ก็ไม่ใช่สีสันอะไร เราก็คือคนธรรมดาเหมือนพวกคุณนั่นแหละ
‘GAY OK BANGKOK’ เป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของเกย์โดยบอกว่า เฮ้ย เกย์ก็คือคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องตลกหรือโศกสลดหดหู่ หรือมีชีวิตที่แปลกประหลาดอย่างที่มักถูกนำเสนอในสื่อทั่วไป ล่าสุด GAY OK Bangkok กำลังจะเริ่มฉายซีซั่นที่ 2 ในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมที่จะถึงนี้ทาง LINE TV เวลาสองทุ่มตรง
The MATTER จึงชวน โจโจ้ ทิชากร ภูเขาทอง ผู้กำกับและร่วมเขียนบท GAY OK BANGKOK มาคุยประเด็นธรรมดาๆ ที่เราอาจไม่ค่อยได้พูดถึงกันอย่างจริงจัง แบบว่าจริงๆ แล้วเกย์เป็นอย่างไร การรับบทบาทเกย์ต้องให้คนไม่เป็นเกย์มารับมั้ย เราจะมองข้ามรสนิยมทางเพศไปได้จริงๆ รึเปล่า เกย์จะเรียกร้องอะไรนักหนา เราจะต้องแยกซีรีส์เกย์ออกจากซีรีส์ธรรมดามั้ย รับมือกับการเหยียดอย่างไร ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลังและพัฒนาที่เปลี่ยนไปของ GAY OK BANGKOK ที่เริ่มไม่แมสเท่าไหร่
The MATTER : สมัยนี้ดูเหมือนว่าเกย์จะถู
โจโจ้ : ในสายตาเรามันยังเป็นเหมือน
The MATTER : คิดยังไงกับการที่สื่อต่างๆ ใช้ความเป็นเกย์มาเป็นจุดขาย
โจโจ้ : คือตอนแรกเราหงุดหงิด (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าทำไมเราจะต้องเอาเรื่องแบบนี้มาเป็นจุดขาย อย่างที่บอกว่าแทนที่เราจะได้เป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ขายเรื่องความรักหรืออะไรของเขาจริงๆ ก็ตาม เดี๋ยวนี้ที่ทำให้เราหงุดหงิดมากขึ้นกว่าเดิมด้วยก็คือตัวละครหรือดาราพวกนี้ส่วนใหญ่เป็น straight ที่มาเล่นเพื่อเอาใจ เพื่อเอาเรตติ้งอย่างเดียว เราเลยรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันก็เป็นแค่ความบันเทิงฉาบฉวย แต่พออยู่กับมันเยอะๆ เห็นมาเยอะๆ เข้า เราก็เริ่มพยายามมองมันในแง่ดีว่า ไม่ว่าจะเป็นละคร ซีรีส์ หรือเรียลลิตี้อะไรก็ตาม มันอาจจะช่วยทำให้เด็กรุ่นใหม่มองความรักของเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดาอาจจะต้องเริ่มจากการที่เป็นความบันเทิงก่อน แล้วค่อยทำให้กลายเป็นเรื่องที่ปกติ
The MATTER: ไม่นานมานี้มีกรณีที่จะให้คนมารับบทเกย์แต่ห้ามคนที่เป็นเกย์มาเล่น มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
โจโจ้ : จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นใครมารับบทใครก็ได้ มันควรจะดูกันที่การแสดง บางทีเวลาเราเห็นนักแสดงชายที่มารับบทเกย์บางคนเล่นแย่มากเลยนะ เพราะมันไม่ได้ดูที่การแสดงอะ ปัจจุบันผู้จัดส่วนใหญ่เขาไม่เอาเกย์เพราะเค้ารู้สึกว่าเกย์ขายต่อไม่ได้ในแง่พาณิชย์ ไม่เหมือนผู้ชายที่จะสามารถไปขายเป็นพรีเซนเตอร์นู่นนี่แล้วกลับไปเล่นกับผู้หญิงก็ได้ ในขณะที่ถ้าหากคนดูรู้ว่าคนนี้เป็นเกย์ เขาก็จะถูกจองจำอยู่ที่บทเกย์อย่างเดียว เพราะเขามองว่ามันน่าเชื่อถือกว่าในการที่ให้ผู้ชายเล่นเป็นเกย์มากกว่าการที่เอาเกย์มาเล่นเป็นผู้ชาย และมันไม่สามารถต่อยอดได้เวลาขายผลิตภัณฑ์หรืออะไรก็ตาม
