จุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่จะพูดกันในวันนี้ เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเดินอยู่ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา เดิมทีผู้เขียนตั้งใจไปซื้อหนังสือที่ต้องการเท่านั้น ช่วงที่เดินอยู่ในงานก็สังเกตได้ว่า มีใบปลิวของงานหนึ่งถูกนำมาวางไว้ตามบูธสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อโปรโมทตัวงานที่จะจัดต่อไปในอนาคต รายละเอียดที่อยู่ในใบปลิวพาดหัวชื่องานว่า ‘Y Book Fair’
แค่เพียงชื่องานกับสีของใบปลิว ก็พอจะบ่งบอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ภาพงานดังกล่าวจะเป็นไปในทำนองไหน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการคิดเองเออเอง ผู้เขียนจึงเข้าไปติดตามไปรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจากแฟนเพจของงานครั้งนี้ที่ระบุชัดเจนกว่าเดิมว่าตัวงานนี้คือ “งานมหกรรมนิยายวายแห่งชาติ” และจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560
ถึงจะรู้สึกแปลกใจอยู่บ้าง แต่ความแปลกใจนั้นไม่ได้เกิดจากการที่ตัวงานแบบเฉพาะทาง เพราะในปัจจุบัน สังคมไทยก็เปิดรับเรื่องราวเหล่านี้ได้มากขึ้นแล้ว และทาง The MATTER ก็ได้เคยนำเสนอเรื่องนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หรือถ้ามองไปยังสื่อบันเทิงต่างๆ ก็นำเสนอเรื่อง Y (ทั้งฟากฝั่ง Yaoi และ Yuri) ในหลายมุมมองกันมากขึ้น ดังนั้นความแปลกใจของเราคือการที่หนังสือ Y ได้กลายเป็นกลุ่มหนังสือที่ผู้คนยอมรับกันมากขึ้นจนถึงขั้นสามารถจัดงานแบบเดี่ยวๆ ขึ้นมาได้
และความแปลกใจนั้นเป็นจุดเริ่มต้นเข้าไปพูดคุยกับทีมงานของงาน Y Book Fair ที่ให้เกียรติตอบคำถามของเราในครั้งนี้ทั้งที่น่าจะวุ่นวายอยู่ในช่วงเวลาใกล้จัดงาน สิ่งที่ทีมงานตอบมานั้นก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความสนิทสนมของผู้เสพและผู้ผลิตนิยาย Y และพวกเขายังอยากบอกเล่าถึงแนวคิดบางอย่างที่คนภายนอกเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้อ่านนิยายกลุ่มนี้ด้วย
The MATTER : ที่มาที่ไปของการจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรครับ?
ทีมงาน Y Book Fair : ทีมผู้จัดงานเป็นกลุ่มนักอ่านนิยายแนว Y อยู่แล้ว จึงมีความคิดที่จะจัดงานหนังสือที่รวมเฉพาะ นิยายแนว Y หรือ Boy’s Love เท่านั้น เพื่อจะเป็นพื้นที่ให้แฟนนิยายกลุ่มนี้ได้มาพบปะกันโดยเฉพาะ เพราะก่อนหน้านี้เองก็มีการจัดอีเวนต์คล้ายๆ กันนี้มาก่อนแล้วค่ะ เช่น งานฟิกชั่น (นิยายที่กลุ่มแฟนคลับแต่งกันเอง) หรือ งานการ์ตูนหลายๆ งาน ก็มีการวางขายหนังสือกลุ่ม Y ด้วย
แต่ทีมงานยังไม่เคยเห็นงานที่จำหน่ายเฉพาะ นิยาย Y อย่างเดียวมาก่อน แต่ก็มีงานอื่นๆ ซึ่งค่อนข้างเป็นงานปิด ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากเท่าไรนัก
เราอยากจะจัดงานที่สามารถกระจายข่าวไปถึงผู้คนในสังคมได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ทุกๆ คน ไม่ใช่เฉพาะแฟนนิยายแนว Y ได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของตลาดนวนิยายแนวนี้ ที่กำลังขยายตัวและได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ
The MATTER : จากที่อธิบายมาเมื่อครู่ได้มีการพูดถึงงานการ์ตูนและสถานที่แจกใบปลิวตามบูธของนิยายกับการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย (อาทิ กลุ่มบูธที่อยู่ในโซน Book Wonderland) คิดว่าวัฒนธรรมสายโอตาคุนี้มีผลทำให้ผลงานสาย Y (ไม่ว่าจะ Yaoi หรือ Yuri) เข้าสู่คนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า?
