโดห้องละ 5 ล้านผุดเป็นดอกเห็ด จู่ๆ จะเอา ‘ป่าฝน’ มาตั้งโครมกลางสี่แยกไฟแดงอย่างนั้นหรือ?
ต่อให้คุณมีพลังควบคุมธรรมชาติได้อย่างใจนึก ก็ไม่มีใครทำแบบนั้นหรอก แท้จริงแล้ว Rewilding เป็นการพัฒนาคุณภาพของเมือง และคุณภาพชีวิตคนเมืองให้งอกงามได้เต็มศักยภาพโดยใช้ธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติท้องถิ่น แทนที่จะต้านพลังจากธรรมชาติเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นการปรับตัวน้อมเข้าหา และรับประโยชน์จากมัน
ดังนั้น จึงยังไม่มีใครทุบคอนโดคุณ เพื่อให้นกแร้งที่เคยสูญหายไปจากเมืองไทยกว่า 80 ปีกลับมาซะหน่อย มันไม่ง่ายขนาดนั้น
“ปัญหาอย่างหนึ่งของคำว่า ‘ป่า’ ในภาษาไทย มันทำให้นึกถึงเพียงแค่ ‘ต้นไม้’ มันจึงยากที่เราจะพูดถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย ดังนั้นคำว่า Wild มันคือชีวิตอิสระอันเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงแม่น้ำ ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นเรื่องน่าสนใจที่เราไม่เคยมีคำว่า Wild จากข้อจำกัดทางภาษาไทย มันจึงใกล้เคียงกับ ‘ความเถื่อน’ ฟังแล้วมันดูไม่ศิวิไลซ์ นั่นทำให้มันต่างไปจากความหมายเดิมสำหรับเรา”
ดร.อ้อย กล่าว
เราต้องเคลียร์กันตรงนี้ก่อน หากพูดว่า ‘ป่ากับเมือง’ มันคือชีวิตตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ได้ควบคุมมันโดยตรง การ Rewilding หรือการฟื้นคืนธรรมชาติที่ต้องทำในเมือง เราทุกคนมักเห็นด้วยอยู่แล้วว่า ควรฟื้นฟูพื้นที่ที่กฎหมายคุ้มครอง แต่หลายที่มักถูกมองข้าม อย่างพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาทางธรรมชาติโดยตรง
ใครๆ ก็เริ่มเอาจริง แล้วเราล่ะ?
ในหลายประเทศเริ่มพูดคุยและตื่นตัวกันมาก มนุษย์เรากำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Sixth extinction) การสูญพันธุ์ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยอย่างอุกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 60 ล้านปีก่อน แต่มันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ ทำอย่างไรที่จะไม่ทำลายเพิ่มเติมไปมากกว่านี้ และฟื้นฟูที่เคยเสื่อมโทรมกลับมาใหม่ ทางออกเดียวที่เรามี คือการใช้ Nature Based solutions หรือการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาโดยเข้าใจธรรมชาติ ยืมบริการ วิธีคิด มองไปหาปัญญาญาณจากธรรมชาติ
ตอนนี้หลายประเทศทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Rewilding อย่างที่โดดเด่นมากๆ คือการ ‘คืนหมาป่าสู่ Yellowstone’ เมื่อนักล่าบนห่วงโซ่บนสุดหายไป ทุกอย่างมันเสื่อมโทรมไปหมด แต่เมื่อธรรมชาติเรียกคืนหมาป่ากลับมา ทุกอย่างมันดีขึ้นกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคะเนไว้
