ภาพการเตรียมวัตถุดิบทำก๋วยเตี๋ยวแบบจีนที่ลื่นไหล ฉากการเดินริมน้ำในตัวเมืองใหญ่ และความเปลี่ยนแปลงของย่านเมืองเก่าที่ถูกทุบทิ้งเพื่อพัฒนาที่อยู่ใหม่ ทั้งหมดดูสดใส สวยงามชวนให้นึกถึงวันเก่าๆ และในขณะเดียวกันเมื่อเห็นแสงจากท้องฟ้า ฉากหมู่ตึกในเมืองใหญ่ หรือฉากฝนที่เกาะกระจกรถ ก็ทำให้หลายคนนึกถึง อนิเมชั่นอย่าง your name ที่สร้างกระแสไปทั่วโลกเมื่อปี 2016
เราใช้เวลาไม่นานหลังจากดูตัวอย่างและพบว่า อนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นผลงานการสร้างร่วมกันของบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทจีน ซึ่งฝั่งญี่ปุ่นก็คือ CoMix Wave Films สตูดิโออนิเมชั่นผู้ดูแลการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งหลายคนน่าจะจำได้จากการทำอนิเมชั่นให้กับหนังทุกเรื่องของ ชินไค มาโคโตะ ส่วนฝั่งจีน Haoliners Animation League ก็ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการอนิเมชั่นแต่อย่างใด เพราะบริษัทแห่งนี้รับสร้างงานอนิเมชั่นป้อนให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นมาหลายปีแล้ว
การจับคู่ทำงานยังชวนให้แปลกใจขนาดนี้ จึงไม่ค่อยน่าตกใจมากที่หนังความยาวราว 70 นาทีเรื่องนี้จะออกฉายทาง Netflix ซึ่งน่าจะง่ายในการเข้าถึงคนดูมากกว่าส่งฉายผ่านระบบหนังปกติที่มีโอกาสสูงเหลือเกินที่จะโดนข้ามไปโดยง่าย ภาพยนตร์เรื่องนีมีความน่าสนใจหลายอย่างจนเราอยากจับมาบอกเล่ากันในบทความ นี้
รสชาติของก๋วยเตี๋ยวที่ต่างกันของหูหนานกับปักกิ่ง
บทแรกของอนิเมชั่นชุดนี้ ถูกแฟนการ์ตูนหลายประเทศทั่วโลกตีความซีนตัวอย่างว่าเป็น ‘การทำอาหารของชินไค มาโคโตะ’ แต่จริงๆ แล้วงานส่วนนี้เป็นผลงานการกำกับของ Jiaoshou หรือ อี้ เสี่ยวหยิง (Yi Xiaoxing) เซเลบในอินเทอร์เน็ตของประเทศจีนที่โด่งดังจากการทำหนังสั้นแนวตลกโปกฮาบนโลกออนไลน์มาก่อน ดังนั้นนี่ถือว่าเป็นการกำกับงานอนิเมชั่นครั้งแรก และแนวเรื่องที่เลือกเล่าก็ออกมาในเชิงระลึกความหลังซึ่งสวนทางกับงานสร้างชื่อของเขาอย่างสิ้นเชิง
เรื่องเล่าผ่านมุมมองของ เสี่ยวหมิง ชายหนุ่มที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน ที่เริ่มด้านชากับการใช้ชีวิตคนทำงานในเมือง และสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเขาให้อบอุ่นก็คือรสชาติของก๋วยเตี๋ยวสามสหาย (ตามคำแปลภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษใช้คำว่า San Xian Noodle และภาษาจีนใช้คำว่า 三鮮米粉 ซานเฉียนหมี่เฟิน) ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา นับตั้งแต่วัยเด็กที่เขาอาศัยกับคุณยายตอนเป็นเด็กเล็ก กับในช่วงวัยเรียนที่เขามากินข้าวและแอบมองรุ่นพี่ที่ชอบที่มณฑลหูหนาน จนปัจจุบันเขามาทำงานกลางเมืองใหญ่ แม้ว่าเวลาจะพ้นผ่าน ร้านค้าจะเปลี่ยนแปลง แต่ความชอบของเขานั้นกลับไม่เปลี่ยนไป หนำซ้ำเขายังเอารสเหล่านั้นมาเทียบเคียงกับชีวิตที่ค่อยๆ เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปในแต่ละช่วงของชีวิตได้อย่างดี
ส่วนที่เราเชื่อว่าทุกคนจะต้องชื่นชม คงเป็นภาพลื่นไหลและสวยงามของขั้นตอนการเตรียมการทำก๋วยเตี๋ยว (ไม่ว่าจะเป็นของร้านใดก็ตาม) อย่างที่เราบอกว่าหลายคนยังเข้าใจผิดเลยว่า ชินไค มาโคโตะ น่าจะเป็นคนกำกับตอนนี้ทั้งตอนเสียด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันนอกจากภาพทำอาหารที่ชวนหิวและถูกยัดใส่มาตั้งแต่ต้นเรื่องแบบไม่เกรงใจคนดูที่ยังไม่กินข้าวแบบนี้ ส่วนอื่นของเรื่องจึงอาจดูจืดไปสักนิด แม้ว่าเราจะเห็นชีวิตที่ขยับจากเด็กต่างจังหวัดมาเป็นคนทำงานในเมือง แต่เราก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับตัวเอกของเราในมุมอื่นเลย
