ตั้งแต่ปัญหาคลาสสิกอย่างไก่กับไข่ใครเกิดก่อน (ซึ่งพบแล้วว่าเป็นไก่) ไปจนถึงประเด็นสาธารณะ เช่น สวัสดิการสำหรับประชาชน หรือการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยรัฐ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบครุ่นคิดและพยายามหาคำตอบที่ดีที่สุดเสมอ นั่นคือเหล่านักคิด/นักปรัชญา
และถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนักคิดเหล่านี้เท่าไหร่นัก แต่ในสภาวะวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่ปัญหาและประเด็นเกิดขึ้นจนนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน ก็อดใจไม่ได้จริงๆ ที่จะหอบคำถามใส่เต็มกระเป๋า เพื่อไปถามนักปรัชญาคนสำคัญของไทยอย่าง ศ.ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาประจำประเทศไทย
เราชวนเขาคุยตั้งแต่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน คุณสมบัติความเป็นผู้นำในภาวะวิกฤต ไล่ไปจนถีงความตายที่รายล้อมตัวเราจากผู้เสียชีวิตด้วยไวรัส รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำหรับนักปรัชญาเขามองว่า “เป็นเรื่องปกติ และหนีไม่พ้น”
ภายใต้วิกฤตโรคระบาด COVID-19 มีเรื่องไหนที่นักปรัชญาให้ความสนใจบ้าง
เรื่องมันเยอะมาก อย่างปีที่แล้ว (ปี 2020 – ผู้เขียน) COVID-19 กำลังระบาดอย่างหนักในยุโรป ในอิตาลีก็มีการอภิปรายกันในระดับชาติว่าถ้าผู้ป่วยมากกว่าจำนวนเครื่องช่วยหายใจต้องทำอย่างไร มีหลักการอะไรในการเลือกว่าใครควรจะได้รับเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเท่ากับมีชีวิตอยู่ต่อ ในโลกตะวันตกก็ชวนให้นักปรัชญาไปนั่งเป็นคณะกรรมการ เพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางจริยศาสตร์โดยตรง
ซึ่งเขาก็ยกแนวคิดของนักปรัชญาคนสำคัญของสหรัฐฯ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) ที่เสนอไอเดียที่เรียกว่า ‘หลักประโยชน์นิยม (Utilitarianism)’ คือการกระทำที่ถูกต้อง ได้แก่การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ปริมาณมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด
ดังนั้น ถ้าหากนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จะต้องให้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ที่มีโอกาสรอดมากที่สุด หรือพูดตรงไปตรงมาว่าคนสูงวัยควรเสียสละให้คนรุ่นหลัง เพราะพื้นฐานมันอยู่ที่การไม่มีทางเลือก คนแก่ก็ควรเสียสละให้คนรุ่นหลังที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก่อน และอีกอย่างคือคนแก่อายุขัยก็เหลือไม่มากแล้ว ถึงหายจากโรคไป ก็น่าจะมีเวลาอยู่บนโลกนี้อีกไม่นานแล้ว
ถ้าใช้แนวคิดนี้ มนุษย์เราก็ถูกเปรียบเป็นตัวเลขไปหมดเลยไหม
คนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็พูดแบบนี้แหละ บอกว่าประโยชน์นิยมมองมนุษย์เป็นสถิติ ซึ่งมันก็ถูกต้อง เพราะทรรศนะแบบนี้ เขาพยายามมองให้ทุกอย่างเป็น ‘ภววิสัย (Objectivity)‘ ไม่สนใจว่าใครเป็นใคร ไม่มองว่าคนนี้คือญาติสนิทต้องช่วยเขาก่อน แต่คือมองมนุษย์เท่าเทียมกันหมดในฐานะที่ว่า ใครมีโอกาสรอดมากที่สุด นี่คือข้อดีของประโยชน์นิยม
