ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่อยู่รอด ใจดีเกินไปก็โดนเอาเปรียบ บางครั้งไม่ทำอะไรยังถูกเอาเปรียบเลย โลกเรานี่มันช่างโหดร้ายจริงๆ ก็อยากจะทำเฉยๆ ไม่คิดอะไร แต่บางทีก็เฉยไม่ไหว
The MATTER จึงไปสอบถามเหล่าคนที่เคยถูกเอาเปรียบมาไม่ว่าจะเรื่องโดนแซงคิว สามล้อโก่งราคา เพื่อนไม่ช่วยทำงานกลุ่ม ไปจนถึงเรื่องเงินเดืนไม่เป็นอย่างที่คุยกันไว้ ว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้นพวกเขามีวิธีรับมืออย่างไร เผื่อว่าใครเจอสถานการณ์แบบนี้จะลองเอามาปรับใช้ก็ได้ ไม่ว่ากัน
ชามา วงศ์บุษกร
อาชีพ : graphic designer
“เราเคยโดนเอาเปรียบเรื่องเงินเดือน คือได้เงินน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ เขาบ่ายเบี่ยงบอกว่าตกลงกันไว้เท่านี้ไม่ใช่หรอ โชคดีที่เคยตกลงกันในไลน์เราเลยแคปหลักฐานที่เคยตกลงเอาไว้ส่งให้เขาดู เขาเลยยอมจ่ายมา มันเป็นบทเรียนทำให้เรารู้ว่าจะตกลงอะไรกับใครต้องเก็บหลักฐานดีๆ แม้แต่เป็นเพื่อนเป็นพี่ที่เป็นน้องที่ไว้ใจ อย่าเชื่อใจใครง่ายๆ โดยเฉพาะคนแบบนี้ //มองเหยียด”
วศิน นิลวงศ์
อาชีพ : marketing
“ส่วนตัวเราไม่ค่อยเจอสถานการณ์โดนเอาเปรียบนะ แต่ถ้าเจอก็คงเป็นการพูดคุยกันตรงๆ เช่นเงินทอนไม่ครบ หรือ การโดนแซงคิว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เคลียกันได้ด้วยดี ไม่ได้มีเรื่องราวบาดหมางอะไร”
นรินทร พูนศรี
อาชีพ : นักศึกษา
“เราเคยโดนเอาเปรียบเรื่องทำงานกลุ่ม มีเพื่อนบางคนไม่ช่วยทำงานหรือไม่ก็มาช่วยทำช่วงวันสุดท้าย ก็บอกเขาทุกครั้งให้มาทำงาน แต่เขาก็ไม่มา จนครั้งสุดท้ายอาจารย์นัดพรีเซนต์งานทุกคนต้องมากันให้ครบ เพื่อนคนนี้ก็มา ทั้งๆ ที่ไม่เคยช่วยทำงานตั้งแต่แรก เราก็ไม่กล้าบอกอาจารย์ตรงๆ ว่าเพื่อนคนนี้ไม่ทำงาน ตอนเขียนรายชื่อส่งอาจารย์ก็ใส่ชื่อเขาด้วยแต่วงเล็บท้ายชื่อไว้ว่าคนนี้ไม่ช่วยเพื่อนทำงาน ซึ่งเพื่อนก็คงรู้หลังจากเห็นเกรด”
ฐานิต วงษ์สุดตา
“เราเป็นคนที่ยอมโดนเอาเปรียบเป็นประจำ ซึ่งเขาก็อาจจะทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ ล่าสุด คือเรื่องค่ากุญแจหอพัก ที่เก็บเงินค่ายืม 100 บาท หลังเวลา 6 โมงเย็น จริงๆ มันเป็นกฎของหอพักที่เขาแจ้งไว้แล้ว แต่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นการจงใจเอาเปรียบกันนะคะ 100 บาทคือค่าจ้างเดินไปหยิบกุญแจ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเก็บแค่ 20 บาทเท่านั้น พอรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ แน่นอนเราโกรธมาก แต่ก็ต้องสูดหายใจลึกๆ วิเคราะห์ว่า ทำไมเขาต้องเอาเปรียบเรา เขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า หรือเขาต้องการเงิน เขารีบ คิดไปคิดมา และถ้าได้คำตอบกับตัวเองก็อาจทำให้เราสบายใจขึ้น แม้ตอนนั้นจะหายโกรธไปแล้วก็ตาม อีกวิธีหนึ่งที่เรามักทำคือ เข้าทวิตเตอร์แล้วระบายทุกอย่างที่รู้สึกออกมา ก็จะสบายใจขึ้นมากๆ ชีวิตเราก็ต้องผ่านมาเจอกับคนแย่ๆ บ้าง แค่นั้นเอง”
สุพศิน ดิษยบุตร
อาชีพ : เพิ่งเรียนจบ แต่จ้างได้ ทำเป็นหลายอย่าง
“ถ้าเราอยู่ตรงนั้น 2 คน เช่นบนรถแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ แต่ ก็จะแอบจดรายละเอียดแล้วโทรแจ้ง ถ้าเป็นพวกแซงคิวหรือร้านอาหารก็จะพูด ณ ตรงนั้นเลย ให้ได้ยิน เช่นเรามาก่อน แต่โดนลัดคิว ก็จะเดินไปถามพนักงานเลยว่า ผมมาก่อนไม่ใช่เหรอครับ? หรือแซงคิวก็จะบอกเขาว่าโทษนะครับ ต่อแถวด้วยครับ แต่ถ้าเป็นพวกองค์กรใหญ่ๆ ที่มีระบบรับเรื่องร้องเรียนก็แจ้งไปตามขั้นตอนครับ ส่วนใหญ่เราก็จะยอมไปก่อน ซึ่งก็รู้ว่าไม่ดีแหละ แต่ในบางสถานการณ์มันเสี่ยงต่อตัวเราเกินไป เลยไม่เสี่ยงดีกว่า”
ชยาพร ชัยเจริญ
อาชีพ : Graphic Designer
“สมัยมัธยม เราเคยต้องนั่งรถสามล้อ เพราะหารถเมล์ไม่ได้ พอนั่งไปได้นิดนึงเราก็ถามเขาว่ากี่บาท ซึ่งจริงๆ ก็รู้ราคาอยู่แล้วเพราะก็เคยนั่งบ้าง แต่เราก็ติดการถามราคาจนเป็นนิสัย ทีนี้เขาบอกราคาแพงกว่าที่นั่งปกติ เราก็โวยว่าทำไมแพงกว่าปกติ เขาก็ตอบว่าช่วงนี้รถมันติดอะน้อง เราโมโหมาก หากินแบบนี้ไม่แฟร์จริงๆ นั่งมาแล้วจะทำไง พอดีตอนนั้นรถติดไฟแดงอยู่ที่สี่แยก เราเลยโบกวินมอไซด์ที่ขับแทรกๆ มาแล้วขึ้นวินไปเลย เขาโวยอะไรไหมไม่รู้ เราหนีไปแล้ว ฮ่าๆๆ จริงๆ เราก็แอบรู้สึกผิด ที่ไปทิ้งเขาไว้กลางทาง ทั้งๆ ที่เขาก็อาจทำแบบนี้กับหลายครั้งแล้ว
เราก็ได้แต่แอบหวังลึกๆ ว่าจะไม่ต้องมีเหตุการณ์ให้เราเป็นคนใจร้ายอีก”