ทีมงาน Y Book Fair : วัฒนธรรมโอตาคุทำให้ผลงานแนว Y เข้าสู่คนรุ่นใหม่แน่นอนค่ะ เพราะหากพูดกันตามจริง วัฒนธรรมโอตาคุอาจเรียกได้ว่าเป็นรากฐานของวัฒนธรรม Y เลยก็ว่าได้
อย่างคำว่า Y เนี่ยก็มาจากศัพท์ญี่ปุ่นคือ Yaoi ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกโดยคนญี่ปุ่น คือ Sakata Yazuko และ Hatsu Rinko ในช่วงปลายยุค 70 คือตอนนั้นเขาแต่ง Doujinshi (การ์ตูนทำมือ) ขึ้นมาโดยยึดหลักของ YAma nashi, Ochi nashi, Imi nashi (山[場]なし、落ちなし、意味なし “ไม่มีจุดพีค ไม่มีจุดสรุป ไม่มีประเด็นอะไรเลย”) ที่กลายเป็นคำว่า YAOI
แล้วพอเข้าสู่ยุคช่วงปลายยุค 1970 ต้นยุค 1980 คำว่า Yaoi ก็ถูกนำไปพูดถึงงานการ์ตูนที่เกี่ยวกับความรักของ ชาย-ชาย แล้วความสัมพันธ์รูปแบบนี้ ก็ยังปรากฏในการ์ตูนญี่ปุ่นของ Takemiya Keiko เรื่อง Kaza to Ki no Uta ในปี 1976 ซึ่งถือเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่พูดถึงความรักชาย-ชาย หรือ Shonen-ai (Boy’s love) ก็เลยคิดว่ารากของความ Y จริงๆแล้วก็มาจากการ์ตูน (โอตาคุ) นี่แหละ แล้วเผยแพร่มาจนเริ่มเป็นสื่อประเภทอื่นๆ นอกจากการ์ตูน คือ นวนิยาย ซีรีส์ ต่างๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ์ตูน Y ได้ที่นี่
The MATTER : ขอย้อนกลับมาที่การจัดงานครับ ถึงจะบอกว่าตัวงานจะจัดเป็นงานเฉพาะแต่ก็มีสำนักพิมพ์มารวมตัวกันมากถึงราวๆ 30 สำนัก ไม่ทราบว่ามีปัญหาในการรวมตัวกันไหมครับ?
ทีมงาน Y Book Fair : แทบไม่มีปัญหาเลยค่ะ ส่วนใหญ่สำนักพิมพ์นิยาย Y จะเป็นสำนักพิมพ์ขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก และทุกๆ เจ้าค่อนข้างอยู่อย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เหมือนทุกคนเป็นเพื่อนกัน ช่วยกันผลักดันตลาดนิยาย Y สู่สังคมมากกว่า จึงไม่ได้มีปัญหาด้านการแข่งขันมากนักค่ะ
The MATTER : ตอนนี้คนส่วนใหญ่จะมองว่านิยาย Y มีความนิยมมากขึ้นเพราะถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก สำหรับทีมผู้จัดงานแล้ว คิดว่าเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่?
ทีมงาน Y Book Fair : คิดว่ามีส่วน เพราะแต่ก่อนนิยาย Y เป็นตลาดที่เล็กมาก เป็นกลุ่มเฉพาะที่มีคนอ่านอยู่น้อยมากถ้าเทียบกับนิยายประเภทอื่น คือถ้าไม่ได้ติดตามสาย Y จริงๆ ก็น่าจะไม่รู้จักเลย อาจจะไม่รู้ว่ามีนิยายแนวนี้อยู่เลยก็ได้
แล้วแต่ก่อนอย่างที่ทราบว่า ความรักรูปแบบนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ผู้ผลิตสื่อแนว Y ก็ถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงออก พิมพ์หนังสือก็ขายกันตามร้านเล็กๆ หรือเว็บบอร์ดเล็กๆ แต่พอสมัยนี้ความ Y เริ่มเป็นกระแส คนยอมรับมากขึ้น ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหลักอย่าง TV หรือ Social Media อย่างเปิดเผย ก็ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าถึงสื่อแนว Y มากขึ้น พอคนดูซีรีส์แล้วชอบก็อาจจะตามมาอ่านนิยายต้นฉบับ ทำให้ตลาดนิยาย Y เป็นที่นิยม มีคนอ่านเพิ่มขึ้นค่ะ
The MATTER : แล้วที่มีคนบอกว่านิยาย Y ไม่ว่าจะ Yuri หรือ Yaoi มักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องใต้สะดือเป็นหลัก ในฐานะผู้จัดงาน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ครับ?