แต่มันก็ถูกวิจารณ์ว่าแข็งทื่อ แห้งแล้ง ทำให้การตัดสินเรื่องความเป็น-ตายกลายเป็นเรื่องของตัวเลขล้วนๆ ซึ่งถ้าถามว่าเป็นแนวคิดที่ฟันธงได้ไหม ใจผมอ่ะฟันธงได้ แต่ว่าคนอื่นจะเห็นด้วยหรือเปล่าไม่รู้ แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แล้วสถานการณ์มันบังคับว่า ไม่ว่าตัดสินใจทางไหนก็มีปัญหาทั้งนั้น แต่เราก็ต้องตัดสินใจ
ช่วงนี้ในไทยมีคำว่า ‘ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด’ อาจารย์มองเห็นอะไรบ้างในประโยคนี้
อันนี้มันมาจากประวัติความเป็นมาของรัฐบาลนี้ เขามาจากการทำรัฐประหาร และก็มีบุคลิกที่ดูไม่ค่อยนุ่มนวลเท่าไหร่ ผมไม่รู้นะในใจเขาคิดอะไร แต่จากสิ่งที่เขาแสดงออกมา มันแบบว่าประเทศไทยเป็นของฉัน และการวางตัวแบบนี้ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งอันนี้สำคัญ เพราะพอมีความไม่ไว้วางใจเป็นฐาน พอมีวิกฤตมันก็เลยไปกันใหญ่
ถ้าเกิดเป็นผู้นำอีกแบบที่ผู้คนรัก ไว้ใจ ยินดีที่จะเดินตามอย่างสนิทใจ เปรียบเทียบกับเยอรมัน ผู้คนเขาไว้ใจรัฐบาลและ อังเกลา แมร์เคิล ค่อนข้างมาก ถึงจะมีคนไม่เห็นด้วยและออกมาประท้วงบ้าง แต่ในภาพรวมก็ไม่มีอะไรคล้ายผู้นำโง่เราจะตายกันหมดออกมา
นอกจากนี้ เรื่องระบบบริหารงานก็มีส่วน เพราะในประเทศตะวันตกเมื่อมีความไม่เห็นด้วยเกิดขึ้น จะมีการพูดคุยแล้วแสวงหาข้อตกลงร่วมของทั้งประเทศ ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลโปร่งใส ไม่ปิดบังข้อมูลต่อประชาชน และที่สำคัญคือความไว้วางใจ
ในทางปรัชญา มีการพูดถึงผู้นำที่ดีว่าอย่างไร
มันเป็นเรื่องสำคัญเลย ในโลกตะวันตก เราสามารถมองกลับไปได้ถึงปรัชญากรีก เช่น เพลโตหรืออริสโตเติล ในโลกตะวันออกก็มีปรัชญาอินเดียที่อ้างถึงคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์และการเมือง หรือไอเดียของเรื่องทศพิศราชธรรม 10 อย่างที่พระราชาที่ดีควรจะทำตาม
แต่ประเด็นคือ ผู้นำที่ดีในปี 2021 ผมคิดว่าควรเป็นผู้นำที่เข้ากับยุคสมัย สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชน และที่สำคัญสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นผู้นำที่ประชาชนยินดีฝากผีฝากไข้ ฝากอนาคต ฝากชีวิตด้วยซ้ำไปให้แก่คนๆ นี้ ยกตัวอย่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างของผู้นำที่ผมกำลังพูด
ในช่วงทศวรรษ 1960 เคนเนดีนวางวิสัยทัศน์ว่าก่อนที่จะถึงปี 1970 สหรัฐฯ ต้องพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ แล้วตลอดสิบปีตั้งแต่เคนเนดีพูดเรื่องนี้ การไปดวงจันทร์ก็เหมือนเป็นวาระแห่งชาติสหรัฐฯ คนอเมริกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวหายใจเข้าออกเป็นเรื่องอวกาศ แม้ล้มเหลวมาเยอะ คนตายจากยานระเบิดก็เยอะ แต่ว่าในท้ายที่สุดปี 1969 ยานอพอลโล่ 11 ก็ไปจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ผู้นำที่ดีในปี 2021 ผมคิดว่าควรเป็นผู้นำที่เข้ากับยุคสมัย สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชน และที่สำคัญสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นผู้นำที่ประชาชนยินดีฝากผีฝากไข้ ฝากอนาคต ฝากชีวิตด้วยซ้ำไปให้แก่คนๆ นี้