The MATTER: เราจะรู้สึกว่าหลายๆ ครั้ง ต่างประเทศก็ดูเหมือนก้าวหน้าไปมากกว่าเมืองไทย มีทางเลือกและบทบาทที่หลากหลายมากขึ้น มีพื้นที่ให้อยู่มากขึ้น คิดว่าสถานการณ์ในต่างประเทศเป็นอย่างไร
โจโจ้ : เราว่าเขารวมตัวกันได้มากกว่า อย่างที่เราพูดๆ กันว่า ‘บ้านเรามันอยู่กันสบายเกินไป’ อยู่กันแบบไม่มีคนมากดหนักๆ เราสามารถที่จะเดินไปไหนก็ได้ เราสามารถมีสื่อที่พูดถึงเกย์ได้ แต่สุดท้ายแล้วจริงๆ คือมันเป็นแค่เปลือกที่เราทำอะไรไม่ได้ไปมากกว่านั้น แต่บ้านเขากลับสามารถที่จะรวมตัวแล้วเรียกร้องหรือทำอะไรมากกว่า อย่างเช่น จำได้ว่าเกิดกรณีที่เอานักแสดงเกย์มาเล่นเป็นกระเทย แล้วมันก็เกิดข้อเรียกร้องให้สมาพันธ์หรืออะไรมาพิจารณาว่าคนที่จะเล่นเป็นกระเทยควรจะต้องเอากะเทยจริงๆ มาเล่นบ้าง ซึ่งเราก็เข้าใจเขานะ ในแง่ของพาณิชย์ก็ต้องทำให้มันขายได้
The MATTER: คิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะมองข้ามเรื่องของรสนิยมทางเพศไปเลย
โจโจ้ : ได้ครับ จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ เราควรจะมองที่การแสดงมากกว่า แต่เท่าที่เราเห็นหรือเท่าที่เราตาม สื่อพวกที่เกี่ยวกับเพศทางเลือกทั้งหลายที่พิจารณาสิ่งแรกคือเอาภาพลักษณ์ เอาเรื่องราวของเขาก่อนโดยที่ไม่ได้ดูว่าเขามีความสามารถยังไงบ้าง
The MATTER: พูดถึงเรื่องซีรีย์กันบ้าง อยากให้ช่วยพูดถึงจุดประสงค์ที่สร้างซีรีส์ Gay OK Bangkok ขึ้นมา
โจโจ้ : ตอนแรกเราอยากสร้างซีรีส์นี้ขึ้นมาเพราะเรามองเห็นว่าในตลาดบ้านเรามันไม่มีซีรีส์ที่พูดถึงชีวิตเกย์ปกติธรรมดาในแง่มุมอื่นๆ เลย อย่างที่บอกว่าก่อนหน้านี้เราก็เห็นแต่ตัวละครแบบตลกโปกฮา หรือไม่มันก็จะมีอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือชีวิตเศร้าโศก พ่อตาย แม่ตาย อกหักทีนึงต้องชีวิตล้มเหลว หรือสองคือเป็นเอดส์ตาย เลยทำให้เราคิดว่าเราอยากสร้างสื่อที่มันพูดถึงเกย์ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์ทั่วไป ในแง่มุมที่เราเหมือนกับ straight ที่มีปัญหาแบบคนทั่วไป อย่างเรื่องหาเงินค่าเช่าบ้านไม่ทัน เราไม่ค่อยกลับบ้าน ไม่โทรหาแม่ หรือประเด็นทะเลาะกับเพื่อนเรื่องค่าเช่าบ้าน ปัญหาเรื่องเซ็กส์บนเตียงที่คนไทยไม่ค่อยพูดถึงอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นปัญหาทั่วไปมาก ก็เลยเกิดเป็นโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา แล้วเอาไปเสนอกับองค์กร TestBkk ว่าเราอยากทำเรื่องนี้ เขาก็เลยให้เงินเรามาทำ ซึ่ง TestBkk เป็นองค์กรเกี่ยวกับการรณรงค์ให้คนไปตรวจเลือดเพื่อให้รู้สถานะตัวเอง โดยเฉพาะในหมู่ชายรักชาย