ทีมงาน Y Book Fair : ทีมงานมองว่าหากพูดถึงนิยาย Y ทางพวกเราไม่ได้มองเป็นเรื่องใต้สะดือไปเสียทั้งหมด มันก็คล้ายกับวรรณกรรมขึ้นชื่อหลายๆ เรื่อง ที่สอดแทรกเรื่องอย่างว่าหรือฉากอัศจรรย์เข้าไป แต่กลับถูกมองว่าเป็นงานเขียนที่ดี หรือได้พื้นที่สื่ออย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่อง 50 Shades Of Gray
เมื่อในปัจจุบันนิยาย Y ถูกนำมาวางแผงบนร้านหนังสืออย่างเปิดเผย มีสำนักพิมพ์เข้ามาดูแลและทำให้ถูกต้องหลายเจ้า เมื่อมีการแข่งขัน ก็มีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้วงการนิยาย Y ของไทยก็ดีขึ้นตามลำดับ และแบ่งออกไปหลายหมวดหมู่มากยิ่งขึ้น อย่างนิยาย Y ที่เป็นแนวแฟนตาชี, แอคชั่น, นิยายรักโรแมนติก ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฉากล่อแหลมเลยแม้แต่น้อย
ดังนั้นส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดที่บอกว่า นิยาย Y ทั้ง Yaoi และ Yuri มุ่งเน้นไปเรื่องนั้นเพียงอย่างเดียว
…หรืออย่างน้อยเราในฐานะคนที่เสพสื่อด้านนี้เอง ก็ไม่ได้ตั้งใจหาอ่านเฉพาะ นิยาย Y ที่มีฉากอย่างว่าเพียงอย่างเดียว ออกจะไม่เห็นด้วยเสียด้วยซ้ำหากนิยายบางเรื่องเน้นเรื่องอย่างว่ามากจนเกินไปจนหาสาระไม่เจอ อันนี้พูดถึงทั้งนิยาย Y และนิยายทั่วๆ ไปเลยนะคะ
The MATTER : เราพอจะเห็นแล้วว่านิยาย Y เยอะขึ้นมากๆ แล้วในต่างประเทศมีนิยายกลุ่ม Y อยู่บ้างหรือไม่ครับ?
ทีมงาน Y Book Fair : มีค่ะ จริงๆ คิดว่ามีผลงานแนวนี้แฝงตัวอยู่ทั่วโลกแหละ (หัวเราะ) ถ้าเอาที่เด่นๆ ที่คนไทยคุ้นเคยกันก็จะเป็นพวก นิยาย/การ์ตูนวาย ของ จีน กับ เกาหลี จะค่อนข้างเยอะทีเดียว อย่างนิยายวายจีนที่ดังๆ ถึงขนาดได้ทำเป็นซีรีส์ ก็จะมีหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่นผลงานของ Chai Jidan กับ Lan Lin ที่ดังมากๆ
ซึ่งในไทยเองก็มีสำนักพิมพ์ที่นำนิยาย Y ภาษาจีนมาแปลค่อนข้างเยอะค่ะ โดยหลักๆ ก็จะมีทางสำนักพิมพ์ Fu Novels ที่จัดทำเฉพาะนิยายแปลจากภาษาจีนเท่านั้น ส่วนทางเกาหลีเองก็มีนิยาย Y เช่นกัน ตอนนี้ที่ดังมากเลยคือนิยายเรื่อง Kill the Lights ของ Jangryang ที่ตอนนี้สำนักพิมพ์ Rose Publishing (ในเครืออมรินทร์) นำมาแปลเป็นภาษาไทย
ส่วนทางตะวันตกก็มีนะคะ ทางทีมงานไม่ค่อยสันทัดนัก และรู้รายละเอียดไม่ค่อยมาก ที่เคยเห็นผ่านตาอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ Simon vs The Homo Sapiens Agenda ของ Becky Albertalli ที่ฉบับภาษาไทยของสำนักพิมพ์ Taisei Books ใช้ชื่อไทยว่า อีเมลลับฉบับไซมอน ค่ะ
The MATER : ต้องขอรบกวนให้ทางทีมจัดงาน Y Book Fair ช่วยแนะนำนิยาย Y ให้กับนักอ่านที่อยากจะลองสัมผัสสิ่งพิมพ์กลุ่มนี้ ว่ามีเรื่องใดน่าสนใจบ้างครับ?