มีประเทศหนึ่งที่ไม่ได้ยึดแนวคิดประชาธิปไตย แต่ก็สามารถรับวิกฤตได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครคือจีน ในวิกฤตแบบนี้ เราพูดได้ไหม ภาวะความเป็นผู้นำสำคัญกว่าระบบหรือปัจจัยอื่น
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน เวลาพูดก็อาจมองจากข้างนอกเข้าไป แต่จากภาพที่ปรากฏ จีนกับสหรัฐเป็นสองประเทศในโลกที่อัตราการฉีดวัคซีนเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดสูงมากๆ จีนกับสหรัฐฯ ตีคู่กันมาเป็นลำดับหนึ่งไม่ก็สองของโลก
แต่ทำไมประชาชนถึงไว้ใจรัฐบาลในประเทศจีน บริบทมันไม่เหมือนกับในเยอรมัน, ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ เพราะถ้าไม่ไว้ใจรัฐบาลจีนก็โดนตำรวจจับ และจีนมีวิธีการที่จะสร้างกระแสสังคมในเชิงบวกที่เข้มแข็งมาก มันเคยมีบริษัท H&M ออกมาวิจารณ์รัฐบาลจีนถึงการกดขี่ชาวมุสลิมในแคว้นซินเจียง หลังจากนั้นไม่นาน ในโลกออนไลน์จีนก็มีกระแสบอยคอตบริษัท H&M จนกระทั่งทำธุรกิจต่อไปไม่ได้
แต่จริงๆ การไม่ไว้ใจผู้นำนี่เป็นของดีนะ มันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย แต่ปัญหาของประเทศไทยก็คือ คนไทยไม่ไว้ใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และจำนวนมันก็มากขึ้นเรื่อยๆ ผมดูในเฟซบุ๊ก ในทวิตเตอร์ ผมอาจเป็นเพื่อนกับคนกลุ่มเดียว แต่ว่าจำนวนคนที่เคยเชียร์รัฐบาลนี้เริ่มไม่เห็นด้วยกับหลายอย่าง ซึ่งปัญหาใหญ่คือความไม่มีเอกภาพ ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการของ ศบค. แต่ปรากฎว่าวันนี้พูดอย่างนึง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง แล้วคนตัดสินใจกลับอยู่เงียบๆ ปล่อยให้คนอื่นในที่ประชุมทะเลาะกันเอง ทั้งที่ตัวเองมีหน้าที่หลักในการนำและตัดสินใจ
ถ้าหากรัฐกลายเป็นผู้ปกปิด บิดเบือน ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่ครบถ้วนกับประชาชนเสียเอง มันจะเป็นอย่างไร
มันแย่เลย เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชน ความซื่อสัตย์คือต้องไม่ปิดบังข้อมูลที่ประชาชนควรต้องรู้เพื่อสร้างฉันทามติในระดับชาติ อย่างเรื่องวัคซีนนี่เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าเกิดรัฐบาลไม่สั่งประชาชนซ้ายหัน ขวาหัน แล้วให้ข้อมูลที่เพียงพอและควรรู้แก่ประชาชน ให้เห็นชัดว่าวัคซีนดีอย่างไร ไม่ปิดบังผลประโยชน์ เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เชื่อถือได้ เช่น ออกมาพูดว่าทำไมตอนนี้ถึงมีแต่วัคซีน Sinovac และมีข้อมูลวิชาการรองรับ Sinovac ผมคิดว่าประชาชนก็ยอมฉีด
ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ผมเคยบอกข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขว่า เรื่องวัคซีนจะเป็นปัญหา จะมีการแย่งวัคซีนกัน แล้วถ้าเกิดวัคซีนมีจำกัดเราจะต้องทำอย่างไร ควรต้องเขียนคู่มือการปฏิบัติไว้ก่อนล่วงหน้าไหมว่า ในกรณีที่วัคซีนมีไม่เพียงพอควรทำอย่างไร แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่เริ่มทำอะไร
