ใคร (ก็) เป็นผู้ร้าย
เวลาที่เกิดอาชญากรรมขึ้นอย่างเหตุสะเทือนขวัญกลางเมือง หนึ่งในความสะเทือนขวัญของเรา คือตัวอาชญากรหรือผู้ก่อเหตุ ซึ่งหลายครั้งหน้าตาภาพลักษณ์ภายนอกอาจดูเป็นเพียงคนธรรมดาๆ และในการก่อเหตุก็เกิดขึ้นโดยที่คนคนนั้นเดินปะปนไปกับเรา แล้วจึงค่อยลงมือจนเกิดความสูญเสียและความรุนแรงต่างๆ เราจึงตั้งคำถามมากมายถึงระบบการคัดกรอง ไปจนถึงความเข้าใจในการเกิดอาชญากร ที่ดูไม่น่าเป็นอาชญากรเหล่านั้นขึ้นมาได้
ด้วยอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนี้ ลักษณะความรู้สึกของคนรอบๆ แม้ต่างดูจะเป็นคนธรรมดา แต่แท้จริงแล้วในผู้คนที่มากหน้าหลายตา ทั้งคนที่ยืนอยู่ข้างๆ เราบนรถ คนที่นั่งกินข้าวโต๊ะถัดไป หรือกระทั่งเพื่อนบ้านที่เราเห็นหน้าทักทายบ้างเป็นครั้งคราว ท่ามกลางความแปลกหน้าของใบหน้าหลายพันคนในเมืองใหญ่ กลับมีความวิตกกังวล รวมถึงอันตรายแอบแฝงอยู่
ในความวิตกกังวลนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับการเกิดขึ้นของวรรณกรรมประเภทหนึ่ง คืองานที่เราเรียกว่า วรรณกรรมสืบสวนสอบสวน (Detective Fiction) ซึ่งต่อมาเรียกรวมๆ ว่าเป็นอาชญนิยาย (Crime Fiction) และเป็นจังหวะเดียวกับที่งานเขียน A Haunting in Venice โดยอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) กลับมาในเวอร์ชั่นภาพยนตร์อีกครั้ง
งานเขียนของอกาธาเป็นงานแนวสืบสวนประเภทที่ได้รับความนิยม เรียกว่า ฮูดันอิท (Whodunit) และถือเป็นกลุ่มงานที่เรียกรวมกันว่า เป็นยุคทองของงานสืบสวน แต่นอกจากความบันเทิงแล้ว การเกิดขึ้นของงานเขียนแนวนี้ ยังสัมพันธ์กับบริบทสังคมเมืองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความรู้สึกของผู้คนต่อการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ และบทบาทของตัวละครนักสืบ ผู้ทำหน้าที่อ่านคนร้ายผ่านวิธีการแบบสมัยใหม่ รวมถึงบทบาทของงานเขียนแนวนี้ ยังอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกที่มีต่อความอันตรายของเมืองใหญ่ด้วย
อาชญนิยายกับบริบทเมืองในศตวรรษที่ 19
งานเขียนแนวสืบสวนที่เราคุ้นเคย เช่น โคนัน รวมถึงซีรีส์ดัง ทั้งจากงานเขียนของอาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ไปจนถึงงานเขียนของอกาธา คริสตี้ งานแนวสืบสวนนี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งงานเขียนที่เป็นหมุดหมายนั้นคือเรื่องสั้นที่ถูกตีพิมพ์ในช่วงปี 1841 ชื่อว่า The Murders in the Rue Morgue โดยเอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) ว่าด้วยเหตุฆาตกรรมที่ถนนรูมอร์ค และถือกันว่าเป็นนวนิยายสืบสวนเรื่องแรก คือตัวเรื่องเล่าถึงการฆาตกรรมประหลาดที่เกิดขึ้นกลางกรุงปารีส และการไขคดีของนักสืบ ออกุสต์ ดูปาค์ (Auguste Dupin) ซึ่งภายหลังโพก็เขียนให้ดูปาค์มีบทบาทกับการไขคดีในเรื่องสั้นอีก 2 เรื่องต่อมา
