“ชีวิตนี้เหนื่อยพอแล้ว จะรีบเก่งไปเพื่อใคร แค่อยากจะมีความสุข ทำไมมันยากจัง”
นี่คงเป็นความต้องการลึกๆ ในใจของใครหลายคน แต่ไม่กล้าจะพูดออกมา เมื่อคนรอบตัวเร่งรีบจะประสบความสำเร็จตามสูตรในหนังสือพัฒนาตัวเองแบบไม่ได้หยุดพักกันเลย
หลายปีที่ผ่าน หนังสือพัฒนาตัวเองได้รับความนิยมมาก ระดับที่ว่ามองไปทางไหนก็มีแต่คนอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง บัณฑิตใหม่ได้หนังสือพัฒนาตัวเองเป็นของขวัญ ชั้นวางในร้านหนังสือเต็มไปด้วยหนังสือที่ประกาศกับเราตั้งแต่เดินเข้าร้านถึงความสำเร็จแบบไหนที่เรายังไม่บรรลุ คุณสมบัติด้านไหนในชีวิตที่เราไปสุดทางได้กว่านี้
แต่ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มตั้งคำถามและถอยห่างออกจากหนังสือพัฒนาตัวเองด้วยเหตุผลที่ว่า “ชีวิตเหนื่อยเกินไป” หรือ “รู้สึกว่าเนื้อหาในหนังสือนำไปใช้ไม่ได้จริง” และ “ความไม่เชื่อว่าการเป็นคนเก่งนั้นจะมีสูตรสำเร็จ”
หนังสือพัฒนาตัวเองเริ่มถูกแทนที่ด้วยหนังสือฮีลใจที่แค่มองดูปกก็รู้สึกอบอุ่นขึ้นมา และเนื้อหาด้านในยังเข้าใจความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดจากการโตเป็นผู้ใหญ่ ความเจ็บปวดจากเรื่องเลวร้ายในที่ทำงาน หรือความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์
หรือนี่จะถึงยุคซบเซาของหนังสือพัฒนาตัวเอง เมื่อผู้คนอยากจะมีความสุข มากกว่าอยากจะเป็นคนเก่ง
หนังสือพัฒนาตัวเอง ทำงานอย่างไรกับจิตใจของเรา
หนังสือพัฒนาตัวเองประเภท How to หรือ self-help ชวนให้ผู้คนหยิบพวกมันขึ้นมาด้วยถ้อยคำให้ความหวังบนหน้าปกอย่าง “แค่ทำเรื่องนี้ ชีวิตก็ดีขึ้น” หรือ “เก่งอะไรบางอย่างใน 5 นาที” หรือ ‘คนประสบความสำเร็จเขาทำสิ่งนี้’ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการเป็นคนเก่งนั้นก็ไม่ยากนี่นา
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในปี ค.ศ. 2018 พบว่า ผู้คนตัดสินใจซื้อหนังสือพัฒนาตัวเองจากหน้าปก พวกเขามองว่าหนังสือพัฒนาตัวเองมีความน่าเชื่อถือ ถ้าหนังสือเล่มนั้นที่มีข้อความบนหน้าปกที่น่าดึงดูดใจ มากกว่าความน่าเชื่อถือโดยรวมและตัวผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นเสียอีก
แต่กลับกัน ถ้อยคำให้ความหวังบนปกหนังสือเหล่านั้นก็ชวนให้เบื้องลึกในจิตใจของเราตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตเรายังดีไม่พอหรือ?” หรือว่า “เรายังไม่เก่งใช่ไหม?” โดยที่เราไม่รู้ตัว และสร้างความเครียดและความกดดันให้กับเราได้ในระยะยาว
หนังสือพัฒนาตัวเองทำงานกับจิตใจของคนตั้งแต่หน้าปกจนถึงหน้าสุดท้าย เพราะนอกจากชื่อหนังสือแล้ว เมื่ออ่านหนังสือพัฒนาตัวเองจนจบ จะเกิดมวลความรู้สึกแห่งความสำเร็จขึ้นมา
ทั้งคำถามที่เกิดขึ้นในใจโดยที่เราไม่รู้ตัว ความหวังที่หนังสือพัฒนาตัวเองหยิบยื่นให้ และความรู้สึกถูกเติมเต็มเมื่ออ่านจบ ทำให้เราโหยหาหนังสือพัฒนาตัวเองเล่มต่อไปและต่อไป รู้ตัวอีกที จำนวนหนังสือพัฒนาตัวเองในครอบครองก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นพอๆ กับความเครียดในใจ
แค่ทำเรื่องนี้ ชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว จริงหรือ?