The MATTER: ซีรีส์ Gay OK Bangkok พยายามที่จะให้ภาพความธรรมดาทั่วไปของเกย์
โจโจ้ : ใช่ครับ นั่นคือจุดประสงค์หลักเลย เราอยากทำให้เห็นว่า เราก็ไม่ได้ต่างจากพวกคุณนะ เราก็ไม่ได้มีชีวิตหวือหวา จริงๆ เราแอบไม่ค่อยชอบเวลาที่คนพูดว่าเพศที่สามคือสีสันของโลก เรารู้สึกว่า ไม่อะ ชั้นก็ไม่ใช่สีสันอะไร เราก็คือคนธรรมดาเหมือนพวกคุณนั่นแหละ
The MATTER: ในซีรีส์หรือละครมักจะต้องมีบทหรือความดราม่าบางอย่าง แต่ประเด็นของเรื่องคือความธรรมดา เรารักษาสมดุลความธรรมดากับความดราม่าตรงนี้อย่างไร
โจโจ้ : เรามองว่าในชีวิตธรรมดาของเราทุกสถานการณ์มันมีดราม่าอยู่แล้ว แต่เราอาศัยการแสดง มุมกล้อง หรือบทละครที่ทำให้มันอยู่ในระดับที่คนธรรมดาทั่วไปทะเลาะกัน หรือไม่ melodrama
The MATTER: สังคมเกย์มีลักษณะเฉพาะบางอย่างอยู่ เช่น วิธีพูดหรือวิธีคบเพื่อน คือลักษณะเฉพาะตัวอยู่บ้าง เรามีวิธีรักษาสมดุลตรงนี้อย่างไรว่าเราไม่ได้เน้นความแตกต่างที่เกย์เป็นออกมามากกว่าความเป็นจริง
โจโจ้ : แต่ความแตกต่างเหล่านั้นมันก็เป็นบุคลิกของคนอยู่แล้ว มันไม่ใช่แบบว่า อ๋อ เพราะคุณเป็นเกย์คุณก็เลยเป็นแบบนี้ ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกคนก็มีบุคลิกที่แตกต่างกันไป เพราะในหมู่เกย์เองก็มีความแตกต่าง บางคนเวลาพูดอาจจะออกสาวมากหรือบางคนอาจจะแมนๆ เหมือนผู้ชายทั่วไป ซึ่งไม่ต่างจากผู้หญิง ผู้ชาย ผู้หญิงบางคนเรียบร้อย บางคนแรดมือไม้ไป อะไรแบบนี้มันก็ไม่ได้แตกต่าง
The MATTER: เหมือนในซีรีส์ GAY OK BANGKOK ว่า ’ทุกคน มันดราม่า’
โจโจ้ : ใช่ๆ อันนั้นคือสิ่งที่เราพยายาม blow มันออกไป ทุกคน ในที่นี้คือชาย หญิง เกย์ กระเทย อย่างก่อนหน้านี้ซีซั่นแรกจะมีเฉพาะคาแรกเตอร์เกย์ ในซีซั่นสองเราก็เลยใส่คาแรกเตอร์ผู้หญิงเข้ามาเพื่อให้มันมีความสมดุล และให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่กันเฉพาะแก๊งกลุ่มนะ เรามีเพื่อนอยู่ทุกเพศทุกวัย
คู่เกย์สามารถมาถกกันได้ว่า “วันนี้ชั้นอยากเป็น top ชั้นอยากเป็น bottom” คุยกันได้ คู่รักที่ต้องการ threesome เรื่องนี้ก็มี หรือคนที่เบื่อเซ็กส์ เราเอามาพูดกันให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเรามองว่าจริงๆ แล้วในกลุ่มหลายกลุ่มเขาก็คุยกัน
The MATTER: การสื่อสารประเด็นต่างๆ ด้วยความที่เป็นซีรี่ส์ออนไลน์ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง
โจโจ้ : ข้อดีคือเราพูดได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะในซีซั่นสอง สิ่งที่เราพูดเยอะคือเรื่องเซ็กส์ เพราะเรามองว่าเซ็กส์มันเป็นปัญหา หรือเป็นจุดเริ่มต้นในชีวิตคู่หลายๆ เรื่อง คู่เกย์สามารถมาถกกันได้ว่า “วันนี้ชั้นอยากเป็น top ชั้นอยากเป็น bottom” คุยกันได้ คู่รักที่ต้องการ threesome เรื่องนี้ก็มี หรือคนที่เบื่อเซ็กส์ เราเอามาพูดกันให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเรามองว่าจริงๆ แล้วในกลุ่มหลายกลุ่มเขาก็คุยกันนะ แต่ในทีวีเราไม่เคยเห็น ทั้งที่จริงมันเป็นปัญหาธรรมดาที่คนควรจะคุยกัน เพราะว่ามันนำไปสู่เรื่องอื่นๆ เรามีเพื่อนที่เป็นรุก แต่ว่าวันนึงอยากเป็นรับบ้างแต่ไม่กล้าคุยกับแฟน สุดท้ายเกิดการนอกใจแทนที่จะเอาปัญหานี้มาคุยกัน หรือว่าเรามีเพื่อนที่เป็นคู่รักกันที่อยู่กันมานาน แล้วเขาเบื่อกันแล้ว เรื่องบนเตียงมันน่าเบื่อแล้วแต่เขายังรักกันในแง่ของจิตใจ เขาก็ต้องหาวิธีที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ เราก็เลยอยากเอาเรื่องพวกนี้มาคุยให้มันเกิดการถกเถียงกัน
พื้นที่ออนไลน์มันเปิดมาก ถ้าเราไปอยู่ในช่อง มันคงไม่ให้เราพูดอะไรอย่างนี้หรอก เราคงไม่สามารถฉายภาพคนมีเซ็กส์กันสามคนได้ หรือกระทั่งตัวละครมานั่งพูดกันว่า “ฉันขอเป็น top บ้าง” อะไรแบบนี้ มันคือเรื่องธรรมดาที่ไม่เคยถูกพูดถึง
The MATTER: การฉายซีรีส์ออนไลน์ เราได้กลุ่มเป้าหมายที่เราคาดคิดหรือไม่คาดคิดไหม
โจโจ้ : กลุ่มเป้าหมายเราจริงๆ คือเกย์วัยทำงาน เกย์ที่มีวุฒิภาวะขึ้นมาหน่อย เพราะเรื่องที่เราพูดกันมันค่อนข้างจะเป็นผู้ใหญ่ แล้วพอฉายออกไปกลุ่มที่คิดว่าไม่น่าจะมาคือสาววาย เพราะเราไม่คิดว่าซีรีส์เรามันกรุ๊งกริ๊งมุ้งมิ้งขนาดนั้น มันมีบ้างแต่ปรากฏว่าเขาชอบมาก แล้วก็มีกลุ่มที่ทำให้เราดีใจมากคือ เราเจอซีรีส์ของเราไปอยู่ในบอร์ดของคนที่เป็น HIV เพราะเขารู้สึกว่าในที่สุดมันมีพื้นที่สำหรับตัวละครแบบเขา ตัวละครของคนที่มีเชื้อ HIV หรือไม่สามารถที่จะอยู่ในสังคมได้ เพราะที่จริงแล้วเขาก็เป็นคนๆ นึง
The MATTER: พอเป็นโลกออนไลน์แล้วมีแรงต้านบ้างไหม
โจโจ้ : มีเยอะแยะ แต่เราจะไปให้ค่ามันทำไม พวกที่เวลาเราโพสต์อะไรทีไรก็จะเจอพูดว่า “รูขี้ สายเหลือง” เวลาเราเจอพวกนี้เราก็จะขอใช้โควต้า discriminate ของตัวเอง ในการมองว่าพวกมันเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา เสียเวลาที่เราจะไป educate อะไรทั้งสิ้น เพราะว่าถ้ามาแบบนั้นแล้ว มันเสียเวลาที่จะไปบอกว่า “ทำไมคุณถึงเป็นคนแบบนั้น” ไม่ ถ้าคนแบบนั้นเหยียดมา เราเหยียดกลับ
The MATTER: มีแรงต้านแล้ว แล้วผลตอบรับที่ดีล่ะ
