คำว่า ‘สืบสันดาน’ เป็นการเลือกใช้คำที่น่าสนใจสำหรับซีรีส์ที่ว่าด้วยภาพของชนชั้นสูง หรือเหล่าคนรวยที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาดภายใต้ฉากหน้าของความหรูหราสวยงาม
คำว่า สืบสันดาน หมายถึงผู้รับสืบทอดสิ่งต่างๆ ทางกฎหมาย และอีกนัยอาจหมายถึงการสืบทอดลักษณะนิสัยที่มักสัมพันธ์กับสายเลือด ในการสืบทอดมรดกจึงมักเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่ง และความลับบางอย่างที่สืบต่อกันภายในครอบครัว
ประเด็นเรื่องชนชั้น การต่อสู้ทางชนชั้น แทบจะเป็นสิ่งที่ปรากฏในวรรณกรรมของมนุษยชาติมาโดยตลอด ภาพของชนชั้นสูงที่มั่งคั่งแต่ชั่วร้าย แทบจะเป็นภาพตัวร้ายในนิทานหรือตำนานต่างๆ ยิ่งในยุคหลัง เมื่อเราเกิดนวนิยายขึ้น ด้วยบริบททางสังคมที่ชนชั้นเริ่มขยายตัวและมีการศึกษา ชนชั้นสูงเองก็เริ่มเสียสถานะที่มักสืบทอดกันด้วยสายเลือด ความสามารถและการให้คุณค่ามักถูกย้ายไปที่ตัวตนหรือความสำเร็จ มากกว่าการเกิดในครอบครัวใดเป็นการเฉพาะ ด้วยการเฟื่องฟูขึ้นของชนชั้นกลาง งานเขียนต่างๆ จึงเป็นตัวแทนของมุมมองและค่านิยม ไปจนถึงสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น
ทว่าการต่อสู้และการนำเสนอภาพแทนของชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นสูงหรือโลกของผู้มีอันจะกินในงานเขียนนั้น มีความซับซ้อนและปรากฏสอดแทรกบทบาทในการขับเน้นแกนเรื่องอยู่ในวรรณกรรมประเภทต่างๆ ถ้าเรามองในภาพรวม ชนชั้นสูงมักถูกนำเสนอในแง่ลบ เป็นชนชั้นที่กำลังเสื่อมสลายลงตามกาลเวลา เป็นตัวแทนจากอดีต เป็นพื้นที่ของความกดขี่ ไปจนถึงการเป็นภาพของความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมในด้านต่างๆ
จากประเด็นเรื่องของชนชั้นและเหล่าผู้มั่งคั่ง The MATTER จึงชวนย้อนอ่านมิติและนัยของเหล่าชนชั้นสูงที่ปรากฏขึ้นในวรรณกรรม จากงานเขียนยุคเปลี่ยนผ่านของไทย ที่ให้ภาพการเติบโตขึ้นของชนชั้นใหม่ในสังคม และย้อนไปถึงงานเขียนประเภทต่างๆ เช่นงานสยองขวัญที่ชนชั้นสูงมักสัมพันธ์กับอดีต เป็นตัวแทนของภูตผีปีศาจอย่างขุนนางดูดเลือดจากแดรกคูล่า หรือกระทั่งงานเขียนแนวสืบสวนที่เขียนขึ้นในช่วงที่สังคมอังกฤษเปลี่ยนแปลงไป ชนชั้นสูงมักเป็นส่วนสำคัญในฉากฆาตกรรม เป็นผู้ถูกฆ่า กระทั่งเป็นฆาตกรเอง และส่งท้ายกระทั่งวรรณกรรมที่เราคุ้นเคย เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ให้ภาพของชนชั้นสูงและค่านิยมต่างๆ ที่กำลังเสื่อมโทรมลง
ข้างหลังภาพ – กุหลาบ สายประดิษฐ์
นวนิยายไทยช่วงก่อนและระหว่าง พ.ศ.2500 เป็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นช่วงเวลาที่ระบบชนชั้นและศักดินาเริ่มคลี่คลาย มีการเกิดขึ้นของกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นจากการศึกษาและการเข้าทำงาน ทั้งในระบบราชการและในพื้นที่อื่นๆ นวนิยายในช่วงนี้จึงมักเขียนโดยกลุ่มคนหัวก้าวหน้าที่เดินทางไปศึกษา หรือมองเห็นโลกในต่างประเทศ นอกจาก ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ถ้าเราพูดถึงภาพแทนของชนชั้นที่ล่มสลาย ข้างหลังภาพ นับเป็นอีกหนึ่งตำนานรักสำคัญที่ได้รับการตีความในมิติทางชนชั้นอย่างสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย
ข้างหลังภาพ คือวรรณกรรมว่าด้วยความรักในประเทศญี่ปุ่นของหม่อมราชวงศ์กีรติ หญิงสาวที่มีสามีแล้ว กับนพพร นักเรียนหนุ่มไทยที่ไปศึกษาต่อ ตัวเรื่องนอกจากจะพูดถึงความรักที่เป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจผิด และความซื่อไร้เดียงสาของนพพร ภาพแทนของคุณหญิงกีรติยังอาจตีความเป็นภาพของความรักข้ามชนชั้น ซึ่งให้ภาพแทนของชนชั้นสูงที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ขนบธรรมเนียม ค่อยๆ อ่อนแอ ก่อนจะสิ้นใจไป
ผู้ดี – ดอกไม้สด
การให้ภาพทางชนชั้น หรือความขัดแย้งทางชนชั้นในวรรณกรรม ค่อนข้างมีความซับซ้อนในตัวเอง นวนิยายของดอกไม้สด หรือหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ เป็นนวนิยายยุคบุกเบิกของไทย เขียนขึ้นในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ความน่าสนใจของนวนิยายของดอกไม้สด คือแม้ว่าผู้เขียนจะเป็นชนชั้นสูง แต่นวนิยายกลับมีความก้าวหน้า เช่น มักพูดถึงผู้หญิงที่ไม่อยู่ในกรอบของจารีตโดยเฉพาะเรื่องการแต่งงาน นวนิยายยังมักจะมองข้ามเรื่องชาติกำเนิด ไปสู่แนวคิดเรื่องการนิยามผู้คนจากพฤติกรรมด้วย
นวนิยายชื่อ ผู้ดี เป็นงานเขียนที่ให้คำอธิบายว่า “ความเป็นผู้ดีไม่ได้อยู่ที่ชาติตระกูลหรือฐานะ แต่ผู้ดีคือผู้ที่ประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ ผู้ดีคือผู้ที่รู้จักรักษาเกียรติของตน มีความอดทนอดกลั้น รู้จักระงับอารมณ์ สำรวมกิริยาวาจา เสียสละ ไม่มักมาก รู้จักให้อภัยคนอื่น และทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน”
Dracula – Bram Stoker
เป็นแวมไพร์ต้องรวย ส่วนใหญ่ว่าด้วยสืบทอดเชื้อสายมาจากขุนนางหรือชนชั้นสูง มักอยู่ในพื้นที่ที่มั่งคั่ง เข้าถึงยาก แวมไพร์ระดับตัวต้นเรื่องคือแดรกคูล่า ของบรามน์ สโตรกเกอร์ (Bram Stoker) แดรกคูล่าได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเจ้าชายวลาดที่ 3 ผู้มีฉายาว่านักเสียบ ด้วยบริบทของวรรณกรรมคือเป็นยุควิคตอเรียน เขียนขึ้นในช่วง ค.ศ.1890 ตัวเรื่องค่อนข้างซับซ้อนด้วยการเล่าผ่านจดหมายและบันทึกต่างๆ รวมความแล้วว่าด้วยการที่แดรกคูล่าต้องการย้ายไปอยู่ลอนดอน และพูดถึงการต่อสู้ของแดรกคูล่า
ด้วยบริบทสังคมในตอนนั้น ลอนดอนค่อนข้างก้าวไปสู่สมัยใหม่แล้ว การกลับมาของแดรกคูล่าจึงแฝงนัยถึงการกลับมาของชนชั้นสูง (aristocracy) ที่มาต่อสู้กับผู้คนที่มีอาชีพต่างๆ หรือชนชั้นกลาง ภาพของแวมไพร์จึงเป็นปีศาจที่คอยสูบเลือดสูบเนื้อ มีความสัมพันธ์กับเลือดและสายเลือด ติดต่อกันด้วยเลือด มีการรับสืบทอดมรดกภายใน เป็นตัวแทนจากอดีตและจากความป่าเถื่อน ซึ่งจริงๆ แล้วโฉมหน้าของแวมไพร์มักจะฉาบไปด้วยความเป็นผู้ดี ความหรูหรา และความรอบรู้ต่างๆ
The Hound of the Baskervilles – Arthur Conan Doyle
ภาพของคนรวยและชนชั้นสูงที่มักจะปรากฏอย่างประหลาดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เรามักเจอได้ในงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งส่วนใหญ่มักพูดถึงการฆาตกรรมในคฤหาสน์ หรือในงานของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ก็มักเกิดขึ้นบนพื้นที่การเดินทางหรูหรา คนที่ถูกสังหาร ผู้ต้องสงสัย กระทั่งการให้ภาพของฆาตกรที่มักให้ภาพทั้งความเปราะบางของชนชั้นสูง ไปจนถึงความพยายามในการรักษาสถานะทางชนชั้นของตัวเองเอาไว้
บริบทของงานสืบสวน ซึ่งเป็นประเภทวรรณกรรมที่คนทั่วไปอ่าน ในบริบทที่ละเอียดขึ้น รวมถึงลักษณะของงาน เช่น งานในยุคทองอย่างงานสืบสวนแบบ Whodunit มักให้ภาพของการฆาตกรรมในคฤหาสน์ห่างไกล ตรงนี้เองสัมพันธ์กับสังคมชนชั้นสูงของอังกฤษที่ค่อยๆ เสื่อมถอยลง การกลับไปสืบทอดคฤหาสน์ในพื้นที่ไกลๆ จึงสัมพันธ์กับเรื่องการถือครองสินทรัพย์ในบริบทสังคมจริง
ตัวอย่างสำคัญ เช่น การสืบสวนของเชอร์ล็อก โฮมส์ในภาค The Hound of the Baskervilles ว่าด้วยการไปยังคฤหาสน์ของตระกูลบาสเกอร์วิลล์ ที่ในอดีตเจ้าของคฤหาสน์มีพฤติกรรมชั่วร้าย และมีตำนานเรื่องสุนัขปีศาจ ในการสืบสวนว่าด้วยการถูกสังหารของผู้สืบทอดมรดก นอกจากการรับสืบทอดคฤหาสน์แล้ว โฮล์มยังสืบด้วยการสังเกตความสัมพันธ์ทางสายเลือด ซึ่งก็คือการสืบสันดานจริงๆ และมองว่าลักษณะชั่วร้ายได้สืบทอดลงมายังเชื้อสายด้วย
The Fall of the House of Usher – Edgar Allan Poe
เรื่องผีและเรื่องสยองขวัญอย่างงานเขียนแนวกอธิก มักให้ภาพการเข้าไปในพื้นที่เฉพาะ เช่น ปราสาทเก่าแก่ โดยในปราสาทเหล่านั้นก็เหมือนกับโลกเฉพาะของเหล่าผู้ดี ที่สืบทอดความมั่งคั่งและความสูงส่งทางสายเลือด ทว่าในพื้นที่อันเก่าแก่เสื่อมโทรมลง เรื่องราวความเสื่อมโทรมในเรื่องสยองทั้งหลายที่ติดมากับบ้าน มักสะท้อนความวิปริตหรือความลับดำมืด ตำนานบ้านผีสิงจึงมักสัมพันธ์กับการล่มสลายลงของชนชั้นสูงที่เคยเป็นเจ้าของบ้าน
The Fall of the House of Usher ให้บรรยากาศของการกลับไปยังบ้านผีสิง และการค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นความเสื่อมสลายของชนชั้นสูงในแบบอเมริกัน เป็นภาพคฤหาสน์ทางตอนใต้ที่เปิดเผยความลับต่างๆ ของครอบครัว ให้ภาพของคฤหาสน์ รวมถึงครอบครัวที่มีความลับดำมืดภายใต้ความหรูหรายิ่งใหญ่ และการสืบทอดทายาทที่กำลังถึงจุดสิ้นสุดลง
The Picture of Dorian Grey – Oscar Wilde