ที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1995 หลังจากหมาป่าถูกล่าหายไปถึง 70 ปี กวางเอล์คที่ขยายพันธุ์มากเกินไปและกินป่าจนเสื่อมโทรม มันยังลดประชากรสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางอย่างหมาในโคโยตี้ ทำให้สัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นเหยื่อหมาในเพิ่มประชากรขึ้นมาได้
แต่น่าตื่นตาไปกว่านั้นคือ หมาป่ายังฟื้นชีวิตของแม่น้ำ ต้นไม้ที่ฟื้นคืนมาลดการชะล้างของหน้าดิน ทำให้แม่น้ำที่ไหลบ่า กลับมาไหลเป็นลำคดเคี้ยว เกิดเป็นวังน้ำแก่งน้ำตามธรรมชาติ พร้อมกับการฟื้นตัวของสัตว์น้ำอื่นๆ กลายเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่
ด้วยกระบวนการนี้ หมาป่าเพียงไม่กี่ตัวจึงฟื้นคืนชีวิตป่า เปลี่ยนแม่น้ำและภูมิประเทศทั้งผืน สร้างความสมดุลขึ้นมาได้อีกครั้ง เป็นที่มาของ ‘หมาป่าเปลี่ยนแม่น้ำ’ เรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สภาพภูมิทัศน์ถึงจุลชีพขนาดเล็กเลยทีเดียว
แล้วในเมืองล่ะ
เมืองสำคัญมากที่จำเป็นต้อง Rewilding เพราะเมืองเป็นทั้งปัญหาและทางออก ที่ผ่านมาเราเห็นเมืองทำตัวเป็นปัญหา แม้ในช่วงแรกมันจะสามารถทำหน้าที่ดึงคนมาอยู่ร่วมกันเยอะๆ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นปรสิตยักษ์ และแม้คุณอยู่กันในพื้นที่ไม่มาก แต่ดึงทรัพยากรโลกมาถึง 80%
เหมือนอย่างน้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งที่ผ่านมา ที่เราไปเก็บน้ำและกดดันในพื้นที่ปิดกว่า 2 เดือน แทนที่จะปล่อยไหลผ่าน ผลลัพธ์มันจะไม่เสียหายขนาดนี้ ไม่ใช่เพียงกรุงเทพฯเท่านั้น อีกหลายเมืองก็ประสบปัญหาน้ำท่วมจนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ในอดีตไม่เคยท่วมมาก่อน
ใครๆ ก็เคยพลาดได้
เมืองในยุโรปที่พัฒนามาอย่างยาวนาน เขาก็เคยพลาด ทำกำแพงขนานแม่น้ำไปหมด บีบแม่น้ำไว้จนอึดอัด เกิดความเสียหายหลายอย่างโดยเฉพาะระบบนิเวศ เป็นการทำลายตลิ่งและพื้นที่หากินของสัตว์น้ำ เมื่อไปบีบแม่น้ำ พอน้ำหลาก จึงไม่มีที่ให้น้ำบวมออก กลายเป็นอุทกภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ดังนั้นทางออกของหลายเมือง คือการทำลายกำแพงปูนที่มีอยู่เดิม และฟื้นฟูธรรมชาติโดยรอบใหม่ สิ่งที่ได้เบื้องต้นคือการบรรเทาน้ำท่วม แต่มันได้มากไปกว่านั้น สัตว์น้ำมีที่อยู่อาศัย ระบบบำบัดตะกอนโดยพืชดักเก็บไว้ริมฝั่ง ได้สถานที่เรียนรู้ทางธรรมชาติแก่ผู้คน เมื่อเป็นเช่นนี้ คนจะรับฟังธรรมชาติมากขึ้น เข้าใจที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ มันกำลังเป็นเทรนด์ที่หลายๆเมืองพยายามศึกษา”
อย่างใน ลอนดอน ทำพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแก้มลิง ที่ Hammersmith แม้จะไม่ใช่ที่ใจกลางเมืองซะทีเดียว แต่รัฐบาลมีแนวโน้มเปิดพื้นที่อีกหลายๆ โครงการของ Rewilding Rivers ซึ่งในลอนดอนเองก็มีแม่น้ำที่หายสาบสูญไปเยอะมาก เคยเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเทมส์ จนมีนักประวัติศาสตร์พยายามตามหาแม่น้ำสายที่หายไป กลายเป็นทัวร์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