หลังจากปรากฏนักสืบออกุสต์ ดูปาค์แล้ว ในทศวรรษใกล้ๆ กัน อาร์เธอ โคนัน ดอยส์ก็เริ่มเผยแพร่นักสืบชุดเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ช่วงทศวรรษ 1880 จนมาถึงการเกิดขึ้นของนักสืบปัวโรต์ โดยอกาธาร์ คริสตี้ ราชินีงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวน ที่มีการตีพิมพ์ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา
ลักษณะสำคัญร่วมกันของงานแนวสืบสวนที่เกิดขึ้นตั้งแต่งานเขียนชิ้นแรก ในยุคแรก งานแนวสืบสวนเป็นงานเขียนแนวใหม่ และได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านมาก โดยมักจะมีลักษณะและการดำเนินเรื่องคล้ายกัน เช่น การเกิดคดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฆาตกรรม หรือเป็นคดีปริศนาที่ไขไม่ได้ ดังนั้นในการไขคดี ผู้เขียนจึงมักจะสร้างตัวละครนักสืบที่อาจแปลกไปจากคนทั่วไป และนักสืบนั้นจะใช้หลักการสำคัญต่างๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะการใช้ตรรกะแบบนิรนัย (Deductive Reasoning) ในการเชื่อมโยง ไขคดี ไปจนถึงการหาตัวคนร้าย
การเกิดขึ้นของงานแนวสืบสวน รวมถึงความนิยมในหมู่ผู้อ่าน ก็สัมพันธ์กับบริบทศตวรรษที่ 19 อย่างลึกซึ้ง ด้านหนึ่งคือยุคศตวรรษที่ 19 เป็นสมัยที่เมืองเริ่มก่อตัวขึ้น ผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ เริ่มเกิดภาวะการอยู่ร่วมกันกับคนแปลกหน้า โดยเป็นความเปลี่ยนแปลงของการอยู่อาศัย ที่แต่เดิมในสังคมเกษตร เรามักจะอยู่ในชุมชนขนาดเล็ก มีความรู้จักคุ้นเคยกัน แต่ในเมืองใหญ่ เงื่อนไขในการใช้ชีวิตกลับแตกต่างออกไป เพราะเราถูกรายล้อมไปด้วยคนที่ไม่รู้จัก และท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก แม้เราอาจจะรู้หน้า ทว่าสุดท้ายแล้วเราอาจจะไม่รู้ว่า คนที่เราเห็นหน้ากันนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นฆาตกรหรืออาชญากรก็ได้
บทบาทของนักสืบและการฟื้นฟูระเบียบสังคม
จากประเด็นบริบทดังกล่าว เรารายล้อมไปด้วยคนแปลกหน้าเมื่ออยู่ในเมือง ในด้านบริบทเมืองสมัยใหม่ ก็อาจจะเต็มไปด้วยเงื่อนไข จากการที่เมืองหรือวิถีชีวิตพาให้คนคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกรหรืออาชญากรได้ ลักษณะสำคัญของงานเขียนแนวสืบสวน จึงเป็นการสร้างตัวละครนักสืบให้เป็นไอคอนขึ้นมา
สำหรับงานเขียนแนวสืบสวนยุคแรก เป็นงานสืบสวนจากฝั่งอังกฤษ เป็นยุคที่เรียกว่า ยุคทอง (Golden Age) โดยงานเขียนในยุคนี้มีนิยามหลายอย่าง ทั้งงานสืบสวนแบบ Soft Boil หรือ Armchair คือแนวเรื่องที่เกิดคดีแล้วมีตัวละครนักสืบมานั่งไขคดีด้วยการคิดเป็นขั้นตอน ก่อนจะชี้ตัวคนร้าย ซึ่งในงานเขียนกลุ่มนี้ บางครั้งถูกเรียกว่า งานแนว ‘ฮูดันอิท’ ที่เน้นการหาตัวคนร้าย โดยจะมีจุดร่วมหรือสูตรที่ล้อกันในหลายๆ จุด เช่น การเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น และนักสืบจะค่อยๆ นำหลักฐานมาคลี่คลาย ก่อนจะค่อยๆ ชี้ตัวคนร้าย รวมถึงการมีลักษณะร่วมของนักสืบที่จะแปลกๆ เช่น เชอร์ล็อก โฮล์มส์ มีลักษณะเก็บตัว ส่วนปัวโรต์ก็มีคาแร็กเตอร์ฉูดฉาด