ถ้าเทียบเป็นเหมือนชามก๋วยเตี๋ยว ตัวเรื่องคงเปรียบได้เหมือนซุปรสดีเข้มข้น ภาพนั้นเป็นเครื่องที่ผัดมาอย่างหน้ากิน แต่ตัวเอกที่เป็นเส้นแบบผลิตจำนวนมากที่ไร้เอกลักษณ์ไปอย่างน่าเสียดาย หรือถ้ามองอีกแง่ว่า เพราะตัวเอกเองก็โดนความเป็นเมืองกัดกินไปบ้างแล้วจนรสชาติชีวิตชืดลงก็อาจจะไม่ผิดนัก และก๋วยเตี๋ยวชามสุดท้ายในท้องเรื่อง อาจเป็นการทิ้งท้ายว่าเขากำลังจะกลับมามีกลิ่นอายที่อบอุ่นหอมหวลอีกครั้งหนึ่งหลังจากเรื่องจบลง
แฟชั่นเล็กๆ ที่เมืองกวางเจา
บทที่สองของเรื่องได้ ทาเคอุจิ โยชิทากะ จากทาง CoMix Wave Films ซึ่งเคยดูแลงาน 3D ให้กับภาพยนตร์ของ ชินไค มาโคโตะ มาเป็นผู้กำกับครั้งแรก เนื้อเรื่องของช่วงนี้ เกี่ยวกับพี่น้องสองสาว โดยหยี่หลิน คนพี่นั้นเป็นนางแบบชื่อดัง และกำลังมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาเทียบเคียง ส่วนน้องสาวอย่าง ลูลู่นั้นเป็นคนหน้าตาและรูปร่างไม่โดดเด่นแต่ถนัดรื่องการทำงานบ้านและการตัดเสื้อผ้าที่เธอตัดสินใจเลือกเรียนโดยมีพี่สาวสนับสนุนเงินทุน แม้ว่าจะผิดใจกันเล็กๆ แต่สุดท้ายทั้งสองก็แอบเป็นผู้ผลักดันกันและกัน
ในบทนี้ถึงจะบอกกล่าวว่าเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองกวางเจาก็จริง แต่อาจเพราะเรื่องราวข้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะในฝั่ง หยี่หลิง กับ ลูลู่ ในมุมหนึ่งก็ทำให้เราเห็นถึงความเป็นเมืองใหญ่ทันสมัยของกวางเจาได้ดี แต่อีกมุมก็ชวนคิดถ้าไม่มีซีนบางซีนที่เป็นการเดินริมแม่น้ำจูเจียงเราก็แทบไม่เห็น ‘ความจีน’ อยู่ในหนังส่วนนี้เลย หรืออาจจะเป็นสัญญาณจากทีมสร้างหนังเองว่า ความเป็นเมืองนั้นต่อให้เป็นคนจีนเองก็มีปัญหาที่ไม่ได้ต่างอะไรกับคนชาติอื่นหรอกนะ
เทปบอกความในใจที่ไม่ทันได้ฟังในนครเซี่ยงไฮ้
เพื่อนสามคนที่อาศัยอยู่ในย่านสือคู่เหมิน หรือย่านกลุ่มอาคารอิฐยุคเก่าที่ตั้งเรียงติดกันเป็นทาวน์เฮาส์ ซึ่งได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงปี 1860 ของนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประกอบไปด้วย หลี่โม่ ชายหนุ่มที่มีทักษะพัฒนาที่ดิน, แพน ชายตัวใหญ่ดูซื่อๆ แต่เป็นมิตร และ เสี่ยวหยู เด็กหญิงที่หลี่โม่เคยมีสัมพันธ์ด้วย เดิมที หลี่โม่ ไม่ใช่คนหัวดีขนาดนั้น แต่มาจากการที่ทั้งสามคนเคยแลกกันฟังคาสเซ็ตเทปมาก่อน วันหนึ่งเสี่ยวหยูไปโรงเรียนไม่ไหว หลี่โม่จึงอัดการเรียนการสอนในโรงเรียนไปให้ แล้วกลายเป็นว่า หลี่โม่ กับ เสี่ยวหยู ก็ได้โอกาสสื่อสารกันแบบลับๆ ผ่านการอัดเทปนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น และเมื่อถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เสี่ยวหยู่ ก็บอกกับเพื่อนทั้งสองคนว่าจะเข้าไปเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กหัวดีที่ หลี่โม่ กับ แพน ไม่มีโอกาสไปถึงได้เลย เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หลี่โม่ ก็ตัดสินใจอ่านหนังสืออย่างดุเดือด จนมองเรื่องรอบตัวน้อยลง ซึ่งสุดท้าย หลี่โม่ นั้นสอบติด แต่ เสี่ยวหยู่ นั่นไม่ และเธอทิ้งข้อความที่เขาไม่ได้ฟังไว้ จนกระทั่งปี 2008 ที่เขาได้เจอเทปม้วนนั้นอีกครั้ง…