ทีมงาน Y Book Fair : ถ้ามือใหม่เลยจริงๆ แบบยังไม่เคยอ่านนิยายที่เป็นความรักของเพศเดียวกันมาก่อน ถ้าให้ไปอ่านนิยาย Y เต็มตัวเลย อาจจะมีตกใจบ้างค่ะ ถ้าจิตอ่อนแนะนำให้เริ่มอ่านนิยาย “กลิ่นอาย Y” ก่อน คือนิยายที่ไม่ใช่นิยายวาย แต่มีกลิ่นวาย คือนิยายเรื่องนั้นอาจไม่มีนางเอกเป็นผู้หญิงหรือไม่เน้นตัวละครหญิงเลย และมีฉากที่พอให้ “จิ้น” ตัวละครผู้ชายในเรื่องได้ อาทิ นิยายของ สำนักพิมพ์ JLIT ตอนนี้จับผลงานวรรณกรรมของ เอโดงาวะ รัมโป มาแปล ซึ่งท่านที่ติดตามประวัติและผลงานของรัมโปมาจะพอทราบว่า งานของเขามีแฝงกลิ่น Y อยู่แล้ว ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจดีนะคะ เรื่อง ฆาตกรรมบนเนิน D ค่ะ
ส่วนนิยายวายเลยมีทีมงานอีกท่านกระซิบมาให้ลองเริ่มต้นด้วยเรื่อง กรุงเทพฯ ความทรงจำในฤดูร้อน ของ สำนักพิมพ์ Lucea ค่ะ
The MATTER : มีเรื่องไหนที่สังคมมองคนอ่านนิยาย Y แบบเข้าใจผิดแปลกไปจากความเป็นจริงบ้างไหมครับ และมีอะไรอยากจะบอกถึงคนที่เข้าใจผิดบ้างครับ?
ทีมงาน Y Book Fair : เรื่องที่หลายคนมีความเข้าใจผิดก็คือ คนที่อ่านนิยาย Y จะต้องเป็นผู้ที่ชื่นชอบเพศเดียวกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะนักอ่านเพศชายที่อ่านนิยาย Y แล้วถูกตัดสินว่าเป็นเกย์ แม้เแต่สาว Y ก็มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่ม LGBTQ ด้วยค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวเลย ทุกคนอ่านนิยาย Y ได้หมด โดยที่ไม่ต้องเป็นเกย์, เลสเบี้ยน หรือ LGBTQ
ส่วนตัวเคยได้สัมภาษณ์ผู้อ่านนิยายแนว Y มีบางคนเป็นผู้หญิงปกติ ชื่นชอบผู้ชายปกติ และยังอ่านนิยายชาย-หญิงปกติ บางคนก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าสาว Y แต่เขาแค่อ่านนิยาย Y เพราะเขามองว่ามันเป็นสิ่งพิมพ์รูปแบบหนึ่งที่สามารถ Entertain เขาได้ ไม่ได้ปิดกั้นว่าตัวละครเป็นเพศเดียวกันแล้วจะอ่านไม่ได้
เลยอยากฝากถึงคนที่อาจจะยังเข้าใจผิดตรงนี้อยู่ ให้มองใหม่ว่า ทุกคนสามารถอ่านนิยายแนว Y ได้ ไม่ได้ถือว่านิยายแนวนี้จำกัดให้กับกลุ่มคนอ่านเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และงานเขียน สื่อสิ่งพิมพ์/ซีรีส์/ละครเองที่เกี่ยวกับ Y ก็เป็นเพียงสื่อรูปแบบหนึ่งที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้รับสาร เป็นการตอบรับกับความชอบ (preference) ของแต่ละบุคคลเท่านั้น