เราทำสงครามกับ ‘ความมืด’ มาตั้งแต่บรรพบุรุษค้นพบไฟ หลังจากนั้นเราจึงมีทางเลือกที่จะอยู่อย่างมืดมิดหรือยึดติดกับแสงสว่าง ทุกวันนี้ในเมืองหลวงมีแสงสว่างแทรกซอนเกือบทุกตารางนิ้ว หากเรามองแสงสว่างของเมืองหลวงอันศิวิไลในสายตามนุษย์นั้น ความสว่างเต็มไปด้วยคุณประโยชน์อนันต์ แสงช่วยให้สายตาเรามองเห็น ลดภัยอันตรายคุกคาม ทำให้ชีวิตมนุษย์ไม่ถูกจำกัดภายใต้การหมุนรอบตัวเองรอบดวงอาทิตย์ แต่ถ้าเราทำให้เมืองสว่างจนเกินไป จนแม้แต่พื้นที่ควรมืดมิดบ้าง ก็ยังสว่างจ้าราวกลางวันแสกๆ ดั่งโลกไม่มีกลางคืน สว่างในระดับที่ว่ามวลหมู่แมลงยัง ‘งง’ ชีวิตสัตว์เหล่านี้จะกลับตาลปัตรเพียงใด?
แสงภายนอก (Outdoor lighting) รบกวนรูปแบบชีวิตของแมลง ซึ่งสำหรับชีวิตน้อยๆ ของพวกมันแล้วถือว่าอยู่ในระดับเป็นภัยที่คุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แสงที่มากเกินไปเป็นมลพิษ (light pollution) รูปแบบหนึ่งที่ทั้งรบกวนมนุษย์และสัตว์อื่นๆ แต่สำหรับแมลงแล้ว การอยู่ในความเสี่ยงของพื้นที่ที่สว่างยาวนานเป็นภัยต่อการดำรงชีวิตของพวกมันมากกว่า และต้องลี้ภัยถิ่นที่อยู่ ทำให้จำนวนประชากรแมลงที่จำเป็นต่อระบบนิเวศน์ลดลง หรือบางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์ ผลที่ตามมาคือ ความไร้สเถียรภาพทางระบบนิเวศ
ในวารสาร Journal Biological Conservation นำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจโดยระบุว่า แมลงในธรรมชาติที่ใกล้เขตชุมชนกำลังตกอยู่ในอันตรายจากภัยคุกคามถิ่นที่อยู่ (habitat loss) ซึ่งมาจากปัจจัยความสว่างที่รบกวนรูปแบบการใช้ชีวิต รวมไปถึงการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชยาวนาน การคุกคามของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม แสงสว่างเป็นปัจจัยที่คนอาจจะรู้สึกร่วมน้อยที่สุดก็เวลาเราพูดถึงมลพิษ เพราะเรามักพูดถึงน้ำเสีย เราวิตกฝุ่น PM2.5 แต่ไม่ค่อยมีรัฐบาลออกมาพูดเรื่องแสง เพราะไม่ค่อยมีใครมองเห็นผลกระทบท่ามกลางความมืด และนักนิเวศวิทยาเองส่วนใหญ่ยังทำงานวิจัยในช่วงเวลากลางวัน อิทธิพลที่เกิดขึ้นช่วงเวลากลางคืนจึงมักถูกปัดตกไปหลายต่อหลายครั้ง
ในกระบวนการศึกษาธรรมชาตินั้นมีความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในเวลากลางคืน ที่ทำให้เกิดการตกสำรวจและมีประเด็นปัญหาโดนมองข้าม (เรียกว่า diurnal bias) แสงประดิษฐ์ที่มนุษย์ใช้ในเวลากลางคืน (ALAN ย่อมาจาก artificial light at night) แสงมีค่าความสว่างสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีอิทธิพลต่อวงจรชีวิตของแมลง อาทิ หิ่งห้อย ที่เป็นแมลงกลางคืน จำเป็นต้องใช้แสงวาบเพื่อการผสมพันธุ์ แสงของหิ่งห้อยเป็น ‘ภาษารัก’เพื่อสำหรับจับคู่ พวกมันจะมีโอกาสผสมพันธุ์ก็ต่อเมื่อเห็นแสงของอีกตัว แต่แล้วเมื่อแสงของเมืองหลวงสว่างกว่าแสงชีวภาพที่ร่างกายแมลงสร้างได้ โอกาสในการจับคู่ผสมพันธุ์อาจน้อยลงจนถึงเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้ประชากรหิ่งห้อยลดจำนวนลง และอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะหายไปจากระบบนิเวศน์ แต่ขณะเดียวกันแมลงอีกกลุ่มอย่าง แมงเม่า แมลงหวี่ แมลงวัน ที่หากินกลางวันก็จะแห่มะรุมมะตุ้มที่ดวงไฟ เชื้อเชิญเหล่าบรรดานักล่าอื่นๆ เข้ามาหากินในเขตชุมชนมนุษย์ด้วย นักล่ากินกันเป็นทอดๆ เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในพื้นที่มีประชากรหนาแน่น
ลองย้อนมาดู กลางวัน / กลางคืนในธรรมชาติอันเป็นรูปแบบที่ทุกสิ่งมีชีวิตสามารถคาดเดาได้ เพราะเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของดวงอาทิตย์มานับล้านๆ ปี ทุกสิ่งชีวิตจึงมีวิวัฒนาการร่วมกับกลางวันกลางคืน ร่างกายเรารับรู้เวลาจาก ‘นาฬิกาชีวภาพ'(biological clock) ที่กำหนดว่าคุณควรตื่นและนอนพักผ่อนตอนไหน หากระบบนี้ถูกรบกวนด้วยแสงประดิษฐ์ จะส่งอิทธิพลต่อจุลชีพในร่างกายให้ทำงานผิดช่วงเวลา นอกจากนี้ สัตว์บนโลกยังจำเป็นต้องมีเวลากลางคืนที่มืดสนิทเพื่อการดำรงชีพ และโลกเรามีสิ่งมีชีวิตหากินในเวลากลางคืนมากกว่าที่พวกเราประเมินไว้เสียอีก สัตว์มีกระดูกสันหลังราว 30% สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 60% และแมลงกว่า 900,000 ล้วนเป็นสัตว์ที่หากินกลางคืน ขณะนี้โลกของเราสว่างขึ้น 6% ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะเขตเมืองหลวง แม้จะมองมาจากดวงจันทร์ยังเห็นโลกของเรามีแสงระยิบระยับที่สูบพลังงานมากขึ้น
แมลงที่ออกหากินกลางคืนมีการปรับตัวให้ใช้สภาวะแสงน้อยๆ เพียงพอต่อการนำทาง แสงดวงจันทร์และแสงดาวฤกษ์ที่ไกลลิบก็พอเหมาะสำหรับการนำทางแล้ว แต่แสงประดิษฐ์จากเมืองหลวงมีความสว่างมากกว่าแสงจันทร์ ทำให้การนำทางผิดพลาด เปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว ทำให้พฤติกรรมหาอาหารยุ่งเหยิง เพราะแมลงหากินกลางคืนจะอ่อนไหวต่อแสงวาบจ้า
ส่วนแมลงที่หากินช่วงกลางวันมีช่วงเวลาหากินที่นานขึ้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศัตรูพืชทางการเกษตร) ทำให้พวกมันรุมกินพืชในไร่นา โดยอาศัยไฟจากถนน และไม่มีสัตว์หากินกลางคืนมาคอยควบคุมประชากร นั่นเท่ากับเราจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการจำกัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้นแทนจะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ คุณจะเห็นได้ว่าแมลงหลายชนิดพยายามใช้โอกาสจากแสงไฟในท้องถนนเพื่อดักจับเหยื่อ เช่นแมงมุมกางใยออกดักรอแมลงเล็กหน้าไฟ หอยทากเกาะตามเสาไฟ ซึ่งพวกมันควรอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ แต่ขยับมาอยู่ใกล้ชุมชนมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้คุณรู้สึกรำคาญที่บ้านถูกบุกรุกด้วยแมลงหลากหลายชนิด
แมลงที่ช่วยกระจายเกสรตอนกลางคืน เช่น มอธ (moth) กลายเป็นเหยื่อของนักล่า หรือบินหลงเส้นทางเข้าไปในบ้านเรือน ทำให้พืชไม่ได้รับการผสมเกสร กระบวนการดังกล่าวยิ่งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงและปัญหาทางสิ่งแวดล้อมจะมีมากกว่าเดิมในอนาคต
สังคมที่ใช้แสงสว่างอย่างรับผิดชอบ
เวลาพวกเรานอนก็ไม่ชอบให้ใครเปิดไฟวูบวาบรบกวนฉันใด แมลงก็หวั่นไหวต่อแสงฉันนั้น พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาแสงในการดำรงชีวิตมากกว่าสัตว์อื่นๆ รูปแบบชีวิตจึงถูกบิดผันโดยง่าย การลดใช้แสงสว่างในเวลากลางคืนเท่ากับช่วยลดมลภาวะเมืองหลวงในมิติอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังมีส่วนช่วยในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมๆ กับมอบความปลอดภัยให้กับมนุษย์ วิศวกรจากหลายสถาบันกำลังพัฒนาแสง LEDs ในรูปแบบ Monochromatic เป็นแสงที่มีโทนคลื่นแสงเดียว ที่ลดผลกระทบการรับแสงของแมลงกลางคืน ที่กำลังอยู่ในการพัฒนาทดสอบกับพฤติกรรมแมลงหลายๆ ชนิด
หรืออีกวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือการปิดไฟกลางคืนที่ไม่จำเป็นลง นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานที่เรารณรงค์มานับสิบๆ ปี ยังมีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศด้วย เป็นการบังคับพวกเรากลายๆ ในฐานะมนุษย์ให้ปรับรูปแบบชีวิตตามกลางวันกลางคืนของธรรมชาติบ้าง ไม่ต้องโหมทำงานถึงสว่าง
อยู่ท่ามกลางความมืดบ้าง เราอาจรับฟังธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ตามองได้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Worldwide decline of the entomofauna: A review of its drivers
Light pollution is a driver of insect declines