เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกร่วมกับไข่มุกและเหล่าเพื่อนร่วมชะตากรรมในบ้านเทวสถิตย์ไพศาล…
ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นคนตัวเล็ก ไร้อำนาจ ต้องก้มหน้าทำงานหนักเพื่อเอาชีวิตรอด ยอมทุกอย่างเพื่อให้ปลายเดือนมีเงินโอนเข้าบัญชีเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แต่เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนบันไดทางเศรษฐกิจ เราจะเห็นเจ้าสัวผู้ร่ำรวย ที่แวดล้อมด้วยครอบครัว พวกเขาครอบครองความมั่งคั่งที่ใช้ทั้งชาติก็คงไม่หมด ความรวยที่เปรียบเสมือนสิ่งวิเศษที่เนรมิตทุกอย่างได้ตามใจฝันและซื้อได้กระทั่งกฎหมาย
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของซีรีส์สืบสันดาน*
แม้เหล่าบริวารในบ้านเทวสถิตย์ไพศาลจะร่วมแรงร่วมใจกับไข่มุกเพื่อโค่นล้ม ‘ยักษ์ใหญ่’ ได้สำเร็จ แต่ชีวิตจริงย่อมต่างจากในละคร เพราะคงมีน้อยคนที่คิดวางแผนจริงจังหวังร่ำรวยจากการฉวยโอกาสชิงมรดกจากมหาเศรษฐี และคงน้อยคนยิ่งกว่าที่ลงมือทำจริง และคงมีเพียงหยิบมือที่ประสบผลดังใจหวัง
ชวนให้สงสัยว่า สำหรับปุถุชนคนเดินถนนที่เกิดในครอบครัวธรรมดาจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนในการไต่ขึ้นลำดับชั้นทางเศรษฐกิจแบบไม่ต้องวางแผนฆาตกรรมหรือช่วงชิงทรัพย์สมบัติของใคร
ปัญหาตั้งแต่ก้าวแรก
ก่อนจะออกสตาร์ท ขออธิบายสักหน่อยว่าเหล่านักเศรษฐศาสตร์วัด ‘ลำดับชั้น’ ทางเศรษฐกิจโดยพิจารณาจากรายได้เป็นหลัก โดยนำประชาชนในประเทศมาเรียงลำดับรายได้จากน้อยไปมากแล้วจัดใส่อาจจะเป็น 10 กลุ่มซึ่งนักสถิติเรียกว่าเดไซล์ เพื่อให้เข้าใจง่าย ลองจินตนาการลำดับชั้นทางเศรษฐกิจของคนไทยว่าเป็นเหมือนบันได 10 ขั้น โดยคนที่ยืนอยู่ขั้นแรกคือคนที่จนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ และคนที่อยู่ขั้นสุดท้ายคือคนที่ร่ำรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์
หากต้องการไต่ลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ หนึ่งในปัจจัยที่งานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริงคือการศึกษา ยิ่งเรียนจบสูงมากเท่าไรก็จะมีโอกาสขยับรายได้ของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะถ้าเลือกเรียนรู้ทักษะที่มีความต้องการสูงในช่วงเวลานั้นก็จะยิ่งมีโอกาสขยับลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ การวางแผนทางการเงินและการลงทุน รวมถึงความโชคดีโชคร้ายเองก็เป็นตัวกำหนดการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจเช่นกัน
เห็นไหมการเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจไม่ยากเลย!?
แต่เดี๋ยวนะ.. นี่มันไม่ยากตรงไหนขอให้เอาปากกามาวง เพราะทุกอย่างที่ผมพูดมาข้างต้นไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ลองนึกเปรียบเทียบดูก็ได้ครับว่าถ้าเราเกิดในครอบครัวที่ยืนอยู่บนบันไดขั้นที่หนึ่ง กับลูกเศรษฐีที่ลืมตาอุแว้แรกก็อยู่บนบันไดขั้นที่สิบ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ และเรียนรู้เรื่องการเงินย่อมแตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า
นี่แหละคือสิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนระดับตำนานเรียกว่า ‘หวยรังไข่ (Ovarian Lottery)’ เพราะไม่ว่าใครก็เลือกไม่ได้ว่าจะเกิดในครอบครัวยากหรือดีมีหรือจน แต่ผลของหวยใบนั้นกลับกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ในการกำหนดสถานะทางเศรษฐกิจในอนาคต คุณปู่ยังย้ำอีกว่าเราควรออกแบบสังคมที่ไม่ทิ้ง ‘คนโชคร้าย’ ซึ่งเกิดในครอบครัวไม่สมบูรณ์พร้อมไว้ข้างหลัง
ความยากจนที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ปัจจัยที่ชี้วัดลำดับชั้นทางเศรษฐกิจอย่างการศึกษานั้นวัดค่าได้ไม่ยากและมีข้อมูลค่อนข้างครบครัน เหล่านักเศรษฐศาสตร์จึงหยิบตัวชี้วัดดังกล่าวมาใช้เพื่อพิจารณา ‘การไต่ลำดับชั้นทางเศรษฐกิจข้ามรุ่น (Inter-generational Mobility)’ โดยเปรียบเทียบว่าระดับการศึกษาของคนรุ่นลูกกับคนรุ่นพ่อแม่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ในโลกอุดมคติ ไม่ว่าเด็กจะเกิดจากบ้านหลังไหนก็มีโอกาสการศึกษาเท่ากัน ระดับการศึกษาของคนรุ่นลูกย่อมไม่สัมพันธ์กับคนรุ่นพ่อแม่แต่อย่างใด
ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดในประเทศไทยพบว่า ระดับการศึกษาของผู้ปกครองโดยเฉพาะพ่อส่งผลอย่างยิ่งต่อระดับการศึกษาของลูก หากการศึกษาของพ่อแม่เพิ่มขึ้น 1 ปี การศึกษาของลูกก็จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 2 – 3 ปี ข้อเท็จจริงนี้นับว่าน่ากังวล เพราะสะท้อนว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวซึ่งพ่อแม่ไม่ได้เรียนสูงก็จะไม่ได้เรียนต่อจนจบสูงนัก ส่วนบ้านไหนที่พ่อแม่เรียนสูงก็จะเพิ่มโอกาสส่งเสียลูกให้เรียนสูงขึ้นไปอีกในอนาคต การเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจจึงยากจะเกิดขึ้นด้วยการศึกษา
ในทางกลับกัน หากพิจารณาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสวีเดน จะพบว่าการที่พ่อแม่เรียนสูงขึ้น 1 ปี การศึกษาลูกจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.07 ปีเท่านั้น หรือเรียกได้ว่าไม่สัมพันธ์กันด้วยซ้ำ เท่ากับว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะมาจากบ้านที่พ่อแม่จะจบมัธยมปลายหรือปริญญาเอกก็มีโอกาสทางการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน
ประเด็นหนึ่งที่นับว่าน่าแปลกใจคือรัฐบาลไทยใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรีหรือเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ผลลัพธ์ข้างต้นชวนให้ตั้งคำถามว่างบประมาณดังกล่าวมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
ดินแดนแล้งโอกาส?
โอกาสการไต่ลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคือความหวังและความฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่คงจะเข้าใจดีกว่าวาดฝันว่าอย่างน้อยลูกจะไม่ต้องมาลำบากเหมือนกับตัวเองในปัจจุบัน แต่หากพิจารณาจากตัวเลขการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจในประเทศไทยแล้ว ความหวังดังกล่าวนับว่ายากจะเป็นความจริง
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาการเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในระยะกลางโดยพิจารณาจากรายได้พบข้อสรุปที่น่าภาคภูมิใจว่าประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเท่าที่มีการศึกษาวิจัย หากแบ่งลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเป็น 10 ขั้น เราจะมีโอกาสเฉลี่ยเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่จะกระโดดขึ้นบันไดทางเศรษฐกิจสองขั้น
โดยคนที่มีโอกาสเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจมากกว่า
คือผู้ชายและคนที่ทำงานในระบบ
แม้ว่าอนาคตในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของปุถุชนคนธรรมดาอาจไม่สดใสนัก แต่เหล่ามหาเศรษฐีคนไทยนับว่าผลงานโดดเด่นเพราะสัดส่วนคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แรกของไทยมีความน่าจะเป็นที่สูงที่สุดในโลกในการคงสถานะความร่ำรวยของตัวเองไว้ เรียกได้ว่ากอดความมั่งคั่งของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่นกว่าประเทศไหนๆ
ผลการวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าคุณเป็นคนไทย ‘โชค’ ของการเกิดเป็นลูกในครอบครัวฐานะอย่างไรนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากทั้งต่อระดับการศึกษาและสถานะทางเศรษฐกิจ เพราะความหนืดในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจส่งผลให้คนรุ่นพ่อแม่เหลื่อมล้ำอย่างไร รุ่นลูกหลานก็มีแนวโน้มสูงว่าจะเหลื่อมล้ำต่อไปเช่นนั้น
การไต่ลำดับชั้นทางเศรษฐกิจในไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงต้องแก้ด้วยนโยบายผ่านภาคการเมืองแทนที่จะบีบบังคับให้ปัจเจกชนดิ้นรนพยายามทำงานหนักมากขึ้นเพื่อหวังลืมตาอ้าปาก เพราะตราบใดที่ประเทศไทยยังเป็นดินแดนแล้งโอกาส ต่อให้มุ่งมั่นพยายามมากเพียงใดก็จะมีคนเพียงจำนวนหยิบมือเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ
อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจเบ้ปากมองบนเพราะมันช่างฟังเป็นข้อเสนอของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมที่เรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่เปล่าเลยครับ การเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้ระบบทุนนิยมทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะกลไกตลาดในตอนนี้กำหนดรายได้โดยพิจารณาว่าคุณเป็นลูกใคร แทนที่จะมองว่าคุณสร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มมากแค่ไหนให้กับระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
อ้างอิงจาก
Warren Buffett on the lottery of birth
Intergenerational Transmission of Human Capital: The Case of Thailand