วันศุกร์แบบนี้ คุณพร้อมที่จะจับเงินล้านแล้วรึยัง… หมายถึง พร้อมที่จะวิ่งฝ่าคนอีก 60 กับอีกสารพัดด่านสุดแสนวุ่นวาย เพื่อเฉิดฉายเป็นผู้ชนะหนึ่งเดียวกับเกม Fall Guys แล้วรึยัง
มีคำพูดว่า เราไม่ควรแข่งในเกมที่เรารู้ว่าเราจะพ่ายแพ้ แต่ทำไมนะไอ่เกม Fall Guys มันถึงได้ฮิตนัก ว่าไป Fall Guys ก็ไม่เชิงสนุกแบบเกม Battle Royals อื่นๆ ที่ฝีมือ กลยุทธ์ เพื่อเอาตัวรอด Fall Guys มันคือการวิ่งอ้วนไป โอเค ฝีมือก็มีส่วนบ้าง แถมเวลาในการเอาตัวรอดก็แสนจะสั้น และแน่นอนว่า การจะเป็นผู้ชนะที่ยืนหนึ่งคนสุดท้ายนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง กระนั้นเราก็ยังคงพยายามเข้าไปชนประตู ดึงหาง ด้วยหวังว่าจะรู้สึกถึงชัยชนะชั่วเสี้ยวสินาที การได้เป็นผู้เหลือรอดคนสุดท้ายจากคนอีก 59 คนซักครั้ง
ด้านหนึ่ง ความหวังไกลๆ ที่จะได้เอาชนะ ไปจนถึงการได้แต่งตัวตลกๆ ก็ดูจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรายังคงไปลิ้มรสความพ่ายแพ้ แต่ความสนุกสำคัญหนึ่งในการเล่น Fall Guys อีกส่วนคือการได้เล่นกับเพื่อน ได้รู้สึกตลกขบขันไปกับความมะงุมมะงาหราของตัวเราเอง ได้ตลกไปกับการตก การล่วงหล่น หรือหลายครั้งคือการที่สนุกไปกับความพ่ายแพ้ที่ไม่ได้มีแค่แพ้แค่คนเดียว แต่กลายเป็นความผิดพลาดและความพ่ายแพ้คือความสนุก การใช้เวลาเกือบทั้งหมดของเกม
ถ้าเราพูดถึง Fall Guys โดยรูปแบบของคือ แนวคิดที่สืบสานเกมโชว์โหดมันฮา หรือ Takeshi’s Castle เกมโชว์ระดับตำนานของญี่ปุ่นที่ออกฉายในช่วงปลายทศวรรษ 1980 คือเอาเป็นว่าเหล่าหนุ่มสาววัย 30 คงเคยดูกันตอนเด็กๆ กันมาบ้าง ของเวอร์ชั่นไทยจะเน้นแปลชื่อโดยใช้ลักษณะสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเผชิญ แต่แง่หนึ่งเกมโหดมันฮา มันคือเกมโชว์ที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นที่รู้จัก เป็นเจ้ารายการทีวีในระดับโลก
โดยตัวรายการโหดมันฮา ด้านหนึ่งคือการที่รายการทีวีเอาภาพของญี่ปุ่นเก่า ของระบบทหาร ของความจงรักภักดี เปลี่ยนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิง ของเรื่องขำขัน และเป็นเรื่องงี่เง่าชวนหัวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งความสนุกของความงกๆ เงิ้นๆ นั้นก็ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกหลังสมัยใหม่ ที่เราหยุดยึดติดกับสิ่งต่างๆ และทำให้เรื่องจริงจังกลายเป็นความบันเทิงได้
Takeshi’s Castle เสียงหัวเราะกับระบบทหาร เกียรติและความกล้าหาญที่มีใช้รายการทีวี