โจโจ้ : feedback ที่ดีมากๆ คือมีคนโทรหรือส่งแมสเซจมา อย่างเช่นคนที่เป็น HIV เขาโทรมาบอกว่า “ขอบคุณมาก” เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนธรรมดาไม่ได้ต้องการความสงสาร อยากให้เข้าใจว่าตัวเขาเองสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนอื่นๆ มีคนที่โทรมาบอกว่าเราทำให้เขาอยากไปตรวจเลือด หรือทำให้รู้สึกว่าเขารักตัวเองมากขึ้น เค้าไม่ไปเปย์ผู้ชาย เขาบอกว่าไม่ไปเสียเวลาให้กับเรื่องแบบนั้น เพราะบางคนมักจะใช้ความรักเป็นมาตรฐานในการตัดสินว่าชีวิตประสบความสำเร็จหรือไม่ คือมีเพื่อน มีงาน มีครบทุกอย่าง แต่พอไม่มีความรักก็คิดว่าตัวเองจบสิ้นแล้ว คือเราถูกเล่า ถูกบอกมาว่าถ้าเป็นเกย์ชีวิตจะจบด้วยการไม่มีความสุข จะต้องตายคนเดียว แต่เรารู้สึกว่า “ไม่อะ เราไม่จำเป็น” เรามีสิทธิ์ที่เจอคน เรามีสิทธิ์ที่จะมี happily ever after หรือต่อให้เราอยู่คนเดียวเราก็มีความสุขได้ แล้วก็ไม่ใช่แค่เกย์ด้วย แบบนี้ชายหญิงก็เป็น ยิ่งเดี๋ยวนี้ผู้หญิงโสดเยอะแยะเลย
The MATTER : ในซีซั่นสอง ตัวละครจะพัฒนาไปในทิศทางไหนบ้าง
โจโจ้ : จริงๆ มันพูดถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น ซีซั่นแรกจะเน้นไปที่ความเป็น individual ของแต่ละคน แต่อันนี้จะพูดถึงชีวิตคู่มากขึ้น พูดถึงมิตรภาพกับคนรอบข้างหรือไปเรื่องครอบครัว ประเด็นนึงที่เราเอามาใส่ในซีซั่นนี้คือเรื่องการแข่งขันกันของคู่รัก โดยเฉพาะผู้ชายด้วยกัน เรามองว่าผู้ชายมันมียีนส์ของความอยากเอาชนะอยู่แล้ว พอมาอยู่ด้วยกัน คนที่ทำงานในสายเดียวกันเป็นแฟนกัน เวลาเห็นอีกคนนึงได้ดีกว่าจะแฮปปี้หรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วเขาอิจฉา เพราะเราเคยมีประสบการณ์นี้โดยตรง เรามีแฟนแล้วแฟนเราตกงานซึ่งเราอยู่ในช่วงชีวิตที่กำลังพีคมากๆ อยู่ในช่วงที่ Trasher กำลังขึ้นมาก แต่แฟนเราไม่แฮปปี้ เขาบอกเลยว่าเขาอิจฉา จนนำไปสู่การเลิกกัน เรารู้สึกว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่เกิดจากความขัดแย้งภายใน มันไม่ใช่การมีมือที่สามหรืออะไรก็ตาม
The MATTER : ซีซั่นนี้มีนักแสดงที่เป็นที่รู้จักเข้ามาร่วมด้วย เช่น คุณรัดเกล้า คุณนุ่น ศิรพันธ์ ซึ่งการมีนักแสดงเข้ามาร่วมด้วยเป็นการทำลายเสน่ห์ของความธรรมดาลงไหม
โจโจ้ : แอบกลัวเหมือนกัน เพราะซีซั่นแรกเกิดจากการคลำทางล้วนๆ เลย ฉันจะทำแบบนี้ ฉันจะถ่ายแบบนี้ ฉันจะแสดงแบบนี้ แต่ว่าพอมาอยู่ในระบบทั้งการที่ไปฉายในไลน์ทีวีหรือว่าการได้นักแสดงที่มีชื่อเสียง เราก็แอบกลัวว่าความธรรมดาจะกลายเป็นละครไป ซึ่งอันนั้นเป็นโจทย์ของเรา ที่ต้องมาบาลานซ์การแสดงของนักแสดงดังๆ ทั้งคุณนุ่นและคุณรัดเกล้า ให้เขากลมกลืนกับ cast ที่ไม่ได้เป็นดาราดังให้มากที่สุด ซึ่งเราว่าถ้าได้ดูจะเห็นว่ามันประสบความสำเร็จพอสมควรในการให้คนมองข้ามเขาได้ ว่านี่ไม่ใช่นุ่น นี่ไม่ใช่รัดเกล้า