ในตอนนั้น รัฐบาลอาจคิดว่าวัคซีนอยู่ห่างไกลเกินไป ไม่จำเป็นต้องรีบทำอะไร ซึ่งการตัดสินใจตอนนั้นย่อมส่งผลมาถึงตอนนี้ อย่างตอนที่ COVAX มาติดต่อ ไทยก็หยิ่งไม่เข้าเพราะอยากจะผลิตวัคซีนเอง แต่ทีนี้บริษัทที่รับหน้าที่ผลิตวัคซีนให้คนไทยเหมือนผลิตไม่พอหรือไม่ก็มีสัญญาต้องส่งวัคซีนไปที่บริษัทแม่ แล้วบริษัทแม่เป็นฝ่ายตัดสินใจเองว่าจะส่งไปที่ไหน จนมีคนคาดการณ์ว่ากว่าคนไทยจะฉีดวัคซีนจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อาจจะเป็นกลางปี 2022 ในขณะที่สหรัฐฯ อาจสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไม่เกินฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
เราพูดได้มั้ยว่ารัฐไทยไม่ค่อยไว้ใจว่าประชาชนคิดเองได้
ผมว่ามีส่วนเยอะ มองว่าประชาชนไม่ค่อยรู้อะไร พอรัฐไม่ค่อยไว้ใจประชาชน ประชาชนก็เลยไม่ไว้ใจรัฐด้วย แล้วพอไม่ไว้ใจกันจะชวนกันทำอะไร เลยไม่ค่อยร่วมมือกัน นี่คือปัญหา
แล้วทำไมประชาชนถึงคิดว่ารัฐไม่ไว้ใจประชาชน เพราะรัฐพยายามจะรวบอำนาจไว้กับตัวเอง อย่างเรื่องโรคระบาด มันมี พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดซึ่งมีเจตนารมย์ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารเพราะใกล้ชิดกับพื้นที่อยู่แล้ว แต่ทีนี้รัฐบาลกลางไม่ไว้ใจให้ท้องถิ่นทำงาน แล้วเลือกรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง ทั้งที่ไม่ได้สัมผัสพื้นที่ คิดว่าตัวเองรู้มากกว่า ก็เลยเกิดปัญหาอย่างที่เกิดในปัจจุบัน
ช่วงหลังมานี้มีการถกเถียงกันว่าเราไม่ควรเลือกวัคซีน อะไรที่มีก็ฉีดไปก่อน วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มี แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าเราอยากรอวัคซีนที่ดีว่าของยี่ห้ออื่น ประเด็นนี้ในมุมปรัชญาเราตัดสินใจได้อย่างไรบ้าง
หลักคิดนี้ในเรื่องนี้มันมี 2 ส่วน หนึ่งคือประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ใช้หลักว่า ‘ประชาชนมีเสรีภาพที่จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็ได้’ ผมไม่รู้ว่ามีประเทศไหนไหมที่ใช้ระบบบังคับฉีดวัคซีน ใครไม่ฉีดตำรวจจับ แต่ประเทศใหญ่ๆ ที่กล่าวมาใช้ระบบสมัครใจทั้งนั้น
สอง พอมีเสรีภาพในการฉีดวัคซีนและมีวัคซีนให้เลือก สิ่งที่ตามมาคือ ‘เสรีภาพในการเลือกฉีดวัคซีนแต่ละยี่ห้อ’ แต่เสรีภาพที่จะบอกว่าฉันอยากฉีดยี่ห้ออะไร มันเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เป็นการบังคับว่ารัฐบาลจะต้องไปหาวัคซีนทุกยี่ห้อเพื่อบริการแก่ประชาชนทุกคน เพราะตอนนี้มันเป็นภาวะขาดแคลนคล้ายเรื่องอาหารในช่วงสงคราม เมื่อรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลปากท้องของประชาชน แต่อาหารดีๆ มันมีไม่พอ มันเป็นสิ่งขาดแคลน รัฐบาลก็ต้องหาอะไรที่ไม่ต้องถึงกับอร่อยมาก แต่กินอิ่ม เช่น ไม่มีเนื้อวัว แต่มีเนื้อหมูหรือไก่แทนไปก่อนได้ไหม
อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะประเทศอื่นรอบๆ เราได้ฉีดวัคซีนยี่ห้ออย่าง Pfizer แต่ของเรายังมาไม่ถึง เพราะฉะนั้นจะอ้างว่าเป็นเรื่องภาวะขาดแคลนอย่างเดียวก็อาจไม่ใช่
ในทำนองเดียวกันกับวัคซีน Sinovac ไม่ใช่ว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มีอยู่ ผมเขียนไว้ในทวิตเตอร์ว่าไม่เห็นด้วยประโยคนี้ แต่เห็นด้วยว่าฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีดอะไรเลย เพราะความเสี่ยงของการไม่ฉีด มันมีมากกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
เมื่อประเด็นทางสาธารณสุขถูกทำให้กลายเป็นการเมืองมากเกินไป คือมีการแย่งชิงผลประโยชน์กันจากปัญหาที่เกิดขึ้น มันมีปัญหาอย่างไรบ้าง ในเชิงความคิด
มีปัญหาเยอะมากเลย ประการแรก ไม่ควรเอาเรื่องโรคระบาดมาเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ส่วนตัว ถ้ามีแล้วประชาชนรู้ มันยุ่ง มันพังหมด มันยิ่งกว่าสร้างความไม่ไว้วางใจ มันสร้างความเกลียดชังด้วยซ้ำไป
และถ้ามีการใช้ประโยชน์จากเรื่อง COVID-19 มาเป็นประเด็นทางการเมือง หรือเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวจริง จะเป็นอันตรายต่อประเทศไทยมากๆ เพราะมันจะทำให้ประชาชนหมดศรัทธา และจะไม่เชื่อฟังเรื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลบอกให้ประชาชนทำอีกต่อไป และมันจะกลายเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และม็อบต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้วอาจจะกลายเป็นของเล่นไปเลย
พอโรคระบาดมาถึงมีการรายงานข่าวความตายทุกวัน เรียกว่าความตายเริ่มขยับเข้ามาใกล้เรามากขึ้นไหม และหลังจากนี้เราจะเริ่มมีมุมมองต่อความตายเปลี่ยนไปไหม
จริงๆ อยากให้คิดว่าถึงแม้ไม่มี COVID-19 ความตายมันก็อยู่ใกล้ตัวเราทุกขณะจิตอยู่แล้ว มันมีแนวคิดที่เรียกว่า ‘มรณานุสติ’ หรือการพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าไม่ใช่ของไกลตัว เป็นเหมือนเพื่อนเรา อาจลองคิดกับตัวเองว่าถ้าเราตายจะไปจะเกิดอะไรขึ้น หรือคิดว่าเราไม่ได้อยู่ไปตลอดกาล และมีโอกาสตายได้ตลอดเวลา เราก็จะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท รอบคอบมากขึ้น
เมื่อมีโรคระบาด ความตายที่อยู่รอบตัวเรา ก็เริ่มโผล่หัวขึ้นมาให้เห็นชัดมากขึ้น มีการรายงานข่าวทุกวันๆ ว่ามีคนตายกี่คน แล้วทีนี้เราจะมีท่าทีอย่างไร ถ้าเรายังไม่อยากที่จะเป็นแบบนั้น ก็ต้องไม่ประมาท ให้ปฏิบัติตามวิธีป้องกันตัวเองที่สาธารณสุขบอก เช่น ใส่หน้ากาก ออกห่างที่คนเยอะๆ
ถ้ามนุษย์เราเริ่มตระหนักถึงความเปราะบางของตัวเอง ศาสนาหรือแนวคิดเรื่องพระเจ้าจะกลับมาทรงอิทธิพลไหม