พูดถึง Fall Guys ก็ต้องขอเท้าความไปถึงต้นแบบความสนุกบนความเจ็บตัว และความเลอะเทอะต้นทางคือ รายการ Takeshi’s Castle เจ้าตัวรายงานโหดมันฮา ถ้าเรามองกว้างๆ เราก็อาจพอเข้าใจว่าความตลกแบบ slapstick หรือตลกเจ็บตัวมันเป็นความตลกที่ค่อนข้างสากล แต่แน่นอน มันดังยากนะเพราะถือกันว่าตลกแบบนี้ไม่ค่อยมีรสนิยม
ดังนั้น รายการโหดมันฮา เลยน่าจะมีองค์ประกอบอื่นที่ทำให้การล้มคว่ำ และความดูโง่เป็นที่นิยม หรือขายในระดับโลกได้ ส่วนหนึ่งก็มีข้อคิดเห็นว่า ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษ 1980 อันเป็นทศวรรษตั้งไข่สำคัญ ที่ญี่ปุ่นทั้งกำลังผงาดขึ้นในฐานะญี่ปุ่นร่วมสมัยในบริบทโลก และกำลังเยียวยาตัวเองจากบาดแผลของการเป็นผู้แพ้สงคราม ก็เลยมีข้อสังเกตว่า ตัวรายการโหดมันฮาเนี่ยก็อาจจะทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวเข้าสู่ญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม ด้วยตัวรายการเป็นการรับมือ ยั่วล้อ และหวนหาอดีต
คือถ้าเรามองว่าแกนนึงที่รายการเอามาเล่า มันคือหยิบภาพอดีตของญี่ปุ่นยุคซามูไร ซึ่งส่วนหนึ่งก็สอดคล้องกับบาดแผลบางอย่างของญี่ปุ่นที่เกิดจากระบบทหาร ระบบที่นำพาญี่ปุ่นอันเกรียงไกรเข้าสู้รบและกลายเป็นผู้แพ้สงคราม ตัวระบบศักดินาซามูไรเก่านี้ถูกนำมาเล่าใหม่กลายเป็นภาพของเกมโชว์ตลกขบขัน การบุกทะลวงปราสาทเกรียงไกรกลายเป็นแค่ภาพของคนในหมวกกันน็อคสีชมพูที่แต่งตัวบ้าๆ บอๆ กระทั่งตัวโชกุนและพรรคพวกก็ถูกนำเสนอออกมาในลักษณะที่งี่เง่าปัญญาอ่อน
ดังนั้นตัวรายการจึงเหมือนกับที่ Fredric Jameson อธิบายภาวะหลังสมัยใหม่คือความรู้หรือคุณสมบัติใดใดนั้นมันกลายเป็นแค่เรื่อง แค่เปลือกที่ถูกนำมาเล่น มาล้อ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าบริการไป ในทำนองเดียวกันนี้ ภาพของความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องตลก ภาพของนักรบยุคใหม่คือการเป่ายิ้งฉุบ การวิ่งผ่าลูกตุ้มขนาดยักษ์ และมีเป้าหมายเป็นเงินรางวัลหนึ่งล้านเยนที่ตลอดเกือบสิบปีมีคนจับเงินล้านไปแค่สี่รายเท่านั้น
ไอ้ตัวรายการจึงซับซ้อน ทั้งเป็นการล้อระบบทหารเดิม พร้อมๆ กันก็นำเอาวัฒนธรรมยุคก่อนสมัยใหม่กลับมาพอให้หวนหาอดีต ในขณะเดียวกันก็เป็นการวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ทำให้กลายเป็นสินค้าในระดับโลกได้ คือคนประเทศอื่นก็ขอบเพราะกลิ่นไอความเป็นญี่ปุ่นนี่ด้วย ขายได้ ด้วยความพิเศษทั้งหมดนี้เองก็เลยทำให้ความโหด มัน ฮา การร่วงหล่น หัวทิ่มหัวตำ ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายกันยังเป็นเรื่องที่ทั้งโลกสนุกกับมันได้อยู่ มันมีเกียรติศักดิ์ศรีรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยอธิบายการบุกปราสาทว่าเอ้อ ความโง่นั้นมันคือวิถีคนกล้านึง
ความสนุกไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะ? ความชวนหัวของความมะงุมมะงาหรา
คงไม่เวอร์ไปมั้งที่จะบอกว่าลักษณะหนึ่งของภาวะหลังสมัยใหม่คือการเล่น และคือการปล่อยวาง ทำนองเดียวกับที่โหดมันฮาเอาปราสาทโบราณและวิถีผู้กล้ามาปั่นให้กลายเป็นเกมโชว์ ทำนองเดียวกัน เกมแบบ Fall Guys ที่เราได้กลับมาทดลองอยู่ในสนามที่การเป็นผู้ชนะนั้นแสนริบหรี่ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน คือการหัวใจนึงของการเล่นเกมนั้นอยู่ที่ความพ่ายแพ้ และเราก็จะกลับมาตลกกับความพ่ายแพ้และความมะงุมมะงาหราของเราเองได้นั่นแหละ
ในโลกที่พยายามอธิบายว่าเอ๊ะเราเล่นวิดีโอเกมไปทำไม มีคำอธิบายน่าสนใจของการเล่นวิดีโอเกม คือนักวิชาการบอกว่าวิดีโอเกมมีความพิเศษตรงที่วิดีโอเกมมันเป็นพื้นที่ของความเป็นได้ ในขณะเดียวกันมันเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผิดพลาดได้ ล้มได้ แพ้ได้ กดเริ่ม ลงความเป็นไปได้ได้อย่างไม่รู้จบ เกมบางเกมถูกออกแบบมาเพื่อให้เราเรียนรู้ความพ่ายแพ้โดยเฉพาะซึ่งเจ้า Fall Guys เองก็ดูจะเป็นในทำนองนั้น
พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราเล่น Fall Guys แรกๆ เราจะยังติดกับชัยชนะอยู่ เราเล่นเกม มนุษย์อะเนอะ ก็เล่นโดยมีเส้นชัย มีชัยชนะเป็นเป้าหมายหลักอยู่แล้ว แล้วเราจะหงุดหงิดมากกับการพลาด ไม่ว่าจะโดดพลาด กะพลาด ประตูปิดใส่หน้า เลือกคำตอบผิด โดยผลัก โดนตึง เตะบอลเข้าประตูตัวเอง จนเริ่มเล่นไปซักพัก ยิ่งเล่นกับเพื่อน เราก็จะยิ่งรู้สึก ‘สนุก’ ไปกับความผิดพลาด หัวเราะไปกับการล้มหน้าคะมำ การตกรอบแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือ ความสำเร็จ หรือการชนะเกมที่ควรจะเป็นจุดหมายเดียวนั้น กลายเป็นแค่ผลพลอยได้ไกลๆ ชนะก็ได้ ไม่ชนะก็ได้ แค่ได้สนุก ได้หัวเราะ ได้เรียนรู้กฏ ระบบของด่าน และได้ลองวิธีใหม่ๆ ก็เพียงพอแล้ว
ในที่สุดก็เลยดูเหมือนว่า จากยุคโหดมันฮา ที่ทำให้เรื่องจริงจัง เรื่องการสู้รบกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน มาจนถึงยุค Fall Guys ที่ทำให้เป้าหมายของเกม ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตจริง ที่ว่าผู้ชนะไม่ได้มีเยอะ ความหมายของการเล่นเกม หรือความสนุกบางที่อาจจะไม่ใช่แค่การเล่นจบ การเข้าเส้นชัยก่อน แต่มันคือการเจอกับความงี่เง่า ความผิดพลาดของชีวิต และขำไปความงี่เง่า หรือความผิดพลาดนั้นกับเพื่อนวนไป
อ้างอิงข้อมูลจาก