The Picture of Dorian Gray เป็นงานเขียนของออสการ์ ไวด์ (Oscar Wilde) ซึ่งค่อนข้างเป็นตัวละครระดับไอคอน คือคนรักก็รัก แต่ตัวเรื่องพูดถึงดอเรียน เกรย์ ชายหนุ่มผู้เพียบพร้อมทั้งรูปลักษณ์และทรัพย์สมบัติ แต่สุดท้ายกลายเป็นตัวละครต้องสาป เพราะต้องการรักษาความเยาว์วัยไว้จนเกิดเป็นรูปภาพต้องสาปขึ้น ท้ายที่สุด ด้วยความลุ่มหลง จากชายหนุ่มผู้เพียบพร้อมกลับกลายเป็นผู้ที่ลงมือทำเรื่องเลวร้ายได้ ด้านหนึ่งการทำเรื่องชั่วร้ายของตัวละครเองก็มาจากความมั่งคั่งที่สืบทอดลงมา เป็นตัวแทนหนึ่งของผู้ที่ขยายความปรารถนา จากแค่ความสำราญไปสู่ความเป็นอมตะ จนทำให้ตกไปสู่ความชั่วร้ายในท้ายที่สุด
The Hunger Games – Suzanne Collins
ว่าด้วยชนชั้น ก็ต้อง The Hunger Games งานเขียนแบบ Young Adult ที่ว่าด้วยการสร้างโลกแฟนตาซี โดยมักเป็นการวาดภาพโลกแบบดิสโทเปีย เป็นจินตนาการที่วาดระบบทางสังคมที่เป็นรูปธรรม โลก Panem ให้ภาพการกดขี่ในโลกทุนนิยม ทรัพยากรทั้งหมดถูกนำไปป้อนยังพื้นที่ศูนย์กลางอย่างแคปปิตอล ทรัพยากรนี้รวมไปถึงชีวิตของวัยรุ่นที่กลายเป็นเพียงแค่เกม และความบันเทิงของเหล่าชนชั้นสูง
ภาพของชนชั้นสูงใน The Hunger Games มักเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด เป็นกลุ่มคนที่รักษาและได้ประโยชน์จากระบบอันกดขี่ เสพความตายของผู้คนเป็นความบันเทิง นอกจากนี้ งานเขียนที่ว่าด้วยโลกดิสโทเปีย ยังมักจะพูดถึงการปอกเปลือกความเป็นมนุษย์ที่ครอบครองสิ่งต่างๆ เหนือผู้อื่นอยู่เสมอ
Harry Potter – J.K. Rowling
ส่งท้ายด้วยเรื่องธรรมดา แต่มีนัยทางชนชั้นอย่างน่าสนใจอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีงานศึกษาชื่อ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีมายาคติ ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) กับวรรณกรรมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ จากภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีความคิดทางชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นกลาง ด้วยการสร้างภาพชนชั้นสูงเพื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นกลางในมิติต่างๆ
ต่อให้ไม่มีทฤษฎีนี้ แต่จะเห็นได้ว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ค่อนข้างให้ภาพของชนชั้นสูงในฐานะชนชั้นที่เสื่อมทรามและล่มสลาย เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินคนอื่นจากสายเลือด เช่น การนิยามเลือดสีโคลน และการดูถูกคนกลุ่มอื่นๆ โดยตัวเรื่องชี้ให้เห็นว่าสายเลือดไม่ใช่สิ่งสำคัญ โดยเฉพาะต่อความสามารถของการเป็นพ่อมด ตระกูลเก่าแก่เองก็ไม่ได้ค่อยได้เรื่อง เช่น ตระกูลเดรโก และโดยเฉพาะตระกูลแบล็คที่กลายเป็นเพียงอดีต เป็นครอบครัวที่ดูสยดสยอง แม้จะมีตัวละครแง่บวกบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่รอด สุดท้ายพวกตระกูลชนชั้นสูงที่มักเข้าสู่ฝ่ายมืด มุ่งทำลายชีวิตของผู้คน ก็เป็นเพราะความคิดที่เกี่ยวกับสายเลือดและความบริสุทธิ์
อ้างอิงจาก