จากบทความของ Forbes ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้อ่าน สื่ออื่น และนักเขียน ที่มีต่อหนังสือพัฒนาตัวเอง และจัดหมวดหมู่ประเด็นที่ต้องกังวลของหนังสือพัฒนาตัวเองออกมาได้ 3 หมวดหมู่ด้วยกัน
1. หนังสือพัฒนาตัวเองส่งผลเสียกับผู้อ่าน
ในบางครั้ง หนังสือพัฒนาตัวเองก็ให้คำแนะนำในทางที่ผิด ให้ความหวังลมๆ แล้งๆ และ ทำให้คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว รู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังทำให้ผู้คนไม่คิดจะหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย
2. หนังสือพัฒนาตัวเองเป็นเหมือนยาหลอก
ถ้าหนังสือพัฒนาตัวเองได้ผลจริง นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้คนทำตามคำแนะนำในหนังสือ แต่เป็นเพราะพวกเขาหันมาโฟกัสกับบางสิ่งที่พวกเขาทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน
3. หนังสือพัฒนาตัวเองไม่ส่งผลอะไรเลยกับผู้อ่าน
แม้ว่าผู้คนจะมองว่าหนังสือพัฒนาตัวเองนั้นน่าสนใจ แต่คำแนะนำในหนังสือเหล่านั้นไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วโดยทั่วไป ผู้คนอาจหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอย่างเร่งรีบ เมื่ออ่านจบก็กลับมาดำเนินชีวิต ทำอะไรไปตามปกติที่เคยทำ ไม่มีใครมาคอยบอกให้เราทำสิ่งที่เพิ่งอ่าน และเราก็จะลืมไปในที่สุด
ข้อสังเกตเหล่านี้อาจจะฟังแล้วดูแรง ส่วนหนึ่งคือทำให้เราที่เป็นคนอ่านได้ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของเนื้อหาในหนังสือ ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ของผู้เขียน และสิ่งที่เราได้จากการอ่าน แน่นอนว่าการอ่านโดยตัวของมันเองก็ถือว่าเป็นประโยชน์แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือในการอ่านนั้นกำลังทำให้รู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พออยู่รึเปล่า
ไม่ต้องรีบ ยังมีเวลาให้พัฒนาตัวเองอีกเยอะ
ส่วนหนึ่งที่หนังสือพัฒนาตัวเองทำให้เราเครียดนั้น อาจเป็นเพราะ ‘อยากจะเป็นคนเก่งให้เร็วที่สุด’ หรือ ‘กลัวจะกลายเป็นคนไม่เก่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ ทำให้เรารีบอ่านหนังสือพัฒนาตัวเองที่เพิ่งซื้อมาให้เร็วที่สุด เพื่อไปอ่านเล่มใหม่ให้ได้เร็วที่สุด
แต่ที่จริงเราอาจจะไม่จำเป็นต้องรีบขนาดนั้น มีเทคนิกการอ่านแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘divine reading’ ที่ใช้ในการอ่านพระวจนะของพระเจ้า แต่ก็สามารถนำมาใช้อ่านหนังสือประเภทอื่นได้เช่นกัน โดยการอ่านแบบ divine reading นั้นจะต้องเริ่มอ่านแต่ละถ้อยคำอย่างเชื่องช้า และปล่อยให้ประโยคเหล่านั้นค่อยๆ จมลงไปในห้วงความคิดทีละประโยค จนกว่าจะเจอประโยคที่ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับมันได้ หรือประโยคที่มีแรงดึงดูดบางอย่าง
เมื่อเจอประโยคเหล่านั้นแล้ว ลองหยุด และอ่านประโยคนั้นซ้ำไปซ้ำมาให้นานที่สุด ด้วยการใช้เทคนิกนี้ในการอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง จะทำให้ใจของเราเชื่อมโยงสิ่งที่เรากำลังอ่านอยู่ และสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว และทำให้เรารับเอาสิ่งที่เพิ่งอ่านซ้ำไปซ้ำมานั้นเข้าไป และเพิ่มโอกาสที่เราจะนำสิ่งที่อ่านไปใช้ในอนาคตแบบไม่ต้องฝืนใจ
หรือลองพักจากการพัฒนาตัวเอง แล้วกลับมาอ่านวรรณกรรม เรื่องสั้น นิยาย หนังสืออะไรก็ตามที่ช่วยฮีลใจได้ดูบ้างก็น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับเราเหมือนกัน เพราะจากงานศึกษาในปี ค.ศ.2013 พูดถึงความเร่งรีบในการหาข้อสรุปให้กับข้อมูลที่ได้รับมา งานวิจัยพบว่า ผู้คนที่อ่านวรรณกรรมนั้นมีความเร่งรีบในการหาข้อสรุปน้อยลง เพราะการอ่านวรรณกรรมนั้นต้องดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ใช้เวลารับข้อมูลจำนวนมาก และคอยเปลี่ยนความคิดตามเนื้อเรื่องที่อ่าน—หรือแค่อ่านเอาสนุกก็ถือว่าคุ้มแล้ว
เมื่อพักจนรู้สึกพร้อมแล้วค่อยกลับมาอ่านหนังสือพัฒนาตัวเองอีกครั้งก็ยังไม่สายเกินไปนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan