คำว่า ‘คนอื่น’ ได้ซ่อนความหมายของการผลักให้มนุษย์หรือคนกลุ่มนั้นกลายเป็นคนชายขอบในสังคม หรือสร้างลักษณะของคนที่แปลกแตกต่างไปจากตัวเองในนัยยะของความไม่เท่าเทียม เช่น วาทกรรมว่าด้วย ‘ชาวเขา’ ที่รัฐไทยสมัยใหม่สร้างภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขาให้เป็นคนทำลายป่าและค้ายาเสพติด (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2541) ความเป็นอื่น หรือ otherness จึงปรากฏขึ้น เมื่อมี ‘ชาวเขา’ จึงมีคำว่า ‘ชาวเรา’ ซึ่งสะท้อนขั้วตรงข้ามที่แตกต่าง เส้นแบ่ง และชนชั้นที่ไม่เท่ากัน
นอกจากชาวเขา ยังมีคำใช้เรียกคนอื่น เช่น ‘ต่างด้าว’ ที่ยิ่งย้ำว่าพวกเขาเหล่านั้นมาจากคนละโลก เป็นเอเลี่ยนที่มาจากคนละดวงดาวกับตัวเอง สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทำไมจึงเรียก ‘แรงงานต่างด้าว’ เน้นเฉพาะแรงงานจากพม่า ลาว กัมพูชา แต่แรงงานจากฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่ร้านอาหารหรูในกรุงเทพฯ กลับใช้คำว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ แทน? ผมเคยนั่งฟังบรรยายโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ใช้คำสองคำนี้ในการบรรยายครั้งเดียวกัน แต่ใช้เรียกคนสองกลุ่มประเทศนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง
จนมาถึงกรณีของคนโรฮิงญาที่เห็นอย่างชัดเจนว่าต่างคนต่างมองพวกเขาเกินความ ‘ความเป็นอื่น’ ที่เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ หลายคนมักได้ยินความคิดเห็นทำนองว่า “ถ้าสงสารก็รับเอาไปอยู่ที่บ้านคุณสิ” แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนได้ทดลองเปิดบ้านให้คนโรฮิงญาเข้ามาอยู่ ได้มาสบตา มาพูดคุยกับผู้คน ในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ณณฐ ธนพรรพี ศิลปินรุ่นใหม่ในโครงการ EARLY YEARS PROJECT #3: COEVAL โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เขาเริ่มจากความสนใจเรื่องการเคลื่อนย้ายของคนและการพลัดถิ่น ณณฐเปิดงานโดยเชิญ ‘บังนู’ คนโรฮิงญาที่ขายโรตีในกรุงเทพฯ มาทำโรตีให้ผู้คนที่มาร่วมงานกิน พร้อมๆ กับให้ทุกคนได้ทำความรู้จักคนโรฮิงญาที่ยืนอยู่ตรงหน้าไปพร้อมๆ กันในพื้นที่หอศิลป์แห่งนี้
ผมเดินเข้ามาดูงานของณณฐครั้งแรกหลังจากวันเปิดงานและเกิดความประหลาดใจเพราะสงสัยว่ากำลังเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของใครสักคนหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ความน่าสนใจของกิจกรรมโครงการ EARLY YEARS คือ การให้ศิลปินแต่ละคนค่อยๆ พัฒนางานของตัวเองไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาประมาณ 3 เดือน และในช่วงอาทิตย์แรกของโครงการ สิ่งที่ณณฐทำคือ ย้ายข้าวของในห้องของบังนูมาตั้งไว้ในพื้นที่สี่เหลี่ยมของหอศิลป์ฯ และวางไว้ทิ้งอย่างนั้น เหมือนคนเพิ่งขนของเสร็จแล้วยังไม่มีเวลาจัดการ โต๊ะ ตู้ โซฟา ชั้นวางของ รวมถึงเอกสารต่างๆ จึงวางกระจายทั่วห้อง ตอนที่ผมเดินเข้าไปครั้งแรกโดยที่ไม่มีใครอยู่ตรงนั้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ากำลังบุกรุกไปในบ้านของคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก
สองอาทิตย์ต่อมา ผมกลับไปดูงานของณณฐอีกครั้ง คราวนี้ผมได้เจอกับบังนูที่กำลังจัดวางเอกสาร หนังสือ ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขาตัดแปะเก็บเอาไว้ บังนูรู้ตัวเองดีว่าเขาอยู่ในพื้นที่หอศิลป์ และพื้นที่สี่เหลี่ยมตรงนั้นกำลังจัดแสดงเรื่องราวชีวิตของเขา จึงไม่แปลกใจนักที่เขาแนะนำตัวเองว่า “ผมเป็นศิลปิน” ของงานนี้ โดยมีณณฐที่ทำงานร่วมกับเขา บังนูเป็นคนจัดวางข้าวของใหม่ให้เข้าที่เข้าทาง ส่วนณณฐนำเสนอชีวิตของบังนูผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง No Man’s Land ความยาว 20:22 นาที แล้วฉายอยู่บนผนังห้องเพื่อประกอบชีวิตของบังนูย้อนกลับไปเยี่ยมบ้านที่ชายแดนไทย-พม่าและเล่าเรื่องราวการเดินทางของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในห้องนั้น
วิธีการที่ณณฐใช้ในการนำเสนอประเด็นชีวิตของคนโรฮิงญาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางคือ การย้ายข้าวของบังนูจากบ้านของเขามาสู่พื้นที่หอศิลป์ นอกจากณณฐจะนำเสนอมุมมองเรื่อง การเคลื่อนย้าย (mobility) ที่กำลังได้รับความสนใจในทางสังคมศาสตร์แล้ว ยังเป็นการหมุนกลับ แทนที่จะให้คนโรฮิงญาเข้าไปอยู่บ้านของคุณ เพื่อจะได้เห็นตัวตนของเขาว่าเป็นอย่างไร แต่ณณฐเชื้อเชิญให้คุณต้องเดินเข้ามาอยู่ในบ้านของเขา มองเห็นวัฒนธรรมของเขา รับรู้สิ่งที่เขาอยากนำเสนอและเล่าให้ฟัง
บังนูหยิบเอารูปและป้ายต่างๆ ที่เขาภูมิใจนำเสนอให้ทุกคนที่เดินเข้ามาดูในนิทรรศการนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปจากรายการโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์เขา หรือป้ายเชิญคนมากินโรตีฟรีในช่วงวันพ่อ ภาพถ่ายต่างๆ ของบังนูที่ตั้งโชว์ในชั้นวางของบอกอะไรหลายอย่างกับคนที่เข้าไปดู สิ่งที่ผมชอบคือ บังนูปรินต์รูปบางรูปบนเสื้อยืดสีขาวของเขาและใส่มาพบปะกับผู้คนในหอศิลป์ด้วย ภาพถ่ายจึงทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เป็นภาพแทนประสบการณ์ชีวิตของเขาเองและคนโรฮิงญาคนอื่นๆ และกลายเป็นวิธีหนึ่งที่บังนูพยายามดึงตัวเองเข้าไปในศูนย์กลางเพื่อลดความเป็นอื่นของตัวเองในสังคมคนไทย
ในภาพยนตร์สารคดีของณณฐ ระหว่างที่สังเกตความสัมพันธ์และสังคมของบังนูตอนกลับไปเยี่ยมบ้านที่ชายแดนแล้ว เขายังบันทึกบทกวีเพลงถึงชีวิตการพลัดถิ่นของคนโรฮิงญาที่เดินทางไปเรื่อยๆ จากบ้านเกิดเมืองนอนไปยังที่ต่างๆ
“เจ้านกขุนทองของฉัน เจ้านกขุนทองของฉัน บินจากเมืองโรฮังออกไป
เจ้านกขุนทองของฉัน เจ้านกขุนทองของฉัน ทิ้งบ้านทิ้งเมืองไป
เจ้านกขุนทองของฉัน บินร่อนไปประเทศอื่น
เจ้านกขุนทองของฉัน อยากกลับแต่กลับไม่ได้
อยากกลับไปรังทอง อยากกลับไปหาพ่อแม่อันล้ำค่า”
บทกวีเพลงที่บังนูร้องในเรื่องนี้ต้องการลดความรู้สึกเป็นอื่นที่ตนเองประสบในการมีชีวิตที่อยู่ต่างแดน ที่ไม่ว่าแต่ละคนจะอยู่หนแห่งใดในโลกกว้างใบนี้ ทุกคนยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ของตัวเอง ในบทความเรื่อง ‘เรา ผู้ลี้ภัย’ ของ Smyczyńska (2018) ตั้งคำถามกับการ (ไม่) ทำให้เป็นอื่นของการพลัดถิ่นจากเรื่องเล่าเชิงทัศนาที่ปรากฏในบทกวี โดยบทกวีที่ขับร้องมานั้นเป็นสัญญะสะท้อนเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอดีตกับปัจจุบันของผู้พลัดถิ่น ค่อยๆ ปรากฏเป็นความทรงจำทางวัฒนธรรม และเริ่มทำงานกับอารมณ์จากตัวสื่อที่ส่งสารออกมา ถ้อยคำหนึ่งที่สนทนากับงานของณณฐได้อย่างดีคือ “บางครั้ง เราคิดว่าเราเป็นแขกของประเทศนี้ที่เราคิดว่าเป็นบ้านของเราและเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นที่ของเรา” บทเพลงที่บังนูขับร้องคือสิ่งที่ณณฐต้องการเสนอถึงการเดินทางย้อนกลับไปในความทรงจำ การกลับไปตามหาบ้านของบังนูที่จากบ้านมาร่วม 30 ปี
เช่นเดียวกับงานชาติพันธุ์วรรณาเชิงทัศนาของคุณวุฒิ บุญฤกษ์ (2558) ต่อผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญาที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชนชายแดนแม่สอด ภาพของชาวโรฮิงญาที่ต่างพยายามสร้างความกลมกลืนให้เข้ากับชุมชนมุสลิมท้องถิ่น ถึงแม้จะไม่สามารถหลุดพ้นจากสภาวะความเป็นอื่นได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้เชื่อมและสัมพันธ์กับบ้านใหม่ของพวกเขา
No Man’s Land ของณณฐจึงใช้พื้นที่ชายแดนที่มีแม่น้ำเมยกั้นระหว่างรัฐไทยและพม่าตรงเมืองแม่สอด เส้นแบ่งกลางชายแดนมีพื้นที่กึ่งกลางที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครครอบครอง เช่นเดียวกับความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ที่เคลื่อนย้ายตามเส้นทางชีวิตของแรงงานจากพม่าและที่อื่นๆ บ้านหลังใหม่ของบังนูจากพม่าข้ามมาอยู่ในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบ้านของเขา และเป็นอยู่ทุกที่ แม้จะเพียงชั่วคราวในพื้นที่หอศิลป์
ดังที่ณณฐกล่าวไว้ในถ้อยแถลงของศิลปินที่มองเห็นเส้นแม่น้ำที่ชายแดนเป็นดั่งการไหลของน้ำที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นเชื่อมโยงกัน และทุกคนต่างมีสภาพเหมือนเป็นผู้อพยพที่แสวงหาบ้านใหม่ที่บางครั้งเป็นพื้นที่ไม่คุ้นเคยหรือแปลกภาษา วัฒนธรรม เป็นการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปพื้นที่ใหม่ของสายน้ำอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น และทุกคนต่างเป็น ‘คนแปลกหน้า’ ที่มาพบเจอและแยกย้ายไปในพื้นที่และเวลาหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
คุณวุฒิ บุญฤกษ์. 2558. “ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญา: ภาพท่ี “ซุกซ่อน” ในชุมชนมุสลิมชายแดนไทย-พม่า,” วารสารธรรมศาสตร์. 34(3): 1-26.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. 2541. “วาทกรรมว่าด้วย “ชาวเขา”,” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 11(1) กรกฎาคม-ธันวาคม, 92-135.
Smyczyńska, Katarzyna. 2018. “‘We refugees’: (Un)othering in visual narratives on displacement.” Nordic Journal of English Studies 17(1):217-236.