Dutch Design Week คืออภิมหาเทศกาลงานออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปตอนเหนือ (เค้าว่างี้) ประกอบไปด้วยสัมนา ปาร์ตี้ เวิร์กช็อป และนิทรรศการแสดงผลงานจากนักออกแบบกว่า 2,600 คน ที่เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดมาแล้ว 20 ปี โดยเริ่มจากการเป็นงานวันเดียว และค่อยๆ ขยายจนกลายเป็น 9 วันตามกระแสตอบรับที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
‘If not us, then who’ เป็นชื่อธีมหลักของงานปีนี้ ที่เชื่อว่านักออกแบบคือเฟืองสำคัญที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทิศทางงานออกแบบทุกแขนงจึงมุ่งไปสู่ความยั่งยืนและแสดงความรับผิดชอบต่อประเด็นทางสังคม มากกว่าจะเน้นเรื่องความสวยงามเหมือนในอดีต (แต่ก็ยังสวยอยู่ดี)
ด้วยจำนวนผลงานที่แสดงทั้งหมด หากต้องการดูทุกชิ้นอย่างเข้าอกเข้าใจ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2,600 (จำนวนศิลปิน) x 5นาที = 216 ชม. (ยังไม่รวมเวลาหลงทางจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่ง เพราะงานถูกจัดอยู่ตามสถาที่ต่างๆ ทั่วเมืองถึง 110 แห่ง!) ในขณะที่งานเปิดทำการแค่วันละ 7 ชั่วโมง x 9 วัน = 63 ชั่วโมง หรือสรุปง่ายๆ ว่าเป็นไปไม่ได้เลย 5 งานที่เลือกมาเล่านี้จึงไม่อาจพูดได้ว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของเทศกาล แต่เป็นตัวแทนบอกเล่าประเด็นยอดฮิตที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ได้อย่างน่าสนใจ
เสรีภาพสื่อ
The Uncensored Playlist โดย Reporter Ohne Grenzen
The uncensored Playlist ต้องการต่อสู้ให้วงการสื่อสารมวลชนทั่วโลกมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว โดยมุ่งเน้นไปยังประเทศที่ติดอันดับด้านความเข้มงวดในการควบคุมสื่ออย่างประเทศจีน เวียดนาม อุซเบกีสถาน ไทย (ไทย!) และอียิปต์ องค์กรข่าว Reporter Ohne Grenzen จึงร่วมมือกับนักดนตรีและนักข่าวท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เพื่อเปลี่ยนข่าวที่ถูกเซนเซอร์เหล่านี้ ออกมาเป็นเนื้อเพลงป๊อปให้ดาวน์โหลดและส่งต่อฟรีทางออนไลน์ เพราะเพลงเป็นสื่อที่คนมีเสรีภาพในการเข้าถึงที่สุด แม้ในประเทศที่การเผยแพร่ข่าวถูกจำกัดเสรีภาพที่สุดก็ตาม
5 นักข่าวจาก 5 ประเทศ จึงเกิดเป็น 10 บทเพลงฟังสบายแต่เนื้อหาดุเดือด
ลองไปฟังได้ทาง https://www.uncensoredplaylist.com/en/
ข่าวปลอม
Slecht Nieuws โดย Drogs
Slecht Nieuws หรือที่แปลว่า Bad News เป็นชื่อเกมที่จำลองให้เราได้สวมบทบาทเป็นนักสร้างข่าวปลอมที่ยิ่งใหญ่พอจะสั่นสะเทือนสังคมได้ เริ่มตั้งแต่การสร้างแอคเคาต์ ทวีตโหนกระแสสังคม (เลือกได้ว่าจะโหนแง่บวกหรือลบ) ซื้อยอดไลก์ สร้างความน่าเชื่อถือโดยการผูกมิตรกับบรรดา influencer…เป็นสเต็ปไปเรื่อยๆ ทุกการกระทำจะส่งผลแบบเรียลไทม์ต่อยอด follower และคะแนนความน่าเชื่อถือที่แสดงบนแถบด้านข้าง เกมจะคอยเป็นโค้ชสอนเราตลอดทางว่าควรวางตัวอย่างไรเพื่อให้ภารกิจประสบความสำเร็จ