ลอนดอนก็น้ำท่วมไม่น้อย แม่น้ำ Effra หายไปจากการที่เมืองพยายามทำท่อระบายน้ำ และถมแม่น้ำทิ้ง ผิวถนนโบกปูนหมดไม่มีที่ให้น้ำซึม ทำให้ปริมาณน้ำทั้งหมดไม่สามารถระบายได้ทันและท่วมล้นเมือง ตรงนี้เองที่การ Rewilding จึงมีความสำคัญ แม้จะดูไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการทำระดับชุมชนกับ NGO ร่วมกัน
พวกเขาเริ่มเคาะปูนที่โบกอยู่ออก แล้วใส่ดิน ปลูกพืชท้องถิ่นที่ไม่ต้องดูแลมากนัก พืชเหล่านี้เรียกแมลงจำพวกผีเสื้อท้องถิ่นกลับคืนมา พื้นที่ของแม่น้ำ Effra ชุกชุมด้วยพื้นที่อาคารไม่สวยงาม แต่พวกเขาเปลี่ยนชายคาระบายน้ำเป็นสวนที่ไม่ต้องการดูแล และพื้นที่นี้เองช่วยซับน้ำและบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมได้
ดังนั้นการ Rewilding ต้องทำในหลายระดับ ตั้งแต่นโยบาย การออกแบบแผนผังเมือง จัดทำ Zoning จนถึงระดับชุมชน แน่นอนเราไม่สามารถหวนคืนธรรมชาติกลับมาได้ทั้งหมด แต่ธรรมชาติที่ฟื้นขึ้นมาจะเป็นรูปแบบใหม่ที่ผสานไปกับการเติบโตของเมืองอย่างลงตัว
ไม่ใช่แค่ฝันกลางวัน
“8 ปีที่แล้วเราทำงานสำรวจสิ่งแวดล้อมเรื่องไลเคนในเมือง มักถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นความเว่อร์ คุณจะไปหวังอะไรใหญ่โต นักเคลื่อนไหวหลายๆ คนก็พยายามบอกว่า ให้เราทำเล็กๆ ก็เริ่มไปทำเมืองอื่นก่อนที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ”
“แต่เราเติบโตมาในกรุงเทพฯ จะให้ไปทำที่ไหนล่ะ”
ทุกครั้งที่เราลงมือทำจริงๆ มาตรฐานของเรามันจะต่ำลง เรามักคิดว่าเศรษฐกิจต้องมาก่อน จะมีไลเคนไปทำไม ขอให้มีรถขับในกรุงเทพฯให้ได้ก่อน จะขยับทำอะไรก็ถูกบอกว่าเว่อร์ กระตุ้นให้ปั่นจักรยานในเมืองก็ถูกมองว่าเว่อร์
แม้เราจะฝันไว้ไกล แต่เรามีกระบวนการทำในเชิงปฏิบัติ มันต้องมีก้าวแรกเสมอ หากคุณบอกว่าเป้าหมายปลายทางมันเว่อร์ไป งั้นต้องมาเริ่มก้าวแรกกันด้วยวิสัยทัศน์ก่อน ทำให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ จากการถอดบทเรียนจากประเทศอื่นที่ทำสำเร็จและพยายามทำ”
คนรุ่นใหม่คือพลังที่น่าค้นหา
8 ปีให้หลัง กระบวนทัศน์ของคนในเมืองเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่เข้าใจอะไรเร็วมาก พวกเขาไม่ถูกกรอบมาบดบังไว้ แค่เริ่มออกมาขี่จักรยาน พวกเขาได้เห็นความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ การเรียนรู้ด้วยร่างกายและจิตใจ มันต่างจากการเรียนรู้ด้วยสมอง เคยเกิดคำถามว่า ทำไมขี่จักรยานบนถนนเส้นวิทยุมันเย็นสบายกว่าถนนเส้นอื่น เพราะพวกเขาเห็นว่า มันมีต้นไม้ให้ความร่มรื่นตลอดทาง เมืองก็เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และเราในฐานะผู้อยู่อาศัย ก็สมควรรับน้ำและอากาศดีๆ ไม่ใช่หรือ?