นอกจากนี้ จุดเด่นอีกอย่างของงานแนวฮูดันอิท ยังมีเรื่องความยากของการฆาตกรรมอย่างการอำพรางคดี (ให้นึกถึงการไขคดีของโคนัน) และมรดกสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการเกิดการฆาตกรรมในห้องปิดตาย ส่วนจุดร่วมสำคัญอีกด้านของการสืบสวนในงานเขียนแนวนี้ คือการมีผู้ต้องสงสัยหลายๆ คน จนเป็นที่มาของวลีที่ว่า
“คนร้ายอยู่ในหมู่พวกเรานี่แหละ”
ความรู้หน้าไม่รู้ใจ จึงยังคงเป็นแกนหลักของงานสืบสวน และความวิตกกังวลของสังคมเมือง จากตอนแรกเราอาจกังวลว่า ใครก็ไม่รู้ที่ดูธรรมดาๆ อาจจะเป็นฆาตกรก็ได้ หรือจากคนอื่นที่เรามองไม่ทะลุ แต่ยังเป็นคนแปลกหน้า คราวนี้ความกังวลใกล้เข้ามามากขึ้น คนที่เราอาจจะอยู่ใกล้ชิด รู้จักบ้าง หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างในโคนัน สังคมเมืองหรือความเป็นไปต่างๆ อาจผลักดันให้คนธรรมดา กลายเป็นฆาตกรหรืออาชญากรได้
ดังนั้นในการไขคดีส่วนใหญ่ของงานแนวฮูดันอิท นอกจากการให้อธิบาย ซึ่งมักใช้หลักตรรกะ หรืออาจมีมิติทางวิทยาศาสตร์ จากการบอกว่าคนร้ายลงมือและอำพรางอย่างไรแล้ว เราจะเริ่มเห็นว่า นักสืบมักเปิดโปงเหตุจูงใจที่สัมพันธ์กับโครงข่ายความสัมพันธ์บางอย่างของกลุ่มคน ที่รายล้อมไปด้วยการฆาตกรรมนั้นด้วย โดยหลายครั้งแรงจูงใจต่างๆ ก็อาจสัมพันธ์กับปัญหาสังคม เช่น ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ไปจนถึงปมในความสัมพันธ์ของการทำงาน หรือการกลายเป็นอาชญากรของคนธรรมดา
ถ้าเรามองภาพที่กว้างและยาวนานขึ้นของงานเขียนแนวสืบสวน มันยังสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบของสังคม (Order) เพราะงานแนวนี้ชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของผู้ที่ทำลายระเบียบสังคมเหล่านั้น เช่น การออกมาก่อความวุ่นวาย ก่อเหตุทั้งการฆาตกรรมหรืออาชญากรรมขึ้น บทบาทด้านหนึ่งของงานแนวสืบสวน จึงเป็นการสร้างตัวละครที่จะช่วยให้เรามองเห็นผู้คนในบรรดาคดีต่างๆ และคนที่เราไขคดีได้ยาก เพราะเรามีนักสืบมาช่วยอ่านคนเหล่านี้ รวมไปถึงนักสืบที่จะมาช่วยฟื้นฟูระเบียบและความสงบสุขของสังคมเมืองให้ดีขึ้น
จากงานเขียนคลาสสิกในศตวรรษที่ 19 งานเขียนประเภทอาชญนิยายเองก็ยังคงเติบโต และบางส่วนก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น งานเขียนยุคหลังๆ จึงเริ่มพูดถึงอาชญากรรมในแง่มุมอื่นๆ เช่น เครือข่ายอาชญากร ไปจนถึงประเด็นสำคัญอย่างฆาตกรต่อเนื่อง ความซับซ้อนของจิตใจ และการสร้างคนร้ายหรือปีศาจที่มีความสลับซับซ้อนขึ้นมาโดยสังคม แม้ในช่วงแรกสถานะของงานเขียนแนวอาชญนิยาย หรืองานแนวสืบสวน จะถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่มีค่า เอาไว้อ่านเล่น แต่ภายหลังนักวรรณกรรมก็เริ่มมองว่า
งานเขียนแนวสืบสวนทำให้เราเข้าใจบริบทและความกังวลของผู้คน ไปจนถึงเป็นงานที่พาไปสำรวจความสลับซับซ้อน และตั้งคำถามต่อระเบียบและความถูกต้องของสังคมสมัยใหม่ได้
อ้างอิงจาก
repository.library.georgetown.edu