มีการให้สัมภาษณ์ว่า หลี่ เหาหลิง (Li Haoling) ผู้กำกับของบทส่งท้ายนี้ตั้งใจกำกับโดยอ้างอิงถึง ยามซากุระร่วงโรย (5 Centimeters Per Second) ผลงานดังอีกเรื่องของ ชินไค มาโคโตะ ที่ค่อนข้างจริงไม่น้อย ทั้งการเล่าเรื่องราวผ่านสามช่วงกาลเวลาเหมือนกัน และเป็นเรื่องความรักที่ขาดช่วงไปเพราะการติดต่อในยุคก่อนอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูนั้นยากเย็น แต่ในขณะเดียวกันอนิเมชั่นก็ยังมีความเป็นตัวเองสูงเพราะเราจะได้เห็นการพัฒนาเมืองของนครเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 1990, ปลายปี 2000 จนถึงปี 2018 ในช่วงตอนจบของเรื่อง ซึ่งตัวเรื่องก็แสดงให้เห็นสภาพนครเซี่ยงไฮ้ ที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ สื่อคู่เหมิน จากที่เคยเป็นพื้นที่ใหญ่ ค่อยๆ ถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างอาคารทันสมัย และสุดท้ายก็มีการสงวนที่ไว้ส่วนหนึ่งในปัจจุบันให้กลายเป็นย่านถนนคนเดิน ที่หลอมเอาภาพลักษณ์แบบเก่าและความชิคยุคใหม่มารวมกัน ซึ่งอนิเมชั่นก็สร้างภาพนั้นออกมาได้อย่างดี แถมยังแฝงวัฒนธรรมคนเมืองกับวัฒนธรรมจีนบางอย่างก็ถูกเล่าไว้ในเรื่องแบบอ้อมๆ อย่างการกินข้าวในพื้นที่ห้องนอน, วัฒนธรรมครอบครัวใหญ่ หรือแม้แต่วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่จนกดขี่ผู้หญิงแบบเกินเลยก็ตามที
และถึงจะบอกว่าตามรอย ชินไค มาโคโตะ แต่สุดท้าย หลี่ เหาหลิง ก็เลือกจบเรื่องนี้ในแบบของเขาเอง อาจเพราะเขาชอบความสวยงามของฟ้าหลังฝนมากกว่าก็เป็นได้
บทกวีฤดูกาลสานทอเชื่อมต่อกัน
ถึงหนังจะโดนทำออกมาเป็นสามเรื่องสั้นแยกจากกัน แต่สุดท้ายก็มีฉากร่วมกันในตอนต้นเรื่องและหลังเครดิตของเรื่อง ซึ่งเป็นฉากในสนามบินที่ตัวละครเอกทั้งสามบทใช้ออกเดินทางไปยังเส้นทางสู่วันพรุ่งของตัวเอง มีสื่อบางเจ้ากล่าวว่า ตามปกติแล้วการทำภาพยนตร์อนิเมชั่นที่รวมเอาหนังสั้นมาร้อยเรียงกันเป็นเรื่องเดียวกันนี้ มักจะเป็นงานที่กระตุ้นให้คนจำได้ว่าสตูดิโออนิเมชั่นนั้นทำงานในสายงานดังกล่าว และอีกส่วนหนึ่งหนังสั้นเหล่านี้ก็มักจะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่ทำงานมาระยะหนึ่งแล้วภายใต้การทำงานเป็นทีมให้มาแสดงฝีมือของตัวเองได้มีโอกาสเปล่งประกายของตัวเองบ้าง
และความน่าสนใจของงานเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การร่วมงานของบริษัทสองชาติเท่านั้น แม้แต่งานพากย์ก็มีการใช้ทีมงาจากหายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส, อเมริกา, สเปน, เยอรมัน, โปรตุเกส รวมถึงภาษาจีนแมนดาริน (ที่งานพากย์จะตรงปากมากกว่าภาษาอื่น) สมกับที่ตัวหนังใช้คำว่า International Version มาลงไว้ในชื่อ อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือการเลือกบอกเล่าชีวิตของคนเมือง (Urban Life) ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เราอาจเห็นได้ไม่บ่อยนักในรูปแบบอนิเมชั่น และการบอกเล่านี้ก็ทำให้เราเห็นว่าการเป็นประเทศปิดมาก่อน ยังมีอะไรที่สอดคล้องกับคนทั้งโลกอยู่ไม่น้อย แล้วก็น่าแปลกใจเบาๆ ที่อนิเมชั่นเรื่องนี้สลายภาพมายาบางอย่างได้ง่ายดายกว่าข่าวที่เราเคยเห็นเสียอีก
คงเพราะกำแพงในใจคนดูต่อ ‘ความเป็นการ์ตูน’ สามารถทำลายกำแพงอคติได้อย่างเรียบง่ายและความคิดเกี่ยวกับเวลาที่ผันผ่านนั้นเป็นอะไรที่คนทั่วโลกเข้าใจร่วมกันนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก