โลกกำลังมาถึงจุดที่ถอยหลังไม่ได้อีกแล้ว เรามุ่งสู่หายนะขณะที่เท้าเหยียบคันเร่งจนมิด มนุษย์คือตัวการเร่งปฏิกิริยาลูกโซ่ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดในประวัติศาสตร์เทียบเท่า
ฮู้ววว…สยองขวัญ
ถ้าคุณสนใจข่าวสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ แทบไม่ต้องเกริ่นอะไรมาก เพราะพวกเราส่วนใหญ่มักได้ยิน ‘ข่าวร้าย’ มากกว่าข่าวดีเสมอ จนรู้สึกเหมือนเรากำลังมุ่งสู่หายนะโดยที่ทำอะไรไม่ได้เลย เรากำลังเป็นตัวละครหนึ่งที่โลดแล่นในนิยายล่มสลาย Dystopia ที่ล้วนนำเสนอมุมมองเลวร้ายสุดโต่งเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้กระทั่งกลุ่มนักอนุรักษ์เองก็มีท่าทีบึ้งตึง หน้านิ่วคิ้วขมวดไม่รับแขก แม้การกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นถึงวิกฤตธรรมชาติมักนำเสนอในแง่ร้าย (ซึ่งล้วนอยู่บนรากฐานของ Fact นะ) แต่กลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่ที่ฟังอยู่บ้านกลับ ‘ไม่ให้ความร่วมมือ’ และหันหลังให้กับการอนุรักษ์ เพราะรู้สึกเจ็บปวดมากเกินไปที่จะรับฟังข่าวร้ายๆ อยู่ตลอดเวลา หรือไม่คิดว่าตัวเองจะมีเรี่ยวแรงอะไรไปหยุดวิกฤตหายนะใหญ่หลวงได้
เป็นแค่คนตัวเล็กๆ จะทำอะไรได้?
แต่ในงานอนุรักษ์เองมีแง่มุมที่คุณสามารถมองแบบ ‘น้ำเหลือครึ่งแก้ว หรือ น้ำหายไปครึ่งแก้ว’ เช่นกัน
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังข่าวดีมากกว่า หรือบางครั้งก็ถูกเพื่อนตัวดีแซะว่า ‘โลกสวยจัง’ แต่อยากลุกขึ้นมาทำสิ่งเล็กๆ สัก 2-3 อย่างเพื่อโลกบ้าง คุณไม่โดดเดี่ยวเลย อย่าลืมไปว่าโลกของเรายังมีคนมองในแง่บวกอยู่อีกมาก และพวกเขามีก็แคร์โลกไม่น้อยไปกว่าคนที่มองเห็นแต่หายนะ ซึ่งในระยะหลังๆ นี้เกิดกระแสรณรงค์แง่บวกในชื่อว่า Earth Optimists กำลังเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ ทำให้ความพยายามฟื้นฟูโลกของเรากำลังเป็นขั้นเป็นตอนและมีอัตราก้าวหน้าให้ได้ชื่นใจ
ป่ากำลังงอกเงยขึ้นมาใหม่ พลังงานหมุนเวียนเอาชนะพลังงานถ่านหินได้แล้วในหลายๆ ประเทศ ชั้นโอโซนกำลังได้รับการฟื้นฟู ถึงแม้หมีขาวขั้วโลกเหนือจะมีสารรูปรับไม่ได้ แต่แพนดายักษ์ก็ไม่ได้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว
แน่นอนมันยังมีความจริงอันโหดร้ายที่เรามองข้ามไม่ได้ แต่การมองโลกในแง่บวกไม่ได้หมายความว่าคุณจะสูญเสียความตั้งใจไปเสียหน่อย ที่สำคัญมันช่วยทำให้เราหาแนวร่วมได้มากขึ้น จนคุณก็สามารถเรียกตัวเองว่า Earth Optimists อย่างเต็มปากเต็มคำ
ข่าวร้ายก็มี แต่โอเคกับข่าวดีมากกว่า
การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือโลก มักหลีกเลี่ยงยากที่จะไม่รับรู้เรื่องราวหม่นหมองสั่นคลอนกำลังใจ เหมือนมองผ่านกรอบแว่นกันแดดที่เห็นอะไรก็เป็นภาพขาวดำ แต่หลายคนกลับเลือกสวมแว่นสีชมพูในการมองวิกฤต ถึงมันไม่ได้เปลี่ยนกองปัญหาเป็นทุ่งดอกไม้ให้วิ่งเล่น แต่การมองแง่บวกสร้างพลังให้กับงานอนุรักษ์และ ‘เชิญชวน’ คนใหม่ๆ ให้เข้าร่วมมากกว่า
การเคลื่อนไหว Earth Optimism movement เริ่มมาได้ราว 10 ปีที่แล้ว โดยนักชีววิทยาด้านปะการัง ‘แนนซี่ โนวล์ตัน’ (Nancy Knowlton) ซึ่งขณะนั้นทำงานด้านสมุทรวิทยา (Oceanography) ให้กับสถาบัน Scripps ในแคลิฟอร์เนีย (ปัจจุบันเธอทำงานที่พิพิธภัณฑ์ Smithsonian Museum of Natural History) ช่วงที่เธอเป็นอาจารย์ก็มักให้นักศึกษาเขียนเรียงความว่าด้วยวิกฤตธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับโลก แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนไม่ค่อยจุดประกายให้นักศึกษาหันมาสนใจโลกใบนี้ซะเท่าไหร่ เธอเองก็เหนื่อยอ่านความจำเจนี้เต็มแก่ จึงลองเปลี่ยนมาให้นักศึกษารวบรวมเรื่องราวความสำเร็จของงานอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี ข่าวดีที่อ่านแล้วชวนเสริมพลังบวก ทำให้นักศึกษาเองเกิดความรู้สึกร่วมและอยากลงมือหาข้อมูล จนหลายคนอินจัดผันตัวมาทำงานด้านอนุรักษ์ที่สถาบัน เพราะพวกเขาเห็นความเป็นไปได้ในเชิงประจักษ์ มากกว่าที่จะล้มเลิกความตั้งใจ แนนซี่ โนวล์ตันพบจุด ‘คลิก’ สำคัญที่ทำให้เธอขยายผลออกไปสู่วงกว้าง ร่วมมือกับนักวิชาการต่างสถาบัน กลุ่มนักอนุรักษ์ และใครก็ตามที่อยากเฉลิมฉลองความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ
กลายเป็นว่าการมองโลกในแง่บวกเกิดเป็นกระแสบูมขึ้นมา ภายใต้แคมเปญในทวิตเตอร์ #OceanOptimism ที่ค่อยๆ แพร่ไปในหลายประเทศ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวดีๆ สร้างกำลังใจของกลุ่มนักอนุรักษ์ทั่วโลก เสมือนการเชิญชวนอันเป็นมิตรให้คนทั่วไปให้มาร่วมวงบ้าง โดยมีหลักการว่า “เฉลิมฉลองต่อความสำเร็จ เพื่อมุ่งไปที่ปัญหา สู่วิธีการแก้ไข เปลี่ยนความสูญเสียให้เป็นความหวัง”
แต่การปรับมองมุมบวกทันทีก็ไม่ได้ทำง่ายๆ เห็นได้ว่าในที่ประชุมข้อตกลงปารีส Paris Climate Agreement ปี 2015 นักวิชาการส่วนหนึ่งก็ยังมองขวางให้กลับกลุ่ม Earth optimists (อารมณ์ประมาณ แหกตาดูสิ! มีข่าวร้ายของสภาพภูมิอากาศโลกให้กลุ้มใจเยอะกว่า)
แต่นักวิชาการหัวก้าวหน้าอีกไม่น้อยในเวทีประชุม ตอบสนองกับการมองบวกจนลดท่าทีฮึดฮัดลง สามารถหว่านล้อมได้ว่า โจทย์หลักภายในปี 2022 คือการร่วมกันลดอุณหภูมิโลกลงถึง 2 องศา ‘อาจเป็นไปได้จริง’ หากเราค่อยๆ หันไปปรับมองมุมมอง และแพร่กระจายกระบวนทัศน์ใหม่นี้ออกไปให้มากในระดับมหาชน นักวิชาการและนักอนุรักษ์คงทำอะไรไม่ได้มาก หากปราศจากแนวร่วมจากคนทั่วไปหนุนหลัง
เรามีหลักฐานให้กล้ามองบวก
มันจะแปลกๆ หน่อยที่เราหันมามองมุมบวกทั้งๆ ที่อุณหภูมิโลกหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นไปเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.1 องศา กลุ่มประเทศเอเชียเผชิญกับมลภาวะทางอากาศรุนแรง มนุษย์กำลังตัดต้นไม้กว่า 150 พันล้านต้นต่อปี มหาสมุทรสูญเสียประชากรปลาที่สามารถเป็นอาหารยามฉุกเฉินจนเกลี้ยง อีกทั้งเรากำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ที่ยากจะหยุดยั้ง
แม้จะรายล้อมไปด้วยสภาวะย่ำแย่ แต่เรายังมีความก้าวหน้าเชิงบวกที่มาจากการร่วมมือของมนุษย์เช่นเดียวกัน