The MATTER: จากการทำปาร์ตี้อย่าง Trasher มาก่อน การคลุกคลีกับเพลง กับมิวสิกวิดิโอ หรือคลิปสั้นๆ เป็นสิ่งที่ส่งผลกับงานอย่างไร
โจโจ้ : มันช่วยมากเลย เพลงมันทำให้ซีรีส์เรามีเสน่ห์ขึ้น แล้วชีวิตเราอยู่กับเพลง เวลาเราเขียนบทแต่ละครั้ง เรามักจะคิดก่อนตลอดเวลาว่าเราจะเอาเพลงนี้ไปใส่ในซีน ทั้งที่จริงๆ แล้วตอนตัดต่อเราก็ไม่ได้ใช้เพลงนี้ แต่ว่าเราฟังเพลงแล้วมันช่วยให้เราเขียนได้ง่ายขึ้น อารมณ์มันมา ซึ่งมันทำให้เสน่ห์บางอย่างของ Gay OK มันแตกต่างจากซีรีส์อื่นๆ เพลงที่มันไม่ใช่เพลงตลาด
The MATTER : ถ้าเรามองว่าการเสนอให้มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศคือความก้าวหน้า ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าถึงจะทลายกรอบเรื่องเพศไปแล้ว แต่ก็กลับยังติดกรอบอื่นๆ เช่นความคิดเรื่องการรักเดียวใจเดียว (monogamy)
โจโจ้ : คือเขามองว่าการที่ตัวละครมันออกไปแรด ออกไป open relationship แล้วสิ่งที่มันได้รับ คือการโดนกีดกันออกจากบ้าน หรือชีวิตล้มเหลวอะไรแบบนี้ เขามองว่าเราไปทำให้การมีความสัมพันธ์หลายๆ คน (polygamy) เป็นเรื่องไม่ดี ทั้งที่จริงๆ แล้วเขารู้สึกว่าการเป็นเกย์หัวก้าวหน้ามันต้องยอมรับความสัมพันธ์แบบเปิด ความสัมพันธ์แบบหลากหลาย คนมากหน้าหลายตา ซึ่งเราว่ามันไม่จำเป็น เราสามารถเป็นคนหัวก้าวหน้าได้โดยที่ยังรักเดียวใจเดียว ส่วนใครที่จะไป polygamy กับใครที่หลากหลาย แล้วมันเวิร์กก็โอเค แต่ในแง่ของละคร ในแง่ของซีรีส์ มันจะต้องสร้างดราม่าให้บังเกิด เพราะฉะนั้นตัวละครมันต้องเจอ consequence บางอย่าง ที่เกิดจากการกระทำของมัน ไม่รู้สิ สำหรับเรามองว่า polygamy ยังไงก็ต้องมี consequence บางอย่างที่มันกระทบกับจิตใจ หรือผลสุดท้ายของมันซึ่งไม่ราบรื่นขนาดนั้นแน่นอน
The MATTER : แล้วเสียงวิจารณ์เรื่องการนำเสนอภาพเกย์แค่บางกลุ่ม ไม่ได้นำเสนออย่างครบถ้วน
โจโจ้ : ใช่ จุดประสงค์ของเราคือเราไม่ได้ต้องการนำเสนอภาพรวมของเกย์ทุกคน เพราะแม้แต่ในกลุ่มเกย์กันเองก็มีกลุ่มย่อยๆ (subculture) ไปอีกเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะ represent ได้ทั้งหมดแน่นอน เราพยายามที่จะเล่าชีวิตของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ just happen to be gay และกลุ่มคนกลุ่มนั้นดันเป็นกลุ่มที่เรารู้เรื่องที่สุด เพราะเราเขียนจากชีวิตตัวเอง ฉะนั้นเราก็จะอยู่ในวงนี้ เรายังโดนว่าเลยว่า โห มีแต่เกย์ชนชั้นกลาง ทำงานออฟฟิศ ทำไมไม่มีเกย์ก่อสร้าง เกย์เที่ยวลำสาลี อะไรอย่างนี้บ้าง
เราอยากเล่าทุกคนนะ แต่ภายในกรอบเวลาเท่านี้ 30 นาที 50 นาที มันได้แค่นี้จริงๆ ทำไมเราจะไม่อยากเล่าเรื่องเกย์หน้าราม เกย์อายุ 50 60 อะไรก็แล้วแต่ เราอยากมาก แต่นี่มันเป็นแค่ ชีวิตของคนกลุ่มนึงแค่นั้น เราไม่กล้าว่าเราจะสามารถไป represent whole community