หากรัฐจะให้ความสำคัญ พวกเขาควรเริ่มตรงไหนก่อน
ยกเลิกทางเลียบแม่น้ำก่อนเลย (หัวเราะ) พวกเขาต้องเริ่มที่การเปลี่ยนใจ น้อมรับวิกฤตจริงๆ ว่าสังคมต้องการ Nature Based solutions ในมิติเชิงวิชาการก็ยังต้องการนักวิชาการเป็นแรงสนับสนุน
อย่างในกรุงเทพฯเราต้องการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ต้องมาตั้งโจทย์กันว่า พื้นที่ตรงไหนทำได้และเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ซึ่งในทางเทคนิคเช่นนี้มนุษย์ทำได้อยู่แล้ว ไม่เหลือบ่ากว่าแรง แต่ขอให้เริ่มที่จะเปลี่ยนใจก่อน รัฐเองยังมีพื้นที่ศักยภาพอยู่หลายแห่ง มันต้องสร้างมาตรการบางอย่าง หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่นั้น จะมีการชดเชยอย่างไรให้กับผู้คนให้ไม่เจ็บปวดกับการเปลี่ยนแปลง
งั้นเสาร์-อาทิตย์นี้เราไปออกค่าย ทำฝายปลูกป่ากัน เฮ!
คนรุ่นใหม่อย่าเพิ่งไฮเปอร์ลงมือทำอะไรโดยที่ยังไม่เข้าใจมันอย่างแท้จริง 2 อาทิตย์ที่แล้วมีเครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์เฮโลกันไปทำฝาย เพราะรักธรรมชาติ
“เรื่องฝายเป็นอะไรที่พี่อ่อนอกอ่อนใจมาก ไปพูดที่ไหนมันก็สู้แรงประชาสัมพันธ์ของ PR ภาครัฐไม่ได้ ฝายที่ออกแบบมาดีๆ มันก็ทำได้ แต่จำนวนมากกลับไม่เป็นเช่นนั้น แถมไปทำลายระบบนิเวศแม่น้ำด้วยซ้ำ เราว่าคุณต้องถ่อมตัวลง และมองว่าธรรมชาติมันสลับซับซ้อนกว่านั้น มันจึงจำเป็นที่คุณรุ่นใหม่ต้องหัดอ่านธรรมชาติ”
เราต้องสนุกกับหัดอ่านธรรมชาติ และหาให้ได้ว่าปัจจัยอะไรที่กำหนดระบบนิเวศทางธรรมชาติ ทำอย่างไรเราจะไม่ทำลายมัน และเราออกแบบร่วมกับมันได้ แต่ขอให้ถ่อมตัวเพื่อธรรมชาติ
เริ่ม Rewilding ได้เลย ไม่ต้องรอป่าฝนกลางกรุง
ถ้ามีสวนปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ก็ยิ่งดี มีพืชพื้นถิ่นหลายชนิดที่น่าปลูกเพื่อดึงดูดนก ผีเสื้อ ค้างคาว มาผสมเกสรหรือกินผลไม้
สำหรับในเมืองกรุงเทพฯ แม้แต่คนที่อาศัยอยู่บนคอนโดไม่มีสวน เราปลูกพืชท้องถิ่นขนาดเล็กที่ผีเสื้อชอบได้ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ จะแวะเวียนมายังชายคาบ้านพักคน และมอบความปรารถนาดีจากธรรมชาติที่เคยหนีหายไปนาน
แน่นอนว่าการฟื้นฟูธรรมชาติและชีวิตป่าในเมืองต้องมีนโยบายรัฐมาสนับสนุน พร้อมทรัพยากรต่างๆ ในการดำเนินงาน หลายเรื่องต้องมีนักวิชาการศึกษาวิจัยสนับสนุน สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา แต่มันมีอะไรมากมายหลายอย่างที่ประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ ทำกันได้เดี๋ยวนี้เลย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลง
The MATTER ขอขอบคุณ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ที่มาให้ความหมายของ Rewilding ในแบบกันเองแต่น่าตื่นตา
มา Rewilding หน้าบ้านก่อน ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนี่?
ติดตามความคืบหน้าและเรื่องราวอนุรักษ์แบบสบายใจเพิ่มเติมที่
มูลนิธิโลกสีเขียว
www.greenworld.or.th