จุดประสงค์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้เกมสนุกๆ เกมนี้ คือการติดอาวุธให้ผู้เสพข่าวอย่างเราๆ รู้ทันกระบวนการสร้างข่าวปลอมที่ทุกวันนี้ช่างแนบเนียน และแยกแยะได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ไปลองเล่นกันได้ที่ https://getbadnews.com/
งานหนัก
Work till Die โดย Sayo Kato
จากข่าวฆ่าตัวตายเพราะทำงานหนักของพนักงาน Dentsu ชื่อ Matsuri Takahashi เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Sayo Kato นักศึกษามหาวิทยาลัย Design Academy Eindhoven ต้องการเคลื่อนไหวถึงประเด็นนี้ในญี่ปุ่น เป็นโปรเจ็กต์จบการศึกษา
เป้าหมายของ Sayo คือการนำข้อความ When you are at the office 20 hour a day. You don’t even know what you are living for anymore. ในทวิตเตอร์ของ Matsuri ก่อนฆ่าตัวตาย ไปแสดงบนตึกออฟฟิศ Dentsu
Installationแรก คือข้อความต่างๆ จากทวิตเตอร์ของ Matsuri ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบ่นเรื่องงานหนัก
Installation ที่สอง คือภาพการแสดงข้อความบนตึกที่ Sayo คิดไว้ โดยตัวหนังสือแต่ละตัวนั้นเกิดจากการปิด/เปิดหน้าต่างแต่ละห้องในตึก Dentsu
Installation สุดท้าย คือกระบวนการเจราจาให้โครงการนี้เกิดขึ้น แต่ละแถวคือบุคคลที่ Sayo ติดต่อไปตามลำดับ ตั้งแต่ส่งอีเมลไปขอทำโปรเจกต์นี้ที่ Dentsu official โดยตรง (กล้ามาก) แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ (แหงสิ) จึงติดต่อพนักงาน PR คนหนึ่งไป และได้รับคำปฏิเสธด้วยเหตุผลว่ากลัวส่งผลต่อหุ้นบริษัท (ไม่แปลกใจ) Sayo ไม่ยอมแพ้ สุ่มส่งเมลต่อไปหาพนักงานในบริษัทคนอื่นๆ ว่าจะเป็นไปได้มั้ยถ้าแอบเคลื่อนไหวลับๆ ในบริษัท ให้พนักงานแอบปิด/เปิดหน้าต่างกันเอง ทุกคนบอกว่าน่าสนใจ และให้กำลังใจที่ Sayo คิดจะต่อสู้กับปัญหานี้ แต่ไม่มีใครกล้าทำเพราะกลัวโดนไล่ออกหรือมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งเป็นคำตอบเดียวกันกับคนในแถวที่เหลือที่ Sayo ทักไปขอความคิดเห็น บ้างเป็นเพื่อนสมัยเรียน บ้างเป็นญาติของคนที่เคยฆ่าตัวตายเพราะงานหนัก บ้างเป็นเพื่อนที่เคยไปอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานที่นี่ ฯลฯ
แม้ว่าเป้าหมายที่วางไว้จะไม่สำเร็จ แต่กระบวนการทั้งหมดที่ Sayo จัดแสดง ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงยากเพียงใดในสังคมญี่ปุ่น
ความเท่าเทียมทางเพศ
Yellow Spot โดย Eliza Otanez
ความเหลื่อมล้ำทางเพศมีอยู่หลากรูปแบบหลายระดับความรุนแรง ในกรณีนี้มันมาในร่างของจำนวนห้องน้ำ
ห้องน้ำสาธารณะชายมีอยู่ 10 แห่งทั่วเมือง Eindhoven ในขณะที่ห้องน้ำหญิงมีเพียงแห่งเดียว ซ้ำยังเป็นแบบที่ต้องเสียเงินเข้า ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรหญิงและชายไม่ได้แตกต่างกันเลย
Eliza ต้องการเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ เพราะห้องน้ำคือตัวเชื่อมของทุกกิจกรรม และทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะได้อย่างต่อเนื่อง แต่แทนที่จะทำป้ายหรือโปสเตอร์เพื่อสื่อสารตามแนวทางปกติ เธอเลือกทำห้องน้ำขึ้นมาเองตามเงื่อนไขและความสามารถที่มีจำกัด ได้ผลลัพธ์เป็นห้องน้ำที่ไม่พึ่งระบบท่อประปา เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งานและสามารถเคลื่อนที่ได้
ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าเห็นห้องน้ำหน้าตากึ่งแฮนด์เมดแบบนี้ จะกล้าเข้าไปใช้มั้ย
ถ้าคำตอบคือไม่ คุณก็คือคนส่วนใหญ่ในที่สาธารณะ ที่ Eliza ได้ทดลองเอางานไปวางไว้ ซึ่งเป็นไปตาม
จุดประสงค์หลักของมันทุกประการ นั่นคือการแสดงให้เห็นความลำบากในการใช้ชีวิตของผู้หญิง (จนต้องทำเองแบบนี้!) และกระตุ้นให้สังคมเกิดบทสนทนาถึงประเด็นนี้ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ดูคลิปเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=RzsJIwBcSHw&ab_channel=ElisaOta%C3%B1ez
Big Data
You are the product of your own information โดย Julia Jansen
ทุกครั้งที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต เราจ่ายค่าบริการด้วยข้อมูลส่วนตัวไปโดยอัตโนมัติ รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เรากดยอมรับ Privacy Policy ที่เด้งขึ้นมาบนเว็บประมาณ 1,700 อันต่อปี ซึ่งมีเนื้อหารวมกันหนาเท่าหนังสือในรูป หากคิดจะอ่านทั้งหมดคงเสียเวลาเป็นอาทิตย์ แต่การอ่านหรือไม่นั้นก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เมื่อสุดท้ายแล้วก็ต้องกดรับอยู่ดีถ้าอยากใช้บริการต่อ บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายนำข้อมูลของเราไปสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยที่เราไม่มีสิทธิ์รู้หรือควบคุมการใช้งานมันได้เลย ก็ดูไม่ต่างอะไรจากการเป็นทาสในธุรกิจข้อมูล ที่เจ้าของจะทำอะไรกับมันก็ได้
บูธนี้คือ Game Installation ที่จำลองให้เห็นว่า จะเป็นยังไงถ้าเราสามารถบริหารการใช้ข้อมูลเองได้เหมือนเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ตัวเกมทำงานเหมือนตลาดหุ้น ข้อมูลคือหุ้นที่มีมูลค่าขึ้นๆ ลงๆ ตามความต้องการตลาด เช่น ถ้ายอด Follower ใน Instagram ลด มูลค่าก็จะตก
เครื่องวัดค่าข้อมูลเป็นหนึ่งในเกมที่อยู่ในบูธ เราต้องตอบแบบสอบถามยาวเหยียดเพื่อตีค่าออกมาเป็นเงิน ยิ่งตอบคำถามได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ มูลค่าก็จะยิ่งสูง (เป็นคำถามแบบปรนัยที่ทุกข้อมีตัวเลือก No interesting Data ถ้าเราตอบข้อนี้เยอะๆ ข้อมูลก็จะยิ่งมีมูลค่าต่ำ) หรืออีกตัวอย่างคือเกม Slot Machine ที่ให้เรากรอกข้อมูลเพื่อแลกออกมาเป็นเหรียญในการเล่นเกม คะแนนที่ได้จากเกมสามารถเปลี่ยนเป็นส่วนลดในการซื้อของในบูธได้
แถมรูปบรรยากาศงานเล็กน้อย
สิ่งที่ได้ซีนไปเต็มๆ คือรถยนต์ Renault หนึ่งในสปอนเซอร์หลักของปีนี้ ที่นอกจากจะเอาไว้รับส่งคนในงานแล้ว ยังมีพื้นที่ประชาสัมพันธ์งานต่างๆ บนหลังคาในรูปแบบประติมากรรม บางอันมาในรูปทรงนามธรรม หรี่ตามองตามไปอีก 100 เมตรก็ยังระบุไม่ได้ บางอันก็ชัดเจนจนขำ เช่น ราวตากผ้า
จักรยานเป็นพาหนะหลักในการชมงาน ทุกสถานที่สามารถขี่จักรยานถึงกันได้ภายใน15-20 นาที