The MATTER : สุดท้ายเกย์ก็ยังคงถูกเสนออยู่ในซีรีส์ประเภทเกย์ การแยกแยะว่านี่คือซีรีส์สำหรับเกย์ นี่คือซีรีส์ทั่วไปจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาไหม เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างก็หลอมรวมกันไปหมด
โจโจ้ : แต่บ้านเรามันยังไม่เป็นถึงขั้นนั้นไงเพราะสุดท้ายมันต้อง educate เขาให้รู้ว่า เราก็มีความธรรมดาแบบนั้นนะ เพราะถ้าไม่มีซีรีส์ที่พูดถึงเกย์ออกมา คนทั่วไปเขาก็ยังคิดว่าเป็นเกย์ อ่อ เธออยากเป็นผู้หญิงหรือเปล่า อ่อ พวกเกย์มั่ว รู้แต่ด้านใดด้านหนึ่งที่สื่อใหญ่นำเสนอ เราเลยต้องมีสื่อที่เล่าเรื่องราวชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้เขาฟังจนวันนึงมันเป็นเรื่องธรรมดา เคยบอกอยู่เสมอว่าเมื่อไหร่ที่ตัวละครเกย์สามารถเข้าไปอยู่เป็นพระเอกของละครช่อง 3 ช่อง 7 ได้ เมื่อนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องปกติที่เราไม่ต้องมาทำละครเฉพาะแล้ว
The MATTER : ในปัจจุบันเราเห็นว่ามีการต่อสู้เพื่อการยอมรับความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่ม LGBTQA ต่างๆ พยายามที่จะสื่อสารหรือรวมกลุ่มเรียกร้อง แน่นอนว่ามันเกิดแรงต้าน เช่น ทำไมต้องมาทวงสิทธิ์อะไรเยอะแยะ หลายๆคนจะบอกว่า LGBTQA ต้องเรื่องมาก ต้องให้ยอมรับ เขาไม่ชอบก็คือไม่ชอบ
โจโจ้ : วันก่อนอ่านที่มีคนด่า The MATTER นี่แหละ ที่เอารูปเลยเทยเที่ยวไทยมาแล้วบอกว่าไม่ยอมรับตรงไหน เราก็เลยเข้าไปอ่าน แล้วรู้สึกว่าตลกจังเลย นั่นไม่ได้หมายความว่าการยอมรับ นั่นคือสื่อบันเทิงมันไม่เกี่ยว สิ่งที่ฉันพยายามจะเรียกร้องมันไม่ใช่เรื่องให้เธอยอมรับว่าฉันเป็นของฉันอย่างนี้ แต่เรื่องที่ฉันต้องการคือความเท่าเทียมทางกฎหมาย ทางการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เรื่องสื่อไม่สนใจเพราะว่าเพศที่ 3 เป็นคนครองเบื้องหลังของสื่ออยู่แล้ว เราหาพื้นที่ในการจะไปออกได้ แต่ที่เรายังต้องทวงสิทธิ์อยู่เสมอคือ
ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ละคร ไม่ใช่ในทีวี เรายังไม่มีสิทธิ์ตรงนั้นกันเลย เรายังเซ็นอนุญาตให้คนรักเราผ่าตัดไม่ได้ เรายังแต่งงานกันไม่ได้ เรายังกู้ร่วมกันไม่ได้ มีอะไรมากมายที่เรายังต้องสู้กันอีกเยอะ จำเป็นอย่างมากที่เราต้องเรียกร้องสิทธิตรงนี้ พอเราออกมาคนพวกนั้นกลับมองว่าเราเรื่องมาก ‘ให้แค่นี้แล้ว’ เราว่าสิ่งที่เขาพูดกลับทำให้เราเห็นว่าเขามองเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ฉันให้เธอได้เท่านี้แล้ว เธอก็เอาไปสิ จะอะไรมากมาย เขาไม่ได้มองเลยว่าสิทธิบางอย่างที่เขามีเราไม่มี เสรีภาพบางอย่าง หลายๆ อย่างเราก็ไม่มี