พื้นที่บนโลกที่ได้รับการคุ้มครองขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลเกือบ 40 ล้านตารางกิโลเมตรภายในปี 2017 (ข้อมูลจาก : Our World in Data)
ในปี 2016 พลังงานหมุนเวียนที่โลกสามารถผลิตได้เอาชนะพลังงานถ่านหินถึง 138 กิกะวัตต์ (ข้อมูลจาก : IEA / WEO)
ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลลดลงเรื่อยๆ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจัดเก็บน้ำมันดิบ (ข้อมูลจาก : Our World in Data)
การตัดไม้ทำลายป่าในผืนป่าอเมซอนลดลงถึง 80% หากเปรียบเทียบจากปี 2004 ถึง 2012
ความเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจนี้มาจากผู้เล่นคนสำคัญคือ ‘ธุรกิจด้านพลังงาน‘ ที่หันไปใช้เทคโนโลยีสะอาด (ส่วนหนึ่งอาจถูกกดดันจากรัฐเอง หรือจากประชาคมโลกกดดันมาอีกที) ในอีกแง่มุมหนึ่งการมองมุมบวกหรือมุมลบนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังวิเคราะห์ข้อมูลชุดไหนในมืออยู่ แต่จากการเรียนรู้ของกลุ่ม Earth optimists ยืนยันว่า
“ข่าวร้ายที่ไม่ทำให้เห็นทางแก้ ไม่มีประโยชน์เสียเท่าไหร่”
มันพิสูจน์แล้วว่า เมื่อคุณบอกข่าวร้ายหรือข่มขู่ผู้คน พวกเขามักไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่ ทำเหมือนราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะคุณเองก็แทบไม่มีทางเลือกให้พวกเขาเลย
แต่การมอบข่าวดีให้กับพวกเขา อาจช่วยให้ผู้คนรู้สึกเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของการเปลี่ยนแปลง เอาล่ะ ฉันจะใช้รถให้น้อยลง ปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ห้อง ละแวกชุมชนของพวกเราอาจดูสดชื่นมากกว่านี้ หากสังคมเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือข้างๆ บ้านมีบิลค่าไฟราคาถูกลง ฉันก็น่าจะลองลดดูบ้าง
แรงกระตุ้นนี้ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงบวก เมื่อผู้คนรู้สึกมีความหวังต่ออนาคต พวกเขาจะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อพัฒนา
มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย North Carolina State University สำรวจเหล่าเด็กๆ เจเนอเรชั่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 11 ถึง 14 ปี จำนวน 1,200 คน พบว่าคนที่มีความหวังว่าอนาคตจะไม่ได้เลวร้ายเหมือนนิยายโลกล่มสลาย Dystopia มักเป็นคนที่ลงมือทำเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา และมีแนวโน้มจะส่งต่อสิ่งที่ตัวเองทำให้คนอื่น
คราวนี้ล่ะ! สังคมของเรามีทัศนคติอย่างไรต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น เรากำลังสวมแว่นตาด้วยเลนส์สีอะไรอยู่ เรารู้สึกว่ามนุษย์เองเป็นปัญหาหรือไม่ หรือมนุษย์มีพลังในการเยียวยาได้เช่นกัน
‘ทัศนคติ’ อาจเป็นเรื่องซับซ้อนมากกว่าชุดข้อมูลเป็นพันๆ ล้านเทราไบต์ด้วยซ้ำ หากอยู่ผิดมือคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
ocean.si.edu
The Rise of Ocean Optimism