ศาสนาจะยังมีอยู่ แต่ว่าลักษณะจะเปลี่ยนไป คือไม่ใช่ศาสนาแบบดั้งเดิมที่เรารู้จักกัน ถึงแม้รูปแบบพิธีกรรมยังคงมีอยู่ แต่ความหมายข้างในจะเปลี่ยนไป คนจะมองและเข้าหาศาสนาในแง่มุมที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น จะมองพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ในแง่มุมที่ใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อก่อนฆราวาสอยู่ไกลจากพระสงฆ์มาก ไกลในแง่เข้าถึงยาก แต่ในอนาคต พระกับคนธรรมดาจะกลืนเข้าหากันมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น อันนี้เป็นแนวโน้มที่ผมมองว่ากำลังเกิดขึ้น แต่ COVID-19 จะเร่งให้เร็วขึ้นไปอีก
อาจมีบางคนที่ปฏิเสธศาสนาอย่าง กลุ่มไม่นับถือพระเจ้า (Atheist) หรือกลุ่มที่ประกาศตัวไม่นับถือศาสนาอะไรเลย กลุ่มนี้จะต้องหาคำตอบในเชิงจิตวิญญาณให้ตัวเอง ก็อาจจะมีวิธีตามหาในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นส่วนตัวของเขา เป็นอะไรที่เขายึดเหนี่ยวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และผู้ที่สนใจในแบบเดียวกัน ก็อาจมารวมตัวกัน แล้วมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเชิงจิตวิญญาณด้วยกัน ใช้กันและกันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แทนพระสงฆ์และวัดเหมือนสมัยก่อน
ในช่วงที่ผ่านมา มีคำหนึ่งที่นิยมพูดกันมากคือ ‘New Normal’ มองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างไร
วิกฤตนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเมื่อวิกฤตมันใหญ่มากๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะใหญ่มากเช่นเดียวกัน และสำหรับการเมืองไทยที่มีปัญหาตั้งแต่ก่อน COVID-19 ระบาดแล้ว ตัวโรคเพียงไปเขย่าให้การเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้น แต่ในรายละเอียดจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมไม่รู้ แต่ที่รู้คือประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยคิด เคยทำ เคยปฏิบัติตามกันมาจะไม่เหมือนเดิม และถ้าถามว่ามันจะมาเมื่อไหร่ คงไม่นาน พอสิ้นสุด COVID-19 ไทยอาจเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเลยก็ได้
ในรายละเอียดจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมไม่รู้ แต่ที่รู้คือประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยคิด เคยทำ เคยปฏิบัติตามกันมาจะไม่เหมือนเดิม และถ้าถามว่ามันจะมาเมื่อไหร่ พอสิ้นสุด COVID-19 ไทยอาจเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเลยก็ได้
วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนถูกตั้งคำถามหรือว่าเปลี่ยนไปไหม
มันกำลังเปลี่ยน และเปลี่ยนอยู่ตลอด ในสถานการณ์ที่มันมีความสมดุล การเมืองนิ่ง ความสัมพันธ์มันจะวางอยู่บนรากฐานที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน เหมือนกับรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเชื่อและทำตามจนเป็นปกติธรรมดา เหมือนเวลาเตะฟุตบอลที่เตะกันไปอย่างเต็มที่ภายใต้กติกาที่ทุกคนยอมรับ กติกานิ่งๆ จะเป็นแบบนี้
ในประเทศไทยเรากำลังเถียงกันเรื่องกติกาว่าแบบไหนดีและแบบไหนไม่ดี มันเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่จะถกเถียงเรื่องกติกาที่ควรเป็น แต่ภาวะนี้มันอยู่ได้ไม่นาน และท้ายที่สุด มันจะกลับมาสู่ความนิ่ง ความลงตัวที่ทุกคนเห็นพ้องกัน
ผมมองว่า ในท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่ความลงตัว ซึ่งเป็นความลงตัวแบบที่คนหนึ่งกลุ่มอาจต้องสูญเสียอะไรที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขามากๆ และเขารู้ว่ายอมไม่ได้ ต้องยื้อไว้ แต่ยื้อไว้ได้ไม่ตลอดหรอก มันเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์
ในอนาคตมองว่ามนุษยชาติจะเผชิญความท้าทายอะไรอีกบ้าง
COVID-19 เป็นบทเรียนที่ราคาแพงมากๆ ที่มนุษย์ในทุกประเทศควรต้องเรียนรู้และหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าโรคระบาดชนิดใหม่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอและอาจแรงกว่า COVID-19 อย่างอัตราการตายของ COVID-19 อยู่ที่ 5 รายต่อ 100 ราย แต่โรคระบาดใหม่อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 รายต่อ 100 ก็ได้
และยังมีวิกฤตอื่นที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ เช่น โลกร้อนหรือน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
รวมถึงความท้าทายจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น โดรนที่มีระบบอาวุธที่ทำงานด้วยตัวเอง (Autonomous Weapon System) เหมือนเป็นโดรนที่มันเลือกเป้าโจมตีได้เอง ซึ่งมีปัญหาทางจริยธรรมเยอะ และนักปรัชญาเข้ามามีบทบาทในการคิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้
ผมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักปรัชญาที่คิดว่า เราควรมีมาตรการกำกับดูแลการพัฒนา AI ในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบที่กำลังพูดถึงเกิดขึ้น ซึ่งมาตรการก็หนีไม่ไม่พ้นการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ผู้พัฒนา AI ตระหนักถึงสิ่งที่ทำอยู่ ว่ามันอาจจะกลายไปเป็นอะไรที่จะทำลายมนุษยชาติทั้งหมดเลยก็ได้ เพราะถ้า AI คิดได้เอง มันอาจคิดได้ว่ามนุษย์ไม่มีประโยชน์ และเริ่มกำจัดมนุษย์เหมือนในหนังเรื่อง Terminator
แล้วเราควรเตรียมตัวรับมืออนาคตอย่างไรบ้าง
จะบอกว่าส่วนหนึ่งคือการเรียนปรัชญา มันก็ไม่ผิดกับความจริงเท่าไหร่ เพราะว่าลักษณะของวิชามันอยู่ที่การวิพากษ์ คือความสงสัยและไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น แล้วก็ตั้งคำถามหาเหตุผลต่อว่าทำไมถึงเชื่อ ทำไมถึงไม่เชื่อ อันนี้คือหัวใจของวิชาปรัชญา
ความสามารถในการทำนายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไว้ก่อน หรือในกรณีถ้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นแบบ COVID-19 ความสามารถในการปรับตัวจะเป็นสิ่งสำคัญ ความสามารถในการทำอะไรอย่างรวดเร็ว โดยฉีกแนวออกไปจากสิ่งที่เราเคยทำ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความสามารถ ความชำนาญ สติปัญญา ความสร้างสรรค์ และอะไรหลายอย่าง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินไปจากศักยภาพของมนุษย์เรา ไม่จำเป็นต้องคนเก่ง คนธรรมดาๆ ก็สามารถทำได้ แค่ต้องรู้ว่าควรจะทำอย่างไร